วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การศึกษา : มายาภาพแห่งความรู้ (1)



ที่จริงแล้วผมมีอาชีพเป็นอาจารย์ก็ยังไม่นานมากนัก แค่ประมาณ 10 ปีเท่านั้น แต่ก็ได้มีโอกาสสอนและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เรียนและผู้ฟังเกือบแทบทุกระดับ ตั้งแต่ CEO บริษัทมหาชนยอดขายเป็นหมื่นล้าน จนถึงเถ้าแก่ SME เล็กๆ และที่สอนอยู่เป็นงานประจำก็คือ นักศึกษาที่อยู่ในระบบการเรียนการสอนปกติในมหาวิทยาลัยทั่วไป คิดไปแล้วนับว่ามีชั่วโมงบินพอสมควรที่จะมาแลกเปลี่ยนแนวคิดกับท่านผู้อ่านได้ ตั้งแต่ผมได้มีโอกาสทำการสอน บรรยาย และมีงานวิจัยบ้าง ก็ยังไม่เคยพอใจกับผลงานตัวเองเลย ยิ่งในสาขาวิชา Logistics และ Supply Chain ที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงแรกๆ ของกระแสความนิยมด้วยความบังเอิญจริงๆ จนในปัจจุบันมีหลักสูตรทางด้าน ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอยู่มากมายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผมสงสัยในความเป็นตัวตนของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ถูกสร้างกระแสขึ้นมาด้วยความไม่เข้าใจ และต้องการจะมีกระแสหรือภาพลักษณ์นี้ไว้ เหมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อที่จะเอาตัวรอด ทั้งที่ใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เต็มที่


เพราะต้อง “เรียน” แต่อาจจะไม่ได้ “รู้”
ในหลายชั้นเรียนระดับปริญญาโททางด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมพบว่านักศึกษาหลายท่านจบปริญญาโทมาก่อนแล้วทั้งในและต่างประเทศ ผมแปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงได้ต้องมานั่งเรียนปริญญาโทอีกหนึ่งใบให้เสียทั้งเวลาและเงินทอง แต่ผมก็ยังดีใจอยู่ถึงความตระหนักในการเปลี่ยนแปลงและการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการหาความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา หลายๆ คนเรียนจบ MBA กันมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่เคยเรียนด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาก่อน จึงต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบ ความต้องการเช่นนี้เกิดขึ้นในวงการศึกษาทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง กระแสความตื่นตัวของหลักสูตรลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แม้แต่ในระดับอาชีวะศึกษา ป.ว.ส เองก็ยังมีเปิดในสาขานี้

แต่อย่างไรก็ตามการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านการศึกษาก็ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อมีความต้องการแล้วก็ต้องมีคนตอบสนอง ในความรู้สึกส่วนตัวที่สอนเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่ในช่วงก่อนเกิดกระแสลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ผมพบว่าความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ถูกนำเสนอต่อวงการธุรกิจนั้นไม่มีอะไรใหม่เลย เพราะว่าลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอยู่ในธุรกิจและชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามานานแล้ว แล้วแต่ใครจะมองออกหรือไม่ การเกิดใหม่ของแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ใช่เรื่องแปลกในวิวัฒนการของการจัดการธุรกิจ แต่เมื่อมนุษย์อย่างเราได้รู้จักมันแล้ว จะใช้ประโยชน์หรือพัฒนาต่อยอดออกไป ก็เป็นเรื่องของเราเอง หรือจะลืมมันไปก็ได้ ให้หายไปจากความคิดเราก็ได้ เหมือนกับเทคนิดการจัดการเก่าๆ ที่หมดยุดสมัยไป แต่กิจกรรมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจริงๆ ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการธุรกิจตลอดไป แล้วแต่ใครจะให้ชื่อมันว่าอย่างไร

แล้วต้องเป็น “ปริญญาโท” หรือไม่
หลายคนที่เรียนปริญญาโท พอจบก็ได้ปริญญาโทจริงๆ กล่าวคือ ได้ใบปริญญาโทที่เป็นกระดาษ แต่บางครั้งกลับไม่ได้ความเป็นปริญญาโทหรือความเป็นมหาบัณทิต (Master) เสียนี่ แล้วอะไรที่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นปริญญาโท ผมสอนปริญญาโทมามาก แม้จะไม่มากกว่าอาจารย์อาวุโสท่านอื่นๆ ที่สอนมาก่อนผมหลายปีนัก ส่วนใหญ่ผมจะเป็นอาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เปิดปริญญาโทกัน ตลาดวิชาปริญญาโทด้านการจัดการและการบริหารธุรกิจต่างเปิดกันอย่างมากมาย มีการเรียนการสอนเกือบจะทุกจังหวัดใหญ่ๆ ในประเทศไทย แล้วแต่ความต้องการของแต่ละพื้นที่ การไปเรียนของนักศึกษาก็เป็นตลาดวิชากันจริงๆ ไม่แตกต่างจากการไปเรียนกวดวิชาเลย เพราะดูเหมือนเป็นความเร่งรีบ ที่สำคัญคือ นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานแล้ว พยายามหาเวลาว่างมาเรียนเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษาและเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับตัวเองเพิ่มนำไปใช้ในการทำงาน ยิ่งในปัจจุบันถ้าทำงานในองค์กรธุรกิจหรือเข้าสังคมในวงการธุรกิจคุณต้องจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อย จบปริญญาโทย่อมจะดีกว่าคนที่จบปริญญาตรี (บางทีก็ไม่แน่เสมอไป) ผมว่าทุกคนจะอยากที่จะได้ตำแหน่งงานที่ดี เงินเดือนที่ดี แต่ผมว่าคิดอย่างนั้นก็อาจคิดผิด มันอยู่ที่ฝีมือและความคิดมากกว่า ปริญญาโทจะช่วยคุณได้ถ้ามีความคิด มีฝีมือหรือฝีคิดเป็นทุน คุณก็คงจะก้าวหน้าไปได้

เวลานี้หลักสูตรปริญญาโทต่างๆ เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แล้วมหาบัณฑิตจะมาช่วยพัฒนาประเทศหรือธุรกิจได้ไหม บางคนจบ ป.โท มา ทำงานแย่ก็มี บ้างก็สู้เด็ก ป.ตรี จบใหม่ไม่ได้ สังคมไทยบอกว่า คุณจะต้องจบโทเพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้ คุยได้ว่าจบโทมาทางด้านนี้เป็นอย่างน้อยที่สุด บางคนมีเวลาว่างมากก็เลยไปหาที่เรียนอีกใบปริญญามาประดับบารมี ก็ดีครับ สบายอาจารย์อย่างพวกผม ได้เงินค่าสอนไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม พอนานๆ ไปผมกลับคิดว่าผมโง่ลงทุกวัน เพราะสอนแต่เรื่องเก่าๆ พูดซ้ำไปมา ไม่มีอะไรใหม่จากความคิดสร้างสรรค์ในการสอนแต่ละครั้งเลย ค่าสอนก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น อายุก็มากขึ้น แต่ก็ยังสอนเรื่องเดิมๆ อยู่ ที่สุดแล้วผมก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า ระบบการศึกษาที่ผมและนักศึกษาเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้นคืออะไร ใครได้ ใครเสีย แล้วผลรวมเป็นอย่างไร

หัวใจของการเรียนปริญญาโท
จากประสบการณ์การสอนปริญญาโทของผม ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์พิเศษแค่วิชาเดียวในแต่ละรุ่น แต่ผมไม่ได้รับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเหล่านั้นเลย เพราะว่ามีนักศึกษาจำนวนมากจริงๆ ดังนั้น การจัดการหลักสูตรปริญญาโทด้วยการทำวิทยานิพนธ์จึงหาได้ยากมากในตลาดปริญญาโท ถึงมีทางเลือก (Options) ให้เลือก นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเลือกการทำเป็นโครงงานศึกษาอิสระ (Independent Study : IS) ที่เรียกกันว่า IS มากกว่า ด้วยเหตุผลคือ การทำวิทยานิพนธ์นั้นยาก กลัวว่าจะไม่จบ นั่นเป็นทัศนคติพื้นฐานของนักศึกษาปริญญาโท บางแห่งได้ข่าวมาว่า ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีการทำ IS เป็นกลุ่ม 5 หรือ 10 คนด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่าคนจบปริญญาโทสักกี่คนที่ทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) แล้ววิทยานิพนธ์นั้นสำคัญต่อปริญญาโทหรือผู้เรียนอย่างไร

ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ว่า อะไรคือหัวใจของการเรียนปริญญาโท ผมมีความเห็นว่าหัวใจของปริญญาโท คือ การทำวิจัย (Research) แต่ผมกลับเคยได้ฟังมาว่า “เรียนปริญญาโทก็เหมือนเรียนปริญญาตรีเลย” “ลงหน่วยกิตให้ครบ แล้วหาวิทยานิพนธ์ (Thesis) ง่ายๆ ทำ จบเร็วๆ ก็พอแล้ว” แต่คนพวกนี้จะจบช้าที่สุด เพราะมัวแต่หา Thesis ง่ายๆ ไม่ลงมือทำเสียที ส่วนทางภาควิชาและคณะก็บอกว่าจะต้องวิจัย วิจัย และวิจัยเท่านั้น เพราะเราเป็นนักวิชาการ “เร่งเอานักศึกษาทุกคนมา เอา Case โรงงานไปทำเร็วๆ จะได้เป็น Thesis เป็นงานวิจัย จะได้เรียนจบปริญญาโท” ดูไปดูมาแล้วมันเป็นงานประจำที่พนักงานของโรงงานนั้นจะต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่นักศึกษาไปทำให้ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ แล้วก็จบ เราเรียกงานแบบนี้ว่างานวิจัยหรือเปล่า?

หน้าที่หลักของภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย คือ ผลิตบัณฑิตและมหาบัณทิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม ดังนั้นคุณค่าที่ออกไปจะต้องอยู่ในตัวบัณฑิตและมหาบัณฑิตเหล่านั้น และจะต้องให้พวกเขาได้รับรู้ในสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเขาด้วย ที่จริงแล้ว งานวิจัยในปริญญาโทเป็นกระบวนการสร้างคุณค่า (Value) ในตัวนักศึกษา ผ่านการทำวิจัย งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างคนในระดับปริญญาโท เพราะผลลัพธ์ออกมาจะมีอยู่ 2 สิ่ง คือ

1. ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ที่เป็นรูปเล่มเอกสาร ซึ่งอาจจะมีคนเอาไปพัฒนาต่อหรือไม่ หรือก็แค่เอาไว้เป็นตัวอย่างในการเขียน
2. มหาบัณฑิตที่เป็นบุคคลที่สร้างงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์นี้ ตรงนี้ต่างหากที่ผมสนใจ เพราะตัววิทยานิพนธ์นั้นเป็นแค่เอกสารไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อได้ แต่มหาบัณฑิตที่เป็นบุคคลต่างหากที่สามารถพัฒนาตัวเองไปในอนาคตโดยสามารถเอางานวิจัยอื่นๆ ของตัวเองหรือของคนอื่นๆ มาพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น มาถึงตรงนี้ท่านคงจะอ่านแนวความคิดผมออกนะครับว่า ที่จริงแล้วปริญญาโท คือ การเรียนรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ (Learn How to Learn) ความรู้หรือหัวข้อวิทยานิพนธ์และหัวข้อวิจัยเป็นแค่พาหนะในการฝึกฝนระบบวิธีคิด บ่งชี้ปัญหา (Problem Identification) วิธีการนำเสนอ (Proposal) การเรียนรู้ของตัวนักศึกษาในการแก้ปัญหา (Problem Analysis) ในอนาคต เราเรียนเพื่อไปใช้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนที่เราได้เรียนมา ถ้าไม่รู้เรื่องใดก็ศึกษาเอาเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเรียนรู้ใหม่ด้วยการเรียนปริญญาโทอีกใบ เพราะปัญหาในชีวิตจริงต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คงจะรอคุณมาเรียนปริญญาโทอีกใบไม่ได้หรอกครับ นั่นแสดงว่าคุณล้มเหลวในการเรียนปริญญาโทที่ผ่านมา

การศึกษา “วิธีการเรียนรู้”
สิ่งที่นักศึกษาปริญญาโทเป็นกังวลมากที่สุด คือ การทำวิทยานิพนธ์ แต่อย่าลืมนะครับ การทำวิทยานิพนธ์นั้นคือสุดยอดของปริญญาโท เพราะมันเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา ขอบเขต วิธีการแก้ปัญหา การดำเนินการทดลองหรือการแก้ปัญหา และสรุปผล นักศึกษาปริญญาโทที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ด้วยความคิดของตนเองทุกขั้นตอนจะได้รับประสบการณ์ของการเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยม เพราะในชีวิตจริงก็คงจะไม่แตกต่างไปอย่างที่ผมกล่าวสักเท่าไหร่ ที่แตกต่างก็คงจะเป็นขนาดและดีกรีของความยากของปัญหา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านักศึกษาส่วนใหญ่ พยายามที่จะไม่ลงทุนลงแรงในส่วนนี้ คิดแค่ว่าจบง่าย จบไว (คือไม่ต้องการความยากลำบาก) ส่วนนักศึกษาที่ทำโครงงานหรือ IS ก็ดูจะสบายใจมากกว่า เพราะไม่ยากมากเหมือนการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) จบแน่ๆ บางครั้งก็มีสโลแกนที่ว่า “จ่ายครบ จบแน่” นี่หรือคือการศึกษาของเมืองไทย ที่ผมเปรียบเทียบว่าการศึกษาในระดับปริญญาโทว่าเป็นการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการการสร้างคุณค่าและกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับสังคมและธุรกิจ และสุดท้ายก็จะกลับมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ไม่ใช่ว่าก่อนเรียนและหลังปริญญาโท ก็เป็นเหมือนเดิม ทำงานเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม

อาจารย์ + นักศึกษา = ทีมงาน
ผมมองงานวิจัยหรืองานวิทยานิพนธ์ เป็นส่วนหนึ่งของงานของผม (อาจารย์) เองด้วย นักศึกษาที่ทำงานกับผมก็เป็นผู้ร่วมงาน (Partner) ที่ช่วยคิดช่วยทำงาน ตรงนี้แหละครับที่มีการถ่ายทอดความรู้ อาจารย์ที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการ ไม่ใช่ผู้ชี้เป็นชี้ตายแก่คุณว่า คุณจะสอบหัวข้อผ่านหรือไม่ หรือสอบป้องกันผ่านหรือไม่ นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ผลงานของคุณเองจะดีจะเลวก็รับไปด้วยกันทั้งคู่ (นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา) ไม่ใช่ผลงานออกมาดี อาจารย์ที่ปรึกษาก็ขอรับความดีความชอบด้วย แต่ถ้าผลงานแย่ก็โทษนักศึกษาอย่างเดียว นี่คงจะไม่ถูกต้องนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ก็คือ นักศึกษามาหาหัวข้อจากอาจารย์แล้วก็หายไปสักพัก (เพราะคิดไม่เป็น ไม่ได้ถูกสอนถูกฝึกมาให้คิด รอคนอื่นคิดให้) แล้วจึงกลับมาหาใหม่เพื่อให้อาจารย์ดูว่าจะเสนอได้หรือยัง มีการแก้ไขกันตามปกติ แล้วก็ดำเนินการเสนอหัวข้อไป พอผ่านหัวข้อก็ฉลองกันไป จากนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาจะไม่เห็นหัวและหางของนักศึกษาเหล่านั้นเลยเป็นเวลาอีกนานหลายเดือน ขอโทษบางคนหายไป 2 ปี จนอาจารย์จำแทบไม่ได้ว่านักศึกษาคนนี้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร บางคนก็เลิกเรียนไปเลย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ผมคิดว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ ผมก็ผิดหวังและเซ็งมากในการที่จะให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์สักเรื่อง ทั้งหมดนี้ไม่มีใครผิดหรอกครับ มันเป็นที่ระบบ คือ ระบบการศึกษาแบบไทยๆ ซึ่งทุกคนมีอิสระในความคิด ผมมีประสบการณ์ทำงานวิจัยใกล้ชิดกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาส กล่าวคือ เข้าไปทำงานเป็นลูกมือ คู่คิด เป็นผู้ช่วยในเรื่องงานวิจัยและงานสอนอื่นๆ รวมทั้งเรียนรู้แนวคิดของอาจารย์ ไม่ใช่ให้อาจารย์เป็นตรายางประทับว่า “ผ่าน” อย่างนี้ผมว่าไม่ใช่การศึกษาครับ

นั่นหมายความว่า นักศึกษาจะต้องให้เวลากับงานวิทยานิพนธ์อย่างเต็มที่ เต็มเวลา (ส่วนมากจะเกินเวลาเสียด้วยซ้ำ) สมัยที่ผมเรียนปริญญาเอก ผมพบหน้าอาจารย์ที่ปรึกษาทุกวันที่อาจารย์ไปทำงาน เพราะถูกจ้างให้ทำงานวิจัย ในเมืองไทยก็สามารถทำอย่างนั้นได้เช่นกัน ทุนวิจัยก็มีมาก อาจารย์หลายท่านหาทุนมาได้ ก็หานักศึกษาทำงานวิจัยสำเร็จไปตามสูตรที่ว่าก็มีอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มี แต่ส่วนที่อาจารย์โดนหนักๆ ก็มี นักศึกษาเลิกทำกลางคัน (หักหลัง) ก็มี อาจารย์ก็รับผิดชอบชดใช้ทุนไป หรือไม่ก็หาคนอื่นมาทำ หรือก็บอกเจ้าของทุนคือว่ายังหาคนทำไม่ได้ ถ้าคิดให้ดีแล้วการทำงานวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์ก็คือ การ Outsourcing ความคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาไปให้นักศึกษาทำนั่นเอง เป็นความสัมพันธ์เชิงการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ในโซ่อุปทานความรู้ ทุกคนต้องเห็นประโยชน์ร่วมกัน แต่ถ้าเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาก็ตาม โซ่อุปทานความรู้นั้นคงจะมีการพัฒนาไปได้น้อยมาก

การศึกษา บางทีก็เหมือนเมาเหล้า
ผมไม่ได้เปรียบเทียบการศึกษาเป็นเรื่องการกินเหล้า เพราะผมก็ไม่ได้ดื่มเหล้ามานานแล้ว แต่เหล้าก็ยังคงอยู่ในสังคมของเราทุกชนชั้นทั่วโลก แถมเป็นธุรกิจที่ดีเสียด้วย ผมจึงมองการศึกษาเหมือนกับการเมาเหล้า คือ การมีความคิดที่ไม่ถูกต้องกับการศึกษา แล้วก็เสพอย่างไม่คิด ไม่มีสติ ตามแห่ไปเรียนไปศึกษาในบางเรื่องจนมากเกินไป ที่สำคัญเหมือนกับกระแสที่ต้องทำตามแฟชั่น เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด แต่ก็ยังไม่รู้ถึงแก่นของการศึกษา เพราะการศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวจนได้เป็นปริญญาโทอีกใบหนึ่ง (แต่ถ้าคุณทำได้ก็ดี) แล้วทำไมจะต้องมาเรียนปริญญาโทอีกใบหนึ่งด้วย? การมีปริญญาโทหลายๆ ใบก็ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่าคุณเป็นคนมีความรู้ดีในหลายเรื่อง ผมกลับมองว่าคุณเป็นคนไม่ได้เรื่อง ต้องเรียนกันในระบบตลอดไปหรือ? วิธีการเรียนรู้มีอยู่มากมาย

ในสังคม เราให้ค่าของคนที่มีปริญญามากกว่าความรู้และประสบการณ์ที่เป็นผลงานของเขา เพราะปัจจุบันในบางครั้งใบปริญญาไม่สามารถบอกอะไรในตัวคนๆ หนึ่งได้ กว่าจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความสามารถของเขาว่าใช้ได้หรือไม่ เราก็เสียเวลาไปมากเกินไป ด้วยแรงกดดันของการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราต้องพบและติดต่อสื่อสารกับคนมากมายทั่วโลก ประวัติการศึกษาจึงเป็นข้อมูลหนึ่งในการประเมินบุคคลได้เช่นกัน แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะประวัติการศึกษามีอายุใช้งานเช่นกัน ยิ่งนานเท่าใดก็อาจจะล้าสมัยได้ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองทันสมัยและมีคุณค่าอยู่ได้ตลอดเวลา เมื่อคนเราไม่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ก็ต้องหาอะไรสักอย่างมาเป็นหน้ากากให้กับตัวเองว่ามีความรู้และมีค่าต่อสังคม คุณค่าของคนอยู่ที่ผลของผลงาน ไม่ใช่ที่ปริญญาบัตร ถ้ามีปริญญาบัตรแล้ว คุณสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ก็จะยิ่งดี และทำให้มหาวิทยาลัยที่คุณจบมามีคุณค่ายิ่ง

การศึกษาให้เกิดความรู้มาจากกระบวนการตั้งคำถาม
จากประสบการณ์การสอนในเกือบทุกระดับชั้นของผู้ฟังในชั้นเรียนของผม ทำให้ผมมีแนวคิดในการสอนว่า การเรียนรู้คือการตั้งคำถาม ไม่ใช่มานั่งจด มาเก็บความรู้จากผู้สอนไป แล้วคุณจะกลายเป็นคนมีความรู้ ถ้าคิดอย่างนั้นคงจะไม่ได้ทำให้คุณสามารถแข่งขันได้หรอก เพราะทุกคนสามารถหาความรู้อย่างนั้นได้เหมือนกัน สามารถจ่ายเงินมาเรียนได้เหมือนกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน สิ่งที่ทำให้คนเราแตกต่างไปจากคนอื่นหรือสามารถแข่งขันได้ อยู่ที่ความสามารถในการตั้งคำถาม (Ask) และสามารถคิด (Think) ได้ดีกว่า ดังนั้น หัวใจของปริญญาโทอยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ วิชาการที่เรียนมาในแต่ละสาขานั้นเป็นแค่ตัวประกอบในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสาขาไหนก็ตาม คุณก็จะได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้เหมือนกัน แต่อาจจะแตกต่างในรูปแบบไปบ้างตามสาขาวิชา แต่หลักการนั้นคงเดิม คือ การตั้งคำถามนั่นเอง หัวใจของการทำวิทยานิพนธ์ คือ การนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ กระบวนการนี้เป็นเสมือนการนำเสนอขายความคิดของตัวเอง คุณใส่ภาวะความเป็นผู้นำลงไปในปัญหาที่เกิดขึ้น หรือปัญหาอาจยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่คุณพยายามจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ให้ลองนึกถึงตอนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโครงงาน การขายโครงงานต่างๆ ให้กับเจ้านายหรือลูกค้า แม้แต่ลูกน้องตัวเอง ล้วนเป็นกระบวนการที่สะท้อนมาจากการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ทั้งนั้น

นักศึกษาส่วนใหญ่มักไม่อยากคิด แต่จะให้อาจารย์คิดให้ หรือพยายามที่จะเลียนแบบจากของเก่าที่มีอยู่ เอาง่ายๆ เข้าว่า ผมได้อ่านหนังสือ “What were They Thinking?” ของ Jeffrey Pfeffer ซึ่งกล่าวไว้ว่า “การศึกษาไม่ใช่การเล่าเรื่องราวให้กับผู้คนในสิ่งที่พวกเขารู้เรื่องแล้ว หรือ ไม่ใช่การบอกกล่าวกับผู้คนถึงแนวคิดซึ่งพวกเขาคงจะต้องเห็นด้วยหรือต้องตกลงด้วยความจำเป็น การศึกษาจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้คนให้เห็นกระจ่างแจ้งและมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ด้วยหนทางหรือวิธีการที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาสามารถตั้งคำถามในสมมติฐานและแนวคิดที่ไม่ได้ถูกตั้งคำถามมาก่อนหน้านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือพวกเขาให้คิด (Think) และ ถาม (Ask) เพื่อที่จะค้นพบพื้นฐานบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใน” เรียนไปมากๆ แต่ไม่ได้คิดต่อ ก็ไม่มีประโยชน์

ปริญญาโทด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คือ มายาภาพของความรู้
ที่กล่าวเป็นหัวเรื่องไว้นั้น ไม่ได้จะต่อต้านการเปิดการเรียนการสอนด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเลย แต่ผมอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่งไว้ว่า แก่นที่แท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นไม่ได้มีตัวตนให้จับต้องได้ แต่เป็นสถานะเชิงความคิด (Thinking State) มากว่า เพราะในอดีตก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่เราก็ยังสามารถอธิบายหรือกล่างอ้างกิจกรรมหรือเหตุการณ์ในอดีตเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้เป็นอย่างดี และยังนำเอาเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นกรณีศึกษาได้ด้วย ผมจึงพิจารณาว่าแก่นแท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีอยู่จริงและไม่ใช่มายา เพราะผมเคยเขียนบทความโต้กับหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกว่า “โซ่อุปทานเป็นมายา ลูกค้าคือของจริง” และลูกค้าก็คือส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานอยู่แล้ว ส่วนการสร้างกระแสและการให้ความสำคัญกับมันอย่างไม่มีความเข้าใจจนกลายเป็นมายาภาพของความรู้ จนเป็นเหมือนแฟชั่นที่ทุกคนต้องการจะมีไว้ประดับประดาให้ตัวเองดูดีหรือสามารถนำไปใช้ได้โดยที่มีแต่ความรู้ แต่ยังคิดไม่เป็น ยังใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ ในอนาคต สภาพกระแสความต้องการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะหมดไปหรืออาจจะแปรสภาพไปเป็นชื่ออื่นๆ ก็เป็นไปได้ แต่แก่นแท้ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นการสร้างสมดุลธุรกิจก็ยังคงอยู่ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับลูกค้า

ในมุมมองผมนั้นถ้าจะเรียนลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นอีกปริญญาหนึ่งเลย หรือต้องไปหาเรียนปริญญาโทอีกหนึ่งใบ ด้วยพื้นฐานที่มีอยู่แล้วของสาขาวิชา MBA ด้าน Operations Management หรือด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองและความคิดใหม่แล้วเรียนเพิ่มอีกวิชาหนึ่งหรือสองวิชา ก็เพียงพอที่จะปรับฐานความคิดจากเดิมมาเป็นการคิดเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ แต่ถ้าเปลี่ยนแค่วิชาหนึ่งหรือสองวิชาก็คงจะไม่สามารถสร้างปริญญาโทใบใหม่ได้ ตลาดวิชาคงไม่ต้องการ เพราะผู้เรียนก็ต้องการความแตกต่างเช่นกัน ลองกลับไปดูความซ้ำซ้อนของสาขาวิชาในกลุ่มที่ผมกล่าวถึง กับวิชาในกลุ่มลอจิสติกส์และโซ่อุปทานตามมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ คุณจะพบว่ามีความแตกต่างกันไม่มาก แต่อยู่กันคนละชื่อ นี่คือความสูญเปล่าอย่างหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นแค่มายาภาพที่สร้างกระแสความต้องการให้เกิดขึ้น ปัญหามีอยู่ว่า แล้วเราจะเปลี่ยนมายาภาพเหล่านี้ให้เป็นจริงและสื่อสารออกไปให้เป็นรูปธรรมได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเราเองต่างหากที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของการจัดการธุรกิจ แล้วก็สร้างภาพต่างๆ ขึ้นมาด้วยความไม่เข้าใจภาพที่สร้างขึ้นมาเหล่านั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว เรามีวุฒิภาวะมากเพียงพอที่จะเข้าใจความเป็นไปของสังคมโลกและเข้าใจตัวเอง และจัดการกับตัวเองได้ ไม่ใช่แห่ไปตามกระแสด้วยความไม่เข้าใจ แล้วใช้ประโยชน์จากมันไม่ได้เต็มที่ เพราะธุรกิจทุกวันนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงการซื้อขายเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อชีวิต สังคมและโลกของเรา

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง เขียน