วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 7. การบูรณาการ (2) ต้องมองเชิงระบบ (Systems Thinking)

ผมได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดเรื่องการบูรณาการกันเยอะมากๆ จนเอียนเสียแล้วเพราะว่าไม่รู้ ที่จริงแล้วการบูรณาการ คือ อะไรกันแน่ ผมเองก็มีความเข้าใจในมุมมองของผม อย่าเชื่อนะครับ! ในมุมของผมนั้น การบูรณาการนั้นไม่ใช่เอาของหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง หลายๆ คนมารวมกัน แล้วก็เฮโลกันไป นั่นเป็นแค่การร่วมกลุ่มเท่านั้น เมื่อมองไปรอบๆตัวเราในประเทศเรานั้น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายซึ่งค่อนข้างจะครบครันในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่และเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม (ประเด็นนี้ไม่รู้ว่าจะมีครบหรือไม่) แค่เอาหลายสิ่งหลายอย่างๆ มารวมกันก็กลายเป็นพลังที่สำคัญ เราเข้าใจกันอย่างนั้น ความจริงแล้วพลังที่เกิดจากการรวมตัวนั้น ไม่ได้เกิดจากพลังของแต่ละส่วนเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญของการรวมตัวแบบบูรณาการนั้นเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions)



อธิบายได้ง่ายๆ ครับว่า การนำเอานักฟุตบอลที่เก่งๆ หลายๆ คนมารวมตัวกันเล่นโดยไม่มีการซักซ้อมหรือการวางแผนร่วมกัน ทีมฟุตบอลทีมนี้ก็ไม่สามารถเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพได้ ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เราเห็นองค์ประกอบของความช่วยเหลืออยู่มากมาย เรามีทรัพยากรพร้อมนะครับ แต่น่าเสียดายว่ามันขาดการทำงานร่วมกันหรือขาดการบูรณาการกัน ประเด็นของการบูรณาการ คือ การนำส่วนต่างๆ หรือระบบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันมาเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีมาตรฐานในการสื่อสารในการทำงานร่วมกัน ขาดกันไม่ได้ ถ้าขาดกันไป เป้าหมายของการบูรณาการก็จะไม่บรรลุผล ผลของการบูรณาการ คือ การได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าของเก่าที่มารวมตัวกัน (A whole is greater than sum of its parts) หรือที่เรียกกันว่า อุบัติขึ้น (Emergence) การบูรณาการจึงเป็นระบบของส่วนต่างๆ (System of Parts) สำหรับการบูรณาการที่ใหญ่ขึ้นก็ คือ ระบบของระบบ (System of Systems)


ดังนั้นเมือง (City) จึงเป็น System of Systems เพราะว่าประกอบกันหรือบูรณาการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และระบบธุรกิจ ระบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกันจนสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของคนเป็นล้านๆ คนได้ สำหรับการจัดการเมืองถ้าไม่ได้บูรณาการแล้ว เมืองก็คงไม่สามารถทำงานได้ ประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ไม่ได้รับประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นเมืองต่างๆ ก็ถูกบูรณาการเป็นจังหวัดและจากจังหวัดก็ไปเป็นประเทศ จากประเทศต่างก็จะกลายไปเป็นประชาคมในภูมิภาค ถ้ามองกันอย่างนี้แล้ว มนุษย์เราเองสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระบบหรือสังคมต่างๆ เราได้ทำการบูรณาการทรัพยากรต่างไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าเราได้ศึกษาจากผลสำเร็จในอดีตและจากธรรมชาติ เราก็จะสามารถออกแบบและพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อน (Complex) ที่มากขึ้นเพื่อประโยชน์(Values)ที่มากขึ้น


เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในระบบใดซึ่งโดยธรรมชาติแล้วระบบนั้นจะถูกบูรณาการจากส่วนย่อยต่างๆ หรือจากระบบย่อยต่างๆ ที่ทำให้ระบบใดๆ นั้นจะทำระบบใดๆ นั้นไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหาหรือจะพัฒนาระบบใดๆ นั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ (Big Picture) หรือ ภาพรวมทั้งหมด (A whole) ซึ่งครอบคลุมทุกๆส่วนย่อยและต้องคิดอย่างองค์รวม (Holistic Thinking) หรือการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจในความสัมพันธ์ (Relationship) และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions) ภาพของกระบวนการแก้ปัญหาจึงจะต้องล้อตามหรือสอดคล้องไปตามการบูรณาการของระบบที่เป็นปัญหาหรือระบบที่จะพัฒนา ดังนั้นการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาของระบบโดยมุ่งเน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งนั้น โดยเฉพาะการที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งมักจะไม่ได้ผลที่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการมองแบบแยกส่วน (Reductionism)


การแก้ปัญหาของระบบที่ล้มเหลว (System Failure) จะต้องมองและทำความเข้าใจปัญหาในเชิงระบบ (Systemic) ไม่ใช่การมองปัญหาแบบเป็นอาการๆ เมื่อแก้ที่จุดหนึ่งแล้วกลับไปแสดงอาการอีกอาการที่อีกจุดหนึ่ง นั่นเป็นธรรมชาติของระบบ ถ้าทำกันเช่นนี้ เราก็แก้ปัญหากันแบบไม่รู้จบ เมื่อระบบล้มเหลว เราก็จะต้องเอาความเป็นระบบที่ถูกต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เราจะต้องบูรณาการส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหา นั่นหมายถึง ไม่ใช่แค่การระดมสรรพกำลังตามปกติ แต่จะต้องมีระบบเป็นที่ตั้งแล้วจึงสื่อสารและประสานงานอย่างเป็นมาตรฐานออกไป จะต้องมี Protocol ที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน นั่นเป็นสิ่งที่ผมมองเห็นว่าเรายังขาดสิ่งนั้น เหตุการณ์ทุกครั้งน่าจะเป็นบทเรียนการบูรณาการได้ แล้วเราจะจำกันได้หรือไม่