วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Disaster – ประเด็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม

น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตเราก็ขาดน้ำไม่ได้ ขาดน้ำ 3 วันก็อาจจะตายได้ เราอยู่ในน้ำหรือจมน้ำก็ไม่มีอากาศหายใจ เราก็ตายได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันเรามีน้ำมากเกินไปก็ไม่ได้เหมือนกัน น้ำเป็น รูปแบบ (Mode)ที่สำคัญของการเดินทางและการขนส่งของมนุษย์จนเป็นเครื่องหมายของการเดินทางและการขนส่งในอดีต เมื่อนึกถึงลอจิสติกส์เองก็ยังต้องนึกถึงเรื่องการเดินทางและขนส่งทางเรือที่ใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางในการเดินทางไปรอบโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


แต่น้ำในครั้งนี้เป็นน้ำที่ไม่ได้มีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อลอจิสติกส์ของชีวิตมนุษย์เราเลย ผมหมายความว่า น้ำในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เราได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งเราต้องการเลย น้ำในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้เลย แต่ในทางตรงกันข้าม น้ำในครั้งนี้กลับหันมาทำลายชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คนมากกว่า อย่างที่ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า “ลอจิสติกส์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต” เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นเส้นทางและวิธีการนำส่งคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับมนุษย์ ถ้าไม่เช่นนั้นมนุษย์ก็อดยาก อดได้ และในที่สุดก็อดตาย


มหาอุทกภัยครั้งนี้ น้ำไม่ได้มาสร้างประโยชน์อะไรให้กับเรามากนัก แต่กลับมาทำลายความเป็นอยู่ของเรามากกว่า เพราะว่ามันมามากจนเกินไป แล้วทำไมเราไม่จัดการ ทีตอนแล้งนั้นเราจัดการได้ ประเด็น คือ น้ำซึ่งเคยมีประโยชน์ในเชิงลอจิสติกส์ในการขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานของคุณค่าต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์


มาคราวนี้เป็นด้านมืดของน้ำที่ทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ดูเหมือนจะโกรธใครมา ไอ้เราเองก็รังเกียจผลักไสไล่ส่งน้ำให้ออกไปให้พ้นๆ ทาง ดูๆ ไปแล้วมันดูน่ากลัวยิ่งนัก ถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้นจนถึงขั้นทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมืองและสังคมแล้ว มนุษย์อย่างเราจะอยู่กันอย่างในประเทศและสังคม น้ำจะทำลายระบบลอจิสติกส์ของเมือง (City Logistics) ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและประเทศ แล้วมนุษย์ที่อยู่ในเมืองหรือในประเทศจะทำอย่างไร ถนนขาดเพราะน้ำท่วม แล้วเราจะเดินทางอย่างไร เพื่อไปหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นอาหารน้ำและยาหรือความช่วยเหลือต่างๆ ตรงนี้เราพูดถึงแค่ความต้องการพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันหรือในแต่ละสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน


ถ้าเราลองคิดและมองให้ลึกๆ แล้ว เราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย ไฟฟ้า ประปา ที่อยู่อาศัย การติดต่อสื่อสาร อาหาร ยารักษาโรค ประเด็นลอจิสติกส์ในภาวะอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ประเด็นเรื่องของการจัดการหรือลดต้นทุนเสียแล้ว แต่เป็นประเด็นในการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการในเวลาที่ต้องการและในจำนวนที่ต้องการ ซึ่งคืออาหารและน้ำรวมทั้งสิ่งจำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤต สำหรับสิ่งเหล่านี้ พอถึงเวลาที่ต้องการแล้ว อาจจะไม่มีหรือขาดแคลน ถึงมีก็อาจจะมีราคาแพงกว่าความเป็นจริงมาก แต่เราก็ยอมที่จะเสียและแลกมาเพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นมาใช้ในยามภาวะฉุกเฉิน จ่ายแพงไม่ว่า ขอให้ได้ของที่ต้องการ และยังวางแผนคาดการณ์ในการสะสมหรือสำรองไว้ใช้ในอนาคตในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนว่าระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่มีอยู่นั้นจะสามารถสร้างคุณค่าหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมาได้อีกเมื่อไร


ก่อนที่มวลน้ำจะไหลเข้าโจมตีกรุงเทพฯ ผมต้องขับรถกระบะไปซื้อน้ำดื่มและอิฐมวลเบาที่สัตหีบและพัทยากลับมาที่กรุงเทพฯ ตรงนี้แหละครับเรื่องลอจิสติกส์แท้ๆ เลย ผมหวังว่าบทเรียนในประเด็นเหล่านี้ น่าจะทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะวิกฤต สภาพของกรุงเทพฯ มหานครในเวลานี้ ไม่อยากจะพูดว่า เหมือนสภาวะสงครามหรือไม่ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เคยมีประสบการณ์สงครามมาก่อนก็ตาม ทุกคนตื่นตระหนก ข้าวของขาดแคลน และยิ่งผู้ที่ประสบภัยพิบัติที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือความช่วยเหลือนั้นเข้าไปไม่ถึง เป็นภาวะที่ภัยต่อความมั่นคงของชีวิตมนุษย์และความมั่นคงของชาติ


ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานทั้งสิ้น แต่หลายคนอาจจะแย้งว่ามันก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลก อาจารย์อย่ามาพูดเลย ไอ้เรื่องลอจิสติกส์เนี่ยนะ นั่นก็เป็นเพราะว่าเรื่องลอจิสติกส์มันเป็นเรื่องของธรรมชาติของความต้องการของคนในสังคม แต่ถ้าเราไม่รู้จักในเรื่องการจัดการแล้ว คนในสังคมก็จะเกิดขาดแคลน ภาวะอย่างนี้ย่อมเป็นภัยต่อสังคม แต่ถ้าเราสามารถจัดการลอจิสติกส์ของสังคมได้ คนในสังคมก็จะได้รับอย่างเพียงพอ ความสงบสุขก็เกิดขึ้น


ส่วนประเด็นในเรื่องของโซ่อุปทานก็ดูกันง่ายๆ ครับ ใครบ้างกันเล่าที่จัดหา (Suppliers) จัดทำ (Maker) จัดสร้าง (Builder) และจัดส่ง (Deliverer) สิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยสามารถใช้สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ แน่นอนแต่ละสิ่งแต่ละอย่างก็ย่อมที่จะถูกจัดทำ ถูกจัดหา ถูกจัดส่งต่อเป็นทอดๆ ในโซ่อุปทานบรรเทาทุกข์ (Relief Supply Chain) ไปจนถึงผู้ใช้หรือผู้ประสบภัย ประเด็นของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะวิกฤต ก็ คือ เวลาและสิ่งที่ต้องการในเวลานั้น ดังนั้นการตัดสินใจและโครงสร้างของการจัดหา (Supply)เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะว่าถ้าพลาดไปแล้วก็อาจจะหมายถึง ชีวิตของผู้ประสบภัย แล้วยิ่งเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมที่กินพื้นที่บริเวณไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน้ำก็จะค่อยๆ มา ค่อยๆ ทำลาย หรือในบางบริเวณก็มาเร็วและแรงจนตั้งตัวไม่ทัน จนทรัพย์สินเสียหาย และต่อจากนั้น ถ้าน้ำยังคงอยู่สภาพท่วมขังอยู่นานก็เป็นการบั่นทอนการดำรงชีวิตอยู่เรา


การทำลายของน้ำให้เกิดการหยุดชะงักของโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ทั้งหลายในสังคมในเมืองและในประเทศ โซ่อุปทานของการบรรเทาทุกข์และความช่วยเหลือ (Relief Supply Chain) จึงเป็นกระบวนการที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและโครงสร้างในการวางแผนร่วมกันและการดำเนินงานร่วมกันที่แน่นอนและต้องมีการดำเนินการและการตัดสินใจที่ฉับไว เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา และที่สำคัญก็ คือ จะต้องทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งในยามปกติไม่ได้ทำงานร่วมกัน และกระบวนการทำงานต่างๆ ในยามปกติก็ไม่สามารถนำมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ เราจะมาลองผิดลองถูกในขณะเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ แผนการทำงานและวิธีการทำงานจะต้องถูกออกแบบมาก่อนหน้าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานจะต้องมีการวางแผนและฝึกซ้อมการวางแผนและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นประจำ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญของการจัดการโซ่อุปทานในการบรรเทาทุกข์และการให้ความช่วยเหลือ ในบางครั้งความตั้งใจดีและจิตอาสาก็อาจไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าหน่วยงานในการจัดการไม่สามารถสร้างเอกภาพและมีการบูรณาการในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้แล้ว ลอจิสติกส์ในการนำส่งความช่วยเหลือก็เป็นปัญหาที่สำคัญอยู่แล้ว และถ้าการจัดหา (Supplying) ต่างๆ มีปัญหาตามไปด้วยอีก ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าไม่มีขั้นตอนที่ตกลงกันมาก่อนหรือมีแผนงานร่วมกันมาก่อนแล้ว ปัญหาในการทำงานร่วมกันห็มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานและตัดสินใจ ทำให้เกิดความล่าช้าและความสับสนในการดำเนินงาน สุดท้ายผู้ประสบภัยก็ไม่ได้ประโยชน์หรือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในภาวะฉุกเฉิน ความหายนะจะเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยอย่างแน่นอน


เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน คือ ลอจิสติกส์ที่หมายถึงการทำให้ผู้ประสบภัยได้รับสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในภาวะฉุกเฉิน เราต้องอย่าลืมว่าภาวะฉุกเฉินเป็นภาวะที่โซ่อุปทานของคุณค่าอื่นๆ ทั้งหลายในสังคมของเราที่ทำให้ดำรงชีวิตได้ตามที่เราต้องการซึ่งถูกทำให้หยุดชะงัก (Disruptions) ไป คุณค่าต่างๆ ในรูปผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ถูกสร้างจากโซ่อุปทานในสังคมก็ขาดตอน ทำให้สินค้าขาดแคลน ทำให้เกิดเป็นอุปสงค์เทียมที่ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ทำให้เกิดความต้องการสินค้าเฉพาะอย่างขึ้นมาในภาวะฉุกเฉิน ทำให้ราคาของสินค้าหรือสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ทางภาครัฐต้องประกาศการควบคุมราคาสินค้า ประเด็นเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วบนสังคมโลกมนุษย์เราไม่ว่าที่ใดในโลก


แต่ถ้าเรามองโดยการนำเอากรอบความคิดของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้ ก็อาจจะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ที่เราไม่ได้พิจารณาในภาวะปกติ ซึ่งจะสามารถช่วยเราในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะฉุกเฉินได้ เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นจนทำให้เกิดการหยุดชะงักของโครงสร้างพื้นฐานของสังคม จึงทำให้โซ่อุปทานของคุณค่าต่างๆ พลอยหยุดชะงักไปด้วย น้ำท่วมทำให้ทางขาด โรงงานผลิตสินค้าไม่ได้ ศูนย์กระจายสินค้าไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ซึ่งมีความต้องการ การคมนาคมไม่สะดวก คุณค่าที่ควรจะถูกสร้างโดยโซ่คุณค่าต่างๆ ไม่ถูกสร้างขึ้นมาตามความต้องการจึงทำให้สินค้าขาดแคลนและความตื่นตระหนกของคนในสังคม วัฏจักรนี้ก็ยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดระบบในสังคมก็จะเกิดความโกลาหลในความขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิต ถ้าภาครัฐและคนในสังคมไม่สามารถฟื้นฟูระบบโซ่อุปทานของสังคมให้กลับคืนสู่สภาพปกติพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้โซ่อุปทานของประเทศและสังคมสามารถดำเนินการไปได้อย่างปกติเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตผู้คนในสังคมต่อไป ในภาวะฉุกเฉิน ลอจิสติกส์ขาดตอน โซ่อุปทานหยุดชะงัก ผู้ประสบภัยพิบัติส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการสร้างคุณค่าของโซ่อุปทานทั้งหลาย แต่ไม่ว่าในภาวะปกติหรือวิกฤต ทุกคนด้วยจำนวนคนเท่นเดิมก็ยังต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนเดิม แต่กลุ่มผู้สร้างคุณค่าหรือโซ่อุปทานกลับไม่สามารถสร้างคุณค่าเพื่อมาสนับสนุนผู้คนจำนวนเดิมนั้นได้ ความไม่พอดีหรือไม่สมดุลจึงเกิดขึ้น จึงทำให้เราต้องจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุทานเพื่อการบรรเทาทุกข์ในภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตคนและเร่งฟื้นฟูโซ่อุปทานของสังคมให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลในภาวะปกติ