วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives - 11. ปัญหาชาติ ปัญหาสังคม อย่ามักง่าย คิดง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ยาก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนอยากสบาย ทำอะไรได้อย่างง่ายๆ คือ อะไรก็ได้ที่ออกแรงน้อยๆ ลงทุนน้อย ได้สิ่งต่างๆ มาอย่างสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงของชีวิต เราก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายๆ หรอกครับ มันต้องออกแรงคิด ลงแรงและลงทุน ถามผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ได้เลยครับ ผมบังเอิญไปจัดหนังสือที่ชั้นหนังสือ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการจัดการ เขียนชื่อที่ปกไว้ว่า “ถึงจะง่าย แต่ก็ได้ผล” ผมเห็นแล้วมันขัดตาอย่างไรก็ไม่รู้ เท่าที่จำได้ว่าเคยเขียนถึงเรื่องอย่างนี้มาแล้วมั้ง แต่ก็จำไม่ได้ว่าเมื่อไรและที่ไหน เพราะผมเชื่อว่าในโลกนี้มีทั้งอะไรๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่ง่ายๆ รวมทั้งอะไรๆ และเรื่องราวที่ยากๆ

เราก็เห็นใครๆ ที่ทำอะไรดูง่ายไปหมด หรือเราเองบางครั้งก็ทำอะไรดูยากไปหมด แล้วเราก็มานึกเอาเองหรือฝันว่าเราน่าจะได้สิ่งต่างๆ มาได้โดยง่ายๆ นั้น เราจะต้องทำอย่างไร บางครั้งเราก็ถูกชี้นำไปสู่การหาอะไรที่ง่ายๆ หรือเครื่องมือที่ง่ายๆ โดยเฉพาะที่ง่ายต่อการใช้หรือง่ายต่อการเรียนรู้ โดยไม่ต้องออกแรงกายหรือแรงคิด ใช่ครับ มันมีเครื่องมือเหล่านี้มากมาย มันดูราคาถูกน่ะครับ ที่จริงแล้วมันก็ถูกนำไปใช้ตามราคา เราออกแรงน้อยก็ได้น้อย เราออกแรงมากก็ได้มากตามราคา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอาของที่ง่ายๆ ที่ไม่ต้องออกแรงเยอะๆ ไปแก้ปัญหาหรือไปเผชิญกับเรื่องยากๆ มันจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ถึงแก้ได้ก็ไม่จบหรือไม่ตรงกับปัญหา

เหมือนกับการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมในการจัดการแหล่งน้ำ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ธรรมดาในชั้นประถมที่แค่บวกลบคูณหาร เราก็คงจะต้องคณิตศาสตร์ขั้นสูงในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาหรือไม่ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะเห็นปัญหาแบบผิวๆ ที่ดูง่ายๆ และแก้กันไม่มีวันจบสิ้น เพราะเราเข้าใจด้วยภูมิปัญญาและวิธีคิดที่ง่ายๆเข้าไว้ เพราะต้องการเร็วและต้องการง่ายเข้าไว้ แล้วคงจะได้เห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดหรืออย่างที่เห็น

ปัญหาในปัจจุบันนั้นมีองค์ประกอบภายในมากมายในหลายมิติและองค์ประกอบต่างๆ ก็มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตตลอดเวลา ดังนั้นการเอาเครื่องมือที่ง่ายๆ เข้าไว้ เอาเร็วๆ เข้าไว้ ไม่ต้องใช้ความรู้ขั้นสูงเข้ามาเพื่อทำความเข้าใจหรือพยายามที่จะอธิบายโครงสร้างของปัญหารวมทั้งบริบทของปัญหา ก็คงจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจหรืออธิบายปัญหาและแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเราไม่สามารถใช้ไขควง (Screwdriver) เป็นเครื่องมือครอบจักรวาลในการซ่อมแซมทุกอย่างได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าปัญหานั้นมีความซับซ้อนขึ้น เราก็จะต้องขวนขวายหาวิธีคิดและวิธีการจากความรู้ที่สูงขึ้นจากวิชาการและทฤษฎีที่สูงขึ้นหรือซับซ้อนขึ้นเพื่อที่จะอธิบายปัญหาที่มันยกระดับขึ้นไปสู่ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นหรือมีความยากขึ้น เราจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ออกแรงกายและความคิดมากขึ้น ลงทุนมากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจและอธิบายปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ผมจึงมีมุมมองที่ต่างออกไปจากความตั้งใจของผู้เขียนหนังสือด้วยกับข้อความที่เขียนเป็นชื่อหนังสือว่า “ถึงจะง่าย...แต่ก็ได้ผล” ใช่ครับ มันจะได้ผลก็เพราะถูกนำไปอธิบายและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ปัญหาง่ายๆ หรือปัญหาผิวๆ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระกัน แต่ปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ ผิวๆ เหล่านี้กลับถูกเชื่อมโยงกันกันเป็นเครือข่ายของปัญหาที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น ถ้าเรามองในมุมเล็กๆ เราก็เห็นเฉพาะปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเรามองจากมุมสูงขึ้นในภาพรวมที่กว้างขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะสูญเสียในรายละเอียดของปัญหาไป แต่เราจะเห็นปัญหาในภาพใหญ่ที่ประกอบไปด้วยปัญหาเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันไปมาอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต

เรื่องยากๆ เมื่อแรกเจอ เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราพยายามที่จะเข้าใจหรืออธิบายมัน เรื่องที่เคยยากก็จะง่ายๆ ขึ้นเพราะเราอธิบายได้ด้วยความเข้าใจ มันเป็นสัจจธรรมครับ มันต้องยากก่อนแล้วมันก็ง่าย และเมื่อบริบทเปลี่ยนไปเพราะความซับซ้อนและความเป็นพลวัต เรื่องที่ง่ายก็กลับกลายไปยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังพยายามที่จะเรียนรู้วิชาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ แน่นอนครับมันจะต้องเป็นองค์ความรู้ที่น่าจะยากขึ้นเมื่อเราไม่รู้ เมื่อเราเข้าใจองค์ความรู้ที่ยากในระดับสูงขึ้นนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าง่ายขึ้นและสามารถแก้ปัญหาที่ยากขึ้นได้ กระบวนการในการจัดการและเรียนรู้ก็จะมีการวิวัฒนาการไปในลักษณะเช่นนี้

แล้วผมก็เลือบไปเห็นคำโปรยที่ปกของหนังสือดังกล่าว ที่ขียนว่า “ฉีกทฤษฎีบริหาร สู่ปฏิบัติการที่ง่ายและทำได้จริง” ผมเห็นแล้วรู้สึกขัดๆ อย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเป็นการปลูกฝังให้คนอ่านหรือคนทั่วไปขาดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะว่า การไปแนะนำให้คนอ่านฉีกทฤษฎี นี่เป็นประเด็นหรือแนวคิดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำเชิญชวนที่เขียนอยู่ที่หน้าปกหนังสือ คนที่ไม่ได้อ่านข้างในเล่ม คนที่ไม่ซื้อไปอ่าน ก็เข้าใจว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎีหรือหลักการอะไรรองรับ เอากันง่ายๆ ฉีกทฤษฎีทิ้งไป คนที่อ่านก็คงจะสบายใจ เพราะถ้าคิดว่าเป็นทฤษฎีแล้วคงจะยากคงจะน่าเบื่อมั๊ง ผมเข้าใจว่าเป็นคำโปรยเชิงการตลาด แต่ก็เป็นอันตรายต่อความคิดอย่างมาก

ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมเราก็แย่นะครับ การศึกษาล้มเหลวอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าผู้เขียนมีวุฒิการศึกษาสูงแล้วล่ะก็ ก็ต้องแสดงความเป็นห่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความเชื่อว่า ทฤษฎีที่ถูกต้องแม่นยำจะไปสู่การปฏิบัติที่ง่ายไม่มีปัญหา แต่การปฏิบัติที่ยากและมีปัญหานั้นก็เพราะว่าทฤษฎีนั้นไม่แม่น หรือไม่ได้เป็นเป็นไปตามทฤษฎี ผมมีความเชื่อว่าหลายๆ สิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกรวมทั้งการจัดการสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทั้งสิ้น บางอย่างก็ยังรอให้เราไปพิสูจน์หรือไปสร้างทฤษฎีรองรับ ไม่ใช่รอให้มันเกิดขึ้นหรือใช้งานให้เกิดผลอย่างที่ต้องอาศัยโชคชะตาหรือเราซึ่งเป็นคนจัดการไม่สามารถที่จะควบคุมหรือพยากรณ์คาดการณ์อะไรได้หรือปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม

ถ้าเรายังมีแนวคิดแบบที่หนังสือเล่มนี้โปรยหัวไว้ที่หน้าปกรวมทั้งเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่มด้วย สังคมเราจะเป็นสังคมที่ด้อยปัญญาไปเพราะว่าสังคมเราจะไม่ดิ้นรนที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่ๆ เราเป็นสังคมที่อ่อนแอทางปัญญาเพราะไม่มีความรู้ใหม่ๆ ที่จะจัดการกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ที่ผมพูดมานั้น ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ ผู้เขียนหนังสือก็อาจจะมีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องง่ายๆ กับปัญหาง่ายก็ได้ เป็นการชักนำหรือชักชวนให้คนมาอ่านหนังสือซึ่งจะทำให้เกิดจุดเริ่มต้นซึ่งจะนำไปสึความก้าวหน้าในขั้นสูงต่อไป ผมเองไม่ได้มีอคติกับผู้เขียนนะครับ แต่ติดใจคำโปรยที่ใช้เพื่อการตลาดเท่านั้นเองครับ ซึ่งก็มีหนังสือแบบนี้มากมายในท้องตลาด

แต่ผมมาสะดุดตรงที่ “ฉีกทฤษฎี” นี่สิ มันมากเกินไป เพราะเราก็ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เรียนประถมจนมัธยมและมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี โท เอกกันแล้ว ยิ่งมาพูดกันอย่างนี้ ผมรับไม่ได้จริงๆ ครับ ผมเองก็ไม่ได้รู้จักผู้เขียนท่านนี้นะครับ ผมเคารพในสิ่งที่ท่านผู้เขียนนำเสนอ แต่มีประเด็นเล็กๆ ที่ชื่อหนังสือและคำโปรยที่หน้าปกหนังสือที่ผมนำมาขยายความเพื่อที่จะสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตของเรา การเรียนรู้ขององค์กร การเรียนรู้ของสังคม และการเรียนรู้ของประเทศเรา เมื่อย้อนกลับมาที่ปัญหาของชาติในปัจจุบัน โดยมุ่งไปที่ปัญหาน้ำท่วมซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปที่ปัญหาอื่นๆ มากในทุกมิติ ผมว่าหลายท่านคงจะได้เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์รวมของปัญหาในสังคมเล่า ผมกล้าพูดได้ว่าองค์ความรู้หรือวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยที่สอนๆ กันอยู่และที่ทำวิจัยกันอยู่นั้นสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะอยู่ในมิติไหน จังหวะเวลาไหน และในมุมไหนและต้องดำเนินงานหรือปฏิบัติการในมุมไหน ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าใจบริบท (การประยุกต์ใช้) นั้นมากน้อยแค่ไหน เราจะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในตัวมันเอง เพียงแต่เราจะให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับปัญหาในภาพรวม (Whole) และความเป็นองค์รวม (Holistic) อย่างไรบ้าง

เมื่อเรายอมรับและเห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันไปหมด องค์ความรู้และทฤษฎีเชิงวิชาการที่จะนำมาใช้ก็คงไม่ใช่องค์ความรู้แบบเดิมๆ และก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ ก็คงจะต้องลงทุน ลงแรงคิดและปฏิบัติเพื่อที่จะสู้และรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ในวันนี้เรามีองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ทฤษฎีระบบทั่วไป (General System Theory) แนวทางเชิงระบบ (System Approach) ทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) ระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ปัญหาพยศ (Wicked Problem) ปัญหาที่มีโครงสร้างที่ผิดแผก (Ill Structured Problem) และระบบของระบบ (System of Systems)

องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต เพียงแต่ว่าเราพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะลงทุนรอบใหม่ในการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าท่านจะเรียนรู้มาอย่างมากมายหลากหลายสาขา แต่ความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาแบบการวิเคราะห์ซึ่งเป็นการแบ่งแยกแล้วศึกษา แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้เวลาเข้าโจมตีเรานั้นไม่ได้มีการแยกส่วนกันโจมตี เวลาปัญหามาก็มากันเป็นมวลเป็นก้อนและโจมตีทุกด้านซึ่งจะมีผลกระทบกับเราในทุกด้านทุกมิติ ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาเราก็ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม แล้วเราจะสามารถเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ๆ แบบองค์รวมได้หรือไม่เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต ต้องได้สิครับ ถ้าเราได้รับการศึกษามาอย่างถูกวิธี

ถึงแม้ว่าองค์ความรู้เดิมจะเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากกระบวนการคิดแบบแยกส่วน (Reductionist) แต่ว่าถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้จากระบบการศึกษาของเราอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามปรัชญาการศึกษาที่เหมาะสมและอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ดังนั้นไม่ว่าองค์ความรู้นั้นจะเป็นแบบแยกส่วน (Reductionist) หรือแบบองค์รวม (Holistic) เราก็สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเราจะพร้อมและกล้าที่จะรับความท้าทายใหม่นี้หรือไม่ แล้วคุณล่ะครับพร้อมหรือยังครับ ผมนั้นพร้อมมานานแล้วครับ!