วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 8. โซ่อุปทานเมือง โซ่อุปทานชีวิต

วันนี้ผมไม่ได้ทำงาน ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้ทำงานมาหลายวันแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้มีการประกาศหยุดราชการเพิ่มอีก ธุรกิจที่ยังดำเนินการได้ก็เปิดดำเนินการไป ชีวิตคนทำงานที่ยังต้องทำงานก็ทำงานไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์ก็วิกฤตเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่รัฐก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่ายังมีคนทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการอยู่เพื่อที่จะบริการประชาชน และต้องทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ทำงานได้ ทำธุรกิจได้ ก็คงต้องทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็มีคนทำงานทำธุรกิจเท่าที่ทำได้ แต่ในความรู้สึกของผมก็ คือ กรุงเทพฯ นั้นกำลังจะล่มแล้ว อาการอยู่ในขั้นโคม่า ที่กรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เหมือนกับคนป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องหายใจและเครื่องมือช่วยชีวิตอื่นๆ ที่ต่อสายโยงระยางไปหมด พร้อมที่จะสิ้นลมได้ทุกเมื่อ แต่ชีวิตของกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ไปง่ายๆ


ถ้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถอยู่รอดด้วยตัวเองแล้ว ก็เพราะว่าคนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมธุรกิจเพื่อการดำรงชีพอยู่ได้ เพราะไปทำงานทำมาหากินไม่ได้ แต่ทุกคนในเมืองจะต้องกินต้องใช้ ผู้บริหารกรุงเทพฯ จะต้องทำให้กรุงเทพฯ มีแหล่งเสบียงอาหารค่อยส่งกำลังบำรุงกันอยู่ตลอดเวลาที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งมาจากการระดมของบริจาคและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา แล้วกรุงเทพฯ จะอยู่ในลักษณะนี้ได้นานเท่าไหร่? เพราะว่าระบบลอจิสติกส์ของกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตในเส้นทางสำคัญๆ ที่เป็นทางเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเส้นทางปกติที่ทำให้คนในเมืองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนไปทำธุรกิจและดำเนินชีวิตได้


ระบบลอจิสติกส์เองในมุมมองของผมนั้นก็ไม่ได้หมายถึงตัวถนนหรือระบบการคมนาคมขนส่งในเชิงกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว ลอจิสติกส์ในยามนี้หรือในยามไหนๆ ก็ตาม ผมมักจะหมายถึงการเข้าถึง (Accessibility) ลูกค้าในมุมของผู้ส่งมอบคุณค่า หรือการได้มา (Acquire) ซึ่งคุณค่าในมุมของผู้รับคุณค่าหรือลูกค้า ผมพูดในระดับนามธรรมนะครับ ส่วนจะเอาไปใช้อย่างไรนั้น เราก็ต้องไปตีความและทำความเข้าใจกับบริบท (Context) ที่คุณต้องการจะประยุกต์ใช้ประโยชน์เหล่านั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม


ผมมองกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นเมือง (Urban) ซึ่งประกอบด้วยคนและบทบาทหน้าที่ของคนในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในเมือง และคนแต่ละคนก็ทำหน้าที่สร้างคุณค่า (Value Creator) อยู่ในโซ่อุปทานที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อที่จะได้ทุนคืนมาพร้อมผลกำไร แล้วก็เอาเงินนั้นมาจ่ายเป็นค่าแรงให้กลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างคุณค่าในโซ่อุปทานต่างๆ ในเมือง และที่สุดแล้วคนเหล่านี้ที่อยู่ในโซ่อุปทานทุกโซ่อุปทานก็ต้องกินและต้องใช้คุณค่าต่างๆ จากโซ่อุปทานเหล่านี้ในการดำรงชีวิตด้วยการซื้อสินค้าและบริการที่โซ่อุปทานต่างๆ ในเมืองที่ร่วมกันผลิตขึ้นมา ดังนั้นเมืองทั้งหลายจึงประกอบไปด้วยโซ่อุปทานต่างๆ ที่สร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ต่อคนในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกันไปมาเป็นระดับชั้นและเป็นเครือข่าย (Network) เพื่อสร้างคุณค่าให้คนในเมืองได้กินอยู่และได้ใช้ประโยชน์


โดยปกติเมื่อเรากล่าวถึงระบบลอจิสติกส์ของเมือง (City Logistics) เราก็ควรจะอ้างถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการเข้าถึงของทรัพยากรต่างๆ และส่งต่อคุณค่าระหว่างกันในโซ่อุปทานเพื่อสร้างประโยชน์ (Value Creation) ให้กับคนในเมือง ส่วนโซ่อุปทานเราก็ควรจะอ้างถึงกลุ่มผู้ที่สร้างคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในฐานะผู้ผลิต (Manufacturer) ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistics Service Providers) ผู้ให้บริการสาธารณะ (Public Service Providers) ผู้ให้บริการ (Service Providers) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำส่งคุณค่า (Value Delivery)ไปถึงคนในเมือง


ในวันนี้คนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะน้ำท่วม เริ่มต้นที่ลอจิสติกส์ที่อยู่ในบริบทของการคมนาคมขนส่งหรือถนนหนทางถูกตัดขาด คนไปทำงานไม่ได้ โรงงานจมน้ำ วัตถุดิบไม่สามารถถูกส่งต่อไปยังโรงงานผลิตได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถถูกกระจายไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้สินค้าขาดแคลน ในขณะเดียวกันก็มีการกักตุนสินค้าของคนในเมืองด้วย น้ำดื่มขาดแคลน จึงทำให้โซ่อุปทานมีปัญหาตามมาอีกมาก ถ้าเราสังเกตุดูดีๆ เหตุการณ์ทั้งหลายในสังคมเรานั้นมีความเชื่อมโยงกันเชิงระบบ ตั้งแต่ระบบเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ ถ้าเราเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเราอย่างองค์รวม เราก็สามารถที่จะปรับตัวเราเองตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้


เหตุการณ์ภัยพิบัตินี้มันเริ่มที่น้ำท่วมได้ทำลายระบบลอจิสติกส์การขนส่งซึ่งจะมีผลต่อระบบโซ่อุปทาน เมื่อโซ่อุปทานของเมืองมีปัญหาไม่สามารถส่งกำลังบำรุงให้กับเมืองได้ ปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนและกลุ่มคนก็จะตามมา เพราะว่าโซ่อุปทานสร้างคุณค่าให้คนในเมือง ทำให้คนในเมืองมีชีวิตอยู่ได้ จากการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัญหาสังคมก็จะตามมาอีก ปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ สภาพเมืองเวลานี้เหมือนกับเส้นเลือดในร่างกายขาดตอน ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ร่างกายขาดเลือด เราก็อาจจะเสียชีวิตได้ เช่นกัน ถ้าระบบลอจิสติกส์ของเมืองถูกตัดขาด โซ่อุปทานก็ล่มสลาย คุณค่าไม่ได้ถูกสร้างและนำส่งไปยังลูกค้า ธุรกิจก็จะล่ม ผลในทางตรงกันข้ามคนก็จะตกงาน ความมั่นคงในชีวิตก็จะลดลง สังคมก็จะไม่มีความแน่นอนและมั่นคง ปัญหาสังคมก็จะบั่นทอนความเป็นเมืองไปด้วย นี่เป็นการคิดแบบองค์รวมหรือการคิดเชิงระบบ


วันนี้เราจะต้องมองปัญหาของน้ำท่วมกรุงเทพฯไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำท่วม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นมากกว่าน้ำท่วม และถ้าเราไม่สามารถมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ในเชิงองค์รวมแล้ว เราก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างเดียว โดยปล่อยให้ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดจากการมองปัญหาที่จุดเดียวหรือมิติเดียวกลายไปปัญหาที่เรื้อรังและใหญ่โตขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งจะทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องมองปัญหาในเชิงโซ่อุปทาน เราต้องมองให้เห็นโซ่อุปทานแห่งชีวิตคน และเมื่อคนในเมืองมีชีวิตแล้ว เมืองนั้นก็มีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน