เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ เราทุกคนคงจะไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือว่ามีโอกาสเกิดขึ้น (Probability) ได้น้อยมาก แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ มันเป็นความไม่แน่นอน (Uncertainty) เพราะว่ามีอยู่สองทางเลือก คือ เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า ทุกคนต้องตาย แต่จะเมื่อไหร่เล่า เพราะว่าถ้ามันเป็นเรื่องแน่นอนว่าน้ำไม่ท่วม มันก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ความไม่แน่นอนนี้เป็นธรรมชาติ นั่นแสดงว่าจะมีน้ำท่วมและน้ำไม่ท่วม แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน เราก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ระดับของความไม่แน่นอนนี้ (Measurement of Uncertainty) สามารถวัดได้ด้วยค่าความน่าจะเป็น (Probability) ยิ่งความน่าจะเป็นสูงก็มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มากในแต่ละช่วงเวลาอย่างสุ่ม (Randomly) ยิ่งผมคิดว่าอะไรก็ตามที่คนเราคิดได้ มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ และยังมีอะไรๆ อีกมากมายที่เรามนุษย์ไม่รู้ในธรรมชาติก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างสุ่ม (Randomly) โดยเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน
ระหว่างเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้เราได้ยินคำว่าความเสี่ยง (Risk) อยู่เป็นประจำ แล้วความเสี่ยง คือ อะไร? ความเสี่ยง คือ โอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหาย (a loss or catastrophe) หรือผลลัพธ์ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ (Undesirable Outcome) หลังจากเราได้ตัดสินใจไป ดังนั้นความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อเราได้ตัดสินใจ แล้วเราจะตัดสินใจ (Making Decisions) อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งก็คือ การจัดการความเสี่ยง(Risk Management) นั่นเอง
ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ เราจะต้องมีวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง (Right Decision Making Model) โดยใช้แบบจำลอง (Model) นี้ในการสร้าง (Generate) ทางเลือกต่างๆ (Alternatives) ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ หรือข้อจำกัดต่างๆ (Constraints) และที่สำคัญผู้ตัดสินใจ (Decision Makers) จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง (Right Data) ในกระบวนการตัดสินใจ ถ้าเราไม่มี Model ที่ถูกต้องและไม่มีข้อมูล (Data)ที่ถูกต้อง แล้วเราก็ตัดสินใจไปในสถานการณ์ที่ไม่ถูกทั้ง Model และ Data หรือถูกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงซึ่งก็ คือ มีโอกาสหรือความน่าจะเป็นในการได้รับผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการหรือได้รับความล้มเหลวหรือเสียหาย เช่น เราจ้างคนขับรถคนใหม่มาขับรถให้ โดยที่เราไม่รู้ประวัติการขับรถของเขามาก่อน เราก็ตกอยู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ
แล้วเราลองมาดูสิว่าตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมหาวินาศอย่างนี้ เราตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เราได้ตัดสินใจอะไรลงไปด้วยวิธีการคิด (Decision Making Model) ที่ถูกต้องหรือไม่และมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งเราตื่นตระหนกและตัดสินใจโดยไม่รู้ (ไม่มีวิธีคิดและไม่มีข้อมูล) หรือไม่ได้คิดอะไรเลยหรือคิดน้อยไป เราก็จะอยู่ภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหรือตกอยู่ในอันตราย การที่ ศปภ.ได้ออกคลิปเรื่อง “รู้สู้ Flood” เป็นตอนๆ ด้วยกราฟิกง่ายๆ เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความเข้าใจและสามารถสร้างวิธีคิดหรือ Decision Making Model ที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องราวหรือ Problem Statements ที่ถูกต้องแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนแต่ละคนที่จะต้องเก็บข้อมูลจาก ศปภ.และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและข้อมูลสถานะของตัวเองภายใต้ข้อจำกัด (Constraints)ของแต่ละคนเพื่อทำการตัดสินใจเพื่อเอาตัวเองรอดจากภัยน้ำท่วม ความเสี่ยงของประชาชนก็จะลดลง
ทุกข้อมูลข่าวสารมีคุณค่า ถ้ามีวิธีการคิด (Decision Making Model)ของปัญหาที่เผชิญ (Problems) อย่างถูกต้อง นี่ คือ การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) แล้วเราลองคิดดูนะครับว่า กว่าจะมาเป็นน้ำท่วมที่ท่วมกันอยู่หลายๆ จังหวัด และท่วมกันตั้งแต่เหนือจรดใต้นี้ พวกเราประชาชนมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน มีใครๆ อีกหลายๆ คนในโซ่การตัดสินใจ (Decision Chain) ในเรื่องการจัดการน้ำ(Water Resources Management) ได้สร้างความเสี่ยงไว้หรือได้มีการจัดการความเสี่ยงไว้กันอย่างไรบ้าง นี่เป็นความซับซ้อน (Complexity) ของการจัดการสาธารณะ (Public Management) ในยุคปัจจุบัน ถ้าคนในตอนต้นทาง (Upstream)ได้สร้างความเสี่ยงไว้ และคนในกลางทาง (Midstream)และปลายทาง (Downstream) ต่างคนต่างสร้างความเสี่ยงไว้ สุดท้ายปลายทางอย่างกรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงอย่างมากๆ ในการเกิดภัยพิบัติ นั่นแสดงว่า มีโอกาส (Chances) สูง หรือความน่าจะเป็น (Probability) สูงที่จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งก็ คือ ความเสี่ยงในเกิดน้ำท่วมและความเสี่ยงที่จะประสบภัยน้ำท่วม
นั่นก็อาจเป็นเพราะเราไม่ได้มีการแบบจำลองการตัดสินใจร่วมกันและข้อมูลตลอดโซ่การตัดสินใจในเรื่องการจัดการน้ำแบบข้ามหน่วยงาน (Cross Functional) ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วม ดูๆ ไปแล้วภาครัฐทั้งหลายทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นได้สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดเส้นทางไหลของน้ำมาโดยตลอด เพราะว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นตลอดเวลาและในเกือบทุกสถานที่ที่น้ำไหลผ่าน คือ มีน้ำเกือบเต็มทุกพื้นที่ และท่วมทุกที่ที่น้ำไหลผ่าน นั่นแสดงว่า กระบวนการทำงานตั้งแต่การวางแผน (Planning) และการดำเนินงาน (Execution) มีความเสี่ยงสูง (High Risk) หรือมีโอกาสสูงหรือความน่าจะเป็นสูงที่จะล้มเหลว (High Probability to Fail) หรือสร้างความเสียหายได้ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกิดความเสียหายและไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเส้นทางน้ำไหล มันใช่พวกเรากันเองหรือไม่ที่ได้สร้างความเสี่ยงให้กับชีวิตของเรากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมประชาชนถึงไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการคิดและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินในเหตุการณ์น้ำท่วม พวกเราประชาชนไม่มีความรู้มาก่อนเลย ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อนเลย การที่จะมีการให้ข้อมูลและวิธีการคิดตัดสินใจในภาวะการณ์เช่นนี้ มันไม่สายไปหรือครับ แต่ก็ยังดีมี Modelในการคิดและข้อมูลให้เกิดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์
การตัดสินใจในเรื่องอย่างนี้ในภาวะที่เกิดสาธารณภัยคงจะไม่เหมือนกับการตัดสินใจในระดับองค์ธุรกิจเพราะบริบทของการจัดสาธารณะนั้นมีความซับซ้อนว่าการจัดการองค์กรธุรกิจแบบเดี่ยวๆ มากยิ่งนัก เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของการจัดการสาธารณะของประเทศไทยที่จะต้องมองอย่างองค์รวม (Holistic) รวมทั้งคิดและดำเนินงานอย่างบูรณาการ (Integrative) อย่างแท้จริง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศเราอาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งๆ แล้วใครๆ เขาจะมาเที่ยวหรือลงทุนในประเทศไทยล่ะครับ แม้แต่ประชาชนเราเองก็อาจจะไม่มีความมั่นใจในการจัดการสาธารณะของภาครัฐอีกต่อไป แล้วสังคมก็จะถูกสั่นคอนและอ่อนไหว ความเป็นอยู่ประชาชนก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่มั่นคง ผมหวังว่าเราคงจะไม่เป็นอย่างนั้น เราคงจะต้องไปแก้ไขที่โครงสร้างพื้นฐานของสังคมต่อไป ยังมีโอกาสครับที่จะลดความเสี่ยงหรือจัดการความเสี่ยงในทุกรูปแบบของสังคมและประเทศลงได้