วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Misc – จะดูอย่างไรว่าเป็นลอจิสติกส์

ผมเคยได้ยินนักศึกษาที่เรียนลอจิสติกส์พูดกันว่า กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นมี 13 กิจกรรม ดังนี้

1. การติดต่อสื่อสารด้านลอจิสติกส์ (Logistics Communications)
2. การบริการลูกค้า (Customer Service)
3. กระบวนการสั่งซื้อ (Order processing)
4. การคาดการณ์ความต้องการ (Demand forecasting)
5. การจัดซื้อ (Procurement)
6. การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
7. การบริหารการขนส่ง (Transportation Management)
8. การบริหารคลังสินค้าและการจัดเก็บ (Warehousing และ Storage)
9. ลอจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)
10. การจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ (Parts และ Services Support)
11. การเลือกที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า (Plant และ Warehouse Site Selection)
12. การจัดการเคลื่อนยัายขนถ่ายวัสดุ (Material Handling)
13. การบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packaging และ Packing)


ก็ว่ากันไปตามตำรา ไม่ผิดหรอกครับ เข้าใจได้ดี ผมนั้นก็รับได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะผมคิดว่าลอจิสติกส์เป็นมากกว่าแค่ 13กิจกรรมและมีมุมมองที่เป็นมิติที่ลึกกว่านั้นมากนัก การที่จะมากำหนดว่าอะไรเป็นลอจิสติกส์และมีอะไรบ้างนั้น ผมว่ามันแข็งไป และดูผิวๆ ไปหน่อย เอาสอนเด็กๆ ปริญญาตรีพอได้ แต่พอจะประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างแล้ว มันดูจะไปไม่ได้เสียแล้ว มันต้องการคำอธิบายใหม่ ผมว่ามันก็ไม่ครบและครอบคลุมเสียเท่าไหร่นัก


เพราะว่าลอจิสติกส์นั้นเป็นนามธรรม (Abstract) เวลาพูดหรือสื่อสารออกไปนั้นจะต้องมีบริบท (Context)รองรับถึงจะเห็นออกมาเป็นรูปธรรม (Concrete) ได้ อย่างเช่น 13 กิจกรรมของลอจิสติกส์ที่ได้รับรู้กัน ถึงแม้ว่าจะกำหนดไปแล้วว่าเป็น 13 กิจกรรม แล้ว ทั้ง 13 กิจกรรมก็ยังต้องการบริบทอยู่ดีในการสื่อสาร ผมมองว่าที่เขากำหนด 13 กิจกรรมออกมานั้นก็เพราะต้องการสื่อสารเบื้องต้นให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่าลอจิสติกส์ คือ อะไร เป็นเบื้องแรก มีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง แต่ความเป็นลอจิสติกส์นั้นมีได้มากกว่าหรือมีรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านั้นอีกและลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก เพราะว่าถ้าเราเอาทั้ง 13 กิจกรรมมาอธิบายโดยไม่ได้พูดถึงลอจิสติกส์เลย เราก็อธิบายได้เหมือนกัน เราก็เข้าใจได้เหมือนกันแต่เป็นแค่การจัดการฟังก์ชั่นหรือการดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจ และเวลานำเสนอในตำราก็ไม่ได้เห็นเน้นเรื่องการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อเสียเท่าไหร่นัก ที่สุดแล้วจะต้องโยงกันไปถึงโซ่อุปทานด้วยจึงจะครบถ้วนมากขึ้น แล้วจริงๆแล้วลอจิสติกส์ คือ อะไรกันแน่


ถ้ามองเข้าไปในกิจกรรมลอจิสติกส์ทั้ง 13 กิจกรรมนั้นแล้ว ผมยังมองเห็นว่าใน 13 กิจกรรมนั้นยังแบ่งได้เป็นประเภทได้ 2 ประเภทด้วยกัน ซึ่งผมเรียกเองว่า เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ซึ่งก็ คือ กิจกรรมที่เราเข้าไปสัมผัสและเคลื่อนย้ายและจัดเก็บตัวสินค้าและวัตถุดิบรวมทั้งบริการด้วยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือการไหลของลอจิสติกส์ (Flow of Logistics)หรือสินค้าและวัตถุดิบ ส่วนอีกประเภทก็คือ กิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์ซึ่งเป็นการไหลของข้อมูลและการตัดสินใจวางแผนให้เกิดกิจกรรมลอจิสติกส์


ลองมาอุปมาอุปไมยดูก็แล้วกันว่า 13กิจกรรมของลอจิสติกส์ที่ว่ากันมานั้นเพียงพอหรือไม่ในการอธิบายหรือสื่อสาร คราวนี้ให้ลองกำหนดหรือให้หาว่าเครื่องดนตรีมีกี่ประเภทและอะไรบ้าง เราก็ยังคงพอนึกออกนะครับ ก็ไล่เครื่องดนตรีแต่ละประเภทออกมา แต่ถ้าเราเอาน้ำใส่ในแก้วน้ำหลายๆใบในระดับน้ำที่แตกต่างกัน แล้วก็คลึงที่บริเวณปากขอบแก้ว ปรากฎว่ามีเสียงดังออกมาที่แตกต่างกันไป แล้วเราทำให้ได้ยินเป็นเสียงเพลงได้ แก้วน้ำนี้ก็เป็นเครื่องดนตรีได้เช่นกัน หลายสิ่งหลายอย่างรอบตัวเราสามารถทำเป็นเครื่องดนตรีได้ แล้วเสียงดนตรีจะต้องออกมาจากเครื่องดนตรีมาตรฐานทั่วไปเท่านั้นหรือไม่ ก็คงจะไม่ใช่เสมอไป แล้วเราจำเป็นไหมที่จะยึดกับ 13 กิจกรรมลอจิสติกส์ และที่สำคัญเมื่อบริบทของการสร้างคุณค่าเปลี่ยนไปหรือขอบเขตของการพิจาณาเปลี่ยนไป เราอาจจะไม่ได้มีชื่อของ 13 กิจกรรมนี้ให้เห็นเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการสร้างคุณค่า สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจความเป็นลอจิสติกส์ที่ระดับนามธรรม ไม่ใช่ที่รูปธรรมอย่างที่กำหนดไว้ใน 13 กิจกรรม เมื่อเข้าใจ 13 กิจกรรรมแล้ว ก็น่าจะเข้าใจลอจิสติกส์ในภาพรวมได้ด้วย


ถ้าตัดคำว่าลอจิสติกส์ออกไปจากการนำเสนอ แล้วเราก็ยังอธิบายกิจกรรม 13กิจกรรมได้ ความเป็นลอจิสติกส์ไม่ใช่แค่ทั้ง 13กิจกรรม แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงทั้ง 13 กิจกรรมเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ผมคิดว่าเราใช้ความหมายลอจิสติกส์ไปในทางที่ไม่ถูกเท่าไหร่นัก ส่วนมากเราใช้แทนการขนส่งหรือการจัดเก็บและการกระจายสินค้าไปเลย ซึ่งไม่ค่อยจะถูกต้องนัก


ลอจิสติกส์มีความหมายในเชิงบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำโดยเน้นที่การไหลของสินค้าและวัตถุดิบอย่างไร้ตะเข็บ (Seamless) และตอบสนองอย่างถูกเวลาและถูกสถานที่ ประเด็นที่สำคัญของลอจิสติกส์จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงถึงลูกค้าคนสุดท้ายผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ ผมเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ เราเห็นนักไวโอลิน เล่นไวโอลิน จะเปรียบเสมือนกับคนที่จัดการสินค้าคงคลังกำลังคำนวณจำนวนสินค้าคงคลังและจัดเก็บสินค้าอยู่ อย่างนี้ไม่ใช่ลอจิสติกส์ครับ นักไวโอลินก็คือ คนที่เล่นไวโอลิน ยังไม่ใช่นักดนตรี แต่ถ้านักไวโอลินเล่นไวโอลินในวงดนตรีซิมโฟนีออเครสตร้า นักไวโอลินคนนี้เป็นนักดนตรีในวงดนตรีซิมโฟนีออเครสตร้า ครับ เพราะว่าในวงดนตรีเป็นเสมือนโซ่อุปทานมีเพลง มีโน้ตเพลงที่ใช้ร่วมกันและมีคนที่ฟังเพลงที่เป็นลูกค้าด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าคนที่จัดการสินค้าคงคลังมีการประสานงานกับการจัดซื้อ การผลิต การจัดเก็บและการจัดส่งจนถึงมือลูกค้า เห็นและแบ่งปันข้อมูลลูกค้าและข้อมูลอื่นๆที่จะมีผลต่อการตอบสนองต่อลูกค้าระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานนี้ คนที่จัดการสินค้าคงคลังนี้ทำหน้าที่ลอจิสติกส์ครับ เราก็จะเรียกเขาว่าเขาทำกิจกรรมลอจิสติกส์สินค้าคงคลัง ส่วนกิจกรรมที่เหลือ ถ้าเชื่อมโยงกันและถึงลูกค้า เราก็ถือว่าเป็นลอจิสติกส์ของฟังก์ชั่นงานนั้น


เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็ต้องอธิบายกันต่อไปว่า ถ้ากิจกรรมต่างๆถูกเชื่อมโยงกันในเชิงกายภาพหรือเชิงคุณค่าสำหรับการใช้งาน เชื่อมโยงกันในเชิงสารสนเทศและการตัดสินใจวางแผนร่วมกันแล้วและถ้าเรารวมเอากิจกรรมการผลิตเข้าไปด้วยแล้ว เราก็จะได้โซ่อุปทานขึ้นมาเลย ที่จริงแล้วพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอก เพราะว่าโซ่อุปทานจะต้องเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงจะมีกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมลอจิสติกส์ นั่นคือ ถ้าโซ่อุปทานดี ลอจิสติกส์และการผลิตก็น่าจะดีด้วย สิ่งที่บ่งบอกว่ากิจกรรมลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์แตกต่างจากกิจกรรมหลัก 13 กิจกรรมที่กล่าวมา คือ ความเป็นโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) หรืออย่างเป็นบูรณาการ (Integrative) ของโซ่อุปทานอีกทั้งยังรวมถึงมุมมองเชิงคุณค่าและการจัดการคุณค่าเพื่อให้เกิดการรองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป


ถ้าจะจัดการลอจิสติกส์ โดยไม่ดูถึงการจัดการโซ่อุปทานเลย ก็ไม่ใช่ลอจิสติกส์ ดังนั้นกว่าจะมาเป้นลอจิสติกส์ได้ เราก็ต้องผ่านการจัดการโซ่อุปทานมาเยอะครับ แล้วถ้าใครจะมาพูดเรื่องลอจิสติกส์กับผมแล้ว แล้วผมถามต่อเรื่องโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง แล้วตอบไม่ได้ ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจองค์รวมของลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ไม่ผิดหรอกครับ แต่ถูกไม่หมดครับ

Misc – ต้องก้าวข้ามผ่านลอจิสติกส์ไปให้ได้

ถึงวันนี้ ผมพบว่า พวกเรายังไม่ได้รู้จักลอจิสติกส์ดีเท่าไหร่นัก แถมยังหมกหมุ่นกับลอจิสติกส์มากจนเกินไป จนไม่รับเอาแนวคิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลอจิสติกส์ ทำให้เกิดมุมมองต่อกระบวนการสร้างคุณค่าผิดไป หรือพูดแรงๆ ว่า นับถือลอจิสติกส์เป็นพระเจ้าไปแล้ว คิดว่า ลอจิสติกส์คือคำตอบสุดท้าย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ลอจิสติกส์มาแรงตั้งนานแล้ว แรงไปทั่วโลกจริงๆ แต่ว่าเราก็จะต้องไปต่อ ศึกษาต่อไป พัฒนาความคิดต่อไป ข้างหน้าเรามีอะไรให้ศึกษาอีกมากมาย ลอจิสติกส์ก็เป็นแค่ทางผ่านและพื้นฐาน แล้วเราจะมาอะไรกันกับลอจิสติกส์นักหนา ลอจิสติกส์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ถ้าเรายังไม่เลิกหลงมัวเมากับลอจิสติกส์อย่างไร้ปัญญาเช่นนี้ ผมว่ามันก็คงถึงวาระสุดท้ายแล้ว เพราะว่าองค์ความรู้ของลอจิสติกส์ที่มีอยู่มันไม่ครอบคลุมในการจัดการคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า





ผมเหนื่อยมากๆ ที่จะสื่อสารออกไปว่า "ลอจิสติกส์ คือ อะไร?" ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเข้าใจอะไรกันยากอย่างนั้น ขอแค่เปิดใจ ใส่ใจ ทำความเข้าใจเสียหน่อย อย่ายึดติดมากไปนัก พวกเราจะได้ไปต่อ ข้างหน้ายังเรื่องราวและองค์ความรู้อีกมากมายให้เรียนรู้ หลายสิ่งรอบๆ ตัวเราจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มันจะยากยิ่งขึ้นสำหรับที่เราจะทำความเข้าใจ แล้ววันนั้นเราจะพบว่า ลอจิสติกส์เป็นส่วนประกอบหนึ่งหรือตัวต่อตัวหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด ผมหวังว่า เมื่อถึงวันนั้น มันคงจะไม่สายเกินไป...

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Perspectives 15. เมื่อโซ่อุปทานขาดสะบั้นลง ธุรกิจและชีวิตก็คงจะหยุดนื่ง

ผมได้อ่านนิตยสาร Fortune ฉบับวันที่ 26 December 2011 มีคอลัมน์หนึ่งเขียนโดย Bill Powell ได้เสนอรายงานที่เกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในประเทศไทยโดยมีรูปรถยนต์ Honda ลอยน้ำอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ใต้รูปเขียนว่า “Logistics” แต่ชื่อบทความกลับเป็น “When Supply Chain Break (เมื่อโซ่อุปทานขาดสะบั้นลง)” แล้วก็มีคำโปรยว่า “Manufacturers have spent years buildings low-cost global supply chains. Natural disasters are showing them just how fragile those networks really are. (ผู้ผลิตได้ใช้เวลาหลายปีในการสร้างโซ่อุปทานระดับโลกที่มีต้นทุนต่ำ แล้วภัยพิบัติจากธรรมชาติก็แสดงให้พวกเขาเห็นว่าเครือข่ายเหล่านั้นเปราะบางแค่ไหน)” ผมเห็นแล้วก็เป็นห่วงว่า คนไทยเราเห็นทั้ง Logistics และ Supply Chain ในเรื่องเดียวกันแล้วจะเข้าใจอย่างไรกันบ้างหนอ โดยเฉพาะภาพรถ Honda จมน้ำนั้นมันจะเกี่ยวกับลอจิสติกส์ได้อย่างไร เพราะว่าเรื่องของภัยพิบัตินั้นคนส่วนใหญ่หรือในข่าวทั่วไปนั้นเขาพูดกันถึงเรื่อง Supply Chain เป็นส่วนใหญ่ แล้วทำไม นิตยสาร Fortune ถึงนำเสนอรูปรถที่จมน้ำด้วยคำว่าลอจิสติกส์ด้วยเล่า










Bill ผู้เขียนบทความนี้นำเสนอว่าความเสียหายของน้ำท่วมในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 30 พันล้านดอลลาร์ ผลของภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้มีผลกระทบต่อแหล่งผลิตต่างๆทั่วโลก ทำให้การผลิตต้องล่าช้าลงหรือไม่ก็ต้องหยุดชะงักไปเลย น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเป็นการทดสอบความยอดเยี่ยมของการปฏิบัติการของบริษัทต่างๆ ซึ่งเราดูได้จากอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งประสบเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่ภัยพิบัติสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว และยังไม่เท่าไหร่เลยก็มาเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองไทยทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลก





จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายๆ คนได้ยินคำว่าโซ่อุปทาน (Supply Chain) หรือไม่บางคนก็พูดว่าเป็นโซ่การผลิต แต่ผมว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นมากกว่าโซ่การผลิตหรือเป็นมากกว่าที่เราเห็นและเข้าใจจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ เหตุการณ์หายนะจากภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เราเห็นอะไรต่างๆ ที่ไม่เคยเห็น เรื่องบางเรื่องที่ไม่เคยได้รับรู้ บริษัทที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเท่าไหร่ แต่กลับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ Macbook และ Prius.




ในบทความของ Bill ยังกล่าวถึงสิ่งที่น่าสังเกตุและเป็นคำถามอยู่เสมอ เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติทำให้สายการผลิตหยุดชะงักลงเพราะว่าขาดชิ้นส่วนในการผลิตว่า “แล้ว Lean Supply Chain หรือ โซ่อุปทานแบบลีนนั้นเหมาะสมแล้วหรือ?” เพราะว่าแนวคิดนี้ถูกพัฒนามาจากบริษัทโตโยต้าเอง และบริษัทโตโยต้าก็ได้พยายามทำให้โซ่อุปทานของตัวเองนั้น Lean หรือมีความคล่องตัวและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วยความมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตใหญ่ๆ ในระดับโลกได้สร้างเครือข่ายของบริษัทผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วโลกเพื่อที่จะผลิตชิ้นส่วนป้อนให้บริษัทผู้ผลิตสินค้า ด้วยแนวคิดแบบลีนหรือแนวคิดของ Toyota Production System (TPS) ผู้ผลิตที่อยู่ในโซ่อุปทานจะต้องผลิตชิ้นส่วนในลักษณะทันเวลาพอดี (Just In Time) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ผลิตสินค้าจะได้ชิ้นส่วนวัตถุดิบได้ทันตามเวลาที่ต้องการ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผน ระบบในโซ่อุปทานก็จะให้ผลประโยชน์กับทุกคนในโซ่อุปทาน โรงงานประกอบสามารถเดินสายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถรักษาต้นทุนให้ต่ำไว้ได้โดยหาแหล่งผลิตในภูมิภาคต่างได้ด้วยตันทุนของค่าแรงที่ต่ำกว่าและสุดท้ายผู้บริโภคก็ได้ใช้ของที่มีราคาถูก





แต่เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน บริษัทโตโยต้าเองก็ต้องมาประสบปัญหาเช่นกัน เราได้เห็นความเปราะบาง (Vulnerability) ของโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เพราะว่าเป็นธรรมชาติของความเชื่อมต่อกันในโซ่อุปทาน ที่จริงแล้วโซ่อุปทานเองไม่มีคุณลักษณะสร้างผลกระทบเป็นแค่ลูกโซ่เท่านั้น เพราะว่าโครงสร้างของโซ่อุปทานนั้นเป็นเครือข่าย (Network) ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก็จะเกิดขึ้นกันเป็นวงกว้างทั้งเครือข่ายเช่นกัน ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมที่มีส่วนในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า





เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 นี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักของโซ่อุปทานระดับโลกครั้งใหญ่เกิดความเสียหาย อย่างมากกับธุรกิจระดับโลก ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดก็ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และสินค้าอื่นๆ อีกหลายชนิดทั้งในประเทศและในระดับโลก ด้วยเหตุการณ์นี้จึงทำให้ผู้ผลิตในระดับโลกต้องหันมาพิจารณาหรือคิดกันใหม่ในเรื่องโครงสร้างการผลิตทั่วโลก (Glabal Structure) Bob Ferrari ผู้เชี่ยวชาญด้านโซ่อุปทานได้กล่าวไว้ว่า “เหตุการณ์หงส์ดำ (Black Swan) หรือภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวกันมาก่อนได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความเปราะบางของโซ่อุปทานอุตสาหกรรม” Carlos Ghosn, CEO of Nissan มองในเชิงปรัชญาว่า “จะมีวิกฤติอีก เราไม่รู้ว่าวิฤตินั้นจะเป็นอะไร จะเกิดขึ้นที่ไหน จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นเราจะต้องเรียนรู้จากมัน” แล้ว Bill Powell ก็กล่าวสรุปว่า ถ้า Ghosn พูดถูก และวิฤกตินั้นจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นความได้เปรียบเชิงต้นทุนอาจจะไม่ได้ตกอยู่กับโซ่อุปทานที่ว่องไวที่สุด แต่จะเป็นโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust) ที่สุด ตรงนี้ผมเห็นด้วยอย่างมาก บทความครั้งต่อๆ ไปของผมคงจะต้องลองมาดูกันว่า Robust Supply Chain นั้น คือ อะไรกัน?





ลองกลับมาดูที่รูปของ Fortune ที่เป็นรถ Honda ที่ลอยอยู่ในน้ำท่วม Bill Powell ดูว่าเป็นลอจิสติกส์อย่างไร เพราะว่าดูในบทความแล้วเขาไม่ได้เอ่ยถึงลอจิสติกส์สักคำเลย และชื่อเรื่องกลับเป็น “เมื่อโซ่อุปทานขาด (When Supply Chain Break)” ผมก็ไม่รู้ว่าพวกเราคนไทยพอเห็นรูปนั้นและชื่อเรื่องจะเข้าใจความสัมพันธ์ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนี้อย่างไรกันบ้าง ผมคิดว่า Bill Powell คงจะไม่ได้เขียนคำว่า Logisitcs ใต้รูปน้ำท่วมอย่างไม่ตั้งใจ ผมคิดว่า Bill เข้าใจว่าน้ำท่วมโรงงาน Honda แล้วจะทำให้รถที่ผลิตเสร็จแล้วไม่สามารถนำส่งให้ถึงมือลูกค้านั้นหมายความว่าเป็นปัญหาเชิงลอจิสติกส์ เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่จะต้องพยายามนำคุณค่าต่างๆ ที่ลุกค้าต้องไปถึงมือลูกค้าให้ได้ เมื่อลอจิสติกส์ขาดสะบั้นลงก็จะทำให้โซ่อุปทานนั้นขาดไปด้วย ซึ่งหมายความว่า โซ่อุปทานไม่สามารถนำส่งคุณค่าที่อยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการได้อย่างดี เร็วและถูก ผมว่า Bill นี้มีความเข้าใจในประเด็นของความสัมพันธ์ของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นอย่างดี เพราะว่าเขามองจากลูกค้า ไม่ได้มองเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมองจากลูกค้าแล้ว เราจะเห็นกิจกรรมลอจิสติกส์และการผลิตเป็นเครือข่ายกันทั้งสายโซ่อุปทาน (Supply Chain Network) เราจะเห็นลอจิสติกส์และการผลิต ดังนั้นในรูปรถที่ลอยน้ำนั้น เป็นรถที่ผลิตเสร็จจอดอยู่ในลานจอดเพื่อรอส่งให้กับลูกค้า ตรงนี้ไงครับเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ครับ เมื่อน้ำท่วมมารถก็เสียหายส่งลูกค้าไม่ได้ ลอจิสติกส์ขาดไปเลยครับ





เมื่อเปรียบเทียบกับพวกเราคนไทยในหลายๆ ภาคส่วนนั้นมีความเข้าใจที่หลากหลายกันไปทำให้การสื่อสารและการวางแผนร่วมกันในภาพใหญ่ๆ ของประเทศมีปัญหามากๆ เพราะที่เราได้ยินกันว่า น้ำท่วมนั้นทำให้โซ่อุปทานขาดลง แล้วมันขาดลงตรงไหนบ้าง มันขาดลงตรงที่ลอจิสติกส์และการผลิตของโรงงานใดโรงงานหนึ่งในโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่ง แล้วน้ำก็ไหลท่วมไป ทำให้ถนนขาด ลอจิสติกส์ก็ขาดลง ชิ้นส่วนส่งเข้าไปผลิตไม่ได้และส่งออกจากโรงงานไม่ได้ นั่นยังไม่เท่าไหร่ น้ำยังเข้าไปทำให้โรงงานไม่สามารถผลิตได้อีก การผลิตก็ขาดลง เมื่อเป็นเช่นนี้โซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply Chain Disruption) ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งหรือที่ต้องการ สินค้าก็ขาดตลาด ผมว่าเรื่องครั้งนี้ทำให้เรารู้ซึ้งถึงความสำคัญของโซ่อุปทานในระดับหนึ่ง แต่เราจะต้องไม่หยุดยั้งแค่รู้สึกเท่านั้นแต่จะต้องต่อยอดด้วยการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องโซ่อุปทานในมิติที่หลากหลายขึ้นและยังต้องสื่อสารออกไปให้สังคมได้เข้าใจมากขึ้นด้วย เพราะว่าเท่าที่ผมสังเกตุดูแล้วพวกเราเองยังมองลอจิสติกส์และโซ่อุปทานไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และยิ่งเป็นเรื่องการผลิตด้วยแล้ว เรายิ่งดูห่างออกไปเลย ทั้งๆ ที่การผลิตนั้นคือหัวใจของโซ่อุปทาน และยิ่งในการผลิตนั้นก็มีลอจิสติกส์ที่ยังต้องจัดการอีกมากในโรงงานผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่การขนส่งหรือการจัดเก็บสินค้าเท่านั้น หนทางยังอีกไกลครับ สำหรับการเดินทางของการเรียนรู้ซึ่งไม่มีวันจบสิ้น แต่กลับจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทุกวัน พวกเราเองก็จะต้องเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราด้วย เพื่อเผชิญและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะภัยพิบัติ

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Perspectives – 14 นิยามอนาคตใหม่ สร้างยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยแนวคิดเชิงองค์รวมและปัญหาพยศ

ผมเห็นความกระตือรือร้นของหลายภาคส่วนทั้งก่อนน้ำท่วมและหลังน้ำลดแล้ว ที่เห็นๆ พูดกันมากๆ ก็คือ เรื่องของยุทธศาสตร์ ระยะหลังๆ ผมมีโอกาสในการเข้ารับการศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์มาพอสมควรและมีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมมาบ้าง ทำให้ผมได้มองเห็นว่า ประเทศเราขาดยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ ประเทศเรามียุทธศาสตร์หลายยุทธศาสตร์ ไม่เชื่อลองไปทุกจังหวัดสิครับ แต่ละจังหวัดเขาจะมีเอกสารประชาสัมพันธ์ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดของยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดอยู่ และนี่ยังไม่ได้รวมหน่วยงานราชการทั้งหลายจะต้องมียุทธศาสตร์เช่นกันหรือไม่ก็ต้องมีไว้รองรับ แล้วผมจะมาบ่นทำไมว่าประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์ มียุทธศาสตร์กันทั่วหน้าอย่างนี้แล้ว ทำไมประเทศเราไปกันแค่นี้ล่ะ




ที่ผมว่าไม่มีนั้นผมหมายความว่าเราไม่ได้คิดอย่างยุทธศาสตร์ (Strategic Thinking) กันจริงๆ สิ่งที่เราหรือใครก็ไม่รู้ที่เป็นผู้บริหารในบ้านเมืองเราคิดออกมานั้นยังไม่เป็นยุทธศาสตร์ที่ดี คือคิดแล้วไม่ชนะ หรือไม่ต้องคิดก็เป็นยุทธศาสตร์ได้ยังไง? ขาดทิศทางที่จะไป ขาดทิศทางที่จะปฏิบัติและที่สำคัญขาดแนวทางในการทำงานร่วมกัน ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่สามารถเชื่อมโยงลงไปสู่การปฏิบัติร่วมกันได้ แล้วจะเป็นยุทธศาสตร์ได้อย่างไรกัน? ดังนั้นยุทธศาสตร์จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ทุกอย่างเลยก็ว่าได้ แต่ผมคิดว่ามันไม่ชัดเจนตั้งแต่เป้าหมายและวิสัยทัศน์แล้วล่ะครับ



ปัญหาของยุทธศาสตร์ในประเทศไทย คือ เรายังไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง ดูเหมือนไม่มีเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นอะไรจะไปทางไหนในอนาคตอันไกล รวมทั้งการนำยุทธศาสตร์ชาติไปแปรเป็นยุทธศาสตร์ย่อยในภาคส่วนต่างๆ ก็ยังขาดโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) ทำให้การดำเนินยุทธศาสตร์ของภาคส่วนต่างๆ ไม่มีความเป็นบูรณาการกัน ดังนั้นเราน่าจะมีแนวคิดใหม่ในการสร้างยุทธศาสตร์ จากแนวคิดการสร้างยุทธศาสตร์แบบเชิงเส้น (Linear Thinking) ไปสู่แนวคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non-Linear Thinking) หรือเป็นปัญหาที่มีโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)




กรอบความคิดและการทำงานในการแก้ปัญหาและการวางยุทธศาสตร์ในปัจจุบันยังอยู่บนพื้นฐานความคิดที่เป็นการวิเคราะห์ (Analysis) และการแก้ปัญหา (Problem Solving) ตามวิธีการเชิงวิทยาศาสตร์หรือวิธีการดั้งเดิมแบบเชิงเส้น เช่น แบบจำลองน้ำตก (Waterfall Model) ที่มีกระบวนการกำหนดปัญหา การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ต่อจากนั้นก็ค้นหาคำตอบและการนำคำตอบไปปฏิบัติใช้แก้ไขปัญหา ซึ่งดูแล้วอาจจะใช้ไม่ค่อยได้ผลสำหรับในปัญหายุคปัจจุบันที่มีความเป็นพลวัตและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยปกติแล้วปัญหาที่เรียกว่ามีความยุ่งยาก (Complicated) จะประกอบด้วยชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบจำนวนมากและโครงสร้างที่อยู่แยกออกจากสภาพแวดล้อม ส่วนปัญหาที่ซับซ้อน (Complex) นั้นจะเกิดขึ้นจากความเป็นพลวัต (Dynamics) และมีการโต้ตอบกัน (Interactive) ระหว่างองค์ประกอบกันเองและกับสภาวะแวดล้อม อีกทั้งยังมีองค์ประกอบที่ปรับตัวเองได้ซึ่งไม่ได้ถูกพิจารณาแยกออกจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเลย




องค์ประกอบที่มีนัยสำคัญของระบบซับซ้อนก็ คือ มนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ระบบที่ยุ่งยาก (Complicated System) ส่วนใหญ่แล้วต้องการการอนุมาน (Deduction) และการวิเคราะห์ (Analysis) ซึ่งเป็นตรรกะอย่างเป็นทางการ (Formal Logic) ของการแบ่งแยกออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ระบบที่ซับซ้อนต้องการการหาเหตุผลเชิงการเหนี่ยวนำ (Inductive) และ เชิงการชักพาออกไป (Abductive) สำหรับการวินิจฉัยและการสังเคราะห์ซึ่งเป็นตรรกะอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Logic) ของการสร้างภาพรวมทั้งหมดใหม่ (New Whole) ของชิ้นส่วนต่างๆ เพราะว่าองค์ประกอบของระบบซับซ้อนที่เราสนใจเป็นมนุษย์ การรับรู้ถึงความสัมพันธ์ต้องการการวิเคราะห์เชิงสมมุติฐานในรูปแบบของแผนผังและการเล่าเรื่องของความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์



เรื่องของยุทธศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องคิดและดำเนินการเพื่อให้องค์กรและสังคมอยู่รอด เพราะว่าชีวิตคือการดิ้นรนในบริบทสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองอยู่รอด สังคมก็มีชีวิต สังคมเองก็ต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะว่าสิ่งมีชีวิตที่คิดและตัดสินใจเท่านั้นที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และยุทธศาสตร์นั้นก็หมายถึง การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงเพี่อการต่อสู้และแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ยุทธศาสตร์ที่ผมกล่าวถึงนี้เป็นยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของสังคมในเชิงองค์รวม เรื่องของยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือในระดับองค์กรโดยพื้นฐานแล้วก็ คือ เรื่องของสังคมหรือเป็นปัญหาเชิงสังคมซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลมากมายที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างนับไม่ถ้วนตามแรงผลักดันที่หลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่มคน




ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการสร้างยุทธศาสตร์ เราจะต้องใช้เครื่องมือในการคิดและวางแผนเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม เราต้องไม่มองสังคมหรือประเทศในมุมมองเชิงเครื่องจักรซึ่งแบ่งบทบาทและหน้าที่ต่างๆ ออกเป็นกระทรวงทั้งทบวง กรม และหน่วยงานอิสระต่างๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะว่าเราใช้แนวคิดแบบลดทอน (Reductionistic Thinking) ทำให้เราสูญเสียความเข้าใจของภาพรวมทั้งหมดของชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ เราคิดว่าเราสามารถคิดและวิเคราะห์ในแต่ละส่วนที่ลดทอนแยกส่วนออกมาแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมหรือเกิดผลกระทบในภาพรวมได้ ซึ่งไม่จริงในสภาพปัจจุบัน ที่จริงแล้วความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละส่วนของความเป็นชาติต่างหากที่ทำให้เกิดความเข้าใจภาพรวมหรือชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ ชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติจึงจำเป็นที่จะต้องถูกมองและถูกพิจารณาในเชิงระบบ (System Approach) หรือมองในเชิงองค์รวม




โดยทั่วไปแล้วองค์ประกอบเชิงยุทธศาสตร์คือ ภาพสะท้อนของปัจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ จำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางในการแก้ปัญหาที่อยู่ในยุทธศาสตร์ และมุมมองและความนิยมชมชอบที่เกี่ยวข้องกันรวมทั้งความยากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จะพัวพันและขึ้นอยู่กับความสำเร็จของความเข้าใจปัญหาร่วมกันของปัจจเจกบุคคลและองค์กรต่างๆ แล้วเวลานี้เราเข้าใจปัญหาของยุทธศาสตร์ดีแค่ไหน เราเข้าใจปัญหาของชาติดีแค่ไหน และเข้าใจร่วมกันอย่างไร

ปัญหาในการเขียนยุทธศาสตร์และในการกำหนดนโยบายของปัญหาในระดับใหญ่ๆ อย่างระดับชาติซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก มีความสัมพันธ์และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มีโครงสร้างที่เป็นระบบอย่างเห็นได้ชัด แต่เราเองไม่ได้ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจในธรรมชาติของระบบของชาติที่เป็นสังคมขนาดใหญ่ นักวิชาการและนักวางแผนนโยบายเรียกปัญหาในระดับนี้ว่า “ปัญหาพยศ (Wicked Problem)” ซึ่งมีรายละเอียดของประเด็นที่เป็นเรื่องที่ “พยศ (Wicked)” ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถจัดการได้ง่าย ยากที่จะควบคุม ไม่เชื่อง “ปัญหาพยศ (Wicked Problem)” นี้ถูกตั้งชื่อขึ้นโดย Rittel and Weber จากบทความทางวิชาการ ‘Dilemmas in a general theory of planning’. ในปี 1973 หลังจากที่ผมได้มีโอกาสมาสัมผัสเรื่องราวของ Wicked Problem หรือปัญหาพยศแล้ว เวลาไปนำเสนอปัญหาอะไรหรือมองปัญหาอะไรในระดับใหญ่ๆ ที่มีหลายหน่วยงานหรือมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาก ผมคิดว่ามันเข้ากับปัญหาพยศทั้งสิ้นเลยครับ จากปัญหาน้ำท่วมสู้ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ทั้งหลาย คราวนี้แล้วเราจะสังเกตุได้อย่างไรว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นปัญหาพยศ (Wicked Problem) ที่จริงแล้วต้นฉบับบทความของ Rittel and Webber (1973) ได้อธิบายคุณลักษณะของปัญหาพยศนี้ไว้ 10 ข้อ ต่อมาก็มีคนกล่าวว่าคุณสมบัติบางข้อนั้นซ้ำซ้อนกัน จึงลดลงเหลือประมาณ 5 ข้อ แต่ Timothy Ritchey (2011) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ควรจะคงไว้ทั้ง 10 ข้อจะดีกว่าเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งในปัญหา ปัญหาพยศมีคุณสมบัติดังนี้




1. ไม่มีสูตรหรือนิยามที่ตายตัวสำหรับปัญหาพยศ ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจปัญหาจะขึ้นอยู่กับแนวคิดของคนใดคนหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่เราจะต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าการที่จะอธิบายถึงปัญหาพยศในรายละเอียดที่พอเพียง เราต้องมีแนวทางหรือคำตอบพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อย่างเต็มที่สำหรับแนวทางการแก้ไขที่เข้าใจได้ทั้งหมดไว้ล่วงหน้า เหตุผลก็คือ ทุกคำถามต้องการข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเข้าใจในปัญหาและคำตอบของปัญหาในเวลานั้น แต่ความเข้าใจในปัญหาและคำตอบของปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกัน ดังนั้นเพื่อที่จะคาดการณ์คำถามทั้งหมด เราก็จะต้องคาดการณ์ข้อมูลทั้งหมดสำหรับคำตอบไว้ล่วงหน้าด้วย จึงทำให้เราต้องการความรู้ที่สามารถเข้าใจของคำตอบทั้งหมด




2. ปัญหาพยศนั้นไม่มีจุดสิ้นสุด ในการแก้ปัญหาเชื่อง (Tame Problem) ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญหาพยศนั้น ผู้ที่แก้ปัญหารู้ว่าเขาจะจัดการกับปัญหาให้จบได้เมื่อใด จะมีกฎเกณฑ์ที่จะบอกว่าเมื่อใดที่จะได้คำตอบในการแก้ไขปัญหา แต่สำหรับปัญหาพยศเราจะไม่มีวันได้แนวทางการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์หรือเป็นที่สุดหรือถูกต้องที่สุด เพราะว่าการจัดการปัญหาพยศไม่ได้มีวัตถุประสงค์สำหรับเรื่องนั้น ปัญหาพยศจะวิวัฒนาการและผ่าเหล่าผ่ากอออกไปอยู่ตลอดเวลา เราจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ทรัพยากรหมดสิ้น และเรารู้สึกว่ามันดีพอแล้ว หรือไม่นั้นเราก็รู้สึกว่าเราได้ทำเท่าที่เราทำได้แล้ว




3. คำตอบของปัญหาพยศไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่าถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องที่บอกว่าดีกว่าหรือแย่กว่า กฎเกณฑ์สำหรับการตัดสินถึงข้อยืนยันของ ”คำตอบ” ของปัญหาพยศจะขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการตัดสินของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่แตกต่างกันก็จะดูแตกต่างกันตามกลุ่มหรือความสนใจส่วนบุคคล กลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะและลัทธิที่มีความอคติ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกลุ่มกันไปจะเห็นคำตอบที่แตกต่างกันออกไปซึ่งก็จะได้ผลออกมาแค่ดีกว่าหรือแย่กว่าเท่านั้น




4. ไม่มีการทดสอบแบบทันทีทันใดหรือทดสอบขั้นสุดท้ายของคำตอบที่มีต่อปัญหาพยศ คำตอบใดๆ ก็ตามที่หลังจากการนำไปปฏิบัติใช้ในการรับมือกับปัญหาพยศจะสร้างกระแสของผลต่อเนื่องที่อยู่นอกเหนือจากที่ส่วนถูกขยายผลออกไปซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาที่ดูเสมือนไม่มีขอบเขต ยิ่งไปกว่านั้นผลต่อเนื่องของคำตอบในวันพรุ่งนี้อาจจะทำให้เกิดผลสะท้อนที่ไม่เป็นที่ปรารถนาอย่างมากที่สุด ซึ่งจะครอบงำผลประโยชน์ที่ต้องการหรือผลประโยชน์ที่บรรลุผลสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบัน




5. ทุกคำตอบสำหรับปัญหาพยศเป็นการดำเนินงานแบบมีโอกาสครั้งเดียวหรือแบบยิงได้นัดเดียวเท่านั้น เพราะว่าเราไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยการลองผิดและลองถูก ทุกความพยายามในการแก้ปัญหามีความหมายเสมอ “ทุกคำตอบที่ถูกนำไปปฏิบัติจะเป็นผลต่อเนื่อง มันได้ทิ้งร่องรอยที่ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ไว้ และทุกความพยายามที่จะกลับการตัดสินใจหรือแก้ไขสำหรับผลต่อเนื่องที่ไม่เป็นที่ปรารถนาจะทำให้เกิดชุดของปัญหาพยศใหม่ตราบจนถึงปัจจุบัน




6. ปัญหาพยศไม่มีชุดของคำตอบที่เป็นจำนวนที่นับได้ หรือ ไม่มีชุดของการดำเนินงานที่ถูกอธิบายอย่างชัดเจนซึ่งอาจจะถูกบรรจุเข้าไปในแผน ไม่มีหลักเกณฑ์ซึ่งจะทำให้ใครก็ตามพิสูจน์ได้ว่าคำตอบทั้งหมดสำหรับปัญหาพยศได้ถูกระบุและถูกพิจารณาไว้ ปัญหาพยศอาจถูกพบว่าไม่มีคำตอบ เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอเชิงเหตุและผลในภาพร่างของปัญหา




7. ทุกปัญหาพยศจะต้องเป็นปัญหาเฉพาะที่ไม่สามารถหาปัญหาอื่นมาเสมอเหมือนได้ ไม่มีระดับชั้นของปัญหาพยศในแง่มุมที่ว่าหลักการของคำตอบของปัญหาสามารถถูกพัฒนาเพื่อที่จะเข้ากันได้กับปัญหาอื่นๆของระดับชั้นของปัญหา และยังหมายถึงว่า ส่วนหนึ่งของศิลปะการจัดการของปัญหาพยศก็ คือ ศิลปะของการที่เราไม่สามารถรู้ถึงประเภทของคำตอบที่จะประยุกต์ใช้นั้นล่วงหน้าใขณะที่เรามีเวลาน้อยในการจัดการกับปัญหา




8. ทุกปัญหาพยศสามารถถูกพิจารณาเป็นอาการของปัญหาพยศอื่นๆ มีลักษณะภายในหลายๆอย่างของปัญหาพยศที่สามารถถูกพิจารณาเป็นอาการของลักษณะภายในอื่นๆของปัญหาเดียวกัน โดยมีความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่เป็นวงรอบและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง และปัญหาก็มีระดับของที่มาของเหตุและผลมากมายที่จะต้องพิจารณา จะต้องใช้การตัดสินใจอย่างซับซ้อนเพื่อที่จะกำหนดระดับของนามธรรมที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต่อการกำหนดปัญหา




9. สาเหตุของปัญหาพยศสามารถอธิบายได้ในด้วยหลากหลายแนวทาง ทางเลือกต่างๆของการอธิบายจะกำหนดธรรมชาติของคำตอบในการแก้ปัญหา ไม่มีกฎหรือขั้นตอนที่จะกำหนดการอธิบายที่ถูกต้องหรือการรวมคำอธิบายเข้าด้วยกันสำหรับปัญหาพยศ เหตุผลก็ คือ ในการจัดการกับปัญหาพยศจะมีคำตอบอีกมากมายของการที่จะปฏิเสธสมมุติฐานมากกว่าการที่จะยอมรับสมมุติฐานได้ในมุมมองของวิทยาศาสตร์เชิงกายภาพ




10. ในปัญหาพยศผู้วางแผนไม่มีสิทธิ์ที่จะผิด ในวิทยาศาศตร์สายตรงนักวิจัยจะต้องตั้งสมุติฐานซึ่งต่อมาอาจจะถูกพิสูจน์ว่าผิด การสร้างสมมุติฐานเท่านั้นที่เป็นแค่แรงกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ บุคคลหนึ่งจะไม่ถูกลงโทษสำหรับการตั้งสมมุติฐานออกมาแล้วปรากฎว่าผิด ในโลกของปัญหาพยศนั้นจะไม่มีสิทธิคุ้มครองอย่างนี้เกิดขึ้น ความมุ่งหมายไม่ใช่การค้นหาความจริง แต่เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติบางอย่างของปัญหาในโลกที่เรามนุษย์อาศัยอยู่ ผู้วางแผนรับผิดชอบต่อผลต่อเนื่องของกิจกรรมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา

ดังนั้นเราจะต้องมองการสร้างยุทธศาสตร์ในอีกมุมมองเชิงปัญหาพยศ ซึ่งโดยธรรมชาติของปัญหายุทธศาสตร์ไม่ว่าในระดับองค์กรหรือในระดับชาติก็เป็นปัญหาพยศเช่นกัน เพราะว่ามีพลวัตของความเป็นมนุษย์ (Human Dynamics) เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมคิดว่า นี่คือความท้าทายใหม่ขององค์ความรู้ของมนุษย์ชาติในการปรับตัวของสังคมเพื่อความอยู่รอดในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบของบริบทโลก

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Misc - มุมมองของผมในเรื่องต้นทุนลอจิสติกส์

ผมฟังอาจารย์รุทธิ์ พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Intelligence ใน Voice TV เมื่อคืนวันที่ 5 ธ.ค. 54 แล้ว มันส์ดีครับ สะใจมากๆ แต่ก็รู้สึกรำคาญจริงๆ ครับ ไม่ได้รำคาญอาจารย์รุทธิ์นะครับ อาจารย์ท่านมีแนวคิดมาทางเดียวกับผมอยู่แล้ว ผมว่าอาจารย์น่าจะรู้สึกเหมือนผมหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมรำคาญตรงคำถามต่างๆ มากกว่า แต่ก็โทษพิธีกรไม่ได้หรอกครับ เมื่อสังคมเรามีคำถามที่เกี่ยวกับลอจิสติกส์กันได้แค่นี้ มันก็คงจะเป็นวุฒิภาวะทางความคิดของสังคมที่มีต่อประเด็นการจัดการลอจิสติกส์ แล้วผมก็รำคาญตรงเรื่องต้นทุนลอจิสติกส์ ผมว่าคำถามต่างๆ ของสังคมเราไม่ได้ไปถึงไหนเท่าไหร่ เรารู้ต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อดี มันจะมีผลต่อการขับรถไปทำงานของผมไหม หรือจะมีผลต่อกาแฟที่ผมจะกินอย่างไร ผมตอบก่อนเลยก็ได้ มีผลอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้ทันทีทันใด แล้วไงต่อ แล้วมันมีผลต่อการแข่งขันของประเทศอย่างไร จริงหรือเปล่า? หรือผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า อ้าว! ถ้างั้นมาดูว่าผมเข้าใจอย่างไร


ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจมิติของการดำเนินธุรกิจเสียก่อน ต้นทุนในการดำเนินการเป็นตัววัดความสามารถในการทำกำไรตัวหนึ่ง ซึ่งมีต้นทุนลอจิสติกส์อยู่ด้วย อย่าลืมนะครับ ต้นทุนลอจิสติกส์ไม่ใช่พระเจ้า เห็นเขาพูดกัน ก็พูดกันจัง เราต้องใช้ให้เป็น ตีความให้เป็น มันถึงจะมีประโยชน์ ไม่งั้นก็พูดเล่นกันเท่ห์ๆ ฟังแล้วก็เบื่อ ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา เปลืองน้ำลายกันเปล่า ลอจิสติกส์และต้นทุนลอจิสติกส์เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ในความสามารถในการแข่งขันครับ ไม่ใช่ทั้งหมด มีต้นทุนลอจิสติกส์แต่กิจกรรมลอจิสติกส์อาจจะเลวก็ได้ เพราะลูกค้าได้รับสินค้าในสภาพไม่ดีไม่ตรงตามต้องการและไม่ตรงเวลา มนุษย์เราซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อลอจิสติกส์ แต่ถ้าไม่มีลอจิสติกส์เราก็ไม่มีสินค้า สุดท้ายแล้ว ถ้าเราจะเอาดีแค่ลอจิสติกส์ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ ก็หมดกันเลย ถึงแม้จะลอจิสติกส์ดี แต่ลูกค้าไม่ซื้อก็ไม่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ


ผมมองประเด็นเรื่องต้นทุนประกอบกับประเด็นตัวชี้วัดอื่นๆ ด้วย เช่น ดี (Good) หรือ In Full แล้ว เร็วหรือตรงเวลา (On Time) สุดท้ายแล้วจึงมาดูที่ประเด็นของต้นทุนให้ถูกลง ประเด็น ดี เร็ว ถูก ไม่ได้ถูกพิจารณาพร้อมๆ กัน แต่มีความเชื่อมโยงกัน เป้าหมายของธุรกิจ คือ การทำกำไรสูงสุด ซึ่งก็คือ ราคาขาย – ต้นทุน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด จะได้แข่งขันกันได้ คิดอย่างนี้ก็ง่ายไปหน่อย อย่าลืมว่าเราจะได้กำไรก็ต่อเมื่อขายสินค้าได้ ดังนั้นเราต้องมีสินค้าเสียก่อนและต้อง “ดี” และถ้าจะแข่งขันได้ ก็จะต้อง “ดีกว่า” ลูกค้าจึงจะตัดสินใจซื้อ เราไม่ได้ซื้อของเพราะว่าราคาถูกเท่านั้น ก่อนที่เราจะพิจารณาเรื่อง “ถูก” นั้น เราจะต้องมีสินค้ามาไว้เสนอขายก่อน แล้วสินค้านั้นมาได้อย่างไรล่ะ ตรงนี้ไงครับ ก็มาจากกระบวนการผลิตในองค์กรและการจัดการสั่งซื้อวัตถุดิบและการกระจายสินค้าจากโซ่อุปทาน สินค้านั้นจะออกมาดีหรือไม่ดีนั้นก็มาจากกระบวนการผลิตในบริษัทและโซ่อุปทานของบริษัทนั้น โซ่อุปทานสำคัญตรงนี้


ดังนั้นก่อนที่เราจะผลิตสินค้าออกมานั้น เราก็ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) และมองหาว่าใครจะช่วยผลิตได้บ้างตามความสามารถในแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งก็คือ การออกแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain Design) ซึ่งจะมีการออกแบบและกำหนดโครงข่ายลอจิสติกส์ (Logistics Network) สำหรับ Suppliers ของการผลิตสินค้า และรวมถึงการออกแบบกระบวนการผลิต (Manufacturing Design) ในแต่ละโรงงานผลิตของแต่ละโรงงานผลิตชิ้นส่วน และการออกแบบการกระจายสินค้าและการขายปลีกที่เป็นจุดสุดท้ายที่จะส่งมอบสินค้าต่อผู้บริโภค ซึ่งเราจะได้เงินกลับคืนมา เราจะกำไรมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกระบวนการทั้งหมดที่ผมกล่าวมาว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้มากน้อยขนาดไหน ส่วนต้นทุนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในขณะเวลาดำเนินงานในโซ่อุปทานซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตและต้นทุนลอจิสติกส์ซึ่งจะต้องมองแบบองค์รวม ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และจะต้องรองรับความไม่แน่นอนและความผันผวนของสภาวะแวดล้อมของธุรกิจ


ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในมุมมองของผมมี 3 ประเด็น คือ (1) ความสามารถในการเป็นผู้นำในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใความหลากหลายและทันกับความต้องการของลูกค้าซึ่งคือ ประเด็นในการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการการผลิต (2) ความสามารถในเชิงลอจิสติกส์ ซึ่งก็คือ ความสามารถในการนำส่งผลิตภัณฑ์ตลอดโซ่อุปทานให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างถูกเวลาและสถานที่ (3) ความสามารถในเชิงโซ่อุปทาน คือ ความสามารถในการจัดการและการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ซึ่งรวมถึงการขนส่ง การกระจาย การจัดเก็บสินค้า ผู้ค้าปลีก ในประเด็นโซ่อุปทานเป็นประเด็นที่รวมประเด็นที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกัน


สำหรับประเด็นที่ 1 เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic) ถ้าออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ดี ไม่ตรงตามความต้องการลูกค้าก็ไม่มีใครซื้อ แล้วลอจิสติกส์จะช่วยอะไรได้? ต่อให้ต้นทุนต่ำสุดติดดิน ก็ไม่มีใครซื้อ เพราะลูกค้าไม่อยากได้ การออกแบบและเลือกกระบวนการผลิตก็มีผลต่อคุณภาพและต้นทุน เราซื้อสินค้าเพราะคุณภาพที่เราต้องการก่อน ไม่มีใครในโลกนี้ ซื้อสินค้าเพราะถูกอย่างเดียว เมื่อได้สินค้าที่มีคุณภาพตามต้องการแล้ว ชิ้นไหนถูกกว่า เราก็ต้องเลือกอันนั้นแน่นอนครับ ประเด็นเรื่องต้นทุนที่ถูกกว่าจึงถูกนำมาพิจารณาได้ตามลำดับที่กล่าวมา เมื่อยุทธศาสตร์ดี ศึกษาตลาดและออกแบบโซ่อุปทานดีแล้ว เราก็คาดหวังว่าจะนำแผนต่างๆ ที่ออกแบบไว้ไปดำเนินงานให้อยู่ในขอบเขตของการออกแบบเพื่อที่จะควบคุมทั้งคุณภาพ (ดี) ส่งมอบให้ตรงเวลา (เร็ว) และต้นทุนต่ำ (ถูก) ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า


สำหรับประเด็นที่ 2เป็นประเด็นในระดับการปฏิบัติการ (Operational) ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนของการออกแบบแล้ว แต่เป็นขั้นตอนที่จะต้องทำตามแผนที่ออกแบบมา ถ้าแผนที่ออกแบบมามีต้นทุนสูง ต้นทุนการดำเนินงานก็จะสูงตาม ประเด็นในระดับปฏิบัติการนี้จะต้องมองอย่างบูรณาการที่จะต้องรวบรวมเอาการผลิตเข้าไปด้วย เพราะเครื่องจักรและกระบวนการผลิตถูกออกแบบและเลือกไว้ ส่วนที่เหลือเป็นการจัดการลอจิสติกส์ของ การจัดซื้อ การจัดการลอจิสติกส์สินค้าคงคลังวัตถุดิบ การจัดการลอจิสติกส์การผลิต การจัดการลอจิสติกส์สินค้าคงคลังสำเร็จรูป การจัดการลอจิสติกส์การกระจายสินค้า การจัดการลอจิสติกส์การขาย และการจัดการลอจิสติกส์การบริการ หน้าที่ที่สำคัญในระดับปฏิบัติการ คือ การตอบสนองต่อคำสั่งซื้อ ถ้าบริษัทเรามีลอจิสติกส์ที่ดี ก็คือ ข้อมูลคำสั่งซื้อไหลจากลูกค้าไปสู่ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายจัดส่งและกลับมาที่ฝ่ายขายอีกครั้งหนึ่งเพื่อส่งมอบสินค้า ต้นทุนในการดำเนินงานส่วนใหญ่ก็มาจากกิจกรรมการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ ประเด็นที่สำคัญในระดับการปฏิบัติการนี้ คือ จะต้องทำในทุกวิถีทางที่จะนำสินค้าไปส่งมอบให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้อ มุมมองในระดับนี้จะต้องเน้นที่คุณภาพ (Quality) หรือ ดี และตรงเวลา (On Time) หรือเร็ว การจัดการกิจกรรมต่างๆ ในระดับปฏิบัติการนี้จึงมีผลต่อต้นทุนสินค้าโดยตรงด้วย


สำหรับประเด็นที่ 3เป็นประเด็นที่สำคัญเช่นกัน เพราะเป็นประเด็นโซ่อุปทานซึ่งเน้นที่การทำงานร่วมกันตั้งแต่ Suppliers, Third Party Logistics, Manufacturers, Distributors, Retailers ลองคิดดูนะครับ ถ้าคนเหล่านี้หรือบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทำงานร่วมกันแล้ว ผู้บริโภคคงจะไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ (ดี) และอาจจะไม่ได้ผลิตภัณฑ์อย่างตรงเวลา (เร็ว) ถึงตรงนี้ถ้าเราไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีและไม่ได้ตรงเวลาแล้ว เราก็คงจะขายผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีต้นทุนลอจิสติกส์ที่ต่ำแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์เสียแล้ว


เรื่องของต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในมุมไหนก็ตาม คงไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียวโดดๆ ไว้ให้เราพิจารณาหรือประเมิน เราก็คงจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับมุมมองต้นทุนในด้านอื่นและมิติอื่นๆ ของโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่แค่ลอจิสติกส์ เลิกกันเสียที่เถอะครับในการนำเสนอองค์ความรู้แบบแยกส่วนหรือลดทอน (Fragmented or Reductionism) ทั้งๆ ที่ความเป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นเกิดจากความเป็นองค์รวม (Holism) ของกระบวนการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างยั่งยืน ผมเข้าใจอย่างนี้ล่ะครับ ใครช่วยแนะนำหน่อยครับ!

มุมมองความคิดในการจัดการด้วยแนวคิดแบบลีน (1)

ทุกอย่างเริ่มที่มนุษย์เราครับ ลีนเริ่มที่เราและจบที่เรา ทุกครั้งที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องลีนหรือเรื่องอะไรตาม ผมต้องมาคิดดูอีกครั้งว่า เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้ลึกซึ้งขึ้นหรือไม่ หรือว่าความเข้าใจในภาพรวมของสังคมหรือวงการสำหรับเรื่องของลีนแล้ว มันเป็นมากกว่าการลดของเสีย ซึ่งที่จริงแล้ว เรื่องของลีนนั้นไม่ใช่แค่ของเสีย(Defect) แต่เป็นความสูญเปล่า (Waste) มากกว่า ของหรือสินค้าที่ไม่ได้เป็นของเสียก็สามารถเป็นความสูญเปล่าได้ เพราะว่าลูกค้าไม่ต้องการ มิติเริ่มแรกของลีนอาจจะเริ่มที่ของเสียที่เป็นความสูญเปล่า แต่เมื่อมองในแง่ของการจัดการ ถ้าเรามองแค่การลดความสูญเปล่าแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ ความเป็นลีนได้ถูกยกระดับหรือเลื่อนขั้นจากระดับปฏิบัติการ (Operational) ไปสู่ระดับยุทธศาสตร์ (Strategic) รวมทั้งการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า และในที่สุดแล้วความต้องการลูกค้าก็เป็นจุดสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญ ทุกอย่างเริ่มที่มนุษย์และจบที่มนุษย์ มนุษย์เป็นผู้ที่ต้องการปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิต มนุษย์เป็นผู้กินและผู้ใช้ และเราผู้ที่เป็นมนุษย์นั้นจะจัดการทำอย่างไรให้เกิดการตอบสนองที่พอดี และรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ดร.วิทยา สุหฤทดำรง20 ต.ค. 2554

จาก การประชุมวิชาการวันพยาบาลแห่งชาติ “Nursing Innovation and Quality Management”

คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Perspectives – 13. อุบัติการณ์แห่งรักและเกลียด -- นามธรรมขององค์รวม

ผมหายหน้าไปนานครับจาก Perspective 12 จนมาถึงบทความนี้ ที่จริงนั้นผมไปต่างจังหวัดมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว 25-27 พ.ย. 54 ผมไปงานแต่งงานที่จังหวัดพิษณุโลกมา แล้วก็เลยไปเที่ยวที่แม่สอด จ.ตากต่อด้วย ผมใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 3วัน แน่นอนครับไปงานแต่งงานบรรยากาศต้องอบอวลไปด้วยความรัก (Love) แล้วใครจะไปรู้ว่าที่ผมหายไปประมาณ 10 วันจนนักศึกษา MBA ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรสงสัยว่าผมหายไปไหน ใครจะรู้ว่าผมอาจจะเต็มอิ่มไปด้วยความรักก็ได้ แต่ที่แน่ๆ นั้นประเด็นสำหรับบทความนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรัก แต่ผมก็ลังเลใจอยู่อยู่หลายวันว่าจะเขียนในลักษณะใดดี ผมพยายามทำวิจัยค้นคว้าหาคำนิยาม (Definitions) ของความรักเสียด้วย แต่ก็ยังไม่มั่นใจนัก ที่จริงแล้วไม่ต้องหาเลยก็ได้ ลองไปฟังเพลงเอาก็ได้ ดูหนังดูละครก็น่าจะหาได้แล้ว หรือหันมาดูชีวิตรอบๆ ตัวเรา ผมก็น่าจะหาคำนิยามของความรักได้ไม่ยากนัก แต่ผมก็ยังไม่มั่นใจหรือลังเลใจในคำนิยามความรักของผมเสียแล้ว เรื่องนี้สร้างความสับสนใจและหงุดหงิดให้กับผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรักที่ผมตั้งใจจะเขียนนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสียแล้ว



จนได้มาเจอ ร.ศ.ไว จามรมาน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นั่งรถตู้จากสนามบินพิษณุโลกไปสอนที่ปริญญาโทที่คณะการจัดการ ม.นเรศวรเหมือนกันในช่วงระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.54 ผมได้มีโอกาสเจออาจารย์ไวเพียงสองครั้งเท่านั้นตอนนั่งรถตู้ไปสอนหนังสือที่นี่ล่ะครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งนั้นน่าจะห่างกันประมาณหนึ่งปีประมาณนั้น ตกลงเจอกันปีละครั้ง ทุกครั้งเรามีเวลาคุยกันประมาณ 20 นาที แต่ว่าเรื่องราวที่ผมได้คุยกับอาจารย์ไวนั้นมีประโยชน์ต่อมุมมองของผมมากเลยครับ ต้องคารวะและขอบคุณอาจารย์ไวด้วยครับ เจอกันคราวนี้เราคุยกันเรื่องความซับซ้อน (Complexity) เพราะว่าผมมั่นใจในสาขาวิชาการนี้มากเพราะว่า นี่คืออนาคตของการจัดการ ผมพูดถึงองค์รวม (Holistic) คุณสมบัติของการอุบัติขึ้น (Emergent Property) และการบูรณาการ (Integration)



อาจารย์ไวเล่าถึงคำถามของอาจารย์ญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่เคยสอนอาจารย์ไวว่า อาจารย์ญี่ปุ่นเคยถามอาจารย์ไวว่า “สี่เหลี่ยมและวงกลมมันเหมือนกันอย่างไร” อาจารย์ถามความเห็นของผม ผมก็ตอบไปว่า มันมีจุดศูนย์กลางเหมือน มันสมมาตร และมีเส้นรอบรูปเป็นพื้นที่ปิดเหมือนกัน อาจารย์ไวตอบว่า ที่จริงแล้วอาจารย์ญี่ปุ่นตอบว่า ทั้งสี่เหลี่ยมและวงกลมนั้นมาจากทรงกระบอก (Cylinder) ถ้าเรามองจากด้านบนของทรงกระบอก เราก็จะเห็นเป็นวงกลม ถ้าเรามองจากด้านข้าง เราก็จะเห็นเป็นสี่เหลี่ยม โอ้โห ใช่เลย ผมตอบในใจว่านี่ คือ การบูรณาการ แต่นี่คือ ปรากฎการของการอุบัติขึ้นหรือไม่ มันเป็นข้อสงสัยที่ยังอยู่ในหัวมาตลอดการเดินทางจนไปถึงการสอนหนังสือตลอดสองวันที่ม.นเรศวร รวมมาถึงวันพ่อวันนี้ด้วย เพราะว่าอะไรเล่าจะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดเป็นทรงกระบอก



นิยามความรักที่แสนสับสนของผมก็เลยปนเปไปกับสี่เหลี่ยม วงกลมและทรงกระบอกไปอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ ผมยังจำได้ถึงเพลง Rock สากลเพลงหนึ่งของใครจำไม่ได้ตอนเด็กๆ ที่ร้องว่า “I want to know what love is” มาถึงวันนี้ผมก็คิดว่าเราคงจะรู้แล้วล่ะว่า มัน คือ อะไร แต่ว่ามันทำให้ผมประหลาดใจมากกว่า และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความหมายหรือนิยามของความรักก็อาจจะล้มเหลวก็ได้ เพราะความรักนั้นมีมิติที่มากมายเหลือเกิน ส่วนมากความรักนั้นจะดูออกไปทางด้านบวก สดใส สวยงาม แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์ทรมาน ถึงตายแทนได้อย่างพระเยซูเจ้าในศาสนาคริสต์ก็เป็นตัวแทนความรักได้ ถึงแม้ว่าลูกจะเลวอย่างไรพ่อแม่ก็ยังรัก ในหมู่โจรคนชั่วร้าย พวกเขาเหล่านั้นก็ยังมีความรักกันได้ ในหมู่คนรวยหรือคนจนจะไม่มีกินก็มีความรักกันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วความรักคงจะไม่มีตัวตนล่ะมั๊ง แล้วความรัก คือ อะไรล่ะ



ความรักในมุมมองของผมในเชิง Complexity Issue ยังไม่ได้อ้างถึง Theory นะครับ ซึ่งจะดูมากไปหน่อย ผมขอย้อนกลับมาในช่วงระว่างที่นั่งรถไปกับอาจารย์ไวซึ่งอาจารย์ได้ให้แง่คิดในการบูรณาการว่า ที่จริงแล้วเราเคยได้ยินกันว่า 1+1 =3 เป็นเหมือนการบูรณาการหรือ Synergy ก็คงจะไม่ใช่เสียแล้ว แต่น่าจะเป็น 1+1= One ซึ่งก็ยังคงจะเป็นหนึ่ง ผมฟังแล้วก็นึกในใจและตะโกนออกมาว่าใช่แล้วครับ ผมบอกอย่างนั้นเสมอ และ 1+1 ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ One ซึ่ง One นั้นมีคุณสมบัติที่แตกต่างจาก 1 และ 1 นั่นทำให้ผมคิดว่า ความรักนั้นไม่ใช่เรื่องอย่างที่เราคิดและเห็น รวมทั้งที่เราเข้าใจกัน แต่เราก็พยายามที่จะยัดเหยียดทุกอย่างเป็นความรักกันไปหมด ในศาสนาศริสต์ก็เป็นศาสนาแห่งความรัก เพราะว่าพระเจ้ารักมนุษย์โลก (ผมเองก็นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกด้วยครับ) ในยามภัยพิบัติเราก็จะต้องรักกัน คนไทยรักกัน (แล้วคนชาติอื่นๆ เขาไม่รักกันหรือ) และมีนิยามความรักอีกมากมายเหลือเกินที่จะนับได้



ลองนึกภาพของคนสองคนรักกัน เขาทำอะไรกันบ้าง จับมือกัน มองหน้ากัน จูบกันหรือมีเซ็กส์ด้วยกัน มนุษย์เรานิยามความรักจากประสบการณ์เชิงกายภาพที่เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองคน ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนเราเกลียดกัน ก็คงจะทำทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับที่เรียกว่าความรัก แล้วผลที่เกิดขึ้นล่ะครับ ก็คงจะตรงกันข้ามกับความรัก ผลของความรักมักจะสร้างสรรค์ (Creative) ส่วนผลของการเกลียดจะเป็นการทำลาย (Destructive) ดังนั้นผมจึงมองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้งความรักและความเกลียดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วแต่ว่าจะอุบัติขึ้นมา (Emergent) ขึ้นมาในขั้วไหน รักหรือเกลียด? หรืออาจจะมีความเป็นกลางหรือที่เรียกกันว่า เป็นแค่เพื่อนกันหรือเปล่านะ ก็แล้วแต่ว่าเคมีมันจะเป็นอย่างไร ที่ว่าเคมีนั้นผมหมายถึงการตัดสินใจของคนแต่ละคนที่มามีปฏิสัมพันธ์กัน มาตัดสินใจร่วมกันมาแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตรงนี้ซึ่งคนเราเรียกว่า “รักกัน” หรือไม่ก็แก่งแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันซึ่งคนเราเรียกว่า “เกลียดกัน”



ผมได้มาสนใจปรากฎการณ์ความรักก็ตรงที่มันมีคุณสมบัติของการอุบัติขึ้น (Emergence Property)ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด (Whole) ของคนที่เกี่ยวข้องกัน ในทางตรงกันข้ามความเกลียดทำให้ผลประโยชน์ถูกแบ่งแยกและทำลายไป ลักษณะเหล่านี้เกิดจากการเชื่อมโยงกันและการมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านการสื่อสารกันระหว่างหน่วยสภาวะ (Entity) ที่สามารถปรับตัวเองได้หรือมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้ ซึ่งก็คือ “คน” นั่นเอง ถ้าตัดสินใจไปในทางเดียวกันหรือสอดคล้องกันก็จะเสริมกัน หรือถ้าขัดแย้งกันก็จะหักล้างกันไป นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดังนั้นความรักเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้นและดับลง มันเป็นฟังก์ชั่นของการบูรณาการของระบบในธรรมชาติที่มีการเชื่อมต่อและรวมตัวกันภายใต้กฎใดกฎหนึ่งที่เรายังไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้เพื่อให้เกิดการปรับตัวและวิวัฒน์ไปตามสภาวะแวดล้อมที่เป็นพลวัต



ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้ายนั้นก็เป็นเพราะว่า มันเป็นไปตามธรรมชาติภายใต้กฎใดกฎหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรักหรือความเกลียดเท่านั้น ทุกอย่างทุกหน่วยสภาวะ (Entity) ในระบบต่างๆ ที่เป็นทั้งระบบย่อยและระบบใหญ่ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันอย่างไม่รู้จบ ทั้งที่เปิดเผยและที่ซ่อนเร้นอยู่ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้ จนถึงเวลาที่เหมาะสมมันจึงอุบัติขึ้นมา บางครั้งก็เป็นความโชคดีหรือไม่ก็โชคร้าย แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไม่ชอบอะไรที่อุบัติขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมานั้นจะต้องเกิดแบบไม่รู้เนื่อรู้ตัวหรือทำให้เราต้องประหลาดใจ ทั้งๆ ที่มีเรามีเรื่องราวมากมายที่เราจัดการวางแผนจนเราสามารถที่จะควบคุมการอุบัติขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่วางแผนและควบคุมไว้ แน่นอนครับโอกาสของอุบัติที่เป็นเหตุร้ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน ที่เรามักจะเรียกกันว่า Emergency หรืออุบัติเหตุ ผมรู้สึกว่าอุบัติเหตุไม่ใช่อะไรที่เราคาดไม่ถึงหรือควบคุมไม่ได้ แต่เป็นอะไรก็ตามที่เราไม่ได้ใส่ใจหรือควบคุมวางแผนมันต่างหาก แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวเราที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราก็ใช้กฎหมายสาธารณะเป็นตัวควบคุมการอุบัติขึ้นมา ดังนั้นถ้าคนขับรถในถนนปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุก็ลดลง



ดังนั้นความรักในมุมมองของผมในเชิงการอุบัติขึ้นมาขององค์รวม จึงเป็นเรื่องปกติในธรรมชาติ โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ที่เป็นระบบของสิ่งมีชีวิตที่เป็นหน่วยสภาวะ (Entity)ซึ่งถือว่ามีสติปัญญาในการคิดและตัดสินใจ เมื่อหน่วยสภาวะที่เป็นคนมามีปฏิสัมพันธ์กันจนเกิดการอุบัติขึ้นมาก็ย่อมจะมีความหลากหลาย (Diversity)เป็นได้ทั้งความรักและความเกลียด และเมื่อบริบทของแต่ละหน่วยสภาวะมีความหลากหลาย



ด้วยแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมแตกต่างกันออกไป แต่ที่แน่ๆ ผลลัพธ์ที่ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กันในระบบจนเกิดการอุบัติขึ้นมานั้นจะเป็นที่ยอมรับกันจากหน่วยสภาวะที่มามีปฏิสัมพันธ์กันจนกลายเป็น One (ความรัก) หรือเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกลายเป็น 0 (ความเกลียด) ที่แยกกันอยู่หรือรวมกันไม่ได้



ท่ามกลางเสียงเพลงที่ให้คนไทยรักกันในยามที่เกิดภัยพิบัติ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยต้องเถียงกันหรือเกลียดกันชั่วขณะที่อุบัติขึ้นมา ถ้าคนไทยจะรักกันได้นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้บริบทของสังคมเกิดภัยพิบัติกันเสียก่อนแล้วค่อยมารักกัน ผมไม่ค่อยชอบเหตุและผลอย่างนี้เท่าไรนัก ดูเหมือนว่าเป็นความกลัวของสังคมว่า เพราะว่าในขณะที่บริบทของสังคมปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นคนเรามักจะไม่รักกัน บริบทของสังคมอาจจะไม่ได้กำลังล่มสลาย แต่คนก็ไม่ได้รักกันเพื่อที่จะสร้างความเจริญหรืออุบัติความเจริญขึ้นมา เมื่อบริบทของสังคมถูกภัยธรรมชาติกระทำจนดูเหมือนว่ามนุษย์ในระบบกำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ไป ระบบในสังคมที่สามารถปรับตัวได้ก็เร่งส่งข้อมูลข่าวสารสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันกันเพื่อสร้างความช่วยเหลือพิเศษให้อุบัติขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ด้วยเหตุนี้เพราะมันเป็นสิ่งดีงามเราจึงเรียกมันว่าความรักนั่นไงครับ ผมเลยเชื่อว่า ความรักนั้นไม่สามารถนิยามได้ ความรักเป็นมิติหรือ Projection ของสังคมที่ทอดลงบนความนึกคิดของมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้ตัวเองในส่วนสร้างสรรค์และทำให้เกิดความสมดุลกับความเกลียด แต่ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องเท่ากันเสมอไป สุดท้ายแล้วก็ต้องอยู่ในสัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่งที่เหมาะสมเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รอด



เมื่อความรักเป็นพื้นฐานของสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงนามธรรมของการเกิดขึ้นขององค์รวมในมุมมองของผมแล้ว และถ้าเราเข้าใจการอุบัติขึ้นมาขององค์รวมว่ามันมีกลไกอย่างไรแล้ว เราก็น่าจะออกแบบอนาคตของเราใหม่ (Redesigning the Future) ได้ให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 12. รื้อกระสอบทราย บิ๊กแบค เปิดประตูน้ำ และภัยพิบัติที่ไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ คือ ปัญหาพยศ (Wicked Problems)

ถึงแม้ว่าเราจะมีข่าวดีจากการที่เราสามารถควบคุมน้ำได้ในบางส่วนที่ไม่ให้รุกคืบเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่คนละด้านของคันกั้นน้ำ การจับกลุ่มปิดถนน ต่อรองกับทางการ เพื่อเปิดประตูน้ำ รื้อกระสอบทรายบิ๊กแบค ความขัดแย้งได้ขยายผลออกไปตามพื้นที่ซึ่งเกิดความแตกต่างกันระหว่างน้ำท่วมกับน้ำแห้ง ดูเหมือนกับเป็นความเลื่อมล้ำในสังคม แต่ผมก็คิดว่าปัญหาเหล่านี้ก็คงจะถูกทำให้หมดไปในชั่วขณะนี้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะหมดไปเลย ละแล้วทุกอย่างก็อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกในปีหน้าหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้ แล้วเราจะมีวิธีการคิดและวิธีการจัดการในการแก้ปัญหาเดิมหรือปัญหาใหม่ที่ถูกแปลงสภาพมาจากปัญหาเดิม ซึ่งปัญหาใหม่นี้จะหนักกว่าปัญหาเดิมอีก จนกลายเป็นน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำแล้งซ้ำซาก และปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับสังคมเรา ผมพยายามค้นหาว่าเราจะใช้หลักวิชาการและทฤษฎีการจัดการอะไรมาช่วยในการแก้ปัญหานี้หรือลดทอนความรุนแรงของปัญหาลง


แล้วในที่สุดเราก็ได้พยายามจัดทำยุทธศาสตร์ (Strategy)ต่างๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหลายก็จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์รองรับในการดำเนินงานระดับต่างๆ ตั้งแต่ระยะยาวหรือในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Level) ระยะกลางหรือยุทธวิธี (Tactical Level) และในระยะสั้นหรือในระดับปฏิบัติการ (Operational) ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ (Strategy) เสมอ แต่ผมก็ยังสงสัยว่า เรามียุทธศาสตร์ตั้งมากมายที่พวกเราช่วยกันเขียนมานั้นมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง หรือแค่ได้เขียนออกมาเป็นเล่มๆ แล้วแจกจ่ายกันออกไป แล้วส่วนที่นำไปปฏิบัติให้เกิดผลล่ะครับ พอนำไปปฏิบัติแล้วย่อมมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ แน่นอนหลายๆ หน่วยงานซึ่งทำงานแบบต่างคนต่างทำ ตามยุทธศาสตร์ย่อยที่ตัวเองเขียนให้สอดคล้องไปตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ก็ย่อมจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ถ้ายุทธศาสตร์ใหญ่ในระดับ Strategic Level ไม่แม่นยำหรือไม่ครอบคลุมและที่สำคัญไม่ได้บูรณาการส่วนย่อยๆ ในระดับปฏิบัติการแล้ว ประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานย่อมเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในเรื่องผลงานให้ได้ตามตัวชี้วัด KPI นั้นมันไม่เข้าใครออกใคร สุดท้ายแต่ละคนแต่ละหน่วยงานก็ต้องยึดเอาเป้าหมายและวัตถุประสงค์ส่วนตัวและส่วนองค์กรเป็นหลัก


ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะคิดกันแบบเก่าๆ ไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ผมก็เห็นตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์กันมาตลอดหรือตั้งกันทั้งปีทั้งชาติแล้ว ถ้าไม่ตั้งก็ไม่ได้ ประเทศคงจะเละมากกว่า ถ้าตั้งยุทธศาสตร์แล้วก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ผมเองก็ยังไม่ค่อยเห็นจะได้เรื่องอะไรเท่าไหร่เลย ถ้าไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลย ประเทศไทยเราก็คงจะไปได้แค่ไหนกันละเนี่ย ดูเหมือนๆ ว่าจะมียุทธศาสตร์แต่จริงๆ แล้วไม่มีหรือมีก็ไม่ได้ผล ถ้าเรามียุทธศาสตร์ในการทำอะไรสักอย่างที่ดีและได้ผล ผมว่าเราก็คงจะไม่ประสบภัยพิบัติกันและเสียหายกันมากขนาดนี้ ดังนั้นก่อนที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาอะไรนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของปัญหาเสียก่อน ปัญหานั้นเป็นปัญหาในลักษณะใด มีความซับซ้อนขนาดไหน ผมก็หวังว่าคณะกรรมการ 2 ชุดนี้น่าจะมีวิสัยทัศน์เข้าใจในคุณลักษณะใหม่ของบริบทสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่กลับไปใช้กรอบความคิดแบบเดิมๆ หรือไม่ก็แค่พูดให้มันไพเราะไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความเข้าใจหรือไม่ได้เข้าใจในความหมายของสิ่งที่พูดเลย โดยเฉพาะคำว่า “บูรณาการ” แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติการ โดยเฉพาะตัวยุทธศาสตร์เองต้องมีความเป็นบูรณาการในตัวเองอย่างมาก เพราะว่าเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะต้องทำให้หน่วยงานย่อยต่างๆ ในการปฏิบัติงานต่างๆ บูรณาการกันจริงๆ สามารถทำงานร่วมกันได้โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่การบูรณาการอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ยุทธศาสตร์ (Strategy)นั้นเป็นมากกว่าการประชุมระดมสมองกัน แต่จะต้องเป็นสร้างสรรค์ความคิดต่างๆ ในแต่ละมุมแต่มิติและบูรณาการแนวคิดเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ แล้วจึงเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ที่ได้นี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อหวังผลที่เป็นเลิศหรือได้ชัยชนะจากการแข่งขันหรือบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เป้าหมายของประเทศ คือ อะไรล่ะครับ สอดคล้องกับเป้าหมายของอุตสาหกรรมหรือไม่ สอดคล้องกับเป้าหมายของนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่และสอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำกันอย่างไรบ้าง จากปัญหาที่เกิดขึ้นและปัญหาที่ได้เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ และเราก็ยังแก้ปัญหาอยู่เรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าไม่จบไม่สิ้น ดูเหมือนว่าการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยหรือเมืองต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ สามารถที่จะรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ ผู้นำสังคมที่มียุทธศาสตร์ติดไว้ที่ข้างฝาหรือในเอกสารแนะนำองค์กร แต่เมื่อเผชิญปัญหาเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในการรับมือกับปัญหาได้ แสดงว่ายุทธศาสตร์มีปัญหา? สุดท้ายก็กลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกครั้งไป ซึ่งไม่ใช่แค่เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วก็มากำหนดประเด็นปัญหาให้เด่นชัดหรือไม่ก็แบ่งแยกปัญหาออกเป็นส่วนแล้วมอบหมายในแต่ละหน่วยงานไปรับผิดชอบในการดำเนินงาน อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวัน


ที่สุดแล้วและเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกแก้ไขที่ตรงจุดหรือรากของปัญหา หรือไม่ก็กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก หลายๆ ครั้งหรือเกือบทุกครั้งเป็นการแก้ไขตามอาการ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหาเชิงเทคนิคที่สามารถควบคุมได้ แต่กลับกลายเป็นปัญหาระหว่างบุคคล ชุมชน จังหวัดและมีการเมืองเข้าเกี่ยวข้อง เมื่อใดก็ตามที่เรากล่าวถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว เรามักจะบอกกันว่าเป็นปัญหาที่ยากมากในการแก้ไข ที่จริงแล้วปัญหาที่ยาก (Difficult) นั้นน่าจะถูกแก้ไขได้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เพราะเราทำให้มันเรียบง่ายได้ (Simple) เมื่อใช้ความพยายามหรือใช้เครื่องมือในการแก้ไข


ในเวลาระหว่างที่ผมพยายามศึกษากระบวนการมองปัญหาอย่างองค์รวม (Holistic)ที่ผ่านมา โดยที่ผมพยายามนำเอาประเด็นเชิงสังคมเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาและศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดการองค์กรที่เน้นที่ Human Activity System ประเด็น Public Management ประเด็น Socio-Technical ประเด็น Socio-Economic แล้วผมก็พบว่า ปัญหาที่เราก็กำลังประสบอยู่นี้ ไม่ใช่ปัญหาที่ยากเลย แต่มันเป็นปัญหาพยศ หรือ Wicked Problems ซึ่งแตกต่างไปจากปัญหาดั้งเดิม เพราะกระบวนการดั้งเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาพยศได้ ตามที่ Horst W.J. Rittel and Melvin M. Webber, professors of design and urban planning at the University of California at Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อธิบายไว้ในบทความทางวิชาการที่ชื่อว่า Dilemmas in a General Theory of Planning ของพวกเขาเมื่อปี 1973 ในวารสาร Policy Sciences


ปัญหาพยศ (Wicked Problems) สามารถที่จะมีจำนวนต้นเหตุมากมายจนไม่สามารถจะนับได้ ปัญหาพยศนั้นยากที่จะอธิบาย เพราะตัวปัญหาเองไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ตัวอย่าง เช่น การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การก่อการร้าย ความยากจน เรื่องราวเหล่านี้เป็นปัญหาพยศในระดับ Classic ปัญหาพยศเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับปัญหาที่ยาก ซึ่งปัญหาที่ยากนั้นเราสามารถแก้ปัญหาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วยการประยุกต์เทคนิคการแก้ปัญหาแบบธรรมดา ไม่เพียงแต่กระบวนการแบบดั้งเดิมจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาพยศได้ แต่ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วยการทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดตามมาอีก


ปัญหาพยศนี้จะเกิดขึ้นในองค์กรหรือในกลุ่มคนที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่ไม่ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัญหาพยศเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของสังคม (Social Context) ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้นเท่าไร ปัญหาก็ยิ่งจะพยศมากขึ้น ที่จริงแล้วปัญหาพยศมีความซับซ้อนเชิงสังคมเท่าๆ กับหรือ มากกว่าปัญหาเชิงเทคนิคที่มีความยากซึ่งจะทำให้ยากต่อการจัดการอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาพยศอย่างแน่นอน แต่ปัญหาทุกปัญหาไม่ใช่ปัญหาพยศ บางปัญหาทำให้เกิดความสับสน ความไม่ลงรอยกัน และไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกได้ถึงความพยศ (Wickedness)


นักวิชาการผู้ตั้งชื่อปัญหาพยศนี้มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงการวางแผนเชิงสังคม (Social Planning) ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยแนวคิดแบบเชิงเส้นดั้งเดิม (Traditional Linear) และแนวคิดในเชิงวิเคราะห์ (Analysis)ซึ่งแตกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อยและค่อยวิเคราะห์และแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป ปัญหาพยศนี้มีความหมายตรงกันข้ามกับปัญหาเชื่อง (Tame Problems) ในเวลาที่ใกล้เคียงกันในปีต่อมา ปี 1974 Russell Ackoff นักคิดเชิงระบบที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เขียนหนังสือชื่อ Redesigning the Future ได้นำเสนอแนวคิดในลักษณะที่คล้ายกัน แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่น้อยกว่า ซึ่ง Ackoff เรียกลักษณะของปัญหาเหล่านี้ว่า Messes (ยุ่งเหยิง)หรือ Unstructured Reality (ความเป็นจริงที่ไม่มีโครงสร้าง) ซึ่งต่อมาก็มีการขยายผลไปเป็น Social Mess (ความยุ่งเหยิงเชิงสังคม)


หนทางที่ดีที่สุดที่จะอธิบายให้เห็นถึงปัญหาพยศนี้ ก็คือ การอธิบายให้เห็นและเข้าใจว่าปัญหาเชื่อง (Tame Problems) นั้นเป็นอย่างไร ปัญหาเชื่องนั้นถูกกำหนดหรือถูกนิยามมาเป็นอย่างดีโดยเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นๆ และมีถ้อยแถลงที่ชัดเจน ปัญหาเชื่องมีจุดหยุดหรือจุดจบซึ่งถูกกำหนดไว้ เช่น เราสามารถที่จะรู้ได้ว่าเมื่อใดคำตอบของปัญหาจะบรรลุผลสำเร็จ ปัญหาเชื่องมีคำตอบซึ่งสามารถประเมินได้อย่างไม่มีอคติว่าจะถูกหรือผิด ปัญหาเชื่องจะอยู่ในกลุ่มของปัญหาที่เหมือนๆ กันซึ่งสามารถใช้แนวทางในการแก้ปัญหาเหมือนกันได้ ปัญหาเชื่องจะมีคำตอบได้หลายๆ ตอบที่สามารถลองทำได้และละทิ้งคำตอบนั้นไปได้


แบบจำลองของปัญหาเชื่องที่ไม่มีใครสามารถโต้เถียงได้ก็ คือ ปัญหาทางวิศวกรรมที่ถูกกำหนดมาเป็นอย่างดี เช่น การสร้างสะพาน การออกแบบวงจรไฟฟ้า การส่งมนุษย์ไปยังดวงจักทร์ ปัญหาเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเรียบง่าย (Simple) แต่สามารถเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากๆ (Very Complicated) ส่วนปัญหาพยศ (Wicked Problem) นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากปัญหาเชื่อง ปัญหาพยศเป็นปัญหาที่ไม่สามารถถูกระบุให้ชัดเจนมาก่อน มีความกำกวม และมีความเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมเป็นอย่างมาก มีประเด็นทางการเมืองและรวมถึงประเด็นทางวิชาชีพ ปัญหาพยศนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลและยังขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอีก (Stakeholders) ด้วย แถมยังไม่ได้มีการลงความเห็นกันในประเด็นว่าปัญหาคืออะไร และปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งแก้ปัญหาไปตามลำพัง และยิ่งไปกว่านั้นปัญหาพยศจะไม่มีวันหยุดอยู่นิ่งๆ ปัญหาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปัญหาพยศนี้เป็นกลุ่มของประเด็นที่มีความซับซ้อนและมีปฏิสัมพันธ์กันซึ่งมีวิวัฒนาการในบริบทเชิงสังคมที่มีความเป็นพลวัต บ่อยครั้งที่รูปแบบใหม่ๆ ของปัญหาพยศอุบัติหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความพยายามที่จะเข้าใจและแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งในปัญหาพยศ


ตัวอย่างของปัญหาที่เป็นปัญหาพยศที่เด่นชัดมากๆ ก็คือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตย ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาการพัฒนาด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ปัญหาวันรุ่นและเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทกัน ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ในแต่ละระดับขององค์กร ปัญหาสังคมต่างๆ ปัญหาการจัดการน้ำและปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ถ้าดูกันให้ดีแล้ว แนวคิดของปัญหาพยศนี้ไม่ได้มีการพูดถึงหรือกล่าวถึงขึ้นอย่างทันทีทันใดในช่วงท้ายทศวรรษ 1960s และต้นทศวรรษ 1970s เท่านั้น ปัญหาพยศเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การเมืองและสังคม ดังนั้นปัญหาพยศจึงอยู่คู่มากับสังคมมนุษย์มาโดยตลอด ปัญหาพยศจึงอยู่ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลาในสังคมมนุษย์


ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดใจรับเอาแนวคิดใหม่ๆ มาศึกษาเพื่อที่จะนำไปการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่ถูกแปลงสภาพเป็นปัญหาใหม่อยู่ตลอดเวลาและมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความเข้าใจในปัญหาอย่างถูกต้องและวิธีการที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สังคมเราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการในการแก้ปัญหา ระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน และเรื่องแนวคิดแบบลีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น กระบวนการเรียนรู้ของผมนั้นทำให้ผมพบว่าองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อปัญหาโซ่อุปทานเป็นเรื่องเชิงสังคม (Social Issues) ซึ่งประกอบไปด้วยคนและคนหลายๆ คนที่เรียกว่า Human Activity System ซึ่งคนในระบบจะใช้กระบวนการตัดสินใจซึ่งมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในสังคม จนทำให้ผมต้องศึกษาค้นคว้าออกนอกกรอบสาขาวิชาการทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการไปสู่สหวิทยาการ (Multi-disciplinary) และความเป็นองค์รวมของสาขาวิทยาการต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประสบมาและมีความเป็นห่วงถึงท่านผู้นำในสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะผู้จัดการ CEO ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรี จนถึงท่านนายกรัฐมนตรีว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันมีการขยายขอบเขตและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัญหานั้นไม่เหมือนเดิมเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังดันทุรังที่จะใช้เครื่องมือเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ โดยเฉพาะการคิดแบบเชิงเส้นในการวางแผนและดำเนินงาน ถึงแม้จะได้ผลแบบเฉพาะหน้า แต่ปัญหาก็ไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคนออกไป ในทางตรงกันข้ามปัญหานั้นจะย้อนกลับมาใหม่ซึ่งอาจจะใหญ่กว่าและหนักว่าเก่าเสียอีก


ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำและภูมิปัญญาของผู้นำที่จะใฝ่หาความรู้ เรียนรู้และพยายามจะทำความเข้าใจในปัญหาให้เหมาะสมกับระดับของปัญหาและเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างชาญฉลาด ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะยังอยู่ในวังวนของการแก้ปัญหาพยศที่จะไม่มีวันบรรลุผลสำเร็จได้ ถ้าเราไม่รับมือกับปัญหาด้วยแนวคิดใหม่และวิธีการใหม่ เราก็ไม่รู้ว่าประเทศไทยเราจะไปถึงวันนั้น วันที่รอคอยเมื่อใด เพราะว่าผมรู้สึกว่าเราอ่อนแอทางปัญญาเชิงสังคมเป็นอย่างยิ่ง ส่วนปัญญาส่วนบุคคลนั้นไม่น่าห่วงหรอกครับ หลายๆ คนสามารถเอาตัวรอดได้ ความสามารถเฉพาะตัวสูง ความเห็นแก่ได้สูง ความเห็นแก่ตัวสูง ความเห็นแก่ส่วนรวมต่ำ แล้วสังคมจะรอดหรือครับ แต่อย่าลืมนะครับ ถ้าสังคมไม่รอดแล้ว พวกเรากันเองก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน นี่คือ ต้นเหตุที่สำคัญของปัญหาพยศ นั่นก็เป็นเพราะว่าปัญญาของคนในชาติหรือสังคมนั้นมันเป็นปัญญาพยศ (Wicked Intelligence)


วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives - 11. ปัญหาชาติ ปัญหาสังคม อย่ามักง่าย คิดง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ยาก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนอยากสบาย ทำอะไรได้อย่างง่ายๆ คือ อะไรก็ได้ที่ออกแรงน้อยๆ ลงทุนน้อย ได้สิ่งต่างๆ มาอย่างสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงของชีวิต เราก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายๆ หรอกครับ มันต้องออกแรงคิด ลงแรงและลงทุน ถามผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ได้เลยครับ ผมบังเอิญไปจัดหนังสือที่ชั้นหนังสือ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการจัดการ เขียนชื่อที่ปกไว้ว่า “ถึงจะง่าย แต่ก็ได้ผล” ผมเห็นแล้วมันขัดตาอย่างไรก็ไม่รู้ เท่าที่จำได้ว่าเคยเขียนถึงเรื่องอย่างนี้มาแล้วมั้ง แต่ก็จำไม่ได้ว่าเมื่อไรและที่ไหน เพราะผมเชื่อว่าในโลกนี้มีทั้งอะไรๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่ง่ายๆ รวมทั้งอะไรๆ และเรื่องราวที่ยากๆ

เราก็เห็นใครๆ ที่ทำอะไรดูง่ายไปหมด หรือเราเองบางครั้งก็ทำอะไรดูยากไปหมด แล้วเราก็มานึกเอาเองหรือฝันว่าเราน่าจะได้สิ่งต่างๆ มาได้โดยง่ายๆ นั้น เราจะต้องทำอย่างไร บางครั้งเราก็ถูกชี้นำไปสู่การหาอะไรที่ง่ายๆ หรือเครื่องมือที่ง่ายๆ โดยเฉพาะที่ง่ายต่อการใช้หรือง่ายต่อการเรียนรู้ โดยไม่ต้องออกแรงกายหรือแรงคิด ใช่ครับ มันมีเครื่องมือเหล่านี้มากมาย มันดูราคาถูกน่ะครับ ที่จริงแล้วมันก็ถูกนำไปใช้ตามราคา เราออกแรงน้อยก็ได้น้อย เราออกแรงมากก็ได้มากตามราคา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอาของที่ง่ายๆ ที่ไม่ต้องออกแรงเยอะๆ ไปแก้ปัญหาหรือไปเผชิญกับเรื่องยากๆ มันจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ถึงแก้ได้ก็ไม่จบหรือไม่ตรงกับปัญหา

เหมือนกับการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมในการจัดการแหล่งน้ำ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ธรรมดาในชั้นประถมที่แค่บวกลบคูณหาร เราก็คงจะต้องคณิตศาสตร์ขั้นสูงในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาหรือไม่ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะเห็นปัญหาแบบผิวๆ ที่ดูง่ายๆ และแก้กันไม่มีวันจบสิ้น เพราะเราเข้าใจด้วยภูมิปัญญาและวิธีคิดที่ง่ายๆเข้าไว้ เพราะต้องการเร็วและต้องการง่ายเข้าไว้ แล้วคงจะได้เห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดหรืออย่างที่เห็น

ปัญหาในปัจจุบันนั้นมีองค์ประกอบภายในมากมายในหลายมิติและองค์ประกอบต่างๆ ก็มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตตลอดเวลา ดังนั้นการเอาเครื่องมือที่ง่ายๆ เข้าไว้ เอาเร็วๆ เข้าไว้ ไม่ต้องใช้ความรู้ขั้นสูงเข้ามาเพื่อทำความเข้าใจหรือพยายามที่จะอธิบายโครงสร้างของปัญหารวมทั้งบริบทของปัญหา ก็คงจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจหรืออธิบายปัญหาและแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเราไม่สามารถใช้ไขควง (Screwdriver) เป็นเครื่องมือครอบจักรวาลในการซ่อมแซมทุกอย่างได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าปัญหานั้นมีความซับซ้อนขึ้น เราก็จะต้องขวนขวายหาวิธีคิดและวิธีการจากความรู้ที่สูงขึ้นจากวิชาการและทฤษฎีที่สูงขึ้นหรือซับซ้อนขึ้นเพื่อที่จะอธิบายปัญหาที่มันยกระดับขึ้นไปสู่ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นหรือมีความยากขึ้น เราจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ออกแรงกายและความคิดมากขึ้น ลงทุนมากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจและอธิบายปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ผมจึงมีมุมมองที่ต่างออกไปจากความตั้งใจของผู้เขียนหนังสือด้วยกับข้อความที่เขียนเป็นชื่อหนังสือว่า “ถึงจะง่าย...แต่ก็ได้ผล” ใช่ครับ มันจะได้ผลก็เพราะถูกนำไปอธิบายและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ปัญหาง่ายๆ หรือปัญหาผิวๆ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระกัน แต่ปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ ผิวๆ เหล่านี้กลับถูกเชื่อมโยงกันกันเป็นเครือข่ายของปัญหาที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น ถ้าเรามองในมุมเล็กๆ เราก็เห็นเฉพาะปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเรามองจากมุมสูงขึ้นในภาพรวมที่กว้างขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะสูญเสียในรายละเอียดของปัญหาไป แต่เราจะเห็นปัญหาในภาพใหญ่ที่ประกอบไปด้วยปัญหาเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันไปมาอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต

เรื่องยากๆ เมื่อแรกเจอ เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราพยายามที่จะเข้าใจหรืออธิบายมัน เรื่องที่เคยยากก็จะง่ายๆ ขึ้นเพราะเราอธิบายได้ด้วยความเข้าใจ มันเป็นสัจจธรรมครับ มันต้องยากก่อนแล้วมันก็ง่าย และเมื่อบริบทเปลี่ยนไปเพราะความซับซ้อนและความเป็นพลวัต เรื่องที่ง่ายก็กลับกลายไปยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังพยายามที่จะเรียนรู้วิชาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ แน่นอนครับมันจะต้องเป็นองค์ความรู้ที่น่าจะยากขึ้นเมื่อเราไม่รู้ เมื่อเราเข้าใจองค์ความรู้ที่ยากในระดับสูงขึ้นนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าง่ายขึ้นและสามารถแก้ปัญหาที่ยากขึ้นได้ กระบวนการในการจัดการและเรียนรู้ก็จะมีการวิวัฒนาการไปในลักษณะเช่นนี้

แล้วผมก็เลือบไปเห็นคำโปรยที่ปกของหนังสือดังกล่าว ที่ขียนว่า “ฉีกทฤษฎีบริหาร สู่ปฏิบัติการที่ง่ายและทำได้จริง” ผมเห็นแล้วรู้สึกขัดๆ อย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเป็นการปลูกฝังให้คนอ่านหรือคนทั่วไปขาดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะว่า การไปแนะนำให้คนอ่านฉีกทฤษฎี นี่เป็นประเด็นหรือแนวคิดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำเชิญชวนที่เขียนอยู่ที่หน้าปกหนังสือ คนที่ไม่ได้อ่านข้างในเล่ม คนที่ไม่ซื้อไปอ่าน ก็เข้าใจว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎีหรือหลักการอะไรรองรับ เอากันง่ายๆ ฉีกทฤษฎีทิ้งไป คนที่อ่านก็คงจะสบายใจ เพราะถ้าคิดว่าเป็นทฤษฎีแล้วคงจะยากคงจะน่าเบื่อมั๊ง ผมเข้าใจว่าเป็นคำโปรยเชิงการตลาด แต่ก็เป็นอันตรายต่อความคิดอย่างมาก

ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมเราก็แย่นะครับ การศึกษาล้มเหลวอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าผู้เขียนมีวุฒิการศึกษาสูงแล้วล่ะก็ ก็ต้องแสดงความเป็นห่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความเชื่อว่า ทฤษฎีที่ถูกต้องแม่นยำจะไปสู่การปฏิบัติที่ง่ายไม่มีปัญหา แต่การปฏิบัติที่ยากและมีปัญหานั้นก็เพราะว่าทฤษฎีนั้นไม่แม่น หรือไม่ได้เป็นเป็นไปตามทฤษฎี ผมมีความเชื่อว่าหลายๆ สิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกรวมทั้งการจัดการสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทั้งสิ้น บางอย่างก็ยังรอให้เราไปพิสูจน์หรือไปสร้างทฤษฎีรองรับ ไม่ใช่รอให้มันเกิดขึ้นหรือใช้งานให้เกิดผลอย่างที่ต้องอาศัยโชคชะตาหรือเราซึ่งเป็นคนจัดการไม่สามารถที่จะควบคุมหรือพยากรณ์คาดการณ์อะไรได้หรือปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม

ถ้าเรายังมีแนวคิดแบบที่หนังสือเล่มนี้โปรยหัวไว้ที่หน้าปกรวมทั้งเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่มด้วย สังคมเราจะเป็นสังคมที่ด้อยปัญญาไปเพราะว่าสังคมเราจะไม่ดิ้นรนที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่ๆ เราเป็นสังคมที่อ่อนแอทางปัญญาเพราะไม่มีความรู้ใหม่ๆ ที่จะจัดการกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ที่ผมพูดมานั้น ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ ผู้เขียนหนังสือก็อาจจะมีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องง่ายๆ กับปัญหาง่ายก็ได้ เป็นการชักนำหรือชักชวนให้คนมาอ่านหนังสือซึ่งจะทำให้เกิดจุดเริ่มต้นซึ่งจะนำไปสึความก้าวหน้าในขั้นสูงต่อไป ผมเองไม่ได้มีอคติกับผู้เขียนนะครับ แต่ติดใจคำโปรยที่ใช้เพื่อการตลาดเท่านั้นเองครับ ซึ่งก็มีหนังสือแบบนี้มากมายในท้องตลาด

แต่ผมมาสะดุดตรงที่ “ฉีกทฤษฎี” นี่สิ มันมากเกินไป เพราะเราก็ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เรียนประถมจนมัธยมและมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี โท เอกกันแล้ว ยิ่งมาพูดกันอย่างนี้ ผมรับไม่ได้จริงๆ ครับ ผมเองก็ไม่ได้รู้จักผู้เขียนท่านนี้นะครับ ผมเคารพในสิ่งที่ท่านผู้เขียนนำเสนอ แต่มีประเด็นเล็กๆ ที่ชื่อหนังสือและคำโปรยที่หน้าปกหนังสือที่ผมนำมาขยายความเพื่อที่จะสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตของเรา การเรียนรู้ขององค์กร การเรียนรู้ของสังคม และการเรียนรู้ของประเทศเรา เมื่อย้อนกลับมาที่ปัญหาของชาติในปัจจุบัน โดยมุ่งไปที่ปัญหาน้ำท่วมซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปที่ปัญหาอื่นๆ มากในทุกมิติ ผมว่าหลายท่านคงจะได้เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์รวมของปัญหาในสังคมเล่า ผมกล้าพูดได้ว่าองค์ความรู้หรือวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยที่สอนๆ กันอยู่และที่ทำวิจัยกันอยู่นั้นสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะอยู่ในมิติไหน จังหวะเวลาไหน และในมุมไหนและต้องดำเนินงานหรือปฏิบัติการในมุมไหน ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าใจบริบท (การประยุกต์ใช้) นั้นมากน้อยแค่ไหน เราจะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในตัวมันเอง เพียงแต่เราจะให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับปัญหาในภาพรวม (Whole) และความเป็นองค์รวม (Holistic) อย่างไรบ้าง

เมื่อเรายอมรับและเห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันไปหมด องค์ความรู้และทฤษฎีเชิงวิชาการที่จะนำมาใช้ก็คงไม่ใช่องค์ความรู้แบบเดิมๆ และก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ ก็คงจะต้องลงทุน ลงแรงคิดและปฏิบัติเพื่อที่จะสู้และรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ในวันนี้เรามีองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ทฤษฎีระบบทั่วไป (General System Theory) แนวทางเชิงระบบ (System Approach) ทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) ระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ปัญหาพยศ (Wicked Problem) ปัญหาที่มีโครงสร้างที่ผิดแผก (Ill Structured Problem) และระบบของระบบ (System of Systems)

องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต เพียงแต่ว่าเราพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะลงทุนรอบใหม่ในการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าท่านจะเรียนรู้มาอย่างมากมายหลากหลายสาขา แต่ความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาแบบการวิเคราะห์ซึ่งเป็นการแบ่งแยกแล้วศึกษา แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้เวลาเข้าโจมตีเรานั้นไม่ได้มีการแยกส่วนกันโจมตี เวลาปัญหามาก็มากันเป็นมวลเป็นก้อนและโจมตีทุกด้านซึ่งจะมีผลกระทบกับเราในทุกด้านทุกมิติ ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาเราก็ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม แล้วเราจะสามารถเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ๆ แบบองค์รวมได้หรือไม่เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต ต้องได้สิครับ ถ้าเราได้รับการศึกษามาอย่างถูกวิธี

ถึงแม้ว่าองค์ความรู้เดิมจะเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากกระบวนการคิดแบบแยกส่วน (Reductionist) แต่ว่าถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้จากระบบการศึกษาของเราอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามปรัชญาการศึกษาที่เหมาะสมและอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ดังนั้นไม่ว่าองค์ความรู้นั้นจะเป็นแบบแยกส่วน (Reductionist) หรือแบบองค์รวม (Holistic) เราก็สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเราจะพร้อมและกล้าที่จะรับความท้าทายใหม่นี้หรือไม่ แล้วคุณล่ะครับพร้อมหรือยังครับ ผมนั้นพร้อมมานานแล้วครับ!

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 10. ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการมียุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง


เห็นข่าวใน TV ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการ 2คณะเพื่อหาทางในการแก้ไขและเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ผมได้ยินคำว่ายุทธศาสตร์แล้วรู้สึกเอียนเป็นอย่างยิ่ง ดูไปดูมาแล้วไม่อะไรจะทำหรือไม่มีอะไรจะคิดแล้วหรือ? ว่าแล้วก็ใช้คำยุทธศาสต์ก็แล้วกัน ดูขลังดี ผมก็เห็นใช้คำนี้กันในทุกๆ หน่วยงาน ทุกจังหวัด ดูแล้วก็เท่ห์ดี ดูแล้วก็มีความหวังในชีวิต มีความหวังในประเทศของเรา แต่ผมดูแล้วสิ้นหวังกันจริงๆ ผมคิดว่าทำไปแล้วมันเปล่าประโยชน์จริงๆ เปลืองกระดาษ เปลืองเวลา เปลืองงบประมาณ มียุทธศาสตร์หรือไม่มียุทธศาสตร์แล้ว พวกเราจะทำงานได้ดีกว่านี้หรือแตกต่างกันหรือไม่? แม้แต่ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็ดูข่าวใน TVไปด้วยได้ยินนักข่าวกำลังพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แล้ว ยุทธศาสตร์ คือ อะไรกันแน่


ในมุมมองของผมนั้น ยุทธศาสตร์(Strategy) ที่พูดกันมานั้น จะต้องเป็นวิธีคิดและวิธีการเพื่อที่จะเอาชนะหรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยุทธศาสตร์นั้นจึงมีอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเฉพาะหน้า ระดับระยะสั้น ระดับระยะกลางและระยะยาว แน่นอนครับ เรามีวิธีการคิดและมีคนเก่งๆ ที่คิดในขอบเขตของปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะสั้น ปัญหาระยะกลางและปัญหาระยะยาว นั่นเป็นการมองกรอบยุทธศาสตร์ในเชิงระยะเวลา แต่ประเด็นยุทธศาสตร์ที่แต่ละคน แต่ละขอบเขตนั้นมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกันเป็นระบบหรือเรื่องเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศหรือไม่ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะคิดอะไร อยากจะแก้ปัญหาอะไร ก็คิดออกมา เอางบประมาณกันออกมาก่อน แล้วก็ดำเนินการออกไปก่อน เดี๋ยวจะไม่ได้ KPI เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่า KPI ในแต่ยุทธศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์หรือมีการปฏิสัมพันธ์ในทางส่งเสริมหรือขัดแย้งกันกับยุทธศาสตร์อื่นๆ อย่างไร พอถึงเป้าหมายของตัวเองถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ในภาพรวมไม่รู้


ส่วนในอีกมุมหนึ่งเป็นการมองยุทธศาสตร์ในเชิงฟังก์ชั่นการทำงาน (Functions) เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผมเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมียุทธศาสตร์รองรับการทำงาน ผมรู้สึกว่าเราเขียนยุทธศาสตร์กันก็เพราะต้องเขียนต้องทำ จะ รู้หรือไม่ว่า ยุทธศาสตร์จำเป็นต่อการทำงานอย่างไร ดู เหมือนว่ามันเป็นรูปแบบหรือฟอร์แมทในการทำงาน ทุกหน่วยงานจะทำจะต้องเขียน แต่ขอโทษนะครับ เห็นยุทธศาสตร์ของหลายๆ หน่วยงานแล้วดูไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) ไม่มีความรู้สึกของการต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเวลาเขียนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เป็น Functions นั้น แต่ละหน่วยงานนั้นมีการประสานงานหรือคุยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ละหน่วยงานก็คงเขียนยุทธศาสตร์ของตัวเองเพื่อเป้าหมายของตัวเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีการคุยหรือประสานงานหรือวางแผนร่วมกันหรือไม่ ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ หน่วยงานเหล่านั้นอาจจะมีก็ได้หรืออาจจะเป็นพิธีการแบบลูบหน้าปะจมูกกันไปหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อยก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีการวางแผนร่วมกันและเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการทั้งในแต่ละระดับของห้วงเวลา จากระยะยาว สู่ระยะกลางและระยะสั้น จนถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งถ้ามีการประสานงานและเชื่อมโยงแผนเพื่อสนธิแผนงานกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ผมเชื่อว่า ประเทศไทยเราไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้


แล้วทำไมเราถึงเป็นเช่นนี้หรืออยู่ในสภาพอย่างนี้ ผมคิดว่าเราอ่อนแอในการใช้ปัญญา เรามีแต่เรื่องที่รู้มา แต่ไม่สามารถนำเรื่องที่รู้ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ จากเรื่องที่รู้ก็ไม่สามารถกลายหรือแปลงไปเป็นความรู้ได้ และอีกอย่างที่น่าสนใจมาก คือ เราไม่สามารถสร้างความรู้เองได้ เราไม่มี Mind หรือความคิดของความเป็นวิทยาศาสตร์หรือคิดอย่างวิทยาศาสตร์ เราไม่ค่อยที่จะมีความตระหนักของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราและรอบๆ สังคมของเรา ทั้งๆ ที่เรื่องราวของยุทธศาสตร์และการเขียนยุทธศาสตร์ที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้ ผมไม่ได้คิดเอาเองแล้ว แนวคิดและวิธีการของยุทธศาสตร์พร้อมตัวอย่างมากมายนั้นอยู่หนังสือและตำราที่สามารถหาได้ตามร้านหนังสือหรือในปัจจุบันยิ่งหาได้อย่างง่ายดายมากใน Internet แล้วทำไมเราถึงได้ปล่อยเรื่องที่รู้กลายเป็นแค่เรื่องที่รู้ แต่ไม่สามารถทำให้เป็นความรู้ได้


ผมคิดว่าเรามีทัศนคติต่อการดำรงชีวิตด้วยความสบายเป็นหลัก คนในชาติถูกโฆษณาชวนเชื่อให้กลายเป็นชนชาติที่มีลักษณะเช่นนี้ รักความสบาย ไม่เคยลำบาก ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยึดติดอยู่กับความโชคดีของประเทศไทย แม้กระทั่งมีความคิดที่ว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทย แล้วคนชาติอื่นในโลกล่ะ เขาเป็นคนโชคร้ายในโลกนี้หรือ เราได้กลายเป็นชนชาติแห่งความโชคดีในทุกๆ ด้าน สุดท้ายความโชคดีของชนชาติไทยก็หมดโปรโมชั่นลง ความโชคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติได้ย่างกรายเข้ามาในสังคมเรา เข้ามาเขย่าความมั่นคงในชีวิต เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทะเลาะกัน เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทุจริตกันมากมาย คนไทยเราถึงแม้ว่าจะเห็นอยู่ต่อหน้าว่าภัยกำลังจะมา แต่ในความคิดของคนไทยเราก็ยังไม่เคยเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เราดำรงชีวิตอยู่กันด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง แต่ในหลายๆ ครั้งความเชื่อและความจริงมันก็ไม่ตรงกัน มันคงจะเป็นบทเรียนที่สำคัญของคนในชาติที่จะต้องเริ่มคิดกันใหม่ ถึงขั้นจะต้องสร้างชาติใหม่กันเลย ผมหมายถึงต้องเปลี่ยนฐานคิดและวิธีมองโลกกันใหม่เลย

กลับมาที่ยุทธศาสตร์หลักที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ผมยังค่อยจะเห็นร่องรอยของเจ้าตัวยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้เลย ตัวยุทธศาสตร์ชาตินี้ถือว่าเป็นแกนหลักให้ยุทธศาสตร์ย่อยตัวอื่นๆ ในเชิง Functions ในการทำงาน เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถเป็นมุดหมาย (Milestone) และเป็นแกนกลางสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะกลางและระยะสั้นด้วย รวมทั้งเป็นฐานที่สำคัญในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย


ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ ( Grand Strategy) สำหรับการดำรงอยู่ของชาติอย่างมั่นคง ยุทธศาสตร์จึงมีความเป็นบูรณาการของแผนยุทธศาสตร์ในหน่วยงานต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนที่จะต้องรอมชอมกับแผนยุทธศาสตร์ย่อยๆ ต่างๆ แน่นอนครับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ อาจจะมีความขัดแย้งกันเอง ถ้าต่างคนต่างวางแผน ถ้าเรามียุทธศาสตร์ชาติที่มองแผนยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละหน่วยงานในเชิงระบบ (Systemic) โดยมองความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของแต่ละแผนยุทธศาสตร์ย่อยที่เป็นของแต่ละหน่วยงานให้เป็นโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)


โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในระดับยุทธศาสตร์ชาตินั้นโดยธรรมชาติจะมีลักษณะที่มีความซับซ้อนที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)อยู่มาก การจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นอาจจะต้องเปลี่ยนฐานคิดใหม่จากการจัดทำยุทธศาสตร์ในแบบดั้งเดิมที่มีฐานคิดแบบเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking) หรือเป็นการคิดแบบกลไก (Mechanistic Thinking) มาเป็นการคิดเชิงระบบซึ่งเป็นการคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non Linear Thinking) เพราะว่าสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันมีความซับซ้อน (Complexity) เพิ่มมากขึ้น การคิดในเชิงระบบ (Systems Thinking) หรือแนวทางเชิงระบบ (System Approach) น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการคิดในแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเชิงเส้นสำหรับปัญหาในการเขียนแผนยุทธศาสตร์และการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้จำกัดเวลา ไม่ได้มีขอบเขต และมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัด


ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราได้มีแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บูรณาการยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์จนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพราะว่าอาจจะยังไม่ได้บูรณาการถึงความเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็แสดงให้เห็นว่า เกิดความไม่สอดคล้องกันในเชิงปฏิบัติทำให้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงจากระดับยุทธศาสตร์สู่ระดับการปฏิบัติที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นเมื่อมองจากระดับยุทธศาสตร์ก็ต้องเห็นผลในเชิงปฏิบัติ ในทางตรงกันข้ามเมื่อได้รับผลจากการปฏิบัติก็จะต้องเห็นว่าต้นทางของการปฏิบัตินั้นมาจากยุทธศาสตร์ นั่นน่าจะเป็นอีกมุมมองของปัญหาที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาและการพัฒนาในอนาคต ไม่เชื่อก็ลองดูนะครับว่า ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์ที่เห็นเขียนๆ กันแล้วแจกเป็นโบว์ชัวร์ตามสถานที่หน่วยงานต่างๆ เราจะสามารถมาถึงจุดนี้ได้ไหม ผมว่าได้ครับ แล้วถ้าเรามียุทธศาสตร์กันจริงๆ หรือดีกว่านี้ ผมว่าเราจะไปได้ไกลกว่านี้ และเราอาจจะไม่มีปัญหาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ได้!

Perspectives – 9. ความรู้ คือ อำนาจ แล้วเรามีความรู้อะไรบ้างจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้

จากเหตุการณ์โต้แย้งกันในเรื่องของการใช้ลูกบอล EM ในการบำบัดน้ำเสีย ทำให้ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเราต้องใช้ความรู้วิชาการในการดำเนินงานและในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่านี้ บางครั้งเราก็เชื่ออะไรๆ ง่ายไปหรือเปล่า? เราต้องใช้การทดลองและใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นหรือไม่? มีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า เราได้เรียนรู้หรือมี Lesson Learned จากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไรบ้าง? กระบวนการการจัดการความรู้ของเรานั้นสามารถนำมาใช้อธิบายหรือวิเคราะห์อะไรได้บ้างหรือไม่


ผมหวังว่าสังคมเราคงจะไม่ได้แค่รับรู้เรื่องราวและจดจำไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 50ปี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรสำหรับอนาคตเล่า? ถ้าเราเขียนเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือประวัติศาสตร์กันอย่างนั้น เราจะต้องได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในอนาคตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรจะเป็นคนที่ค้นหาหรือเรียนรู้ความจริงหรือความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถ้าเป็นเรื่องร้าย และเราอยากที่จะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกสักครั้ง ถ้าเป็นเรื่องที่ดีๆ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ แต่จะต้องเป็นความรู้และบทเรียนที่ให้ประโยชน์แก่สังคมในการป้องกันและพัฒนาสังคมต่อไป แล้วความรู้นั้นควรจะเป็นความรู้เรื่องอะไรกันบ้าง ผมอยากจะนำเสนอความรู้ในเรื่องแนวคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เพราะว่าเราจะต้องเยียวยาและฟื้นฟูประเทศของเรา ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะว่าแค่กรุงเทพฯ พังไปแค่นี้ก็กระทบกระเทือนไปทั้งประเทศอยู่แล้ว ประเด็นในการฟื้นฟูก็ต้องเรื่องราวในหลายประเด็น เช่น การจัดการน้ำ การจัดการวางผังเมือง ประชาสังคม ความเข้าในพื้นฐานในภาวะวิกฤตของประชาชน การสื่อสารในยามปกติและในยามวิกฤต การวางแผนยุทธศาสตร์และการนำไปปฏิบัติ ฯลฯ อีกมากมายที่มีส่วนสัมพันธ์กันและมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ว่าในทางตรงหรือในทางอ้อม


ผลจากภัยพิบัติในครั้งนี้ผมคิดว่าหลายคนคงจะได้รับรู้อะไรๆ มากขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเราจะเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะถ้าเราได้เรียนรู้แล้ว เราต้องอธิบายได้ว่า มันเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด แต่ผมก็เชื่อว่าหลายๆอย่างหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนสามารถอธิบายได้เป็นเรื่องๆ ไป เราเองทุกคนก็มีความชำนาญกันเป็นเรื่องๆ ไป แล้วในภาพรวม (The Whole) ล่ะ แล้วอนาคตล่ะเราจะสามารถคาดการณ์ได้หรือไม่


สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป และคิดว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นได้ทำเต็มที่แล้วในมุมของแต่ละคน ไม่ใช่ในภาพรวม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะเป็นแค่เรื่องผิวๆ ของความเข้าใจในเรื่องนี้ เรื่องที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็ คือ แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไป สิ่งที่สำคัญ คือ การมองข้ามประเด็นนี้ไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ถ้ายังมองปัญหาแบบดั้งเดิมโดยมองแบบแยกส่วนหรือการมองปัญหาเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking)การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ก็เพราะว่าเราคิดผิด เราคิดว่าโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัยง่ายๆ เป็นแบบเชิงเส้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยป้อนเข้าและออกมีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น


หลายๆ ครั้งเรามีความเข้าใจว่าการคิดเชิงระบบ คือ การทำอะไรให้เป็นขั้นตอนและมีความเป็นอัตโนมัติ (Automatic) เราสามารถควบคุมระบบได้ นั่นยังไม่ใช่ความคิดเชิงระบบ แต่เป็นผลพวงของระบบที่มนุษย์ได้กำหนดฟังก์ชั่นหน้าที่การทำงานให้เป็นระเบียบหรือเป็นแบบแผนเพื่อเกิดความเข้าใจได้และเพื่อการควบคุม แต่ในความเป็นระบบ (System)ที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นนั้น ผมหมายถึงโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) ที่เน้นความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบที่ประกอบไปด้วยมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนบูรณาการกันเป็นระบบโลกหรือสังคมมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ระบบของธรรมชาติ


เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งสองสิ่งหรือมากกว่ามาปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จร่วมกัน เราก็มีระบบแล้ว ทีมฟุตบอลเป็นระบบ รัฐบาลเป็นระบบ โรงงานเป็นระบบ ระบบนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ระบบของโลกเรา และระบบเชิงกายภาพต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และระบบสังคมที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ระบบต่างๆ ที่ว่านี้ประกอบด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นวงรอบ (Closed Loop) โดยมีการป้อนกลับ (Feedback) ซึ่งทำให้ระบบที่เราสนใจสามารถปรับตัวให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อมได้ คุณลักษณะเช่นนี้เป็นคุณลักษณะที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Nonlinear) ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่ป้อนเข้าไปในระบบและสิ่งที่ได้ออกมาจากระบบไม่ได้เป็นสัดส่วนกันอย่างที่เราคาดคิดกัน ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ (Predictable) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาส่วนใหญ่ในโลกเรานี้ เรามักจะมีสมมุติฐานว่า ปัญหาในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา สังคมหรือองค์กรที่มีคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญจึงเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ซึ่งถือได้ว่ามีรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่เป็นเชิงเส้น


สำหรับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ (System Failure)ที่เป็นระบบสังคมซึ่งเป็นระบบที่มีการปฏิสัมพันธ์กับระบบในธรรมชาติ ระบบสังคมมนุษย์เราอาศัยอยู่และพึ่งพาอยู่กับระบบธรรมชาติซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่และซับซ้อนมาก เราซึ่งเป็นมนุษย์ตัวเล็กไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติได้ทั้งหมด เราจึงไม่สามารถที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ แค่เรามีความเข้าใจส่วนหนึ่งและอยู่กับธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ได้ ผมว่าก็น่าจะเป็นพอใจของมนุษย์เราแล้ว


ความรู้และความเข้าใจในความรู้เชิงระบบโดยเฉพาะประเด็นของพฤติกรรมของระบบที่จะต้องปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง (Self-Organization) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต จะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับปัญหาในปัจจุบันและการพัฒนาสู่อนาคต ยิ่งระบบสังคมที่เราอาศัยมีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิตและประกอบไปด้วยการตัดสินใจที่เป็นอิสระของแต่ละคนและมีการป้อนกลับของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจภายในระบบสังคมนี้ จึงทำให้พฤติกรรมของระบบสังคมมีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น ยิ่งระบบสังคมมีจำนวนองค์ประกอบมากมายเท่าไร ระบบสังคมนั้นก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ก็จะทำให้ยากแก่การแก้ไขปัญหา ดังนั้นความรู้และความเข้าใจที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบสังคมรวมทั้งการแก้ปัญหาจึงไม่สามารถใช้แค่องค์ความรู้แบบดั้งเดิมได้เสียแล้ว ความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่จะต้องเอาความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่มาบูรณาการกันเป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinarity) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ หรือมิติต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแผนไปในอนาคตด้วย


สำหรับปัญหาในปัจจุบันและในอนาคต เราก็จะต้องมองปัญหาในเชิงระบบที่จะต้องใช้องค์ความรู้ในลักษณะของสหวิทยาการเพิ่มกันมากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของความสำเร็จในการทำงานแบบสหวิทยาการนี้ ก็ คือ การทำงานร่วมกันจากหลายๆ สาขาทั้งในเชิงเทคนิคและที่ไม่ใช่เชิงเทคนิค เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมแบบไทยๆ ถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่งก็ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะการทำงานและการใช้องค์ความรู้ไม่เป็นแบบสหวิทยาการ ต่างคนต่างแก้ปัญหาในมุมของตัวเองหรือในขอบเขตที่ตัวเองรับผิดชอบโดยไม่ได้ดูในภาพรวม นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมคนในสังคมไทยถึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้และยังมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาแม้แต่ในเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้ ถึงแม้ว่าคนในสังคมไทยเราจะมีคนที่เก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มากมาย แต่พอให้มาทำงานร่วมกันกลับสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นและไม่ยอมจบสิ้นกัน ความรู้ใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยได้ ถ้ายังไม่ร่วมมือร่วมกันจริงๆ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด (Mentality) หรือ Mindset ที่จะต้องเปลี่ยนไป และที่สำคัญ ภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่ วางยุทธศาสตร์การเยียวยาและฟื้นฟูไปบนพื้นฐานหรือแนวคิดแบบเดิมที่มองกันแบบแยกเป็นส่วนๆ โดยที่ไม่ได้มองแบบองค์รวม ผลที่ตามมาก็คงจะเหมือนเดิม หรือไม่ก็เลวร้ายกว่าเก่าเสียอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากๆ ในสังคมไทยสำหรับเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

Perspectives – 8. โซ่อุปทานเมือง โซ่อุปทานชีวิต

วันนี้ผมไม่ได้ทำงาน ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้ทำงานมาหลายวันแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้มีการประกาศหยุดราชการเพิ่มอีก ธุรกิจที่ยังดำเนินการได้ก็เปิดดำเนินการไป ชีวิตคนทำงานที่ยังต้องทำงานก็ทำงานไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์ก็วิกฤตเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่รัฐก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่ายังมีคนทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการอยู่เพื่อที่จะบริการประชาชน และต้องทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ทำงานได้ ทำธุรกิจได้ ก็คงต้องทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็มีคนทำงานทำธุรกิจเท่าที่ทำได้ แต่ในความรู้สึกของผมก็ คือ กรุงเทพฯ นั้นกำลังจะล่มแล้ว อาการอยู่ในขั้นโคม่า ที่กรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เหมือนกับคนป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องหายใจและเครื่องมือช่วยชีวิตอื่นๆ ที่ต่อสายโยงระยางไปหมด พร้อมที่จะสิ้นลมได้ทุกเมื่อ แต่ชีวิตของกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ไปง่ายๆ


ถ้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถอยู่รอดด้วยตัวเองแล้ว ก็เพราะว่าคนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมธุรกิจเพื่อการดำรงชีพอยู่ได้ เพราะไปทำงานทำมาหากินไม่ได้ แต่ทุกคนในเมืองจะต้องกินต้องใช้ ผู้บริหารกรุงเทพฯ จะต้องทำให้กรุงเทพฯ มีแหล่งเสบียงอาหารค่อยส่งกำลังบำรุงกันอยู่ตลอดเวลาที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งมาจากการระดมของบริจาคและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา แล้วกรุงเทพฯ จะอยู่ในลักษณะนี้ได้นานเท่าไหร่? เพราะว่าระบบลอจิสติกส์ของกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตในเส้นทางสำคัญๆ ที่เป็นทางเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเส้นทางปกติที่ทำให้คนในเมืองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนไปทำธุรกิจและดำเนินชีวิตได้


ระบบลอจิสติกส์เองในมุมมองของผมนั้นก็ไม่ได้หมายถึงตัวถนนหรือระบบการคมนาคมขนส่งในเชิงกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว ลอจิสติกส์ในยามนี้หรือในยามไหนๆ ก็ตาม ผมมักจะหมายถึงการเข้าถึง (Accessibility) ลูกค้าในมุมของผู้ส่งมอบคุณค่า หรือการได้มา (Acquire) ซึ่งคุณค่าในมุมของผู้รับคุณค่าหรือลูกค้า ผมพูดในระดับนามธรรมนะครับ ส่วนจะเอาไปใช้อย่างไรนั้น เราก็ต้องไปตีความและทำความเข้าใจกับบริบท (Context) ที่คุณต้องการจะประยุกต์ใช้ประโยชน์เหล่านั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม


ผมมองกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นเมือง (Urban) ซึ่งประกอบด้วยคนและบทบาทหน้าที่ของคนในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในเมือง และคนแต่ละคนก็ทำหน้าที่สร้างคุณค่า (Value Creator) อยู่ในโซ่อุปทานที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อที่จะได้ทุนคืนมาพร้อมผลกำไร แล้วก็เอาเงินนั้นมาจ่ายเป็นค่าแรงให้กลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างคุณค่าในโซ่อุปทานต่างๆ ในเมือง และที่สุดแล้วคนเหล่านี้ที่อยู่ในโซ่อุปทานทุกโซ่อุปทานก็ต้องกินและต้องใช้คุณค่าต่างๆ จากโซ่อุปทานเหล่านี้ในการดำรงชีวิตด้วยการซื้อสินค้าและบริการที่โซ่อุปทานต่างๆ ในเมืองที่ร่วมกันผลิตขึ้นมา ดังนั้นเมืองทั้งหลายจึงประกอบไปด้วยโซ่อุปทานต่างๆ ที่สร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ต่อคนในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกันไปมาเป็นระดับชั้นและเป็นเครือข่าย (Network) เพื่อสร้างคุณค่าให้คนในเมืองได้กินอยู่และได้ใช้ประโยชน์


โดยปกติเมื่อเรากล่าวถึงระบบลอจิสติกส์ของเมือง (City Logistics) เราก็ควรจะอ้างถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการเข้าถึงของทรัพยากรต่างๆ และส่งต่อคุณค่าระหว่างกันในโซ่อุปทานเพื่อสร้างประโยชน์ (Value Creation) ให้กับคนในเมือง ส่วนโซ่อุปทานเราก็ควรจะอ้างถึงกลุ่มผู้ที่สร้างคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในฐานะผู้ผลิต (Manufacturer) ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistics Service Providers) ผู้ให้บริการสาธารณะ (Public Service Providers) ผู้ให้บริการ (Service Providers) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำส่งคุณค่า (Value Delivery)ไปถึงคนในเมือง


ในวันนี้คนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะน้ำท่วม เริ่มต้นที่ลอจิสติกส์ที่อยู่ในบริบทของการคมนาคมขนส่งหรือถนนหนทางถูกตัดขาด คนไปทำงานไม่ได้ โรงงานจมน้ำ วัตถุดิบไม่สามารถถูกส่งต่อไปยังโรงงานผลิตได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถถูกกระจายไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้สินค้าขาดแคลน ในขณะเดียวกันก็มีการกักตุนสินค้าของคนในเมืองด้วย น้ำดื่มขาดแคลน จึงทำให้โซ่อุปทานมีปัญหาตามมาอีกมาก ถ้าเราสังเกตุดูดีๆ เหตุการณ์ทั้งหลายในสังคมเรานั้นมีความเชื่อมโยงกันเชิงระบบ ตั้งแต่ระบบเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ ถ้าเราเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเราอย่างองค์รวม เราก็สามารถที่จะปรับตัวเราเองตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้


เหตุการณ์ภัยพิบัตินี้มันเริ่มที่น้ำท่วมได้ทำลายระบบลอจิสติกส์การขนส่งซึ่งจะมีผลต่อระบบโซ่อุปทาน เมื่อโซ่อุปทานของเมืองมีปัญหาไม่สามารถส่งกำลังบำรุงให้กับเมืองได้ ปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนและกลุ่มคนก็จะตามมา เพราะว่าโซ่อุปทานสร้างคุณค่าให้คนในเมือง ทำให้คนในเมืองมีชีวิตอยู่ได้ จากการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัญหาสังคมก็จะตามมาอีก ปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ สภาพเมืองเวลานี้เหมือนกับเส้นเลือดในร่างกายขาดตอน ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ร่างกายขาดเลือด เราก็อาจจะเสียชีวิตได้ เช่นกัน ถ้าระบบลอจิสติกส์ของเมืองถูกตัดขาด โซ่อุปทานก็ล่มสลาย คุณค่าไม่ได้ถูกสร้างและนำส่งไปยังลูกค้า ธุรกิจก็จะล่ม ผลในทางตรงกันข้ามคนก็จะตกงาน ความมั่นคงในชีวิตก็จะลดลง สังคมก็จะไม่มีความแน่นอนและมั่นคง ปัญหาสังคมก็จะบั่นทอนความเป็นเมืองไปด้วย นี่เป็นการคิดแบบองค์รวมหรือการคิดเชิงระบบ


วันนี้เราจะต้องมองปัญหาของน้ำท่วมกรุงเทพฯไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำท่วม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นมากกว่าน้ำท่วม และถ้าเราไม่สามารถมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ในเชิงองค์รวมแล้ว เราก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างเดียว โดยปล่อยให้ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดจากการมองปัญหาที่จุดเดียวหรือมิติเดียวกลายไปปัญหาที่เรื้อรังและใหญ่โตขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งจะทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องมองปัญหาในเชิงโซ่อุปทาน เราต้องมองให้เห็นโซ่อุปทานแห่งชีวิตคน และเมื่อคนในเมืองมีชีวิตแล้ว เมืองนั้นก็มีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

Perspectives – 7. การบูรณาการ (2) ต้องมองเชิงระบบ (Systems Thinking)

ผมได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดเรื่องการบูรณาการกันเยอะมากๆ จนเอียนเสียแล้วเพราะว่าไม่รู้ ที่จริงแล้วการบูรณาการ คือ อะไรกันแน่ ผมเองก็มีความเข้าใจในมุมมองของผม อย่าเชื่อนะครับ! ในมุมของผมนั้น การบูรณาการนั้นไม่ใช่เอาของหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง หลายๆ คนมารวมกัน แล้วก็เฮโลกันไป นั่นเป็นแค่การร่วมกลุ่มเท่านั้น เมื่อมองไปรอบๆตัวเราในประเทศเรานั้น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายซึ่งค่อนข้างจะครบครันในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่และเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม (ประเด็นนี้ไม่รู้ว่าจะมีครบหรือไม่) แค่เอาหลายสิ่งหลายอย่างๆ มารวมกันก็กลายเป็นพลังที่สำคัญ เราเข้าใจกันอย่างนั้น ความจริงแล้วพลังที่เกิดจากการรวมตัวนั้น ไม่ได้เกิดจากพลังของแต่ละส่วนเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญของการรวมตัวแบบบูรณาการนั้นเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions)



อธิบายได้ง่ายๆ ครับว่า การนำเอานักฟุตบอลที่เก่งๆ หลายๆ คนมารวมตัวกันเล่นโดยไม่มีการซักซ้อมหรือการวางแผนร่วมกัน ทีมฟุตบอลทีมนี้ก็ไม่สามารถเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพได้ ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เราเห็นองค์ประกอบของความช่วยเหลืออยู่มากมาย เรามีทรัพยากรพร้อมนะครับ แต่น่าเสียดายว่ามันขาดการทำงานร่วมกันหรือขาดการบูรณาการกัน ประเด็นของการบูรณาการ คือ การนำส่วนต่างๆ หรือระบบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันมาเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีมาตรฐานในการสื่อสารในการทำงานร่วมกัน ขาดกันไม่ได้ ถ้าขาดกันไป เป้าหมายของการบูรณาการก็จะไม่บรรลุผล ผลของการบูรณาการ คือ การได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าของเก่าที่มารวมตัวกัน (A whole is greater than sum of its parts) หรือที่เรียกกันว่า อุบัติขึ้น (Emergence) การบูรณาการจึงเป็นระบบของส่วนต่างๆ (System of Parts) สำหรับการบูรณาการที่ใหญ่ขึ้นก็ คือ ระบบของระบบ (System of Systems)


ดังนั้นเมือง (City) จึงเป็น System of Systems เพราะว่าประกอบกันหรือบูรณาการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และระบบธุรกิจ ระบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกันจนสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของคนเป็นล้านๆ คนได้ สำหรับการจัดการเมืองถ้าไม่ได้บูรณาการแล้ว เมืองก็คงไม่สามารถทำงานได้ ประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ไม่ได้รับประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นเมืองต่างๆ ก็ถูกบูรณาการเป็นจังหวัดและจากจังหวัดก็ไปเป็นประเทศ จากประเทศต่างก็จะกลายไปเป็นประชาคมในภูมิภาค ถ้ามองกันอย่างนี้แล้ว มนุษย์เราเองสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระบบหรือสังคมต่างๆ เราได้ทำการบูรณาการทรัพยากรต่างไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าเราได้ศึกษาจากผลสำเร็จในอดีตและจากธรรมชาติ เราก็จะสามารถออกแบบและพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อน (Complex) ที่มากขึ้นเพื่อประโยชน์(Values)ที่มากขึ้น


เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในระบบใดซึ่งโดยธรรมชาติแล้วระบบนั้นจะถูกบูรณาการจากส่วนย่อยต่างๆ หรือจากระบบย่อยต่างๆ ที่ทำให้ระบบใดๆ นั้นจะทำระบบใดๆ นั้นไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหาหรือจะพัฒนาระบบใดๆ นั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ (Big Picture) หรือ ภาพรวมทั้งหมด (A whole) ซึ่งครอบคลุมทุกๆส่วนย่อยและต้องคิดอย่างองค์รวม (Holistic Thinking) หรือการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจในความสัมพันธ์ (Relationship) และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions) ภาพของกระบวนการแก้ปัญหาจึงจะต้องล้อตามหรือสอดคล้องไปตามการบูรณาการของระบบที่เป็นปัญหาหรือระบบที่จะพัฒนา ดังนั้นการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาของระบบโดยมุ่งเน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งนั้น โดยเฉพาะการที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งมักจะไม่ได้ผลที่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการมองแบบแยกส่วน (Reductionism)


การแก้ปัญหาของระบบที่ล้มเหลว (System Failure) จะต้องมองและทำความเข้าใจปัญหาในเชิงระบบ (Systemic) ไม่ใช่การมองปัญหาแบบเป็นอาการๆ เมื่อแก้ที่จุดหนึ่งแล้วกลับไปแสดงอาการอีกอาการที่อีกจุดหนึ่ง นั่นเป็นธรรมชาติของระบบ ถ้าทำกันเช่นนี้ เราก็แก้ปัญหากันแบบไม่รู้จบ เมื่อระบบล้มเหลว เราก็จะต้องเอาความเป็นระบบที่ถูกต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เราจะต้องบูรณาการส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหา นั่นหมายถึง ไม่ใช่แค่การระดมสรรพกำลังตามปกติ แต่จะต้องมีระบบเป็นที่ตั้งแล้วจึงสื่อสารและประสานงานอย่างเป็นมาตรฐานออกไป จะต้องมี Protocol ที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน นั่นเป็นสิ่งที่ผมมองเห็นว่าเรายังขาดสิ่งนั้น เหตุการณ์ทุกครั้งน่าจะเป็นบทเรียนการบูรณาการได้ แล้วเราจะจำกันได้หรือไม่

Perspectives – 6. ความเสี่ยงกับไม่ความแน่นอนที่จะเสียหายหรือล้มเหลว

เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ เราทุกคนคงจะไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือว่ามีโอกาสเกิดขึ้น (Probability) ได้น้อยมาก แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ มันเป็นความไม่แน่นอน (Uncertainty) เพราะว่ามีอยู่สองทางเลือก คือ เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า ทุกคนต้องตาย แต่จะเมื่อไหร่เล่า เพราะว่าถ้ามันเป็นเรื่องแน่นอนว่าน้ำไม่ท่วม มันก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ความไม่แน่นอนนี้เป็นธรรมชาติ นั่นแสดงว่าจะมีน้ำท่วมและน้ำไม่ท่วม แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน เราก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่


ระดับของความไม่แน่นอนนี้ (Measurement of Uncertainty) สามารถวัดได้ด้วยค่าความน่าจะเป็น (Probability) ยิ่งความน่าจะเป็นสูงก็มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มากในแต่ละช่วงเวลาอย่างสุ่ม (Randomly) ยิ่งผมคิดว่าอะไรก็ตามที่คนเราคิดได้ มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ และยังมีอะไรๆ อีกมากมายที่เรามนุษย์ไม่รู้ในธรรมชาติก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างสุ่ม (Randomly) โดยเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน


ระหว่างเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้เราได้ยินคำว่าความเสี่ยง (Risk) อยู่เป็นประจำ แล้วความเสี่ยง คือ อะไร? ความเสี่ยง คือ โอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหาย (a loss or catastrophe) หรือผลลัพธ์ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ (Undesirable Outcome) หลังจากเราได้ตัดสินใจไป ดังนั้นความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อเราได้ตัดสินใจ แล้วเราจะตัดสินใจ (Making Decisions) อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งก็คือ การจัดการความเสี่ยง(Risk Management) นั่นเอง


ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ เราจะต้องมีวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง (Right Decision Making Model) โดยใช้แบบจำลอง (Model) นี้ในการสร้าง (Generate) ทางเลือกต่างๆ (Alternatives) ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ หรือข้อจำกัดต่างๆ (Constraints) และที่สำคัญผู้ตัดสินใจ (Decision Makers) จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง (Right Data) ในกระบวนการตัดสินใจ ถ้าเราไม่มี Model ที่ถูกต้องและไม่มีข้อมูล (Data)ที่ถูกต้อง แล้วเราก็ตัดสินใจไปในสถานการณ์ที่ไม่ถูกทั้ง Model และ Data หรือถูกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงซึ่งก็ คือ มีโอกาสหรือความน่าจะเป็นในการได้รับผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการหรือได้รับความล้มเหลวหรือเสียหาย เช่น เราจ้างคนขับรถคนใหม่มาขับรถให้ โดยที่เราไม่รู้ประวัติการขับรถของเขามาก่อน เราก็ตกอยู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ


แล้วเราลองมาดูสิว่าตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมหาวินาศอย่างนี้ เราตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เราได้ตัดสินใจอะไรลงไปด้วยวิธีการคิด (Decision Making Model) ที่ถูกต้องหรือไม่และมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งเราตื่นตระหนกและตัดสินใจโดยไม่รู้ (ไม่มีวิธีคิดและไม่มีข้อมูล) หรือไม่ได้คิดอะไรเลยหรือคิดน้อยไป เราก็จะอยู่ภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหรือตกอยู่ในอันตราย การที่ ศปภ.ได้ออกคลิปเรื่อง “รู้สู้ Flood” เป็นตอนๆ ด้วยกราฟิกง่ายๆ เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความเข้าใจและสามารถสร้างวิธีคิดหรือ Decision Making Model ที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องราวหรือ Problem Statements ที่ถูกต้องแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนแต่ละคนที่จะต้องเก็บข้อมูลจาก ศปภ.และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและข้อมูลสถานะของตัวเองภายใต้ข้อจำกัด (Constraints)ของแต่ละคนเพื่อทำการตัดสินใจเพื่อเอาตัวเองรอดจากภัยน้ำท่วม ความเสี่ยงของประชาชนก็จะลดลง

ทุกข้อมูลข่าวสารมีคุณค่า ถ้ามีวิธีการคิด (Decision Making Model)ของปัญหาที่เผชิญ (Problems) อย่างถูกต้อง นี่ คือ การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) แล้วเราลองคิดดูนะครับว่า กว่าจะมาเป็นน้ำท่วมที่ท่วมกันอยู่หลายๆ จังหวัด และท่วมกันตั้งแต่เหนือจรดใต้นี้ พวกเราประชาชนมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน มีใครๆ อีกหลายๆ คนในโซ่การตัดสินใจ (Decision Chain) ในเรื่องการจัดการน้ำ(Water Resources Management) ได้สร้างความเสี่ยงไว้หรือได้มีการจัดการความเสี่ยงไว้กันอย่างไรบ้าง นี่เป็นความซับซ้อน (Complexity) ของการจัดการสาธารณะ (Public Management) ในยุคปัจจุบัน ถ้าคนในตอนต้นทาง (Upstream)ได้สร้างความเสี่ยงไว้ และคนในกลางทาง (Midstream)และปลายทาง (Downstream) ต่างคนต่างสร้างความเสี่ยงไว้ สุดท้ายปลายทางอย่างกรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงอย่างมากๆ ในการเกิดภัยพิบัติ นั่นแสดงว่า มีโอกาส (Chances) สูง หรือความน่าจะเป็น (Probability) สูงที่จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งก็ คือ ความเสี่ยงในเกิดน้ำท่วมและความเสี่ยงที่จะประสบภัยน้ำท่วม


นั่นก็อาจเป็นเพราะเราไม่ได้มีการแบบจำลองการตัดสินใจร่วมกันและข้อมูลตลอดโซ่การตัดสินใจในเรื่องการจัดการน้ำแบบข้ามหน่วยงาน (Cross Functional) ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วม ดูๆ ไปแล้วภาครัฐทั้งหลายทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นได้สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดเส้นทางไหลของน้ำมาโดยตลอด เพราะว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นตลอดเวลาและในเกือบทุกสถานที่ที่น้ำไหลผ่าน คือ มีน้ำเกือบเต็มทุกพื้นที่ และท่วมทุกที่ที่น้ำไหลผ่าน นั่นแสดงว่า กระบวนการทำงานตั้งแต่การวางแผน (Planning) และการดำเนินงาน (Execution) มีความเสี่ยงสูง (High Risk) หรือมีโอกาสสูงหรือความน่าจะเป็นสูงที่จะล้มเหลว (High Probability to Fail) หรือสร้างความเสียหายได้ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกิดความเสียหายและไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเส้นทางน้ำไหล มันใช่พวกเรากันเองหรือไม่ที่ได้สร้างความเสี่ยงให้กับชีวิตของเรากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมประชาชนถึงไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการคิดและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินในเหตุการณ์น้ำท่วม พวกเราประชาชนไม่มีความรู้มาก่อนเลย ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อนเลย การที่จะมีการให้ข้อมูลและวิธีการคิดตัดสินใจในภาวะการณ์เช่นนี้ มันไม่สายไปหรือครับ แต่ก็ยังดีมี Modelในการคิดและข้อมูลให้เกิดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์


การตัดสินใจในเรื่องอย่างนี้ในภาวะที่เกิดสาธารณภัยคงจะไม่เหมือนกับการตัดสินใจในระดับองค์ธุรกิจเพราะบริบทของการจัดสาธารณะนั้นมีความซับซ้อนว่าการจัดการองค์กรธุรกิจแบบเดี่ยวๆ มากยิ่งนัก เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของการจัดการสาธารณะของประเทศไทยที่จะต้องมองอย่างองค์รวม (Holistic) รวมทั้งคิดและดำเนินงานอย่างบูรณาการ (Integrative) อย่างแท้จริง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศเราอาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งๆ แล้วใครๆ เขาจะมาเที่ยวหรือลงทุนในประเทศไทยล่ะครับ แม้แต่ประชาชนเราเองก็อาจจะไม่มีความมั่นใจในการจัดการสาธารณะของภาครัฐอีกต่อไป แล้วสังคมก็จะถูกสั่นคอนและอ่อนไหว ความเป็นอยู่ประชาชนก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่มั่นคง ผมหวังว่าเราคงจะไม่เป็นอย่างนั้น เราคงจะต้องไปแก้ไขที่โครงสร้างพื้นฐานของสังคมต่อไป ยังมีโอกาสครับที่จะลดความเสี่ยงหรือจัดการความเสี่ยงในทุกรูปแบบของสังคมและประเทศลงได้