วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Disaster -- ภัยพิบัติ กับ ความเปราะบางของการจัดการภัยพิบัติ

ผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้ในชีวิตจริง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้พบประสบเหตุการณ์ด้วยตนเองก็ตาม แต่มันก็ดูน่ากลัวทีเดียว ก็แค่ได้เห็นความเสียหายในจอทีวีก็แย่แล้ว ยิ่งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไปที่ยังต้องอยู่กับน้ำไปอีกนาน น้ำท่วมก็เป็นภัยพิบัติชนิดหนึ่งของภัยพิบัติอีกหลายๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นมาอีก ในอนาคตข้างหน้า เรามักจะถูกสั่งสอนด้วยคำพูดง่ายว่า เกิดเป็นคนไทยนั้นโชคดี แต่ผมว่าความโชคดีของเรานั้นกำลังจะหมดไปแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ระหว่างที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่บนความโชคดีทั้งหลาย ที่ทำให้เราอยู่สุขสบายโดยไม่ค่อยได้มีภัยพิบัติอะไรกับใครๆ ในโลกนี้เสียเท่าไหร่นัก ก็ไม่รู้ว่าเรานั้นคิดกันอย่างหรือไม่ เป็นหน้าที่ของใคร หรือว่าเขามีการคิดกันมาแล้ว แล้วทำไมประชาชนเดินถนนนั้น ทำไมเราไม่ได้รู้กันหรือ เห็นความวิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งที่เป็นของจริงและในภาพยนต์แล้ว ก็ไม่นึกว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองนี้ที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง ทำไมหรือครับ? คำตอบง่ายๆ ก็ คือ ไม่เคยคิดเลยในชีวิตนี้มันจะเกิดขึ้นที่ใกล้กรุงเทพฯ นี่เอง


ประเด็น คือ ทำไมคนเราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ทำไมคนเราไม่เคยเชื่อว่ามันจะเป็นจริง หรือว่ามันจำเป็นที่จะต้องให้เจอกับของจริงแล้วให้มันเสียหายกันเสียก่อนหรือ ผมก็คงจะไม่ได้มาวิจารณ์หรือ Comment อะไรในช่วงนี้ เพราะพวกเราก็ด่ากันเองหรือโทษกันเองอยู่เสมออยู่แล้ว เป็นธรรมเนียมของการทำงาน แล้วก็ปลอบประโลมกันด้วยว่าคนไทยเรารักกันเสมอ เราช่วยกันเสมอ ผมคิดว่า คนทั่วโลกก็เป็นกันอย่างนี้ล่ะครับทั่วโลก พวกเขาก็ช่วยเหลือกันเหมือนกัน ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกครับ ทำไมต้องมาหลอกตัวเองกันด้วยว่า เราเป็นคนดีด้วยเล่า บางครั้งเราก็ต้องยอมรับในความล้มเหลวของสังคมเราหรือความเปราะบางของโครงสร้างของการจัดการสังคมหรือประเทศ เรามีเปลือกนอกที่สวยงามที่เราพยายามจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเมืองไทย เราป่าวประกาศว่าการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ แต่วันนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้ทำลายแหล่งท่องเที่ยวไปหมดแล้ว อีกหน่อยนักท่องเที่ยวก็อาจจะต้องเช็คถึงความเสี่ยงในการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวหรอกครับ เอาแค่คนไทยกันเองจะไปอยู่กันอย่างไรให้มีความมั่นคงในชีวิต


ประเทศไทยเรานั้น ผมมองว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบถ้วน ตามที่จะหาซื้อได้ ตามความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากสาขาวิชาต่างๆ ยิ่งพอจะมีเงินขึ้นมาบ้าง เราก็สร้างโน่นสร้างนี่ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่ประเทศ สังคมเราก็ขยายขึ้นและมีความซับซ้อน (Complexity)ขึ้น แต่ที่สุดแล้วก็ยังขาดการจัดการ (Management) ที่ดี และที่ถูกต้องด้วย ผมมองว่าเราขาด ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ที่ดีและที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีเสียเลยนะครับ ที่ใช้อยู่ก็ดี แต่ยังไม่ดีพอ ขาดความเป็นพลวัต (Dynamics) เพราะว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่คาดคิดหรือฉุกเฉินขึ้นมา เรามักจะไม่ค่อยมีแผนที่ดีรองรับ ถึงแม้ว่าบางครั้งแผนที่ดีรองรับแล้ว แต่กลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ที่เป็นการทำงานข้ามสายงาน (Cross Functional) ที่แต่ละคนก็เก่งกันคนละอย่าง มีเป้าหมายกันคนละเรื่อง มีตัวชี้วัดที่สนับสนุนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่จะต้องมาทำงานร่วมกันทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต ผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าจะได้เห็นๆ กันอยู่แล้ว ผมเชื่อในความหวังดีของทุกคน แต่ทุกคนที่ร่วมงานก็อาจจะไม่ได้เห็นภาพใหญ่หรือจุดสุดท้าย หรือไม่ได้เห็นผลลัพธ์ต่อเนื่องที่ตามมาอย่างไม่คาดคิด ไม่น่าเชื่อจริงว่ามันจะเกิดขึ้น ถึงตอนนี้ถ้าให้หลายๆ คนที่เกี่ยวข้องลองย้อนกลับไปดูข้อมูลในการทำงานต่างๆ ในอดีตเมื่อไม่กี่เดือนนี้ ถ้าเราลองเปลี่ยนการทำงานใหม่ ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะเบาบางกว่านี้ก็ได้ ผมเองไม่สามารถรู้ได้หรอกครับ


ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ย่อมมาจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต ถึงแม้ว่าเราจะไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราก็สามารถเรียนรู้จากอดีตได้เสมอ ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถมองเห็นอนาคตหรือพยากรณ์คาดการณ์ในเรื่องราวที่เราอาจจะไม่คาดคิดได้ว่ามันจะเกิด เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น แต่มันมีความน่าจะเป็นเพียงพอ และเราเชื่อและมั่นใจ แล้วถ้าเราได้จัดเตรียมไว้ ทั้งเตรียมตัวและเตรียมทรัพยากรต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมและความเข้าใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง ก็เป็นเพราะพวกเขาไม่มีความรู้หรือความตระหนักในภัยพิบัติที่มันจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งจะใช้ทุกวิถีทางในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ก่อนที่ภัยพิบัติมันจะเกิด เพราะดูจากเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว มันเกิดขึ้นมาแล้ว ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะมาจากความไม่รู้หรือความไม่ตระหนักของประชาชน ความไม่มีประสบการณ์ในเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ แต่ก็คงไม่ใช่ความผิดของใครหรอกครับ เรื่องอย่างนี้ มันต้องใช้ความเชื่อในหน่วนงานภาครัฐที่จะต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงภัยพิบัติต่างๆ เราเคยเห็นในหนังฝรั่งที่แสดงให้เห็นถึงการรับมือกับภัยพิบัติทั้งหลาย เราเห็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ การตัดสินใจร่วมกันเพื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ และการปฏิบัติตัวของประชาชนในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ


ก่อนเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหลาย มันย่อมมีสาเหตุและที่มาเสมอ อย่างน้อยก็ต้องมีคนรู้และคนที่สังเกตุเห็นสิ่งผิดปกติและความเป็นไปได้ต่างๆ ของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น กระบวนการดำเนินงานในการรับมือต่างก็จะต้องถูกนำมาปฏิบัติอย่างสอดคล้องกันในแบบบูรณาการกันแบบรวมหน่วยกัน ไม่ใช่แยกกันออกไปทำ โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต่างคนก็ต่างปกป้องทรัพย์สินและพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงพลังของธรรมชาติ และผลสืบเนื่องที่เชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ปัญหาหนึ่งในการจัดการภัยพิบัตินั้น ก็คือ การจัดการกับฝูงชน หรือ Crowd Control เพราะว่านั้นเป็นเป้าหมายในการรักษาชีวิตของฝูงชนไว้ไว้ แต่ในขณะเดียวกันฝูงชนเองนั้นกลับเป็นปัญหา ความไม่รู้ถึงข้อมูล การบริโภคข้อมูล และการไม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจต่างๆ ก็เลยทำให้เกิดการแตกตื่น (Panic) ผมเองยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนักในประเด็นนี้ แต่ก็คิดว่ามีกระบวนการเหล่านั้นอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้เห็นอย่างทั่วถึงนัก หรืออาจจะมีการดำเนินการเป็นช่วงๆ หรือเป็นพื้นที่ไป แต่ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา


เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการวางแผนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผมหมายความถึง ไม่ใช่แค่การที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และป้องกันได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ยังหมายถึงการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงาน การทำงานร่วมกันด้วยเพื่อให้เกิดผลเป็นไปตามแผน อีกทั้งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เรายังจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่การเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชนให้มาช่วยกัน ใช้แรงในการบรรจุกระสอบทรายการ แรงคิดมาช่วยกันแก้ปัญหา เพราะว่าคนไทยรักกัน เรามาช่วยกัน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ยิ่งจะทะเลาะกันไปใหญ่ แล้วทำไมไม่คุยกันมาแต่แรกๆ แล้วทำไมไม่วางแผนกันตั้งแต่แรก ถกเถียงกันแต่แรกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ควรจะตั้งหน่วยงานอะไร ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทุกคนต้องรู้หน้าที่มาก่อน มีการฝึกซ้อมกันมาก่อนมีการตกลงกันมาก่อน ไม่ใช่นึกอยากจะตั้งศูนย์อะไรก็ตั้งขึ้นมา แล้วค่อยมาระดมสมองและร่วมแรงกัน ซึ่งอาจจะทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันมายิ่งขึ้นเพราะทุกคนมีความหวังดี แต่ก็ไม่มีประสบการณ์กันมาทั้งนั้น และถ้าได้แผนงานที่เหมาะสมแล้วก็ควรจะดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด และทำการประเมินว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่เพื่อที่จะได้ไปปรับแผนกันเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ มันดูเป็นกระบวนการที่ดูง่ายๆ เรียบๆ แต่มันยากเหลือเกินเพื่อนำไปปฏิบัติกับหมู่คนที่มีความเก่งๆ ที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาอาจจะมองไม่เห็นว่าผลสุดท้ายแล้ว เพราะทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกันทั้งสิ้น คือ การมีชีวิตอยู่