วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Shanghai Expo 2010 - Part 10 (2ndTrip) - สูงเฉียดฟ้า ไร้ผู้คน ขาดแนวคิดและวัฒนธรรม ก็ไร้ชีวิต


ในที่สุดผมก็กลับไปชมงาน World Expo 2010 อีกครั้งหนึ่ง ช่วง 5-11 ส.ค. 2553 แต่คราวนี้คณะผู้ร่วมเดินทางกับผมเป็นคนละกลุ่มกับครั้งแรก แต่ก็ยังมีอาจารย์บุญทรัพย์คนเดิมร่วมเดินทางไปกับผมด้วย ในครั้งที่แล้ว คณะทัวร์ของเราเป็นคณะนักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม รุ่นที่ 1 และผู้ประกอบการที่สนใจ รวมแล้ว 40 กว่าคน ในการเดินทางครั้งที่ 2 นี้ เรามีผู้ประกอบการ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของมหาวิทยาลัยศรีปทุมรุ่นที่ 2 จำนวนหนึ่ง และทีมนักวิจัยของสถาบันวิทยาการโซ่อุปทานรวมแล้ว 19 คน โดยมี อ.ดำรงศักดิ์ เป็นหัวหน้าคณะทัวร์ และกว่าจะมาเป็นทัวร์ครั้งนี้ ก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เฉียดฉิวมาก เพราะ Traffic ของการท่องเที่ยวไปในงาน Expo จัดการได้ไม่ง่ายนัก

ในครั้งนี้เราเดินทางด้วย Shanghai Airline ต่างจากคราวก่อนที่เดินทางด้วย MU หรือ China Eastern Airline สิ่งที่ประทับใจกว่าก็คือ อาหารที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเป็นอาหารจริงๆ พูดได้ว่า “เออ! ค่อยเป็นอาหารหน่อย” ข้อเสียคือ ใช้เครื่อง 737 ซึ่งเป็นเครื่องเล็ก แต่กลับใช้บินไกลๆ ราวๆ 4 ช.ม. ซึ่งอึดอัดมากๆ แต่ก็คงจะคุ้มกับสายการบิน คราวที่แล้ว MU เขาใช้ เครื่อง A-300 ดูกว้างขวางกว่า ส่วนเวลาการบินก็เหมือนเดิมครับ ออกเดินทางดึกๆ ถึงเช้า แล้วก็เที่ยวทันทีทั้งวัน ส่วนตอนกลับก็กลับค่ำๆ หน่อย จะได้อยู่เที่ยวและดูงานกันทั้งวันในเซี่ยงไฮ้ให้คุ้ม ไหนๆ เที่ยวกันแล้วก็พยายามใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ พวกเรามีเวลาจำกัดครับ พยายามบริหารเวลากัน

ถึงเซี่ยงไฮ้ตอนเช้าวันเสาร์ ผมสังเกตบริเวณที่ตรวจคนเข้าเมือง เขามีเครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยกว่าเมืองไทยเรา ตรงที่มีจอ Display แสดงให้เห็นหน้าของผู้เดินทางพร้อมชื่อและหมายเลข Passport สงสัยว่าไปครั้งที่แล้วเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ทำไมผมไม่ได้สังเกตเห็นนะ หรือเขาอาจติดตั้งมาตั้งแต่ครั้งที่แล้วหรือเปล่า? ที่สุววรณภูมิของเรามีแค่กล้อง LogicTec อันกลมๆ เท่านั้น เหมือนกับด่านตรวจเข้าเมืองที่ปอยเป็ตชายแดนไทยกับเขมร (แซวเล่นนะครับ) แต่ที่จริงแล้วอาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือ กระเป๋าของผู้ร่วมเดินทางท่านหนึ่งในคณะแตกเสียหายไปเลยครับ ไม่รู้ว่าโดนกระแทกแตกกระจายที่สนามบินไหน จับไม่ได้ไล่ไม่ทันครับ

กระบวนการและวิธีการ Handle กระเป๋าคงจะไม่นุ่มนวลอยู่แล้วครับ เพราะว่าในแต่ละวันจะมีกระเป๋าหลายหมื่นใบที่ผ่านสายพาน และผ่านมือของคนที่ยกขึ้นและลงจากสายพาน ผ่านรถขนย้ายไปยังเครื่องบิน และยกขึ้นลงจากใต้ท้องเครื่องบิน นั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบลอจิสติกส์ในสนามบิน กระเป๋าเสียหายก็เพราะลอจิสติกส์ไม่ดี แล้วลองมาดูที่วิวัฒนาการของกระเป๋าบ้าง เพราะว่าคุณค่าของกระเป๋าเดินทางนี้เป็นคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ในลักษณะการจัดเก็บ (Storage) และการเคลื่อนย้าย (Move or Transport) รวมทั้งความโดดเด่นในการจดจำได้ง่าย (Easy to Identify) เพราะว่าทุกครั้งที่บริเวณรับกระเป๋าจะมีการหยิบกระเป๋าผิดอยู่เสมอ ในหลายครั้ง เรามักเอาผ้าสีหรือมีการผูกโบว์สีเป็นการทำสัญญลักษณ์เพื่อให้เราสามารถจดจำได้ง่าย หรือมีป้ายชื่อติดไว้เลยถ้ามากับบริษัททัวร์ จะได้ไม่หยิบผิดกันและจะได้รู้ว่าเป็นกรุ๊ปทัวร์เดียวกัน นี่ก็เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์อีกอย่างหนึ่งในสนามบินครับ! (ขออภัยที่แอบแถมเรื่องลอจิสติกส์ ก่อนเข้าเรื่อง Expo นะครับ)

เหมือนเดิมครับ คือ มาถึงเซี่ยงไฮ้ตอนเช้าก็ต้องนั่งรถไฟแม่เหล็ก (MagLev) เข้าเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 นาที ด้วยความเร็วสูงสุด 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่าที่สังเกต ไม่ค่อยมีคนนั่งมากเท่าไรนัก คนไม่แน่นมาก มีที่นั่งสบายๆ หรือช่วงเวลาที่พวกเราไปนั่งอาจจะไม่ค่อย Busy มากนัก พอนั่งมาถึงปลายทาง ผมสังเกตว่า บนรถไฟแม่เหล็กนี้ไม่มีที่รัดเข็มขัด (Seat Belt) เหมือนบนเครื่องบินหรือในรถยนต์ คุณศุภกรที่ร่วมทัวร์ไปกับเราเอ่ยว่า “รถไฟมันแล่นเร็วมาก แป๊ปเดียวก็ถึงที่หมาย ก็เลยคาดเข็มขัดไม่ทัน” ก็จริงครับ เพราะมัวแต่คุยกัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าด้วยความเร็วขนาดนั้น เข็มขัดนิรภัยคงจะไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่นัก ก็เลยไม่ต้องใช้กันดีกว่าใช่ไหม? เพราะว่ารถไฟแล่นด้วยความเร็วสูงอย่างนั้น พลาดท่าเสียหลักไป ก็คงจะไม่เหลืออะไรอยู่แล้วหรือเปล่า แล้วผมจะพยายามไปหาคำตอบมาครับ

พอถึงตัวเมืองเซี่ยงไฮ้คราวนี้ เราไม่ได้ไปชมหอไข่มุก แต่เราจะไปชมตึกที่สูงกว่าหอไข่มุก คือ Shanghai World Financial Center (SWFC) ซึ่งเป็นตึกรูปทรงคล้ายๆ กับที่เปิดขวดน้ำอัดลม เราขึ้นไปที่ชั้น 94 และชั้นที่ 97 ซึ่งเป็นบริเวณช่องกลวงตรงกลางที่ยอดตึกซึ่งเหมือนที่เปิดขวด พวกเราได้เห็นวิวทิวทัศน์จากที่สูงของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่สูงกว่าหอไข่มุก แต่ระดับความเสียวของการมองลงมาข้างล่างแล้ว สู้หอไข่มุกไม่ได้เลย หอไข่มุกมีพื้นซึ่งเป็นกระจกใสให้เรามองเห็นลงไปยังพื้นข้างล่างและเดินดูได้รอบๆ เห็นแล้วหวาดเสียวจนขาสั่นได้กว่าเยอะมากๆ เลย หากมีโอกาสก็ลองไปดูกันนะครับ แน่นอนว่า การจัดระบบลอจิสติกส์ของผู้ที่เข้าชมของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนเข้าชมเป็นจำนวนมากๆ นั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดระเบียบการไหลของคนที่ขึ้นไปบนตึกด้วยลิฟท์และด้วยความเร็วที่เหมาะสม การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเพื่อไม่ให้ติดขัดและเกิดการรอคอยนานจนน่าเบื่อเกินไป แต่พอมองไปรอบๆ ก็ยังเห็นมีการก่อสร้างตึกอีกมากมาย และได้ทราบมาว่า ในปี 2014 จะมีอีกตึกหนึ่งซึ่งจะก่อสร้างเสร็จ และจะสูงกว่า ตึก SWFC อีก เขาจะสร้างให้สูงกว่ากันทำไม อะไรเป็นแรงบันดาลใจหนอ?

ในช่วงบ่าย คณะของเราไปที่สำนักงานผังเมืองของเมืองเซี่ยงไฮ้ Urban Planning Center ซึ่งที่นี่ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้วครับ มีการเก็บเงินค่าเข้าชมด้วย มีทั้งหมด 4 ชั้น ที่สำนักผังเมืองนี้เป็นการแสดงแบบจำลอง (Model) การสร้างเมืองของเซี่ยงไฮ้ เออ! ก็แปลกดีครับ เขาเอางานประจำแบบราชการมาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเงินได้ด้วย เราจะเห็น Model ของตึกต่างๆ ของเมืองเซี่ยงไฮ้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและที่กำลังก่อสร้างและที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง มี Model ของสนามบินในปัจจุบันและอนาคต ท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งพื้นที่ของงาน Expo ที่นี่มีเจ้าหน้าที่นำชมที่พูดเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะครับ ทำให้ผมตื่นตา ตื่นใจ พร้อมกับหนักใจว่าทำไมบ้านเราไม่เป็นอย่างนี้บ้างนะ ไม่ใช่บ้านเราไม่มีกรมผังเมืองนะครับ ของเราก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ผมยังให้รายละเอียดของกรมผังเมืองบ้านเราไม่ได้มากนัก ถ้าไม่มีกรมผังเมืองของเราแล้ว บ้านเราอาจจะแย่กว่านี้อีก แต่ปัญหาคือ แล้วจะทำให้ดีกว่านี้ได้ไหมล่ะครับ

ส่วน Highlight ของสำนักงานผังเมืองของเมืองเซี่ยงไฮ้ คือ Video Presentation 360 องศา ที่เขาเอาพวกเราเข้าไปในห้องวงกลมที่มีการยกระดับของพื้นขึ้น พร้อมกับมีการแสดง Video Presentation 360 องศา เหมือนขึ้นไปยืนบนพรม แล้วเหาะไปทั่วเมืองเซี่ยงไฮ้ Video Presentation แสดงให้เห็นทั้งหน้าและหลัง ด้านซ้ายและขวา ดูได้รอบทิศขณะที่ Video Presentation พาพวกเราเหาะไปทั่วเมือง ผมว่ามันเป็น 3D Presentation ที่ไม่ต้องใช้แว่นสองสีเลย เพราะขณะที่เราเหาะวนเวียนไปรอบๆ เมืองเซี่ยงไฮ้ ด้วยความเร็วที่เร่งขึ้นและชะลอลดต่ำลงและหยุดลอยอยู่ในบริเวณที่สำคัญต่างๆ ในเมืองเซี่ยงไฮ้ Video Presentation แสดงให้เรารู้สึกว่า บินสูงและบินต่ำ บินเร็วและบินช้า โค้งและเลี้ยวไปมา มันทำให้พวกเราเซไป เซมา ทรงตัวไม่ได้ ต้องหาที่ยึดเกาะไว้ ผมรู้สึกราวกับว่าพื้นที่เรายืนนั้นมันเคลื่อนไหวจริงๆ ที่แท้เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของ Video Presentation 360 องศากับการมองของเรา ทำให้เรารู้สึกไปเอง ตอนเดินออกมาจากห้องยังก้มไปดูที่พื้นที่ยกระดับเลยว่ามีระบบไฮโดรลิกหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีอะไรเลย มันเป็นพื้นยกระดับธรรมดาเอง ตรงนี้เจ๋งจริงๆ ครับ ผมแนะนำครับ ถ้าไปเซี่ยงไฮ้ควรจะไปดูที่สำนักผังเมือง ดีมากเลยครับ แล้ว อ.ดำรงศักดิ์ ยังเล่าให้ฟังว่า เพื่อนของอ.ดำรงศักดิ์ เคยมาทำงานวางผังเมืองที่เมืองเซี่ยงไฮ้มาก่อน เพราะว่าจบสถาปัตย์มาแล้ว เมืองไทยไม่มีงานให้ทำ ก็เลยมาทำงานให้เมืองจีน (แล้วผังเมืองของไทย ใครทำให้กันละเนี่ย)

จากนั้นก็ไปเดินถนนนานจิง ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่มีทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นถนนคนเดิน (หรู) ที่มีแต่ของมีแบรนด์ (Brand Name) สินค้า Copy นั้นไม่ค่อยได้มีให้เห็น ผมก็เห็นมีแต่คนมาเดิน ไม่รู้มาเดินกันทำไม แล้วผมก็ไม่รู้ว่าพวกเราจะมาเดินกันทำไมด้วย สรุปแล้วเป็นการตลาดของเมืองเซี่ยงไฮ้ที่พาเราและคนจีนที่มาท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาดูคนเดินไปเดินมากัน และคนอื่นๆ ก็มาดูพวกเราไปเดินด้วย เออดี! แต่ก็มีห้างสรรพสินค้าและมีของขายตามปกตินะครับ ในเมืองใหญ่ๆ ของจีนก็จะมีลักษณะของถนนแบบนี้ครับ แต่ดูไปก็มีเสน่ห์ดีครับ จบวันนั้นแล้วพวกเราก็กลับไปพักผ่อนนอนหลับอย่างสบายจริงๆ ต้องบอกว่า คืนแรกจะหลับดีที่สุดเพราะว่าเหนื่อยกับการนอนบนเครื่องบินมาหนึ่งคืน ซึ่งหมายความว่า อดนอนมานั่นแหละครับ

มาเซี่ยงไฮ้วันแรกนี้ในรอบที่สองนี้ เป็นวันเสาร์ รถไม่ค่อยติดเท่าไหร่นัก แต่ก็แปลกดีนะครับ สำหรับเมืองที่คนประมาณ 20 ล้านคน รถไม่ค่อยติดเท่าไหร่นักในวันเสาร์ แล้ววันธรรมดาเป็นอย่างไรแล้วผมจะเล่าให้ฟังในวันต่อๆ ไป มาวันแรกเรายังไม่ได้เข้าชมงาน Expo สำหรับบทสะท้อนความคิดสำหรับวันแรก (Daily Reflections) ของผม คือ การแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่งจากการสร้างตึก SWFC ที่สูงที่สุดในเซี่ยงไฮ้ และมีอยู่แล้วยังไม่พอจะต้องสร้างให้สูงกว่า เพราะว่า ตึก SWFC เป็นตึกของต่างชาติ ที่ไม่ใช่ของจีน (ผู้พัฒนาเป็นบริษัทญี่ปุ่น) และเป็นตึกที่มีลักษณะที่เป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดีต่อเมืองเซี่ยงไฮ้ ต้องไปหาเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลอื่นดูเอาเองนะครับ เพราะว่ามีเป็นรายการ TV อยู่ในช่อง Discovery ที่เล่าเรื่องราวของตึกนี้ครับ!

ผมมองว่าการสร้างตึกให้สูงกว่าเป็นการสร้างสิ่งที่เป็นสัญญลักษณ์ (Symbol) ที่เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศจีนที่ต้องต่อสู้และแข่งขันมาโดยตลอดด้วยจำนวนประชากรที่มากมายจนจะเกือบถึง 1,400 ล้านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พูดง่ายว่า อดอยากกันมาก่อน ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นลัญญลักษณ์เหล่านี้แล้ว การรวมตัวทางสังคมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพนัก เพราะคนเพิ่มมากขึ้นทุกที แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องเสมอไปในการควบคุมสังคม อย่างประเทศมาเลเซียก็ใช้ ตึก Petronas เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศมาแล้ว ก็ต้องลองดูต่อไป ประเทศใหญ่ๆ อย่างโซเวียตก็แตกสลายออกมาเป็นหลายๆ ประเทศ แล้วก็ยังมีประเทศอินเดียอีกประเทศหนึ่งที่มีประชากรจำนวนมากที่ไล่ตามจีนมาติดๆ แต่ผมกลับมองว่าความเป็นที่สุดของการสร้างตึกนั้นเป็นการแสดงเชิงสัญญลักษณ์ทางกายภาพเท่านั้น แต่มันจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ถ้าคนที่อยู่ในประเทศนั้นไม่มีสิ่งที่เป็นจุดยืนร่วมกันหรือมีวัฒนธรรมร่วมกัน

ถึงแม้ว่า Slogan ของงาน World Expo 2010 คือ Better City, Better Life. ผมก็อยากจะเพิ่มเข้าไปว่า “เมืองสร้างคน คนสร้างชีวิต และชีวิต สร้างเมือง” ดังนั้นสิ่งที่ขาดไป คือ ตัวคนและคนหลายๆ คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน มามีชีวิตร่วมกัน เพราะว่าเมืองที่ไม่มีคนอยู่นั้น ก็คือ วัตถุที่ปราศจากชีวิต ตึกรามบ้านช่องที่ไม่มีคนอยู่ก็ไม่สามารถทำให้เมืองมีชีวิตอยู่ได้ เมืองก็จะตายไร้ชีวิต ดังนั้นชีวิตที่ดีกว่าก็คงจะไม่เกิดขึ้น จริงไหมครับ เมืองจึงเป็นเหมือน Hardware ส่วนวัฒนธรรมของคนที่เป็นผู้ใช้งาน (Users) ก็จะเป็น Software ตลอดเวลาที่เราได้รู้จักจีนเราก็คงจะไม่ได้รู้จักแค่หน้าตาเท่านั้น แต่เราจะต้องรู้จักปรัชญาและวิธีคิดและการปรับตัวของสังคมจีนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปกครองและภาวะผู้นำสำหรับจีนยุคใหม่ หน่วยงานการวางผังเมืองที่เราได้ไปดูในวันแรกจึงเป็นเหมือนหน่วยงานทางด้าน Hardware ที่จะต้องวางแผนโครงสร้างของเมืองเพื่อให้คนได้อยู่อย่างมีชีวิตที่มีคุณค่า และใช้ชีวิตที่มีคุณค่านั้นสร้างเและพัฒนาเมืองให้เจริญและอยู่ได้อย่างยั่งยืน นั่นเป็นบทสะท้อนความคิดจบท้ายของการเดินทางในวันแรกก่อนที่ผมจะหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย

แล้วค่อยมาคุยกันในบันทึกการเดินทางของความคิดในงาน World Expo 2010 กันต่อไปครับ

หลับฝันดีนะครับ พรุ่งนี้ 7-8-9 ครับ Code ประจำวัน

อ.วิทยา สุหฤทดำรง