วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Disaster – 4. ลองคิดเล่นๆ แต่น่าจะจริง

ก็มีคนถามไถ่กันมาตามสมควรว่าผมเป็นไงบ้าง ผมก็คงจะเหมือนกันกับทุกๆ คน หลายๆ คนคงจะหาข้อมูลกันได้ชัดเจนมากกว่าผม ผมเองก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์จริงเลยในเรื่องน้ำท่วม ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมพื้นฐานของกรุงเทพฯและลามไปในหลายๆ ภาคส่วน น้ำอาจจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานในเกือบทุกๆ มิติ ส่วนเพลงที่ร้องกันอยู่ทุกวันที่ว่า ให้รักกัน คนไทยรัก ก็น่าจะมีควาหมายมากขึ้น พอถึงเวลาที่จะต้องกินจะต้องเอาตัวรอดแล้ว ผมสงสัยว่า เราจะยังรักกันอยู่อีกตามเพลงหรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็เห็นกัดกันจะตายไป! คำถามว่า แล้วคนไทยรักกันจริงๆ หรือ แล้วที่รักกันจริงๆ เป็นอย่างไร แล้วจะทำให้คนไทยรักกันจริงได้อย่างไร รักกันทั้งในยามสงบช่วยกันพัฒนาประเทศ รักกันช่วยเมื่อยามมีภัย ไม่ใช่จะมารักกันเฉพาะตอนที่จะมีภัยเท่านั้น

ประเทศไทยเรานั้นดูดีแต่เปลือก ข้างในเป็นโพลงหาแกนท่เป็นแก่นแท้ไม่ค่อยได้ ถึงตรงนี้ ก็ต้องขอโทษกันก่อน ผมไม่ได้มาซ้ำเติม แต่อยากจะชี้ให้เห็นโครงสร้างที่เปราะบางยิ่งนักของสังคมไทย ที่มาจากระบบคิดแบบไทยๆ ก็ไม่รู้ไม่แน่ใจว่า น่าจะทำอะไรกันซักอย่าง น่าจะคิดกันอย่างไร ไอ้ที่เรียกว่าแบบไทยๆ มันเป็นอย่างไร ก็คงไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ก็ที่เห็นๆ กันอยู่นี่ไง แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป โดยไม่ได้สนใจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมกันจริงๆ ซึ่งจะมีผลต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดในชีวิตประจำวันปัญหาเรื่องน้ำก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของน้ำและเรามีวิชาการและวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจน้ำได้มากขึ้น เราก็น่าจะปรับตัวและรับมือกับน้ำได้ แต่ดูที่ผ่านมาสิครับ ผมคิดว่า ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นนี้น่าจะมาจากน้ำมือของคนส่วนหนึ่งในการคิดวางแผนและตัดสินใจ มาถึงวันนี้ ปัญหาเรื่องน้ำนั้นคงจะไม่เท่าไหร่ แต่น่าจะเป็นเรื่องของคนที่จะรับมือกับน้ำและผู้ที่ประสบภัยจากน้ำ ตอนนี้มาเป็นปัญหาเรื่องคนอีก และเป็นคนจำนวนมาก ที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากความตระหนกจากการอพยพ ผมว่าน้ำท่วมคราวนี้ ไม่น่าจะเรียกว่า ภัยธรรมชาติ (Natural) แต่เป็นภัยที่ไม่ธรรมชาติ (Unnatural)

วันนี้วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2554 ผู้คนเดินทางออกจากรุงเทพฯ เพื่อหนีน้ำไปยังหัวเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าก็ตามไปยังหัวเมืองต่างๆ อีก แต่ดูสภาพในกรุงเทพฯ ขั้นในก็ยังดำเนินชีวิตกันตามปกติ ถ้าน้ำท่วมแล้ว ชีวิตคงจะไม่ปกติอย่างที่เคยเป็นอยู่ ประเด็นก็คือ อาจจะไม่ได้แค่ไปเที่ยวพักผ่อน 3-4 วัน เท่านั้น แต่อาจจะเป็นเดือน หรืออาจจะสองเดือน ลองนึกภาพดูว่า น้ำท่วมกรุงเทพๆ เป็นอาทิตย์ๆ แล้วคนจะทำงานกันอย่างไร ถ้าเมืองไม่ Function ไม่ทำงาน ระบบ City Logistics ได้ถูกทำลายลงไป ระบบธุรกิจและการบริหารราชการมีปัญหาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น แล้วใครจะเลี้ยงผู้ประสบภัยซึ่งเป็นคนที่ไม่สามารถไปทำงานเป็นจำนวนมากๆ ได้อย่างไร ผมว่ามันจะโกลาหลกันไปหมด กลัวว่ามันจะกลายเป็นจลาจลไป แต่คงจะยังไม่ถึงอย่างนั้น ผมอาจจะมองในแง่ร้ายไปบ้าง ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการในการจัดการกับฝูงชนและความตื่นตระหนกของคนในการอพยพ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้คนโดยการอพยพคราวนี้ก็เลยกลายมาเป็นปัญหาเรื่องของลอจิสติกส์ของคนในการอพยพ คนธรรมดาไม่เท่าไหร่ คนชรา เด็กผู้ป่วย เป็นปัญหามากๆ สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ พอมีพอกินก็คงจะลำบาก ส่วนผู้มีอันจะกินก็คงจะไปเที่ยวกันเพื่อหนีน้ำท่วม แต่ก็ไม่แน่นะครับ เพราะธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ได้รองรับคนจำนวนมากๆ นานๆ ในลักษณะการอพยพเพื่อหนีภัยพิบัติที่ไม่รู้แน่นอนว่าจะจบเมื่อไหร่ แล้วต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะก็ไม่ได้วางแผนในลักษณะฉุกเฉินไว้เหมือนกัน

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะนี้มีความเกี่ยวโยงกับปัญหาโครงสร้างของสังคมที่มีผลต่อโครงสร้างอื่นๆ ทั้งที่เราดำเนินชีวิตประจำวันอยู่และในอนาคต ถ้าเรามีโครงสร้างของสังคมที่แข็งแกร่งและรองรับการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในเรื่องต่างๆ ได้แล้ว ประเทศไทยเราก็น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มาก เรามีโครงสร้างที่เป็นเปลือกและภาพที่สวยงาม แต่เราก็ยังไม่ได้มีแก่นความคิดของประเทศที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงต่างๆ ไม่ใช่ไม่มีคนเก่ง มีและมีเยอะ แต่โครงสร้างไม่ได้เอื้ออำนวยและส่งเสริม รวมทั้งทัศนคติส่วนตัวของแต่ละคนด้วย แต่ผมกลัวว่า ถ้าพังกันคราวนี้แล้ว จะพังกันยาวหรือไม่ ก็หวังว่าน่าจะมีอะไรสักอย่างผุดบังเกิด (Emergence) ขึ้นมา ถ้าเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศก็คงจะต้องพิจารณากันใหม่แล้วว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการลงทุนอย่างมาก เสี่ยงตรงที่มีประเด็นที่ไม่รู้ ไม่สามารถประเมินได้ อีกมากมายและเป็นประเด็นที่ฝังรากลงไปที่โครงสร้างสังคมไทย ในเมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีความเปราะบางเช่นนี้ แล้วทำไมถึงจะเอาตัวเองไปเสี่ยงด้วยเล่า ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีโครงสร้างเชิงวัตถุที่เป็นสิ่งที่ทันสมัยและสามารถอำนวยความสะดวกได้ครบถ้วน แต่โครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนมากกลุ่มในสังคม ผมคิดว่าเรามีปัญหาเรื่อง Social Issues มากและเรื้อรังและสั่งสมเป็นปัญหาอยู่ แต่เราก็มองข้ามไปอย่างไม่แยแสเท่าไรนัก ประเภทเราหลอกตัวเองมาตลอด
แล้วเราจะอพยพกันอย่างไร เราไม่เคยเจอเลย เราจะแย่งกันอย่างไร เราก็เห็นแย่งกันขอลายเซ็นดารา แย่งกันซื้อของลดราคา ก็แย่งกันมาตลอดชีวิต เราไม่แย่งกันได้ไหม เราก็ได้เห็นความงามของสังคมญี่ปุ่นกันมาแล้ว ซึ่งเราและทั่วโลกก็ชื่นชมสังคมญี่ปุ่น คราวนี้แหละ คนทั่วโลกจะได้เห็นความเป็นไทยแท้ที่ไม่เหมือนใครในโลก ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก จะออกมาอย่างไรเราก็ยังไม่รู้ ผมว่าน่าจะมีอะไรดีๆ อยู่บ้าง แล้วเขาจะยังมาลงทุนและมาเที่ยวเมืองไทยหรือไม่ นี่ คือ บทเรียนของสังคมไทยจริงๆ เลยครับ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการของสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ ความมีวินัยของประชาชน ต้องยอมรับว่าเราเป็นชนชาติที่มีวินัยน้อยหรือหย่อนยานมากๆ เรามีประชาชนอยู่ 3 ประเภทในสถานการณ์เช่นนี้ คือ 1) ภาครัฐ 2) ประชาชนที่เป็นอาสาสมัครมีจิตอาสา 3) ผู้ประสบภัย ผู้อพยพ คนทั้ง 3 กลุ่ม ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย ที่สำคัญ พื้นฐานของคนทั้ง 3 ประเภท คือ ไม่ค่อยมีวินัยในสังคมเสียเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหนหรือมีความรู้มากแค่ไหน ก็เหมือนๆ กัน พูดๆ ไปก็ไม่รู้เหมือนกันว่า แล้ววินัยในสังคมของเราคือ อะไร ไม่ต้องอะไรมากดูไปรอบๆ ตัวก็แล้วกันว่าเรารู้สึกอย่างไรกับความเป็นไทย ภาครัฐเองก็มีวินัยตามระเบียบราชการ แต่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความเป็น Supply Chain ที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชนหรือสาธารณะ ซึ่งก็ คือ เรื่องการเมืองทั้งหลายทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ เวลานี้ดูเหมือนการเมืองและความขัดแย้งของคนในสังคมจะกลายเป็นอุปสรรคในการจัดการน้ำตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ท่วมจนถึงน้ำท่วมแล้ว ไม่ตัดสินใจหรือตัดสินใจไม่ได้ ขาดความร่วมมือกัน ส่วนคนที่มีจิตอาสาเหล่านี้ก็น่านับถือน้ำใจเป็นอย่างยิ่ง มาด้วยตัวและหัวใจกันจริงๆ แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนักถ้าขาดการจัดการที่ถูกต้องและประสานงานกันไปในทุกหน่วยงาน คนในกลุ่มจิตอาสาเหล่านี้ก็จะทำงานได้ผลดังที่ใจหวัง จะได้ไม่เสียน้ำใจที่ทุ่มเทลงไปด้วยจิตอาสา ส่วนประชาชนตาดำทั้งหลายเป็นผู้ที่รับไปเต็มๆ ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ พวกเขาไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีประสบการณ์ไม่เป็นไร ขอให้รู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เราเผชิญหน้านั้นคืออะไรกันแน่ ความรู้ความเข้าใจของมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าการจัดการจะดีอย่างไร แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คงจะไม่บรรลุผลอย่างที่คิดและวางแผนไว้ การมองปัญหาอย่างองค์รวมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เขาบอกกันว่าน้ำลดตอผุด แต่วันนี้น้ำท่วม อะไรๆ ในสังคมก็ผุดขึ้นมาจากใต้น้ำทั้งที่น้ำยังไม่ต้องลด เราก็ได้เห็นอะไรต่างๆ มากมาย และได้ไปเห็นประเด็นเรื่องความเลื่อมล้ำในสังคม ที่จริงประเด็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและทั่วโลก แม้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็ตาม ยังมีกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามว่ายังมีความเลื่อมล้ำระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก แล้วลองหันมามองคนในประเทศไทยเองว่ามีความเลื่อมล้ำกันมาน้อยขนาดไหน ในยามปกตินั้นเราคงจะไม่เห็นความเลื่อมล้ำกันมากนัก เพราะสังคมอยู่ปกติสุขดี มีกิน มีอยู่ มีใช้ พวกมีน้อยก็ใช้น้อย พวกมีมากก็ใช้มาก ต่างคนก็ต่างอยู่กันระดับใช้แบบปีรามิด พวกคนชั้นล่างก็ทำงานสนับสนุนหรือที่เรียกว่ารับใช้คนชั้นสูงหรือพวกที่มีอันจะกิน ปีรามิดนี้จะอยู่ดีในภาวะปกติ คนชั้นล่างก็ไม่ได้คิดอะไร อยู่ได้ก็อยู่ไป และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียด้วย แต่ถ้าเมื่อใดมีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ภาวะปกติกลายเป็นภาวะฉุกเฉินที่คนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นไหนก็ตามในสังคมได้รับผลกระทบ ซึ่งก็หมายถึง โซ่อุปทานของชีวิตโดยรวมหยุดชะงักโดยทั่วหน้าแล้ว โครงสร้างปีรามิดตามปกติก็ทลายลงชั่วคราว โซ่อุปทานของการดำรงชีวิตถูกทำลายลง สังคมถูกทำให้ราบเรียบเป็นหน้ากองด้วยน้ำ

คราวนี้คนสังคมในแต่ละระดับชั้นที่มีความสามารถในการดำรงชีพที่แตกต่างกัน รวยจนก็แตกต่างกัน เห็นกันง่ายๆครับ คนที่อยู่ในหมู่บ้านที่มีอันจะกิน มีเงินหรือว่ารวยหน่อย ก็จะมีปัญหาน้อย ก็ทิ้งบ้านไปอยู่ที่อื่น ไปเที่ยวไกลๆ ออกไป แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ หมู่บ้านที่ดีหน่อยก็จะมีระบบการจัดการที่ดีและมีการส่งกำลังบำรุงเพื่อที่จะรับมือกับน้ำที่จะมาท่วม แต่คนที่เป็นชาวบ้านในชุมชนที่พอจะมีพอจะกิน แต่ไม่ได้มีเงินมาก พวกเขาจะไปไหนกัน ที่เราเห็นคนที่จะต้องอยู่กับน้ำ ก็อาจจะเป็นเพราะไม่รู้จะไปไหน จะไปเที่ยวไหนเหรอ จะไปอย่างไร จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ คงจะลำบากมาก ต้องใช้เงินอีกมาก เพราะเหตุการณ์อย่างนี้คงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ได้มีบ้านพักตากอากาศที่ต่างจังหวัด หรือที่ต่างประเทศ เวลานี้ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองหมดสำหรับสิ่งจำเป็นในการับมือกับน้ำ เห็นผู้ประสบภัยตามศูนย์พักพิงต่างๆ แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร นั่นเป็นภาพที่ประเทศเราจะต้องคิดให้มากๆ หลังจากปัญหาเรื่องน้ำท่วม