วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Basic – ที่จริงแล้ว ลอจิสติกส์ คือ อะไรกันแน่?

มีคำถามง่ายๆ จากนักศึกษาที่ผมไปสอนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอะไรก็ตาม จะเป็นวิชาแรกหรือวิชาสุดท้ายในหลักสูตร หรือแม้แต่ในหน่วยงานบริษัทต่างๆ เพราะว่าความเข้าใจในตอนแรกของทุกคน ก็คือ Logistics เป็นการขนส่งนั่นเอง ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถูกไม่หมด ผมจะเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ เครื่องดนตรี คือ กีตาร์ใช่หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ใช่ แต่กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง แสดงว่า เครื่องดนตรีมีมากกว่า กีตาร์อย่างแน่นอน อย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นนะครับ ลอจิสติกส์ก็เหมือนเครื่องดนตรีที่ให้เสียงอันไพเราะ เพราะฉะนั้นการขนส่งก็เป็นส่วนหนึ่งของลอจิสติกส์ ที่จริงแล้ว ลอจิสติกส์ คือ อะไรล่ะครับ ผมมองว่า ลอจิสติกส์ คือ การทำให้ผู้ใช้คุณค่า (Customers) ได้ใช้คุณค่า (Value) หรือประโยชน์ เมื่อต้องการที่จะใช้งาน คือ คนได้กิน ได้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการเมื่อต้องการ อย่างทันเวลาพอดี (Just in Time) อย่างถูกเวลา สถานที่ ดังนั้น ลอจิสติกส์ก็ คือ การทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการไหล (Flow)ของทรัพยากรในการสร้างคุณค่า และตัวคุณค่าสุดท้าย (Product and Services) ให้ไหลไปสู่ผู้ใช้คุณค่าอย่างถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกจำนวน แต่ในบางครั้งเราไม่สามารถรู้แน่นอนว่า ลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยชน์จะต้องการประโยชน์นั้นเมื่อไหร่ เราก็จะต้องตุนหรือสำรองไว้ เผื่อว่าลูกค้าต้องการเมื่อไหร่ก็จะได้สินค้าและบริการทันที ทำให้ไม่สูญเสียโอกาสในการขาย




เมื่อใดเราใช้คำว่าลอจิสติกส์จะต้องเห็นว่าเป็นกิจกรรมในการบูรณาการการไหลของคุณค่าและองค์ประกอบต่างๆ ที่มาสร้างเป็นคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ ถ้าเราหมายถึงลอจิสติกส์ของผลิตภัณฑ์เราก็ต้องมองให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำมายังปลายน้ำ เราจึงเห็นการไหลในรูปแบบการขนส่งระหว่างองค์กรหรือบริษัท และการจัดเก็บหรือการกระจายสินค้าระหว่างบริษัท หรือพิธีการทางศุลกากรต่างๆ การเปลี่ยนถ่ายตรงท่าเรือ ด่านชายแดนหรือสนามบินต่างๆ แต่ถ้าเราหมายถึงลอจิสติกส์ภายในองค์กรก็ให้มองให้เห็นการไหลของทรัพยากรต่างๆ ในการสร้างคุณค่าที่ลูกค้าขององค์กรต้องการตั้งแต่จัดซื้อไปถึงจัดส่ง โดยไม่พิจารณากระบวนการผลิตที่มีการแปรสภาพของวัตถุดิบ กิจกรรมที่เหลือก็เป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ ต้องมองให้เป็น End to End




ถ้าจะนำเอาแต่ละกิจกรรม Logistics มาพิจารณา ก็ต้องพูดว่า เป็น Transport Logistics, Procurement Logistics, Production Logistics, Distribution Logistics การที่มีคำว่า Logistics ห้อยท้ายมาให้ความหมายแตกต่างกันนะครับ เพราะว่าคำว่า Logistics เป็นมากกว่าการขนส่ง ตัวอย่าง คำว่า Logistics เป็นเหมือนกับคำว่า ศิลปิน พอเอ่ยถึงคำว่าศิลปินแล้วต้องถามต่อว่าด้านไหน สาขาไหน เช่น นักร้อง นักแสดง นักดนตรี นักแต่งเพลง นักวาดรูป นักกลอน ฯลฯ ทุกคนเป็นศิลปิน เพราะว่าให้ความบันเทิงกับมนุษย์ เรามักจะเรียกว่า ศิลปินนักร้อง ศิลปินนักแสดง ศิลปินนักดนตรี ศิลปินนักแต่งเพลง ศิลปินนักวาดรูป ศิลปินนักกลอน ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกันในการบูรณาการผสมผสานกันในการให้ความบันเทิงกับมนุษย์




เช่นเดียวกันกับเมื่อเอ่ยถึงคำว่า Logistics ต้องถามต่อว่าเป็น Procurement, Production, Distribution, Transportation เพราะว่ากิจกรรมที่กล่าวมานั้นนำพาคุณค่าในรูปของผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ลูกค้า เช่นเดียวกับ เราต้องพูดว่า Procurement Logistics, Production Logistics, Distribution Logistics, Transportation Logistics ถึงจะสื่อถึงความหมายของการบูรณาการกิจกรรมในการไหลของคุณค่าไปสู่ลูกค้าจากต้นชนปลาย Procurement กับ Procurement Logistics นั้นต่างกันนะครับ เหมือนกับ คนที่เล่นกีตาร์หรือนักกีตาร์ จะต่างกับนักดนตรีที่เล่นกีตาร์ ความเป็นนักดนตรีนั้นมีความเป็นสมาชิกของทีมในวงดนตรี จะต้องเล่นเพลงเดียวกัน มีแผนเดียวกัน ตรงนี้คือประเด็น ถ้าไม่มีคำว่าลอจิสติกส์ห้อยท้ายแล้ว ก็พิจารณาแต่ตัวเอง ไม่ได้มองถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรืออยู่ในโซ่คุณค่า ความเป็นลอจิสติกส์ก็หมายถึงความเชื่อมโยงกันของกิจกรรมในการไหลของคุณค่าในการสร้างคุณค่าในโซ่อุปทานหรือในกิจกรรมทั้งหมดที่สร้างและนำส่งคุณค่าไปสู่ลูกค้าผู้ใช้ประโยชน์ ความเป็นทีมที่เชื่อมโยงกิจกรรมกันด้วยแผนเดียวกันซึ่งก็ คือ แผนโซ่อุปทานนั่นเองครับ