วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 11 (2ndTrip) - การใช้ชีวิต คือ ศิลปะแห่งธรรมชาติบนโลก


มาถึงการเดินทางในวันที่ 2 ของการเดินทางครั้งที่ 2 แล้ว ที่จริงแล้วข้อเสียของคณะทัวร์เราก็คือ ที่ตั้งของโรงแรม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่จัดงาน World Expo พอสมควร โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง คุณศุภกรเองก็ได้กล่าวไว้เหมือนกันว่าถ้าได้โรงแรมใกล้ๆ ก็จะประหยัดเวลาไป แสดงว่ามีข้อด้อยด้านลอจิสติกส์อยู่ แต่ก็ด้วยเหตุที่ช่วงนี้เป็น High Season มีงาน Expo ก็เลยหาโรงแรมได้ยากหน่อย อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่คณะทัวร์เราพักค่อนข้างมีสภาพดี อยู่ในระดับ 5 ดาว (ของเมืองจีน) เขาว่ากันนะครับ และมี Counter ขายของที่ระลึก (มีลิขสิทธิ์) จากงาน Expo ด้วย และทัวร์คนจีนส่วนใหญ่ที่พักที่โรงแรมนี้ก็ไปงาน Expo เหมือนกัน ขนาด โรงแรมอยู่ชานเมืองออกมาก็ยังแน่นมาก แน่นจนกระทั่งในช่วงตอนเช้าประมาณ 8 โมง ที่ทุกคนกำลังจะออกไปชมงาน Expo กัน ลิฟท์แน่นมากจนลงไม่ได้ ผมอยู่ชั้น 8 ของโรงแรมที่มี 32 ชั้น บางคนต้องขึ้นไปก่อน แล้วค่อยลงมา ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีโอกาสแทรกตัวเองเข้าไปในลิฟท์ได้แน่ๆ ผมเดินลงทางบันไดเป็นประจำ

มางาน Expo ครั้งนี้ มีแต่ผมและอ.บุญทรัพย์เท่านั้นที่เคยมางานนี้แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็อยากจะมาอีก เพราะยังไม่ได้เดินอีกหลาย Pavilion พวกเรารับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ซึ่งคงจะจำเจเหมือนกันทุกวันอย่างแน่นอน ก็ต้องทนหน่อย อย่างน้อยก็ดีกว่าหลายแห่งในเมืองจีนที่ได้เคยไปพักมานะครับ รถราในเมืองเซี่ยงไอ้ในวันอาทิตย์ไม่ค่อยจะติดเท่าไรนัก ผมจะคอยดูในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันจันทร์อีกครั้ง ว่าในวันทำงานของเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้การจราจรจะเป็นอย่างไร เหมือนในกรุงเทพฯ บ้านเราหรือไม่

รถบัสประจำคณะของเราและไกด์สาวน้อยน่ารักที่ชื่อ “มินท์” (แล้วผมจะนินทาไกด์คนนี้ให้ฟังทีหลังครับ) ได้พาเรามาที่ประตูที่ 7 ซึ่งอยู่ทางฝั่งผู่ตง เมืองใหม่ บรรยากาศในงานก็มีคนเยอะมากๆ พอเข้าประตูมาแล้ว เราก็พุ่งตรงไปยัง Thailand Pavilion เลย คนไทยที่พูดภาษาไทยได้ ก็สามารถเข้าช่อง VIP ได้เลยครับ ไม่ต้องต่อแถว Thailand Pavilion ของเราขายดีจริงๆ เห็นแล้วก็อดภูมิใจไม่ได้ อย่างน้อยที่เห็นเมืองไทยแย่ๆ อยู่ตอนนี้ แต่ก็มีอะไรดีบ้าง ตอนมา Expo คราวที่แล้ว ผมข้าม Thailand Pavilion ไป เพราะรู้สึกว่าเราจะโชว์ความเป็นไทยมากไปหน่อย ด้วยศิลปกรรมไทย ก็เลยสงสัยว่าจะไม่มีอะไรเท่าไรนัก คิดว่ากลับมาดูเมื่อไรก็ได้ คณะทัวร์ในครั้งที่แล้วหลายคนประทับใจใน Thailand Pavilion รวมทั้งมีการโฆษณาว่า Pavilion ของไทยเราได้รับความนิยมมาก ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นไทยที่ดีและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้ดีมากด้วย กลับมาคราวนี้ผมก็เลยต้องมาดูด้วยตนเองเลย

คนไทยที่ไปดูที่ Thailand Pavilion รู้สึกดีตั้งแต่เป็น VIP แล้ว เพราะพวกเราคนไทยไม่ต้องต่อแถว ตรงนี้ผมมองว่า นี่เป็นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ที่ไม่ต้องรอคิว เราจ่ายค่าลอจิสติกส์ตรงนี้นะครับ ไม่ใช่เราคนไทยไม่ต้องรอนะครับ เพราะว่าเราเกิดมา (หรือเลือกมาเกิด) เป็นคนไทย นี่เป็นต้นทุนของลอจิสติกส์ของการเป็น VIP แต่สุดท้ายเราก็ต้องไปต่อคิวใน Pavilion อื่นๆ เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป เรื่องของ VIP นั้นผมถือว่าเป็นคุณค่าในเชิงลอจิสติกส์ เพราะทำให้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นในเชิงลอจิสติกส์ เพราะว่าไปได้เร็วกว่าโดยไม่ต้องรอ แต่เรื่องพวกนี้ทุกคนต้องดิ้นรนหรือต้องลงทุนเพื่อให้ได้ความมีอภิสิทธิ์มาใช้ ไม่ใช่ได้กันมาฟรีๆ ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองนะครับ ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป เพียงแต่อยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลาอย่างลอจิสติกส์(Logistically) การใช้ชีวิตก็จะมีประสิทธิภาพ ผมว่าทุกคนเป็น VIP ในถิ่นของตนเอง ถ้าต้องการเป็น VIP ในพื้นที่อื่นๆ หรือในหลายวงการ เราก็คงต้องลงทุน ไม่ได้ด้วยการซื้อมา ลงทุนหรือลงทุนเวลา และโอกาสต่างๆ ในการทำงานและธุรกิจ หรือแลกเปลี่ยนกันด้วยคุณค่าต่อคุณค่า คงไม่มีใครได้อะไรๆ มาฟรีๆ หรอกครับ วันนี้เราไม่ได้เป็น VIP ที่งาน World Expo นี้ งานอื่นๆ ในอนาคตเราก็ยังมีโอกาสเป็น VIP ได้เสมอ

เวลาผ่านมา 2 เดือนจากการเดินทางมาในครั้งที่แล้ว อากาศในตอนเดือนพฤษภาคมเย็นสบายมากๆ แต่มาวันนี้ เดือนสิงหาคม อากาศร้อนมากไม่แพ้เมืองไทยเลย แถมยังมีโอกาสที่ฝนจะตกด้วย แต่พวกเราก็โชคดีมากที่ไม่เจอฝนเลย ฝนตกแค่ปรอยๆ เท่านั้น สำหรับแถวคอยตาม Pavilion และทางเข้าต่างๆ ก็มีการติดตั้งเต็นท์บังแดดและมีพัดลมและมีการพ่นไอน้ำเป็นระยะๆ เพื่อที่จะคลายความร้อนในขณะที่รอคิวเข้าตาม Pavilion ต่างๆ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นการจัดการลอจิสติกส์เช่นกัน เพราะผู้ที่เข้าชมลงทุนลอจิสติกส์ด้วยเวลาในการรอคอยเพื่อเป้าหมายการเข้าไปชม Pavilion ต่างๆ ทางผู้จัดงานจึงพยายามเพิ่มคุณค่าในการรอคอยด้วยอากาศที่ไม่ร้อนมากนัก ส่วนกัปตันปกาศิตซึ่งมากับคุณศุภกรในคณะทัวร์ของเรา ก็คุยให้ความเห็นว่าทำไมไม่จัดคิวเป็นพื้นที่ซึ่งให้คนได้นั่งรอไปเลยถึงเวลาก็เรียกตามคิว จะได้ไม่ต้องยืนรอเข้าคิวให้เมื่อยขา นั่นเป็นความคิดที่ดีมากครับ แต่ผมว่า ทางผู้วางแผนงาน Expo นั้นก็คงจะคิดมาแล้วล่ะครับ

มางาน Expo คราวนี้ ผมก็ได้ไปชม Thailand Pavilion ซึ่งก็ดีสมคำบอกเล่าครับ ไม่ผิดหวัง ใน Thailand Pavilion เป็นการแสดง Presentation ที่ดีครับ ซึ่งดีกว่าหลาย Pavilion ในเชิงเทคนิคการนำเสนอโดยเฉพาะ 4D movie อันนี้เยี่ยมจริงๆ เป็น 4 มิติจริงครับ แต่ผมกลับสนใจในการนำเสนอแนวคิดของ Thailand Pavilion ที่เป็นวิถีไทยและความยั่งยืนของความเป็นอยู่อย่างไทย ผมว่าในสังคมไทยเรามีอยู่เพรียบพร้อมแล้วล่ะ แต่มันอยู่ในบริบทแบบไทยๆ เราเข้าใจกันเอง เรารู้สึกกันเอง เราอยู่ร่วมกันแบบไทย ๆ แต่คนชาติอื่นๆ ที่มาดูอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งได้อย่างเรา แม้แต่คนไทยกันเองที่รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ ก็อาจจะหลงลืมหรือไม่ได้เคยเข้าใจความเป็นไทยที่แท้จริง ที่จริงแล้วเราควรจะถอดรหัสความเป็นไทยออกมา แล้วสื่อสารออกไปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์กับบริบทของเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในยุดใหม่ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วความเป็นไทย (ที่ดี) ก็จะหายไป

สำหรับการเข้าชม Thailand Pavilion นั้นแบ่งออกเป็น 3 ห้องการแสดง จบห้องหนึ่งแล้วจึงเคลื่อนตัวไปยังอีกห้องหนึ่ง ทำให้สามารถควบคุมฝูงชนได้ สามารถประมาณเวลาได้ นี่ใช้แนวคิดแบบลีนนะครับ ทำให้เกิดการไหล (Flow) หลายๆ Pavilion ก็ใช้ระบบการจัดการแบบนี้ บาง Pavilion ใช้ลักษณะ Exhibition ให้คนเข้าไปเดินดู ใช้เวลาตามสบาย ซึ่งทำให้ควบคุมการไหลของฝูงชนยากหน่อย เพราะว่าคนแต่ละคนใช้เวลาดูสิ่งต่างๆ ใน Pavilion ไม่เท่ากัน นี่ก็เป็นการจัดการลอจิสติกส์ฝูงชนของแต่ละ Pavilion

สำหรับ Thailand Pavilion นั้นสิ่งที่นำเสนอนั้นมีเนื้อหาสาระที่ไม่ชัดเจนตาม Theme ของงาน เราสื่ออะไรออกไป คนชาติอื่นๆ นั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกเหมือนคนไทย เพราะว่ามันไม่ใช่บ้านเขา แต่โดยรวมก็ใช้ได้ดีทีเดียว คนทั่วไปก็จะเห็นแต่ภาพลักษณ์ แต่การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ ความเป็นชนบทและในเมือง ความมีน้ำใจและความเป็นเพื่อนที่เกื้อกูลกัน ถ้าจะสื่อสารแนวคิดหรือมโนทัศน์เหล่านี้ออกไปยังการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งต้องเป็นมากกว่า ตึกรามบ้านช่อง เป็นมากกว่าเครื่องจักรหรือวัสดุต่างๆ เมืองที่ปราศจากผู้คนก็ไม่ใช่เมือง เมืองที่มีผู้คนซึ่งไม่มีวัฒนธรรมร่วมกันก็เป็นเมืองที่ดีกว่าไม่ได้ และอาจจะล่มสลายไปในที่สุด

เราจะต้องบอกโลกว่า Thainess : Sustainable Way of Life นั้นเป็นอย่างไร ความร่ำรวยวัฒนธรรมของคนไทยคืออะไร ไม่ใช่มาขายของหรือชักชวนเขามาเที่ยวเมืองไทย เพราะว่ามืองไทยสวยหรือมีผลไม้เยอะ แต่ในที่สุดแล้ว เราจะมีอะไรบ้างที่จะมาช่วยป้องกันความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของคนไทยเราเอง สิ่งที่ดีและสวยงามก็จะหมดไป คนก็จะไม่มาเที่ยว ถ้าจะให้คนมาเที่ยว เราก็ต้องจัดการกับตัวเองเสียก่อน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีทุกคน แล้วจึงฉายภาพความเป็นไทยออกมาให้โลกได้เข้าใจ ผมว่าอยู่เมืองไทยนี่แหละสบายใจที่สุด แต่อาจจะไม่สะดวกเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว แต่เรามีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมที่เรายังไม่ได้เอามาใช้ (หรือว่าเรายังไม่ได้เห็นคุณค่าของมัน)ให้เหมาะกับบริบทของยุคสมัยกันเลย ทำให้เราต้องมาคิดกันใหม่

กลับมา Expo อีกในครั้งนี้ ผมสังเกตเห็นมีถังขยะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าถังขยะของเดิมนั้นถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและมีขนาดกระทัดรัด อาจจะทำให้การเก็บขยะต้องมีจำนวนเที่ยวและจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นในการเก็บขยะแต่ละรอบ ผมสังเกตว่า มีถังขยะขนาดใหญ่ที่มีล้อลากสีเขียวๆ เหมือนในกทม.ในบ้านเราถูกวางเพิ่มอยู่ทั่วบริเวณเพื่อรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วผมก็สังเกตเห็นว่า ตามแถวคิวที่รอคอยเข้า Pavilion ต่างๆ มีกล่องรองรับขยะมาแขวนไว้ตามแนวรั้วที่กั้นไว้เป็นแนวแถวคอย เอาไว้ให้ผู้ที่รอดอยเข้าชม Pavilion ต่างๆ ที่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มได้ทิ้งขยะกันอย่างถูกที่และเหมาะสม ทำให้บริเวณงานไม่สกปรกหรือเป็นที่รกหูรกตา นี่ก็เป็นการจัดการลอจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) ของงาน World Expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้

ส่วนของที่ระลึกนั้นก็มีร้านหรือซุ้มขายอยู่ทั่วงาน World Expo 2010 ตามปกติ สินค้าที่ระลึกพวกนี้ราคาไม่ถูกนะครับ เพราะเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ แต่คนจีนก็ซื้อกันเป็นส่วนใหญ่ ผมไม่ค่อยได้เห็นฝรั่งเท่าไรนัก แต่ผมเห็นคนไทยเยอะกว่า โดยเฉพาะบริเวณ Thailand Pavilion ซึ่งกลายเป็นที่นัดหมายของ กรุ๊ปทัวร์คนไทยแทบทุกกรุ๊ป ส่วน Pavilion อื่นๆ ที่ผมไปเข้าในครั้งนี้ ก็คือ ย่านยุโรปและแอฟริกา เอาแค่เดินผ่าน ไม่นิยมรอคิว Pavilion ไหนไม่มีคิวมากก็เดินเข้าไปได้เลย นี่คือนโยบายของกลุ่มที่ผมไปด้วย มีกันอยู่ 6 คน เฮียเฉลิมพล คุณชิ๊ง เฮียไพฑูรย์ อ.ดำรงศักดิ์ อ.สุนทร ส่วน อ.บุญทรัพย์ผ่าไปกัน 6 คน มี คุณศุภกร กัปตันปกาศิต เฮียเวช คุณหมู คุณเล็ก ลงเรือ Ferry ข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งผู่ซีเมื่องเก่าเพื่อไปดู Theme Pavilion : Footprint และ Future

กลุ่มผมก็เดินดูรอบแถบยุโรป โดยมีเป้าหมายที่ Africa Joint Pavilion แต่คุณเอ๋ยกว่าจะเดินถึงทำเอาขาลากไปเหมือนกัน นี่แค่วันแรกนะ แถมอากาศยังร้อนมากๆ ด้วย แต่พอถึง Africa Joint Pavilion ก็โล่งสบายเพราะเป็นโถงใหญ่มีแอร์เย็นฉ่ำ แถมข้างในยังมีของหรือสินค้าจากประเทศในกลุ่ม Africa ที่เข้าร่วมงานมาขายกันให้สนุกไปเลย ถึงแม้จะผิดวัตถุประสงค์การจัดงานไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ได้มาร่วมงาน Expo สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินมากนักที่จะใช้เป็นงบประมาณในการจัด Pavilion ทางการจีนก็มีเงินสนับสนุนให้ด้วยนะครับ เพื่อให้งานนี้มีความยิ่งใหญ่จริงๆ

ก่อนหน้านี้พวกเราคุยกันว่า เรามาดูงาน Expo กัน 3 วัน เวลามาดูงาน Expo ไม่ต้องข้ามเรือ ให้รถไปส่งฝั่งไหนก็ให้ดูฝั่งนั้น เพราะว่าจะทำให้เสียเวลาในการรอคอยข้ามเรือ ผมเป็นห่วงว่าคนจะเยอะมาก ยิ่งเป็นวันอาทิตย์ด้วย พออีกวันเราก็ให้รถไปส่งที่เมืองเก่าฝั่งผู่ซี แล้ววันที่ 3 ก็ให้มาส่งที่ฝั่งผู่ตง แต่ในวันที่ 2 และ 3 เราจะมาดูงาน Expo ในช่วงตอนเย็นและกลางคืนกัน และแล้วเราก็เดินดูงาน Expo วันแรกจบที่ประมาณ 4 โมงครึ่ง ให้เป็นไปตามสภาพที่ไม่ต้องหักโหมมากนักในวันแรก จากนั้นเราก็ไปทานข้าวเพื่อที่จะไปดูกายกรรรม ERA : The Intersections of Time โดยที่ทางไกด์จัดร้านอาหารและสถานที่แสดงกายกรรมไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดเวลาและระยะทางในการเดินทาง เห็นไหมครับนี่เป็นการจัดการลอจิสติกส์อย่างง่ายๆ ที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ในการบริหารจัดการทัวร์เป็นการจัดการลอจิสติกส์ของนักท่องเที่ยว ทั้งคนขับรถและไกด์จะต้องวางแผนนำพานักท่องเที่ยวให้ไปถึงจุดหมายอย่างตรงเวลาและปลอดภัย

สำหรับการแสดงกายกรรม ERA นี้ ผมตั้งใจมาดูเป็นครั้งที่ 2 ตอนแรกไม่มีในโปรแกรมของทัวร์รอบ 2 นี้ แต่ผมบอกอาจารย์ดำรงศักดิ์ หัวหน้าทัวร์ว่า “ไม่ได้ ต้องมีโชว์ ERA ผมอยากดู” ถ้าผมอยากดู คนอื่นก็จะได้ดูไปด้วย เพราะว่ามันดีจริงๆ เฮียเฉลิมพลแนะว่าให้ลองไปดูการแสดง “ภูเก็ตแฟนตาเซีย” อาจจะเหมือนกันก็ได้ เรื่องรายละเอียดของการแสดงของ ERA นั้นผมไม่อยากเล่าครับ เพราะไม่เท่าไปเห็นเอง ลองไปหาดูกันใน You Tube กันก็ได้นะครับ ผมว่ามีคนเอาขึ้นไว้อยู่แล้วล่ะ

พอดูการแสดงของ ERA แล้วนั้นทำให้ผมได้คิดว่า นักแสดงเหล่านี้เป็นหนุ่มสาวทั้งนั้น กว่าจะได้มาขึ้นแสดงได้นั้น คงจะต้องผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างโชกโชน มีความตั้งใจสูง ทำให้ผมต้องมาสะท้อนความคิดตัวเองในวันนี้ว่าเราได้อะไรบ้างจากการมาดูงาน Expo และ ดู ERA ตั้ง 2 ครั้ง เสียทั้งเงินและเวลา ทั้งเหนื่อยและร้อนด้วย

ผมเห็นนักแสดงทุกคนเป็นมืออาชีพ ที่แสดงทุกวัน ต้องซ้อมกันทุกวัน ต้องทำงานอย่างสอดประสานกัน (Orchestrate) อะไรๆ ก็ตามที่เราคนธรรมดาทำไม่ได้ คิดว่าเราทำไม่ได้แน่ๆ แต่นักแสดงเหล่านี้ทำได้ แล้วเขาทำให้ดู มันก็เลยดูท้าทายต่อความสามารถของเราเป็นอย่างมาก เป็นหน้าที่ของนักแสดงที่จะต้องโชว์หรือแสดงให้คนรู้สึกพอใจตื่นเต้น หรือซึ้งใจไปกับการแสดงของเขา บางครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นแค่การแสดงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ผู้ที่ชมการแสดงก็ได้รับความสุข ความพอใจผ่านสิ่งต่างๆ ที่ได้รับรู้หรือสัมผัสจากโสตประสาทของมนุษย์เท่าที่จะรับหรือรู้สึกได้ ทำให้มนุษย์หรือผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้นด้วย

การชมโชว์ ERA ผมนึกถึงว่า “การแสดงคืออะไร?” ซึ่งก็จะเชื่อมโยงไปที่ความเป็นศิลปะ ซึ่งหลายคนคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องความอ่อนช้อยและงดงาม ผมถามตัวเองว่าการแสดง คืออะไร ทำไมเราต้องดูการแสดง สำหรับการแสดงในมุมมองของผมเป็นเครื่องมือในการจรรโลงจิตใจมนุษย์หรือเป็นสิ่งที่ชดเชยในสิ่งที่มนุษย์ขาดหายไป (ผมคิดเองเองนะครับ อย่าเพิ่งเชื่อ) เมื่อมนุษย์ได้รับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของการแสดงแล้ว มนุษย์จะรู้สึกมีความสุข แล้วจะได้ผ่อนคลาย ในทางตรงกันข้ามแล้ว คงไม่มีใครอยากจะได้ความกดดันหรืออยู่ในความจริงที่หวาดกลัวต่อความอยู่รอดหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต มนุษย์คงจะไม่มีความสุข

เมื่อมามองกันอีกครั้งหนึ่ง มนุษย์เองก็ได้พยายามในการจัดการกับตัวเองอยู่ 2 ประเด็น คือ จัดการทางกายภาพกับตัวเองด้วย อาหารหรือปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆ หรือจัดการกับจิตใจของตัวเองเพื่อที่จะไปควบคุมทางกายภาพอีกทีหนึ่ง การแสดงจึงเป็นการให้ข้อมูลสารสนเทศที่จะทำให้คนพอใจหรือจรรโลงหรือเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป สำหรับในอดีตของมนุษย์เรานั้น ถ้าไม่มีการแสดง ผมเข้าใจว่ามนุษย์เราก็นั่งดูธรรมชาติที่สวยงามต่างๆ ซึ่งเป็นด้านดีของธรรมชาติ ประเภทสายลมและแสงแดด เสียงน้ำ เสียงนก ความเขียวของป่าและสีครามของน้ำทะเล แต่มนุษย์ทุกคนก็ไม่สามารถที่จะรับสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อจรรโลงใจหรือเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป มนุษย์เราจึงต้องแสดงหรือเลียนแบบธรรมชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนได้รับความสุข ความพอใจและเติมเต็ม ผมคิดว่าสิ่งที่มนุษย์ขาดไปและต้องเติมเต็มก็คือ ความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

มีหลายคนบอกว่า การแสดง คือ ศิลปะ แต่ผมคิดว่า ศิลปะนั้น คือ การแสดง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การแสดงที่อ่อนช้อยและส่วยงามเท่านั้น แต่ความรุนแรง ความแข็งแรงและการต่อสู้ก็เป็นศิลปะได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องอ่อนช้อยเสมอไป ในทางวิศวกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ การทำแบบจำลอง (Modeling) ซึ่งไม่ใช่ของจริง เราทำแบบจำลองขึ้นมาก็เพื่อสร้างความเข้าใจและได้รับข้อมูลข่าวสารที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้เราพอใจ มีความสุขหรือสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้ ผมหมายถึงว่า การแสดงจะต้องทำให้คนเชื่อว่าสิ่งนั้นเหมือนเกิดขึ้นจริงๆ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ เพราะมันเป็นการแสดง หรือทั้งๆ ที่ผู้ชมหรือคนอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องทำโดยนักแสดงเหล่านี้เท่านั้น การแสดงเป็นการทำให้คนเขื่อว่า เรื่องนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ต่อหน้า ต่อตา เรื่องราวที่เราทำไม่ได้หรือไม่มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมไปในเหตุการณ์ แต่การแสดงทำให้เกิดขึ้นต่อหน้าเรา ทำให้เรามีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วม

แล้วคนเราแสดงอะไรล่ะ คนเราแสดงความเป็นธรรมชาติ ผมมองว่า มนุษย์เราโหยหาธรรมชาติ พยายามเติมเต็มความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งมนุษย์ไม่มี เพราะผมเองโดยส่วนตัวแล้ว มีความเชื่อว่ามนุษย์เองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบนโลกนี้ มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนเกินของโลกนี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ครับ ก็เพราะว่า คนเรานั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์เราจึงมองธรรมชาติที่สวยงามด้วยความรู้สึกที่โหยหาและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบนโลกนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว

การแสดงจึงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นศิลปะ การแสดงที่สมจริงจึงเป็นการแสดงที่เลียนแบบได้เหมือนธรรมชาติหรือได้เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง การแสดงที่ต้องใช้ฝีมือมากๆ จึงเป็นการแสดงที่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปของผู้ชมได้ เพราะผู้ชมคนธรรมดาไม่สามารถทำได้ ผู้ชมจึงมีความอิ่มเอมใจ การแสดงที่ดีต้องมีศิลปะ ดังนั้นศิลปะจึงไม่ใช่ความอ่อนช้อยหรืออารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ผมมองว่า ศิลปะ คือ การทำให้มนุษย์มีความสุข ความพอใจก็เพราะว่าเขาเชื่อในสิ่งที่เขาได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัส ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่เกิดจากการแสดง

เราเห็นการร่ายรำ ความอ่อนช้อย เห็นภาพเขียน เราเห็นว่ามันเป็นศิลปะเพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกถึงธรรมชาติ มันเหมือนจริงหรือคล้ายกับธรรมชาตินั่นเอง แต่ในกรณีของการแสดงกายกรรม ที่ถึงแม้ว่าจะดุดัน แข็งแรงและรวดเร็ว ความพร้อมเพรียงด้วยจังหวะที่ต้องไม่ผิดพลาด แต่ผมก็เรียกมันว่าเป็นงานศิลปะ เขาถึงเรียกกันว่า ศิลปะการต่อสู้ ที่มีหลายท่วงท่าที่เลียนแบบมาจากท่าทางการต่อสู้ของสัตว์ต่างๆ ในธรรมชาติ ในมุมมองผม ศิลปะในการแสดงกายกรรมหรือการแสดงการต่อสู้ คือ จังหวะ ความลงตัวพอดีกัน ความสอดคล้องซึ่งกันและกัน คุณลักษณะเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ มันเป็นความลึกลับของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เราต่างหากที่ตกเป็นเบี้ยล่างของธรรมชาติตลอดเวลา ถ้าเราทำอะไรที่มันสวยงามและลงตัวพอดีและอยู่ในความควบคุมได้ เราก็พอใจและมีความสุข เราก็คิดว่าเราก็พยายามทำให้ได้เหมือนธรรมชาติ แต่มันก็น้อยนิดเหลือเกินเมื่อไปเทียบกับธรรมชาติแล้ว

ดังนั้นในมุมมองหนึ่ง ศิลปะ คือ ความลงตัวและความพอดีกันเหมือนธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาติโดยตัวมันเองแล้ว คือ ความลงตัวและความพอดีกัน ซึ่งจะเห็นได้จากหลายสิ่งหลายอย่างในธรรมชาติที่เราเองก็นึกไม่ถึงว่าทำไมมันถึงได้ลงตัวกันอย่างนี้ ผมจึงคิดไปอีกว่า ทำไมเวลาเราสอนหนังสือหรือนำเสนองาน (Presentation) เราน่าจะต้องทำให้มันเป็นการแสดงที่ทำให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนพึงพอใจ มีความสุข สำหรับในกรณีการสอนนั้น เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ฟังมีความประทับใจหรือมีความสุข ก็เพราะว่าเขาเข้าใจในเรื่องที่เราได้สอน ผู้เรียนได้เป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่เรานำเสนอ

ผมไปดูกายกรรม ERA ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนช้อย ความดุดันและความแข็งแรง ต่างก็เป็นการแสดง ซึ่งการแสดงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา แต่เมื่อเราได้เห็นได้สัมผัส เราก็พอใจ มีความตื่นเต้น มีเครื่องไม้เครื่องมือในการแสดงและผู้คนอีกหลายสิบคน ซึ่งทั้งหมดแสดงได้ดี ก็เพราะความลงตัวที่เกิดขึ้นมาจากความพร้อมเพรียงในการแสดง ที่กล่าวมาคือความหมายของศิลปะในอีกมุมมองหนึ่งของผมจากการไปดูกายกรรม ERA ที่เซี่ยงไฮ้ ระหว่างการไปชมงาน Expo 2010 ในรอบที่ 2 ผมได้ภาพสะท้อนจากการเดินทางของความคิดในวันที่ 2 ทำให้ผมคิดว่าเวลาจะสอนหนังสือจะต้องคิดให้เป็นการแสดงหรือ Show ที่มีศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความลงตัวและกลไกความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องที่สอนหรือนำเสนอ

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ Code ประจำวัน เหมือนเดิมครับ 7-8-9 อาหารเช้าก็เหมือนเดิมครับ

อ.วิทยา สุหฤทดำรง