อย่างที่เราเห็นๆ กันนั้น กรุงเทพฯ ถูกน้ำโจมตี ตลกดีมากเลย ทำให้ประเทศไทยเหมือนอยู่ภาวะสงคราม แต่เป็นสงครามกับธรรมชาติ รัฐบาลต้องประกาศหยุดราชการหลายวันเพื่อรับมือกับน้ำ พร้อมทั้งเปิดทางให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ เออ! แล้วทำไมเพิ่งจะมาคิดได้ แล้วเคยคิดมากันก่อนหรือไม่? ผมหมายถึงการวางแผน ก็น่าเห็นใจครับว่า มันไม่ง่ายอย่างที่เราเห็นเลยครับ ก็อย่างว่าล่ะครับ! ผมจึงลองไปหางานวิจัยที่ผ่านมาของประเทศต่างๆมาอ่านดู พบว่าไม่ใช่ประเทศไทยและกรุงเทพฯที่โดนน้ำท่วมอย่างนี้ ยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ๆในโลกที่เคยโดนน้ำท่วมอย่างประเทศไทย ผมไปเจอรายงานการวิจัยเรื่องน้ำท่วมใน Internet อยู่เรื่องหนึ่ง จำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่มีอยู่หัวข้อหนึ่งในงานวิจัยนี้ เขียนไว้ว่า Flood : To Control or Not to Control โดยมีข้อสรุปว่า เราไม่ควรจะทำการควบคุม (Control) น้ำท่วม (Flood) แต่ควรจะทำการจัดการน้ำ (Water Resource Management) แทน เรื่องนี้เราได้พิสูจน์และเห็นกับตามาแล้วว่า คันกั้นน้ำต่างๆในกรุงเทพฯและในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่พยายามจะควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมในพื้นที่ของตนเอง ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถป้องกันได้ คันกั้นน้ำแตกกันทุกรายไป จึงเป็นประสบการณ์ว่าเราไม่สามารถควบคุมน้ำท่วมได้ แต่เราน่าจะสามารถจัดการน้ำได้เพื่อไม่ให้ท่วมได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายเมืองหรือหลายประเทศได้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมาเป็นมหาอุทกภัยในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนรู้ แต่เราไม่ได้ใส่ใจในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) โดยเฉพาะการวางแผน (Planning)ที่ต้องสัมพันธ์กับการดำเนินงาน (Operations) ผมจะเน้นและพูดเรื่องนี้เป็นประจำเสมอเลยครับ มันจึงเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นผลที่เกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายในปัจจุบันที่เราเห็นๆกันอยู่ เรื่อง Planning – Execution – Control –Improve(Replan)ดูมันเป็นเพียงแค่ความคิดที่เรียบง่าย แต่ยากที่จะดำเนินการให้มันเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยเฉพาะในหมู่คนที่จะต้องประสานผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องอย่างนี้เขาเป็นกันทุกคนในโลกนี้ ดังนั้นเราก็ต้องประสานผลประโยชน์กันให้ได้ ต้องมองให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมให้ได้ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของตนเองหรือหน่วยงานตนเองหรือในพื้นที่ตนเองเท่านั้น ไม่งั้นก็คงไม่มีใครฟังใคร
ในเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบกันถ้วนหน้า มีผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากหลายภาคส่วนจากหลายหน่วยงานที่มีการตัดสินใจที่เป็นแบบแยกส่วนกันอยู่ (Reductionism) ต่างคนต่างมีเป้าหมายของหน่วยงานตัวเอง ไม่ได้มองถึงเป้าหมายในส่วนรวม ดังนั้นประเด็นเรื่องของน้ำท่วมคงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาจัดการกันในตอนที่น้ำกำลังจะท่วมหรือท่วมแล้วเท่านั้น แต่มันจะต้องจัดการไม่ให้น้ำท่วมต่างหาก แต่ทุกคนทุกหน่วยงานจะต้องมีการวางแผนร่วมกัน (Collaborative Planning) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) และที่สำคัญจะต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน (Collaborative Execution)
จากประสบการณ์ของความหายนะที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เช่น เหตุการณ์ 9/11 หรือ พายุเฮอริเคน Katrina แล้ว ทางการสหรัฐจึงได้ทำการรื้อระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินใหม่หมดในทุกระดับชั้นของการจัดการภาครัฐ เพื่อที่จะทำให้พวกเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนอื่นๆ ได้เข้าใจขอบเขตของและขนาดของปัญหาและผลที่ตามมา ความลึกและความละเอียดของการวางแผนนั้น (ไม่ใช่แค่การประชุมกันเท่านั้น คนไทยนั้นชอบประชุมกันมากๆ ชอบมาเสนอหน้าแล้วก็พูดเอาหน้าเอาตา พูดเสร็จแล้วก็กลับ อย่างนี้ไม่ใช่การประชุมวางแผน การวางแผนเป็นการสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้ แล้วจึงตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดตามข้อจำกัดต่างๆ ในเวลานั้น จนได้ผลลัพธ์เป็นแผนและมาตรการต่างๆ ออกไปปฏิบัติใช้ และจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ ด้วย พวกเราคนไทยประชุมวางแผนกันอย่างนี้หรือไม่) ดังนั้นทางการสหรัฐโดยทำเนียบขาว จึงต้องออก National Planning Scenarios ทั้ง 15 เรื่องที่ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดำเนินการแผนที่จำเป็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสหรัฐ
ผมก็ไม่รู้ว่าของประเทศไทยเรามีแผนอย่างนี้กับเขาบ้างหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าน่าจะมีครับ ไม่แน่ใจนะครับ แต่พวกเราก็ไม่เคยอ่านหรือเราเองก็ไม่ได้สนใจเอง ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ เคยเห็นแต่ในหนัง ประเด็นก็ คือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว พวกเราทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เราปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะว่าถ้าทุกคนทุกหน่วยงานถือแผนแบบเดียวกันเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเสนอหน้าและเสนอความคิดเห็น(เหมือนกับที่ผมทำอยู่ในขณะนี้)เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าจะทำตามแผนไหน สุดท้ายก็มั่วอย่างที่เห็น ผมก็คิดว่าถ้ามีแผนหลักและแผนรองล้อไปตามแผนหลัก รวมทั้งทุกคนฟังและปฏิบัติตามแผนที่ออกมา ประชาชนในกลุ่มต่างๆ และรวมถึงทุกคนด้วยก็สามารถวางแผนของตนเองได้การดำเนินงานก็น่าจะมีประสิทธิภาพกันมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่ขัดแย้งกัน ขัดขากัน ต่อให้เขียนแผนและขั้นตอนเหล่านี้มาอย่างดีและเลิศหรูอย่างไรก็คงช่วยอะไรไม่ได้ นั่นเป็นสันดานของคนในสังคม ต้องไปแก้ที่สันดานของคนเหล่านั้น แต่ก็ไม่รู้ทำไมคนที่มีสันดานเหล่านี้ถึงได้มาเป็นใหญ่ในสังคม แล้วก็ไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้นเลย
แผนต่างๆ จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการขยายขอบเขตของความต้องการของการประสานงานการตอบสนองต่อภัยพิบัติและการบรรเทาทุกข์ให้ไปถึงผู้ประสบภัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการนำเอาแผนไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลนั้น กลุ่มต่างๆ จะต้องถูกฝึกตามกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาต้องปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน และผู้นำ (Leader) ที่มีความชำนาญและมีความรู้จะต้องถูกมอบหมายให้อำนาจในการดำเนินงานอย่างอิสระและให้สามารถมีการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์นั้นๆ สิ่งเหล่านี้ผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องผ่านการฝึกฝนและอบรมมาก่อน ไม่ใช่มาตัดสินหรือลองผิดลองถูกกันหน้างาน เพื่อเอาหน้าเอาตากัน โดยไม่รู้หรือไม่เข้าใจ อย่างนี้เสียหายกันไปหมด ผมไม่รู้นะครับ ท่านๆ ทั้งหลายก็อาจจะเข้าใจก็ได้ แต่เหตุการณ์มันใหญ่เกินกว่าจะรับมือได้ ดูเหมือนสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ทำงานเอาหน้าเอาตากันเป็นส่วนใหญ่ จริงไหมครับ ความสามารถไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่นัก บางครั้งเราก็มองว่าผู้นำนั้นต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งก็ไม่ใช่เสมอไป ผู้นำเองก็ต้องรู้จักที่จะใช้คนให้เป็นมากกว่า อย่างนี้ต้องฝึกอย่างทหารบ้าง เพราะว่าเมื่อเจอกับสถานการณ์แล้วจะได้มีประสบการณ์ในการตัดสินใจ เพราะว่าถ้าไม่ฝึกแล้ว จะไม่รู้ จะไม่มีประสบการณ์
เวลาที่เราใช้ไปในการวางแผนและฝึกอบรมในประเด็นนี้จะเพิ่มความพร้อม การตอบสนองและความพยายามในการฟื้นฟูและผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการเป็นอย่างมาก มันก็ดีกว่าที่ไม่รู้อะไรเลยหรือไม่เคยวางแผนและฝึกมาก่อน ผมหมายถึงการวางแผนและการฝึกก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ไม่รู้เมืองไทยเคยทำหรือไม่ ทำเป็นหรือไม่ แต่อีกนั่นแหละครับผมมั่นใจว่าพวกเขาทำกันนะ แต่ก็อย่างว่า พอถึงเวลาแล้วนำมาใช้หรือไม่ก็ไม่รู้ ก็เห็นท่านผู้นำทั้งหลายมาบัญชาการทั้งนั้นน่ะเนี่ย ก็ไม่รู้ว่ามีความรู้อะไรบ้าง มีความสามารถอะไรหรือมีภาวะผู้นำในภาวะฉุกเฉินอย่างไรบ้าง ก็เห็นนั่งแถลงการณ์บ่นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้ความ ไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าประชาชนควรจะทำอะไรต่อไป
รูปแบบของการฝึกตรงนี้ควรจะมุ่งเน้นไปที่ ส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางในระดับจังหวัด ระดับประเทศ ความร่วมมือกับหน่วยงานอาสาสมัครเอกชน และ NGO ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ การฝึกตรงนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจและรู้วิธีในการสนธิกำลังและความสามารถขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความเข้าใจที่ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ของการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ
แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านๆ มานั้นประเทศไทยเราจะไม่ได้มีหน่วยงานในลักษณะอย่างนั้น เรามีหน่วยงานมากมาย ต่างคนต่างช่วย เรามีอาสาสมัครมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพวกเขาได้เต็มที่ พวกเขามาด้วยใจจริง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ดูแล้วเราจัดการอะไรที่ดูเป็นลูกทุ่งเสมอ แต่จริงแล้วในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมเข้าใจว่ามีพร้อมหมด ขาดเพียงแต่จิตใจที่จะทำงานร่วมกันอย่าง Supply Chain ที่จนเป็นทีมร่วมกัน และที่สำคัญขาดผู้นำที่มีประสบการณ์อย่างนี้ด้วย อย่างน้อยที่สุด การวางแผนและฝึกตรงนี้น่าจะทำให้ผู้ที่มีส่วนรวมมีความคุ้นเคยกับบทบาทและพันธกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้ตรงกันเลย มาร่วมกันปลูกฝังความมั่นใจในความสามารถของแต่ละหน่วยงานที่เข้ามาร่วมเพื่อที่จะทำงานร่วมกันในสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะถูกกำหนดให้มาทำงานร่วมกันในการตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ (ผมเรียกแนวคิดนี้ว่า Supply Chain Thinking)