ถ้าโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์คุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้กับมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีชีวิตแล้ว ถ้ามันขาดตอนไปหรือหยุดชะงักในการสร้างคุณค่าเหล่านั้นไป มนุษย์ก็คงจะลำบากในการดำรงชีวิต ผมบรรยายเรื่องโซ่อุปทานมานานนับสิบกว่าปี อาจจะเป็นเพราะผมอาจจะไม่ค่อยจะมีฝีมือในการสื่อสารหรือนำเสนอเท่าไหร่ จึงทำให้ความเข้าใจในเรื่องโซ่อุปทานและลอจิสติกส์สำหรับเมืองไทยยังมีไม่มากนัก ที่จริงแล้วผมว่าพวกเราเองไม่ค่อยสนใจอะไรกันมากเท่าไรนัก เพราะสังคมพูดกันน้อย ผู้ใหญ่พูดกันน้อย คนในวงการธุรกิจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ จึงไม่ค่อยสนใจจะสื่อสารออกไป และเราก็เรียนรู้กันน้อย เรื่องที่อยู่ในอนาคต เรื่องยังมามาถึงตัวก็ไม่ค่อยจะสนใจกัน
พอเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเห็นโรงงานปิดไปหลายสิบโรง แล้วมีผลกระทบไปยังอีกหลายโรงงานจนกระทั่งมีผลกระทบมาถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายซึ่งก็ คือ เราๆ นี้เอง เวลาไปดื่มกาแฟที่ร้าน Starbucks ก็พบว่า กระดาษเช็ดปากของ Starbuckหมด ต้องเอากระดาษเช็คปากกาแบบธรรมดาทั่วไปมาแทน เพราะศูนย์กระจายวัตถุดิบอยู่ที่อยุทธยาติดน้าท่วม ร้านอาหารบางร้านปิดไปเพราะโรงงานวัตถุดิบอยู่ที่อยุทธยา เกิดการหยุดชะงักของการผลิตและการกระจายสินค้า พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว เราจะหันสนใจโซ่อุปทานและลอจิสติกส์หรือไม่ หรืออาจจะลืมไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้
คนหลายคน ผู้ใหญ่หลายคนก็ออกปากว่า เพิ่งได้เห็นโซ่อุปทานกันก็ครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่พยายามเข้าใจอยู่ดี ทั้งๆ ที่ผมก็เพียรพยายามพูดกันมานาน แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ให้ความสนใจเสียเท่าไหร่นัก ใจไม่เปิดกว้าง อ่านเยอะแต่ใจแคบไม่ยอมเรียนรู้ ไม่เคยมีความคิดแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking) ความเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่การรวมตัวแค่การกองรวมกัน (Collections) มันเป็นการบูรณาการกัน (Integration) ซึ่งมีความหมายว่า ต้องมารวมกันเป็นสิ่งใหม่มีคุณค่าใหม่ แบบขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ต้องอยู่ครบทุกส่วนทุกคนถึงจะได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปลายทางโซ่อุปทานที่พร้อมจะส่งมอบให้กับลูกค้าก็จะไม่มี
วันนี้ความเข้าใจในเรื่องโซ่อุปทานที่ได้จากประสบการณ์น้ำท่วมแล้วทำให้เราขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้คนก็ไปทำงานไม่ได้ การเดินทางไปในสถานที่ต่างก็ไม่สะดวกและลำบากมากๆ ก็เพราะลอจิสติกส์ถูกตัดขาดนั่นเอง เหตุการณ์เหล่านี้ได้สอนและตอกย้ำให้เราต้องเข้าใจในโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เราน่าจะเห็นความสำคัญของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เราจะต้องขวนขวายหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมมาจัดการกับโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า ที่ปลายทางของโซ่อุปทานของสินค้าและบริการต่างๆ นั้นจะมีของกินและของใช้ไว้บริการลูกค้าและประชาชนและตัวเราเอง
ดังนั้นถ้าโซ่อุปทานทั้งหลายเกิดหยุดชะงัก (Disruption) ขึ้นมา เราจะทำอย่างไร เราจะกู้อย่างไร ตรงนี้ยังไม่ใช่ประเด็นแรก แต่เราจะต้องคิดเอาไว้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่องขึ้น เราจะต้องวางแผนไว้ก่อนที่มันจะเกิดการหยุดชะงัก และเมื่อการหยุดชะงักแล้ว เราก็ควรจะมีแผนไว้รองรับอย่างไร เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร อะไรที่อยู่ในการควบคุมของเรา เราก็จะต้องวางแผนและควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินการ ไม่ใช่แค่ทำประกันไว้ นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา ได้เงินทดแทนคืนมาก็ไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เหมือนกับเหตุการณ์แบบน้ำท่วมในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีแผนรองรับ เออ! แล้วทำไมไม่คิดไว้ตั้งแต่แรก ในช่วงตอนน้ำไม่ท่วม แล้วทำไมเราไว้ไม่คิดไว้ เราก็มีบทเรียนมาหลายรอบแล้ว เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็เป็นบทเรียนให้เราได้ เรามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นกันตลอดเวลาไม่ได้หรอกครับ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราเองก็จะต้องสำรองวิธีการต่างๆ ไว้เผื่อไว้ สร้างหรือออกแบบโซ่อุปทานเผื่อไว้ เหมือนเราตุนสำรองสินค้าไว้ในยามขาดแคลน แต่สำหรับโซ่อุปทานนั้นมันไม่ได้ตุนอะไรกันง่ายๆ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นชิ้นๆ แต่มันเป็นโครงสร้างของหลายๆ บริษัท หลายๆ องค์กร หลายๆ อุตสาหกรรมที่ต้องมาทำงานร่วมกัน จะเป็นแบบอย่างทางการ (มีการวางแผนร่วมกัน) หรือไม่เป็นทางการ (ซื้อมาขายไป) เราจะทำอย่างไรให้เรามีโซ่อุปทานสำรองไว้ใช้งาน สร้างสินค้าและบริการไว้ยามฉุกเฉิน แต่เราเองก็ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าน้ำจะมากมายมหาศาลขนาดนี้ ถ้าใครพูดในตอนที่น้ำยังไม่ท่วม ก็คงถูกหาว่าบ้าไปเลย แล้วใครจะกล้าพูดล่ะ เราคงจะต้องมาพิจารณากันใหม่สำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้ และคงจะต้องเลิกคิดแค่แต่ในทางดีหรือทางบวกเท่านั้น คงจะต้องวางแผนเผื่อไว้ในทุกๆ สถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้!