วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 9. ความรู้ คือ อำนาจ แล้วเรามีความรู้อะไรบ้างจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้

จากเหตุการณ์โต้แย้งกันในเรื่องของการใช้ลูกบอล EM ในการบำบัดน้ำเสีย ทำให้ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเราต้องใช้ความรู้วิชาการในการดำเนินงานและในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่านี้ บางครั้งเราก็เชื่ออะไรๆ ง่ายไปหรือเปล่า? เราต้องใช้การทดลองและใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นหรือไม่? มีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า เราได้เรียนรู้หรือมี Lesson Learned จากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไรบ้าง? กระบวนการการจัดการความรู้ของเรานั้นสามารถนำมาใช้อธิบายหรือวิเคราะห์อะไรได้บ้างหรือไม่


ผมหวังว่าสังคมเราคงจะไม่ได้แค่รับรู้เรื่องราวและจดจำไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 50ปี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรสำหรับอนาคตเล่า? ถ้าเราเขียนเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือประวัติศาสตร์กันอย่างนั้น เราจะต้องได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในอนาคตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรจะเป็นคนที่ค้นหาหรือเรียนรู้ความจริงหรือความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถ้าเป็นเรื่องร้าย และเราอยากที่จะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกสักครั้ง ถ้าเป็นเรื่องที่ดีๆ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ แต่จะต้องเป็นความรู้และบทเรียนที่ให้ประโยชน์แก่สังคมในการป้องกันและพัฒนาสังคมต่อไป แล้วความรู้นั้นควรจะเป็นความรู้เรื่องอะไรกันบ้าง ผมอยากจะนำเสนอความรู้ในเรื่องแนวคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เพราะว่าเราจะต้องเยียวยาและฟื้นฟูประเทศของเรา ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะว่าแค่กรุงเทพฯ พังไปแค่นี้ก็กระทบกระเทือนไปทั้งประเทศอยู่แล้ว ประเด็นในการฟื้นฟูก็ต้องเรื่องราวในหลายประเด็น เช่น การจัดการน้ำ การจัดการวางผังเมือง ประชาสังคม ความเข้าในพื้นฐานในภาวะวิกฤตของประชาชน การสื่อสารในยามปกติและในยามวิกฤต การวางแผนยุทธศาสตร์และการนำไปปฏิบัติ ฯลฯ อีกมากมายที่มีส่วนสัมพันธ์กันและมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ว่าในทางตรงหรือในทางอ้อม


ผลจากภัยพิบัติในครั้งนี้ผมคิดว่าหลายคนคงจะได้รับรู้อะไรๆ มากขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเราจะเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะถ้าเราได้เรียนรู้แล้ว เราต้องอธิบายได้ว่า มันเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด แต่ผมก็เชื่อว่าหลายๆอย่างหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนสามารถอธิบายได้เป็นเรื่องๆ ไป เราเองทุกคนก็มีความชำนาญกันเป็นเรื่องๆ ไป แล้วในภาพรวม (The Whole) ล่ะ แล้วอนาคตล่ะเราจะสามารถคาดการณ์ได้หรือไม่


สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป และคิดว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นได้ทำเต็มที่แล้วในมุมของแต่ละคน ไม่ใช่ในภาพรวม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะเป็นแค่เรื่องผิวๆ ของความเข้าใจในเรื่องนี้ เรื่องที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็ คือ แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไป สิ่งที่สำคัญ คือ การมองข้ามประเด็นนี้ไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ถ้ายังมองปัญหาแบบดั้งเดิมโดยมองแบบแยกส่วนหรือการมองปัญหาเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking)การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ก็เพราะว่าเราคิดผิด เราคิดว่าโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัยง่ายๆ เป็นแบบเชิงเส้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยป้อนเข้าและออกมีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น


หลายๆ ครั้งเรามีความเข้าใจว่าการคิดเชิงระบบ คือ การทำอะไรให้เป็นขั้นตอนและมีความเป็นอัตโนมัติ (Automatic) เราสามารถควบคุมระบบได้ นั่นยังไม่ใช่ความคิดเชิงระบบ แต่เป็นผลพวงของระบบที่มนุษย์ได้กำหนดฟังก์ชั่นหน้าที่การทำงานให้เป็นระเบียบหรือเป็นแบบแผนเพื่อเกิดความเข้าใจได้และเพื่อการควบคุม แต่ในความเป็นระบบ (System)ที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นนั้น ผมหมายถึงโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) ที่เน้นความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบที่ประกอบไปด้วยมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนบูรณาการกันเป็นระบบโลกหรือสังคมมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ระบบของธรรมชาติ


เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งสองสิ่งหรือมากกว่ามาปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จร่วมกัน เราก็มีระบบแล้ว ทีมฟุตบอลเป็นระบบ รัฐบาลเป็นระบบ โรงงานเป็นระบบ ระบบนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ระบบของโลกเรา และระบบเชิงกายภาพต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และระบบสังคมที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ระบบต่างๆ ที่ว่านี้ประกอบด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นวงรอบ (Closed Loop) โดยมีการป้อนกลับ (Feedback) ซึ่งทำให้ระบบที่เราสนใจสามารถปรับตัวให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อมได้ คุณลักษณะเช่นนี้เป็นคุณลักษณะที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Nonlinear) ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่ป้อนเข้าไปในระบบและสิ่งที่ได้ออกมาจากระบบไม่ได้เป็นสัดส่วนกันอย่างที่เราคาดคิดกัน ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ (Predictable) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาส่วนใหญ่ในโลกเรานี้ เรามักจะมีสมมุติฐานว่า ปัญหาในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา สังคมหรือองค์กรที่มีคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญจึงเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ซึ่งถือได้ว่ามีรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่เป็นเชิงเส้น


สำหรับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ (System Failure)ที่เป็นระบบสังคมซึ่งเป็นระบบที่มีการปฏิสัมพันธ์กับระบบในธรรมชาติ ระบบสังคมมนุษย์เราอาศัยอยู่และพึ่งพาอยู่กับระบบธรรมชาติซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่และซับซ้อนมาก เราซึ่งเป็นมนุษย์ตัวเล็กไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติได้ทั้งหมด เราจึงไม่สามารถที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ แค่เรามีความเข้าใจส่วนหนึ่งและอยู่กับธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ได้ ผมว่าก็น่าจะเป็นพอใจของมนุษย์เราแล้ว


ความรู้และความเข้าใจในความรู้เชิงระบบโดยเฉพาะประเด็นของพฤติกรรมของระบบที่จะต้องปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง (Self-Organization) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต จะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับปัญหาในปัจจุบันและการพัฒนาสู่อนาคต ยิ่งระบบสังคมที่เราอาศัยมีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิตและประกอบไปด้วยการตัดสินใจที่เป็นอิสระของแต่ละคนและมีการป้อนกลับของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจภายในระบบสังคมนี้ จึงทำให้พฤติกรรมของระบบสังคมมีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น ยิ่งระบบสังคมมีจำนวนองค์ประกอบมากมายเท่าไร ระบบสังคมนั้นก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ก็จะทำให้ยากแก่การแก้ไขปัญหา ดังนั้นความรู้และความเข้าใจที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบสังคมรวมทั้งการแก้ปัญหาจึงไม่สามารถใช้แค่องค์ความรู้แบบดั้งเดิมได้เสียแล้ว ความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่จะต้องเอาความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่มาบูรณาการกันเป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinarity) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ หรือมิติต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแผนไปในอนาคตด้วย


สำหรับปัญหาในปัจจุบันและในอนาคต เราก็จะต้องมองปัญหาในเชิงระบบที่จะต้องใช้องค์ความรู้ในลักษณะของสหวิทยาการเพิ่มกันมากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของความสำเร็จในการทำงานแบบสหวิทยาการนี้ ก็ คือ การทำงานร่วมกันจากหลายๆ สาขาทั้งในเชิงเทคนิคและที่ไม่ใช่เชิงเทคนิค เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมแบบไทยๆ ถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่งก็ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะการทำงานและการใช้องค์ความรู้ไม่เป็นแบบสหวิทยาการ ต่างคนต่างแก้ปัญหาในมุมของตัวเองหรือในขอบเขตที่ตัวเองรับผิดชอบโดยไม่ได้ดูในภาพรวม นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมคนในสังคมไทยถึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้และยังมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาแม้แต่ในเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้ ถึงแม้ว่าคนในสังคมไทยเราจะมีคนที่เก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มากมาย แต่พอให้มาทำงานร่วมกันกลับสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นและไม่ยอมจบสิ้นกัน ความรู้ใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยได้ ถ้ายังไม่ร่วมมือร่วมกันจริงๆ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด (Mentality) หรือ Mindset ที่จะต้องเปลี่ยนไป และที่สำคัญ ภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่ วางยุทธศาสตร์การเยียวยาและฟื้นฟูไปบนพื้นฐานหรือแนวคิดแบบเดิมที่มองกันแบบแยกเป็นส่วนๆ โดยที่ไม่ได้มองแบบองค์รวม ผลที่ตามมาก็คงจะเหมือนเดิม หรือไม่ก็เลวร้ายกว่าเก่าเสียอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากๆ ในสังคมไทยสำหรับเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต