วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 12 (2ndTrip) - ลอจิสติกส์ที่แท้อยู่ที่ใจปรารถนาของลูกค้า


มาถึงการเดินทางในวันที่ 3 แล้ว ผมถือว่าเมื่อวานนี้ได้ซ้อมการเดินกันเรียบร้อยแล้ว วันนี้คงจะมีความพร้อมในการเดินเหมือนเดิม แผนการเดินทางในวันนี้ เราให้ Shopping กันตั้งแต่เช้า โดยไปที่ตลาดหลงหัว ซึ่งเป็นแหล่ง Shopping ที่มีทั้งทัวร์ไทยและทัวร์จีนไปลงกัน ดูไปแล้วไม่น่ามีอะไรใหม่นัก ผมว่าเงียบมากเกินไป ไม่น่า Shopping เลยจริงๆ ส่วนมากคนจะไปออกันอยู่ที่ร้านขายมือถือจีนกันเป็นส่วนใหญ่ ผมเองก็มีประสบการณ์กับมือถือจีนมาพอสมควร ซื้อมาลองดูหลายอันแล้ว ผมว่าไม่คุ้มเลย คนไม่เคยลองก็คงจะไม่เชื่อ ดังนั้นก็ต้องลองให้เสียเงินดูก่อนให้เป็นบทเรียน

ของ Copy เป็นสิ่งคู่กันกับเมืองจีนในเวลานี้ เขาว่าจีน Copy แหลก Copy ทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ถ้า Copy ไปแล้ว พัฒนาต่อได้ ก็น่าสนใจไม่ใช่หรือครับ ของปลอมกับของแท้นั้นแตกต่างกันอย่างไร ของปลอมจะดูแค่เหมือนกันในรูปลักษณ์ แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานคงจะไม่เหมือนกัน คุณค่าที่ได้ไม่เหมือนกัน ของแท้เป็นของที่สามารถทำงานได้ตามข้อกำหนดที่ตกลงไว้ใน Spec แต่ของจีนที่ Copy เขามาก็ทำงานได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ไม่เหมือนของแท้ ถึงแม้ว่าจะพยายามทำให้ดูรูปลักษณ์เหมือน ระยะหลังนี้ผมเองก็เริ่มไม่ค่อยอยากจะซื้อมาใช้เท่าไหร่นักแล้ว เพราะว่าเสียของ เสียเงินไปเปล่าๆ แรกๆ ก็สนุกดี แต่หลังๆ กระแสเรื่องสินทรัพย์ทางปัญญาเริ่มแรงขึ้น แล้วก็ตัวผมเองก็หากินกับสินทรัพย์ทางปัญญาที่ผมสร้างขึ้นมาด้วย เดี๋ยวกรรมตามสนองผม โดยมีคนมา Copy ของผมไปหาประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

สินค้าบางชนิดสามารถถูกปลอมแปลงได้อย่างง่ายดาย เช่น โลโกหรือชื่อสินค้า ทำให้ดูเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก ของแท้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ มีค่าลิขสิทธิ์ เมื่อมีคนมาทำเลียนแบบทำให้ผู้คนที่พบเห็นเข้าใจผิดว่านั่นคือ ของแท้ แต่คุณภาพไม่ใช่ ทำให้ผู้ที่ใช้ของปลอมได้รับคุณค่าทางสังคมไปด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้ผู้พบเห็นคิดว่าใช้ของจริง ทั้งๆ ที่ผู้ที่ใช้ของจริงนั้นต้องจ่ายส่วนเกินนั้นเป็นค่าลิขสิทธิ์ และในขณะเดียวกันผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อหรือโลโก้นั้นก็สูญเสียโอกาสของค่าลิขสิทธิ์นั้นไป

ดังนั้นในงาน Expo นี้จึงเต็มไปด้วยสินค้าหรือของที่มีลิขสิทธิ์ของงาน Expo ภายในบริเวณงานและโรงแรมทั่วไป และตามบริเวณแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ในย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ก็จะเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ของงาน Expo ขายอยู่ทั่วไป พอเข้าไปดูเหล่าสินค้าลิขสิทธิ์เหล่านั้นก็จะพบว่ามีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่ขอบอกว่าราคาไม่ได้ถูกๆ เลย แต่อาจจะเป็นบทเรียนบทต่อไปของคนจีนให้หันมาทำอะไรให้ถูกต้องมากขึ้นในเรื่องลิขลิทธิ์ แต่ใจจริงแล้ว เราเองก็ไม่ค่อยอยากจะจ่ายกันมากๆ หรอก อยากจะจ่ายกันน้อยๆ ทั้งนั้นแหละ นี่ถ้าพวกเราเข้าใจเรื่องการจัดการโซ่อุปทานดีๆ แล้ว เราจะพบว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เหมือนชื่อหนังสือของอาจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เลยครับ ความเข้าใจเรื่องการจัดการโซ่อุปทานนี้แหละจะทำให้เรารู้ว่า ตรงไหนมีต้นทุนอะไรบ้าง แล้วใครควรจะจ่าย ใครควรจะได้ใช้ (บทความของผม ต้องโยงเข้ามาในเรื่องการจัดการโซ่อุปทานบ้างตามธรรมเนียมครับ)

ผมคิดว่า อนาคตประเทศจีนก็อาจจะทำมือถือออกมาแข่งขัน เป็น Brand ของจีนเองเลย ไม่ต้อง Copy ของคนอื่นๆ มาขายราคาถูกๆ ในตลาดระดับล่าง มีสินค้าหลายอย่างที่จีนเองสามารถผลิตได้ และกำลังสร้าง Brand ในตลาดโลก แต่ถ้ากลัวว่าจะผลิตช้าไป ก็หันไปซื้อมาเสียเลย เหมือนที่ซี้อ IBM Computer มาเปลี่ยนเป็น Lenovo

ในงาน Expo ครั้งนี้เราคงจะเห็นแต่ของจริงและของแท้ที่เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาเมือง (Urban Planning) โดยเฉพาะการวางผังเมืองที่งาน Expo ครั้งนี้พยายามที่จะนำเสนอกันตั้งแต่อดีตมาสู่ปัจจุบัน และเลยไปถึงอนาคต ผลพวงของความคิดที่มีแต่ของแท้ที่นำมาแสดงกันอย่างฟรีๆ แนวคิด Better City, Better Life ที่หลาย Pavilion นี้นำเสนอให้อย่างฟรีๆ รวมทั้ง Best Practices ในการวางผังเมืองของเมืองเด่นในโลกนี้ ถูกนำแสดงให้ผู้เข้าชมงานได้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ได้อย่างฟรีๆ แต่ก็อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ง่ายนัก ซึ่งอาจจะเป็นแค่แนวคิดเบื้องต้นก็ได้ ที่เหลือต้องไปออกแรงลงทุนเอาเองครับ สรุปแล้ว ก็คงไม่ฟรีหรอกครับ

อย่าลืมว่าทุกอย่างมีต้นทุน และทุกคนก็ต้องการกำไรทั้งนั้น แต่สำหรับเรื่องของโลกเราที่ประกอบไปด้วยเมืองทั้งหลายที่มีคนอาศัยอยู่ด้วยแล้ว เรื่องนี้อาจจะคิดเป็นผลกำไรขององค์กรไม่ได้แล้ว แต่อาจจะต้องคิดเป็นผลกำไรของโลก คงจะต้องคิดว่าโลกทั้งโลกเป็นสังคมเดียวกัน เป็นหมู่บ้านเดียวกันที่เรียกกันว่า Global Village บางครั้งบางอย่างก็จะต้องทำให้อย่างฟรีๆ ออกไปก่อน เพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวในภายหลัง ทรัพยากรบางอย่างของโลกก็ควรจะเป็นของฟรีที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมัน เพราะมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยได้ลงทุนสร้างและทำลายมันลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน ที่ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพราะไม่รู้จะซื้ออะไรที่เมืองจีนประเภทของCopy ของปลอมแล้ว เรียกได้ว่า หมดความตื่นเต้นไปแล้ว

จบจากตลาดหลงหัวแล้ว เราก็เคลื่อตัวไปรับประทานอาหารกลางวันตามปกติ ผมจะไม่พูดถึงเรื่องอาหารเลยนะครับ เพราะว่ากินพออิ่ม เรื่องรสชาดและความพึงพอใจไม่ต้องพูดถึงครับ อย่างไรก็ตามแล้วเรื่องอาหารก็ยังสู้กับอาหารไทยไม่ได้ ก็เรามันคนไทย ชินกับอาหารไทยนี่ครับ และยิ่งเรื่องการบริการแล้ว จีนยังขาดความนุ่มนวลในการเสิร์ฟอาหาร วางจานดังโครม เร่งเสิร์ฟให้มันจบๆ ไป เห็นแล้วก็เซ็งจริงๆ ที่สำคัญทั้งทัวร์นี้ ได้รับประทานแตงโมทุกมื้อครับ เห็นแล้วก็นึกถึงเมืองไทยครับว่า เรามีผลไม้มากมาย มีโอกาสอีกมากมายในการสร้างประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามีอยู่ เราก็คงจะต้องคิดกันต่อไป

จากอาหารมื้อกลางวัน เราก็เคลื่อนตัวไปยังตลาดเฉินหวังเมี่ยว ตลาดร้อยปี (เขาสร้างใหม่ให้เหมือนร้อยปี) คนแน่นมาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นวันจันทร์ ในบริเวณตรงใจกลางของตลาดร้อยปีจะมีร้านค้าที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานและทันสมัย มีทุกอย่างตั้งแต่ของกิน สวนอาหารหลากชนิด ของตกแต่งต่างๆ ของใหม่ที่ทำให้เก่า นับว่าเป็นแหล่ง Shopping ที่น่าเดินมาก ตลาดของ Copy เทียบไม่ได้เลย ตลาดนี้ดีกว่าเยอะ ผมมา 2 ครั้ง เดินอย่างไรก็ยังไม่ทั่วครับ ไม่หมด มาครั้งที่แล้ว ผมก็ไปเดินตั้ง 2 รอบจาก 2 วัน ก็พบว่านอกจากแหล่งตรงใจกลางตลาดแล้ว ยังมีตลาดรอบนอกอีก คราวนี้ ผมและกลุ่มที่มีเฮียเฉลิมพล เฮียไพฑูรย์และคุณชิ๊งก็เดินหลุดไปในแหล่งสินค้าเก่า แล้วเลยหลุดไปในแหล่งที่ขายหยกและศริสตัล เพลิดเพลินไปกับหยกและศริสตัลอยู่เป็นชั่วโมงเลย อาศัยว่าเฮียเฉลิม แกเป็นคนเล่นหยกอยู่แล้ว แถมยังมีวิธีดูว่าศริสตัลแท้นั้นดูอย่างไร ผมน่ะมองหาศริสตัล (เพราะประทับใจกับบทบาทและความน่ารักของ คริส หอวัง) แต่ราคาของศริสตัลจริงนั้นค่อนข้างสูง ส่วนเฮียเฉลิมพลและเฮียไพฑูรย์ได้แหวนหยกไปคนละวง วันนี้ก็เลยกลายเป็นเรื่องของแท้และของปลอมกันไป

พอจบจากตลาดร้อยปีแล้ว เราจึงเคลื่อนตัวไปดูงาน Expo ในช่วงเย็นกันต่อ วันนี้เรามีแผนจะไปลงกันที่ฝั่งผู่ซี เมืองเก่าทีมี Theme Pavilion Footprint และ Future อยู่ และมีอีกหลาย Pavilion ที่น่าสนใจ เช่น Oil และ GM แต่เราไปได้แค่ Future และ Footprint แถมยังต้องทำเวลาด้วยการนั่งรถเมล์ภายในงานแทนการเดิน แต่เราก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศยามค่ำคืนที่ Pavilion ต่างๆ ได้แสดงสีสันแสงไฟที่สวยงาม น่าเสียดายมากที่ไม่ได้ไปบริเวณของ UBPA (Urban Best Practice Area) ซึ่งผมถือว่าเป็น Highlight ที่สำคัญของ Better City, Better Life แต่ดูเหมือนว่าจะขายไม่ค่อยออก คนเดินไปไม่ค่อยจะถึงจริงๆ เพราะว่าเป็นบริเวณที่กว้างมากๆ ส่วนอาจารย์บุญทรัพย์ก็ได้นำอีกกลุ่มข้ามไปยัง Pavilion ญี่ปุ่น โดยใช้นโยบายรอดูให้ได้ รับรองว่า “คุ้ม” คือรออยู่หลายชั่วโมง ผลออกมาว่าคุ้มค่าที่รอดู อันนี้ต้องนับถือจริงๆ หลังจากนั้นเราก็กลับมาที่นัดหมายเพื่อเดินทางกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนและคลายปวดเมื่อยจากการเดินทั้ง Shopping และ การเดินดูงาน Expo วันที่ 2 ในช่วงกลางคืน

จากการดูงานในวันที่ 3 สิ่งที่ทำให้ผมได้สะท้อนความคิดประจำวัน (Daily Reflection) คือ ของแท้และของเทียม มีสิ่งหนึ่งมาสะกิดใจผม ก็ตอนที่ผมอยู่ในตลาดขายหยกกับเฮียเฉลิมพลและเฮียไพฑูรย์ เราคุยกันเรื่องที่จะซื้อหยก เฮียเฉลิมพลบอกว่า ถ้าอาจารย์ชอบก็ซื้อไปเลย ถูกแพงไม่ใช่ประเด็น มันอยู่ที่เราพอใจหรือไม่ เราเต็มใจที่จะจ่ายหรือไม่ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องลอจิสติกส์ขึ้นมาทันที ผมเคยตัดสินซื้อของชิ้นหนึ่งเพราะว่าผมต้องการ และกลัวว่าจะไม่สามารถหาของชิ้นนั้นได้อีกในที่อื่นๆ หรือว่าวันหลัง ผมจึงต้องจ่ายค่าความต้องการเพื่อให้ได้ของชิ้นนั้นมาครอบครองในเวลานั้น ด้วยราคาที่ผมก็ไม่รู้ว่าสูงมากไปหรือไม่ แต่ผมเข้าใจว่าผมได้จ่ายค่าลอจิสติกส์เพื่อทำให้ผมได้ของชิ้นนั้นมาครอบครอง ทุกวันนี้ผมก็นั่งมองของขิ้นนั้นอย่างมีความสุขและสบายใจ แต่ถ้าวันนั้นผมกังวลว่าราคามันจะสูงเกินไปและคิดว่าที่อื่นๆ คงจะมีขายเหมือนกัน แล้วค่อยมาซื้อในวันหลัง ผมว่าวันนี้ผมก็ยังคงไม่มีของสิ่งนั้นมาครอบครอง ปัญหาคือ ที่จริงแล้วคุณต้องการของสิ่งนั้นมากน้อยขนาดไหนมากว่า

ในงาน Expo ผมเห็นคนยืนรอเป็นเวลานาน ทนแดด ทนร้อน ผมว่าพวกเขาลงทุนรอ (กิจกรรมลอจิสติกส์)เพื่อให้ได้มาสิ่งที่พวกเขาต้องการ (การเข้าชมใน Pavilion) ถ้าผมไม่ลงทุนเวลาสำหรับการรอ ผมก็ไม่ได้เข้าไปชมใน Pavilion จากมุมมองตรงนี้จึงทำให้ผมเข้าใจลอจิสติกส์มากขึ้นอีก เพราะว่าลอจิสติกส์จริงๆ แล้วเกิดจากความต้องการของผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคที่ต้องการจะเข้าถึงคุณค่าหรือได้คุณค่านั้นมาครอบครอง ถ้าเราไม่ต้องการมัน เราก็ไม่ต้องเข้าถึงสิ่งนั้น ถ้าเราต้องการมาก ก็จะต้องพยายามเข้าถึงให้มากขึ้น ถ้าเราต้องการน้อย ก็เข้าถึงให้น้อยหรือพยายามน้อย ดังนั้นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการหรือที่จะใช้งานอยู่จะมีคุณค่าเชิงลอจิสติกส์อยู่เสมอ นั่นคือ มนุษย์ต้องคุณค่านั้น เมื่อใด ณ สถานที่ใด เป็นจำนวนเท่าใด คุณค่าลอจิสติกส์นั้นจะเป็นอย่างไร จะมากหรือน้อย จะเร็วหรือช้านั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่เราเป็นผู้จัดเตรียมคุณค่าทั้งตัวผลิตภัณฑ์และลอจิสติกส์ให้กับลูกค้า

เมื่อลูกค้ากำหนดความต้องการเชิงลอจิสติกส์แล้ว ผู้ผลิตคุณค่าหรือผู้ขายจะต้องเป็นผู้ที่ตอบสนองต่อคุณค่าลอจิสติกส์นั้น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอาจจะพบกันครึ่งทาง คือ ลูกค้าจะต้องเดินทางมาที่ร้าน และผู้ผลิตก็จะต้องส่งของไปถึงที่ร้าน จึงเป็นการพบกันครึ่งทาง หรือถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็ยังมีอีก 2 กรณี คือ ลูกค้าอยู่เฉยๆ ผู้ผลิตจะส่งไปให้ถึงที่ กับผู้ผลิตอยู่เฉยๆ ลูกค้าเข้าไปหาเองที่ผู้ผลิต ทั้ง 3 กรณีนี้ ลูกค้าจะได้คุณค่าหรือสินค้าทั้ง 3 กรณีเหมือนกัน เพียงแต่ว่าลูกค้าจะจ่ายค่าใช้จ่ายในการได้สินค้ามาครอบครองในรูปแบบใด หรือผู้ผลิตจะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าไปให้ลูกค้า และด้วยต้นทุนทั้งหมดเท่าใด

ดังนั้นเรื่องของลอจิสติกส์จึงไม่ใช่เรื่องของการลดต้นทุนหรือการส่งสินค้าเท่านั้น แต่ผมอยากจะเสนอในมุมของลูกค้ามากกว่า ผมกลับมองว่าลอจิสติกส์เป็นการลงทุนเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับของไปใช้งาน แล้วเราก็เก็บเงินมาเพื่อเป็นผลกำไร การทำกิจกรรมลอจิสติกส์จึงไม่ใช่เรื่องของการลดต้นทุน แต่เป็นเรื่องของการทำกำไรมากกว่าในมุมมองของผม ถ้าเราลองคิดกลับกัน โดยการยืนมองดูกันคนละด้านกับการลดต้นทุน ผมว่ากิจกรรมลอจิสติกส์น่าจะเป็นการคิดเชิงรุกมากกว่า หลังจากคิดเชิงรุกเพื่อให้ไปถึงจุดขายและนำส่งคุณค่าให้กับลูกค้าได้แล้ว จึงค่อยมาจัดการกระบวนการผลิตและกระบวนการลอจิสติกส์ให้นิ่งและทำกระบวนการให้ยืดหยุ่นและปรับตัวได้กับความต้องการของลูกค้า ต้นทุนของลอจิสติกส์และต้นทุนการผลิตก็จะลดลงเพราะว่า เราทำกระบวนการได้ถูกต้องและตรงกับความต้องการของลูกค้า ผลกำไรก็จะตามมา เมื่อขายสินค้าได้

ต้นทุนลอจิสติกส์ที่แท้จริงจึงมีทั้งสองด้าน ทั้งด้านผู้ผลิตและด้านลูกค้า ขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้าผู้ใช้งานได้รับของตรงจุดไหน ถ้าลูกค้าอยู่เฉยๆ ผู้ผลิตนำส่งให้ถึงที่ ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อราคาขายก็จะสูง แต่ถ้าลูกค้าวิ่งไปซื้อถึงโรงงานเลย ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อราคาขายให้กับลูกค้าผู้ซื้อก็จะต่ำมาก เพราะไม่ได้คิดต้นทุนลอจิสติกส์ฝั่งลูกค้าที่ลงทุนเคลื่อนย้ายตัวเองไปซื้อเองถึงโรงงาน

ปัจจุบันเราไปเน้นที่กิจกรรมลอจิสติกส์ด้านผู้ผลิตเท่านั้นให้ลดต้นทุนลง แต่สิ่งสำคัญมันไม่ใช่การลดต้นทุน แต่เป็นการไปลงทุนทำกิจกรรมลอจิสติกส์ให้มากกว่าเก่าเพื่อที่จะขายให้ได้มากขึ้นหรือตอบสนองให้มากขึ้น การลดต้นทุนในกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือลอจิสติกส์ในเบื้องต้น คือ การทำให้ถูกวิธี ทำให้ถูกตามแผนที่วางมา แต่ถ้าผลที่ได้ออกมายังไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าทั้งๆ ที่ทำได้ดีและได้ถูกแล้ว เราก็คงต้องกลับไปเปลี่ยนที่การวางแผนใหม่หรือยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ แล้วก็ทำตามแผนให้ตรงที่สุด

เป็นความจริงที่ว่า ลอจิสติกส์มีความสำคัญต่อธุรกิจ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่การขนส่ง ลอจิสติกส์ที่แท้จริงแล้ว อยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้าลูกค้ามีความต้องการแบบกำหนดเวลาไม่ได้และสถานที่ไม่รู้ว่าที่ไหนและจำนวนไม่แน่นอนด้วยแล้ว แต่จะต้องได้สินค้าทุกครั้งที่ต้องการ อย่างนี้ก็ลำบากในการตัดสินใจดำเนินการเพื่อการตอบสนอง ใครสักคนหนึ่ง ไม่ลูกค้าหรือผู้ผลิต ก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าตามที่ต้องการรูปแบบของสินค้าคงคลัง หรือค่าใช้จ่ายของลูกค้าในกรณีที่ไม่มีสินค้าส่งลูกค้า

ดังนั้นเรื่องราวของลอจิสติกส์ที่ผมเข้าใจมากขึ้นนั้น จึงขึ้นอยู่กับใจหรือความปรารถนาของลูกค้าว่าต้องการแบบไหน แบบที่รอได้หรือแบบทันทีทันใด ที่จริงแล้วผู้ที่ออกแบบระบบลอจิสติกส์อะไรก็ตาม จะต้องเข้าใจรูปแบบความต้องการของลูกค้าเสียก่อนว่าต้องการอย่างไร ต้องการเมื่อไร ต้องการที่ไหน ต้องการเท่าไร แล้วจึงมาออกแบบระบบลอจิสติกส์ ที่จริงแล้วลูกค้าเป็นผู้จ่ายค่าการผลิตและบริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมลอจิสติกส์ด้วย เพียงแต่ว่าผู้ผลิตจะมีต้นทุนในการผลิตและต้นทุนลอจิสติกส์อย่างไร ถ้าเราลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้ เราก็ลดต้นทุนการผลิตได้เช่นกันในมุมมองของการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management) แต่ถ้าเราอยากจะให้ต้นทุนลอจิสติกส์ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพและยังคงตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอยู่ได้ เราก็คงต้องมาคิดกันใหม่ ปฏิบัติการกันใหม่ให้ถูกต้องและถูกวิธี และสุดท้ายก็ต้องออกแบบระบบลอจิสติกส์กันใหม่และวางแผนการดำเนินการลอจิสติกส์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ดังนั้นเรื่องของลอจิสติกส์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจฝ่ายผลิตหรือจัดหา (Supply) เท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจความต้องการและความปรารถนาของลูกค้าเป็นเบื้องแรกก่อนที่จะจัดการลอจิสติกส์และจัดการโซ่อุปทาน

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ 7-8-9 ครับ Code ประจำวันเหมือนเดิมครับ แตงโมก็เหมือนเดิมครับ

อ.วิทยา สุหฤทดำรง