วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Life – ความโกรธ คือ การตัดสินใจทางอารมณ์ที่หลงตัวเองโดยยึดตัวเองเป็นหลัก
Life – ความเครียด – ต้องจัดการความคิดของตัวเองอย่างมีสติ
เห็นหลายๆ คนอารมณ์เสีย แล้วก็พาลไปยังคนข้าง เพื่อนร่วมงานรวมทั้งครอบครัวและคนอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อทุกคนเครียด หลายๆ คนก็มีทางออกมากมายหลายอย่างๆ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะเครียด หาทางออกไม่ได้ ก็เลยเปิดใจออก TV ซะเลยเผื่อว่า จะมีอะไรดีขึ้นบ้าง แต่บางครั้งผมว่ามันน่าจะแย่ลงนะ ยิ่งเราอยู่ในสังคมในเมือง สังคมของโลกยุคใหม่ที่ต้องดิ้นรน หลายอย่าง เราก็สร้างทางเลือกให้ตนเองมากขึ้นด้วยกิเลสของตนเองและสังคมมนุษย์ จึงทำให้เราอาจจะไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไร ด้วยความกลัวและไม่มั่นใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น กลัวจะไม่สุข แต่เมื่อเลือกทางเลือกไปแล้ว เราก็จะต้องยอมรับผลที่ตามมา
เป็นที่แน่นอนว่า เราต้องตัดสินใจและหวังผลถึงสิ่งที่จะตามอย่างที่หวังไว้ (Intended Consequences) แต่ในหลายๆ ครั้ง เรามักจะไม่ได้ในสิ่งที่หวัง แต่กลับได้ในสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง (Unintended Consequences) หรือได้ทั้งสองอย่างเลย นั่นเป็นเพราะโลกของเราเองและโลกรอบๆ ตัวเรา นั้นมีความเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ค่อยออก หรือว่าดูเหมือนว่าจะถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่ดันกลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างมากโดยที่เรามองไม่เห็นหรือไม่ก็ไม่ได้สนใจในความสัมพันธ์นั้น ผมเรียกความสัมพันธ์ของโลกของเราและความสัมพันธ์ต่างๆ ในโลกว่าเป็นความซับซ้อน (Complexity) ซึ่งไม่ได้เป็นความสัมพันธ์แบบ Linear เสียแล้ว แต่เป็นความสัมพันธ์แบบ Non-linear หรือเป็นการมองแบบ System Thinking และเป็นการมองแบบองค์รวม (Holistic)
สภาพแวดล้อมเหล่านี้ที่ไม่แน่นอน (Uncertainty) เป็นพลวัต (Dynamics) ซึ่งเราเรียกกันรวมๆ ว่า ความซับซ้อน (Complexity) แหละครับที่ทำให้เราเครียด ผลของความเครียดมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรที่จะรู้ว่าเราเครียด เออ! อันนี้ไม่รู้ แฮะ เพราะว่าเคยเห็น หมอคุยกับคนไข้ที่ดูแล้วเป็นคนปกติ แต่หมอบอกว่า เขาเครียด เขาก็แก้ตัวว่าไม่เครียดด้วยอาการปกติ ตรงนี้บอกไม่ได้จริงๆ ครับ เพราะว่าความเครียดน่าจะแสดงออกได้ในหลายๆ ลักษณะเลยทีเดียว
เอาเป็นว่า ความเครียดทำให้เราไม่เป็นปกติก็แล้วกัน ทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ แต่มันก็ไม่ใช่หมดหนทาง มันมีทางแต่เราไม่เห็น เราไม่ยอมที่จะไปเห็นมัน และเราก็เลยไม่พอใจ และในที่สุดมันจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและการดำรงชีวิตของเราลดลงไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเราไม่แก้ที่ตัวเราแล้ว เราก็จะทำลายตัวเราเองไปเรื่อยด้วยความเครียด แต่ก่อนที่ตัวเราจะถูกทำลายไป มันจะทำลายสิ่งรอบข้างเสียก่อน แล้วก็คนรอบๆข้าง ครอบครัวและในที่สุดก็อาจจะเป็นชีวิตตัวเอง เพราะว่าเราอาจจะเห็นว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่แล้วก็ได้ ดังนั้น เราต้องไม่เครียด ตรงนี้บอกไม่ได้ เพราะบางคนไม่รู้ตัว เราต้องพยายามมองให้เห็นทางออกของปัญหา ทั้งที่มันก็มีทางของมันอยู่ตามธรรมชาติ เพียงว่าจะถูกกาละเทศะหรือไม่ แต่ความเครียดที่เป็นดินพอกหางหมูนี่เองที่ทำให้เรายิ่งมองไม่เห็นทางออกไปกันใหญ่ ทั้งๆ ที่มันมีอยู่แล้ว
ผมว่ามันอยู่ที่ใจของเราหรืออยู่ที่จิตใจของเรา ว่ามีพลังๆ ในการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ได้ดีแค่ไหน มีปัญญาในการควบคุมจิตใจและความคิดในการกระทำหรือไม่ มันเป็นภาวะผู้นำในทางจิตใจ บางครั้งก็อาจจะมีคนบอกว่าให้ไปหาอะไรทำให้เพลินๆ หรือหาอะไรสนุกทำหรือเป็นความบันเทิง ก็อาจจะช่วยได้บ้างเพียงชั่วคราวแต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง ผมเองก็ไม่ได้รู้เรื่องราวของจิตวิทยามากนัก แต่ก็ได้เผชิญกับการที่คิดว่าตัวเองมีความเครียด แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่ก็สามารถผ่านมันมาได้ ก็อาจจะเป็นได้สองทางก็ คือ ตัวเองสามารถมีสติ มีสูตรในการดำรงชีวิต เข้าใจสูตรในการดำรงชีวิตของตนเอง มีเป้าหมายแน่นอนในการเดินทางไปข้างหน้า เราจึงสามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยหรือตัวแปรต่างๆ ในชีวิตเราและรอบๆ ข้างได้ เออ! หรือผมเองปล่อยให้มันเป็นไปของมันเอง คิดว่าไม่ใช่หรอก เราต้องควบคุมมันได้สิ
ดังนั้นความก้าวหน้าในชีวิตเราเองก็เกิดจากการที่เราเข้าใจสูตรในการดำรงชีวิตของเรา (Life Equations) มีทิศทางที่แน่นอน และเข้าใจสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรขึ้นไม่ว่าจะเป็นตัวเอง ทิศทางที่จะไป หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็รับสภาพการณ์ต่างๆ ได้เสมอ ตัดสินใจได้ ยอมรับผลลัพธ์ได้ xปรับปรุง (Improvement) เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งแปลงสภาพ (Transformation) นั่นแสดงว่าเราจะต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา เข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก ผมเอาหลักการเรียนยุทธศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้เลย คือ End, Way, Means และ Environments
ดังนั้น คนที่เครียด ก็คือ คนที่ ไม่มี End ไม่มี Ways ไม่มี Means และไม่รู้จัก Environments เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นอนิจจังตามหลักพุทธศาสนา หรือจะเรียกว่าเป็นหลักความจริงของชีวิตก็ได้ ใจคนเหล่านั้นมันรับไม่ได้ ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าน่าจะมีคนอื่นๆ มาช่วยบ้าง เพราะช่วยคนอื่นๆ มามากแล้ว ผมว่าผมก็เป็น ทุกคนก็เป็นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราจะรับรู้และยอมรับกับมันมากน้อยแค่ไหน เรื่องของการรับรู้นั้นไม่เท่าไร แต่เรื่องของการยอมรับนี่สิ มันยากมากสำหรับใจคน ถือว่าเป็นกิเลสประเภท “ทิฎฐิ” ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งในสังคม แต่นี่เป็นความขัดแย้งในจิตใจของเราเอง เราไม่สามารถชนะใจเราได้
ในเชิงการจัดการแล้ว ผมมองความเครียดว่าเป็นปัญหาด้านภาวะผู้นำที่คนเราไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ไม่กล้าคิด ไม่มั่นใจในการตัดสินใจ ทั้งแบบมีข้อมูลอยู่ครบหรือไม่มีข้อมูลอยู่ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับปัญหาหรือชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรดีล่ะครับ ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ซะะด้วย เราก็ต้องมีสติมากขึ้น เปิดใจกว้างมากขึ้น หาข้อมูลสภาพแวดล้อมให้กับตัวเองมากขึ้น ไม่ใช่เข้าข้างตัวเอง แต่ต้องพยายามเข้าใจความซับซ้อนต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราให้มากขึ้น แล้วปัญญาก็จะมาเอง แต่มันก็ไม่ง่ายนักที่เราจะอดทนเพื่อที่จะคิดและเดินหน้าต่อไปอย่างมีสติ และไม่เข้าข้างตัวเอง หรือโทษตัวเอง แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ดีและมองให้ไกลออกไป เป้าหมายที่ไกลออกไปนั้นน่าจะทำให้เราอดทนหรือกล้าที่จะมองออกไปให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้สร้างทางออกหรือเห็นทางออกมาขึ้น หรืออดทนมากขึ้นเพื่อรอวันที่ปัญหาจะสุกงอมหรือจังหวะที่เหมาะสม
การที่ผมได้มาเขียนอะไรต่อมิอะไรให้เพื่อนๆ ได้อ่านนี้ ที่พอได้เรื่องได้ราวก็มีบ้าง หรืออาจจะไม่ได้เรื่องได้ราวก็คงอีกเยอะ คงไม่ว่ากันนะครับ นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนทางหนึ่งของผมในการจัดการความเครียดของผมออกไปได้บ้าง ผมไม่ได้มองว่าการได้หัวเราะขบขันจะสามารถขจัดความเครียดออกไปได้ เพราะมันเป็นเพียงแค่การเบี่ยงเบนความสนใจของคุณไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ที่สุดแล้วปัญหานั้นก็จะมาอยู่ตรงหน้าคุณอยู่ดี แล้วยิ่งถ้าคุณนิ่งเงียบ เก็บความรู้สึกที่ถูกกดดันอยู่ไว้โดยไม่พูดกับใคร ไม่แสวงหาทางออกอย่างมีปัญญาและมีสติด้วยแล้ว แถมยังฝาดหางและพาลไปยังคนอื่นๆ รอบข้างด้วยแล้ว เขาก็ยิ่งขาดทุนใหญ่ ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้ ปัญหาใหม่ตามมาทันที โดยเฉพาะปัญหาส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อฝูง ครอบครัว และพี่น้อง ถ้าอย่างนั้นเรามาจัดการความเครียดด้วยการมีสติและพิจารณาปัจจัยต่างๆ รอบตัวและทิศทางที่จะดำเนินไปของชีวติกันใหม่ และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นอนิจจัง ผมว่า แล้วเราก็น่าจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ใจคนเรานั่นแหละครับ ยากสุด ผมยังชนะใจตัวเองไม่ได้เลยครับ แต่ก็จะพยายามอยู่เสมอ ถ้าคุณคิดว่าคนรอบข้างจะช่วยคุณได้ เขาก็อาจจะช่วยคุณได้ แต่ถ้าคุณคิดว่าคนรอบข้าง คือ กระโถนที่จะรองรับอารมณ์คุณแล้วละก่อน ผมว่า คุณคิดผิดแล้วล่ะครับ มันไม่ได้ช่วยอะไรคุณเลยครับ เอาล่ะครับ เลิกเครียด เถอะครับอาจารย์ ผมบอกกับตัวเองในขณะที่ตัวเองนั้นรู้สึกว่าไม่เครียดเลย!!!!!
วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Life : IT พลังแห่งการสื่อสาร - สร้างสรรค์หรือทำลาย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 3_จบ)
วิจัย (Research)
วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 2)
วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554
วัฏจักรแห่งการปรับปรุงอย่างองค์รวม : จากกิจวัตร สู่ การวิจัย สู่ ความเป็นจริง (ตอนที่ 1)
เราทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดซึ่งเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ สิ่งที่มนุษย์เราต้องการเพื่อความอยู่รอดคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะที่จำเป็นต่อร่างกายโดยตรง ซึ่งขาดไม่ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นมนุษย์อาจจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ก็ได้ ในขณะที่ประโยชน์หรือคุณค่าบางชนิดอาจจะเป็นแค่สิ่งที่ตอบสนองความพึงพอใจในทางจิตใจเท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องการ (Want) ไม่ใช่ความจำเป็น (Need) แต่ก็ไม่ได้มีกระทบต่อชีวิตมากนัก สังคมมนุษย์เราก็มีเพียงเท่านี้ ต่างคนต่างสร้างคุณค่าและใช้คุณค่าร่วมกันไป ถ้าสังคมอยู่ในความสมดุลมีทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ทุกอย่างก็จะราบรื่นไม่มีปัญหาการขาดแคลนหรือมากเกินจากสมดุล ดังนั้นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากกลุ่มคนสองประเภทคือ ผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ซึ่งปกติแล้วคนทุกคนจะมีทั้งสองบทบาทคือ ทั้งผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่า ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้มากและเอาไปขายหรือไปแลกคุณค่าอื่นมาได้มาก และใช้ทรัพยากรสร้างคุณค่าได้น้อยกว่า คนๆ นั้นก็มีความมั่งคั่ง ใครเป็นผู้ที่สร้างคุณค่าได้น้อยและขายได้น้อย และใช้ทรัพยากรในการสร้างคุณค่ามากก็จะกลายเป็นคนจนไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคุณค่าและผู้ใช้คุณค่าในสังคมทำให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปสู่ขนาดใหญ่และโยงใยจนกลายเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ (Complex Adaptive System)
จากการรับรู้ถึงสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้น การไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการหรือที่กำหนด ผู้ที่ต้องการใช้คุณค่าไม่ได้รับคุณค่าตามที่ต้องการ เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เรารับรู้ถึงสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่กระบวนการสร้างคุณค่าที่ไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ตามข้อกำหนด เราจะต้องแก้ปัญหาให้กระบวนการสร้างคุณค่านั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมเพื่อให้สามารสร้างคุณค่าออกมาได้เหมือนเดิม ก่อนที่เราจะเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า สภาพที่ไม่มีปัญหาคือ อะไรและเป็นอย่างไร เราต้องเข้าใจในกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบทที่กระบวนการนั้นอยู่ เราต้องเข้าใจในปฏิสัมพันธ์ (Interactions) ของกระบวนการสร้างคุณค่าและบริบท (Context) ของกระบวนการ ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการและบริบทของกระบวนการที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่ควบคุมได้และสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญเราต้องเข้าใจในองค์ประกอบภายใน (Internal Parameters) ของกระบวนการสร้างคุณค่าเองด้วย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการสร้างคุณค่า
วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Basic - พื้นฐาน 101 คือ รากฐานของความก้าวหน้าที่สูงขึ้น
วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Basic – Demand Chain โซ่อุปสงค์ โซ่แห่งความต้องการ
ส่วนมากแล้วกิจกรรมของโซ่อุปสงค์นั้นจะแฝงอยู่ในกิจกรรมของโซ่อุปทานอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) ถ้ายังจำได้ถึง 8 กระบวนการหลักของการจัดการโซ่อุปทานนั้น มีอยู่ 3 กระบวนการหลักที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปสงค์ คือ Customer Relationship Management, Customer Service Management และ Demand Management ทั้งสามกระบวนการนี้ คือ โซ่อุปสงค์ที่จะนำเอาสารสนเทศและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้ามาเพื่อเป็นโจทย์ให้โซ่อุปทานจัดหามาเติมเต็มให้ได้ตามอุปสงค์หรือความต้องการ
สังเกตุได้ว่าโซ่อุปสงค์นั้นได้ฝังตัวอยู่ในการจัดการโซ่อุปทานอยู่แล้ว ที่จริงแล้วเรื่องของอุปสงค์นั้นมีความสำคัญต่อการจัดการโซ่อุปทานอย่างยิ่ง แต่กระบวนการของโซ่อุปสงค์นั้นไม่ได้ซับซ้อนและยุ่งยากเหมือนโซ่อุปทานซึ่งจะต้องมีความเกี่ยวพันกับขั้นตอนต่างๆ ผู้คนและบริษัทองค์กรอีกมากมายที่มาร่วมกันสร้างคุณค่าให้ได้คุณภาพและจำนวนตามที่โซ่อุปสงค์กำหนดมา นี่คือ อีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมเน้นแต่โซ่อุปทาน ไม่เห็นมีใครเน้นที่โซ่อุปสงค์ ที่จริงแล้วต้องเน้นที่อุปสงค์มากๆเลย แต่โซ่อุปสงค์ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่ากับโซ่อุปทาน ต่อให้อุปสงค์นั้นเป็นความต้องการที่แท้จริงหรือไม่มีผิดพลาดเลย การจัดการโซ่อุปทานที่จะตอบสนองต่อจำนวนที่ต้องการนั้นก็อาจจะไม่สามารถตอบสนองได้ตรงตามเป้าหมายเสมอไป เพราะว่าความไม่แน่นอนและความซับซ้อนในโซ่อุปทานมีมากกว่าโซ่อุปสงค์มาก
วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Meeting - วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย. 54 ตอนที่ 2
มีงานวิจัยนะครับเมื่อ ปี 2010 ของฝรั่งนะครับ เขาวิจัยกันเรื่อง ความเข้าใจและคำนิยามของโซ่อุปทาน ซึ่งก็ยังมีอยู่หลายคำนิยาม จนมีการสรุปว่า ถ้าเรายังเข้าใจไม่ตรงกัน การพัฒนาเรื่องการจัดการโซ่อุปทานก็คงจะเป็นไปได้ยากหรือไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพราะว่าโซ่อุปทานอาจจะเหมาะในระดับอุตสาหกรรมหรือองค์กรเท่านั้นก็ได้ ผมก็เคยคิดอย่างนั้น แต่ว่าถ้าโซ่อุปทานมีตัวตนและใช้ได้จริงในสังคมระดับเล็ก โซ่อุปทานก็น่าจะใช้ได้ในสังคมระดับใหญ่ขึ้นได้ แต่แนวทางหรือ Approach ที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็คงจะแตกต่างกันออกไป ต้องมีการนิยามและต้องได้รับการยอมรับกันในระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก
ความเห็นส่วนตัวที่ผมเห็นยุทธศาสตร์วิจัยนี้แล้ว ผมคิดว่าตัวยุทธศาสตร์เองก็ยังไม่ได้มีความเป็นโซ่อุปทานเท่าใดนัก เราอาจจะยังไม่ได้มองเห็นถึงองค์รวมของโซ่อุปทาน และยิ่งตัวยุทธศาสตร์ใช้คำว่าแห่งชาติด้วยแล้ว หรือเพราะโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในประเทศเราเป็นโซ่อุปทานชั้นต่ำที่ยังไม่พัฒนา มีความเป็น Silos สูงกว่ามาตรฐานสากล ผมว่าเราน่าจะมากำหนดหรือตัวตนของความเป็นโซ่อุปทานของชาติกันก่อนดีไหม? เพราะถ้าเราเขียนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกไปโดยที่เราเองก็ไม่เข้าใจโซ่อุปทานแห่งชาติว่ามันคืออะไรและอยู่ตรงไหนกันบ้าง มีใครที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง เหมือนกับการวางแผนการเล่นฟุตบอลของทีมไว้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่รู้เลยว่าใครจะลงเล่นในตำแหน่งไหนกันบ้าง
เอาว่าเป็นตัวผมเองยังไม่เห็นตัวลอจิสติกส์หรือโซ่อุปทานของชาติเลย ไม่ใช่ไม่มีครับ มีแน่นอนแต่ถ้าเราไม่ได้กำหนดออกมา เราไม่ได้ทำ Framework ที่เข้าใจร่วมกัน แล้วเราจะไปวิจัยอะไรที่เป็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจริงๆได้ล่ะครับ ถ้าจะเขียนกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของชาติออกมาแล้วก็คงจะมีกิจกรรม ที่เกี่ยวข้องมากมายเลย และมันไปแตะไปเกี่ยวข้องกับแทบทุกกิจกรรมนะครับ ในมุมมองของผมนะ คนอื่นๆ อาจจะเห็นต่างกันออกไป ตรงนี้ล่ะครับที่ผมว่ามันยาก แต่เราก็ไปแตะเอากิจกรรมย่อยที่เป็นส่วนๆ ที่เป็น Silos ใช่ครับกิจกรรมที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน แต่ตัวกิจกรรมเองอย่างเดียวนั้นมันยังไม่ได้เป็นโซ่อุปทาน เรายังไม่ไปให้ความสนใจในความเป็น Network Structure และการมี Interactions ต่อกัน เพื่อรองรับความเป็น Dynamics ของบริบท ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด
ในตอนช่วงท้ายของการประชุมในวันที่ 1 มิ.ย. 54 ผมก็ได้ยกประเด็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยของอุตสาหกรรมต่างๆในฐานะ Users หรือเป็นส่วนหนึ่งในโซ่อุปทาน ผมก็ยังเห็นว่าเป็นการเข้ามาร่วมอย่างเป็น Silos กันอยู่ ยังไม่เป็นโซ่อุปทาน ไม่ได้พิจารณาทั้ง Chain ท่านอาจารย์ดร.กฤษณ์ ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องการเข้ามาร่วมงานวิจัยของ Users ที่เป็นอยู่ ก็เข้ามาอย่างเป็น Silos กันอยู่ แล้วจะเป็นโซ่อุปทานกันอย่างไรล่ะ ถ้ายิ่งคิดกันไปเรื่อยๆ โซ่อุปทานก็คงจะใหญ่มากจนนักวิจัยอาจจะทำอะไรไม่ได้ แล้วเราจะทำวิจัยกันอย่างไรเล่า ต้องมีวิธีสิครับ!
ผมเองได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เพราะว่าท่านอาจารย์สมพงษ์ท่านกลับไปก่อน แต่ก็แวะมาแซวผมก่อนกลับว่า “วันนี้ยังไม่เห็นพูดอะไรเลย” แต่ก็ไม่ได้ทันตอบอาจารย์ไปว่า “หิวข้าวครับ” ท่านก็เดินไปเสียก่อน ผมมองว่าความเป็นโซ่อุปทานนั้นจะต้องมองที่ปลายทางหรือปลายท่อ คือ ถ้าจะดูโซ่อุปทานของชาติแล้ว จะต้องมองเห็นว่าเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศนั้นทุกบาททุก สตางต์นั้นมาจากไหน มาจากคุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการตัวใดบ้าง ต้องเห็นลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่านั้นๆ ต้องเห็นผู้สร้างและผู้นำส่งคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานก็คือ เจ้าของกระบวนการและกระบวนการทั้งหมดที่ทำให้เกิดคุณค่านั้นๆ พอพูดกันอย่างนี้ หลายคนคงจะร้องเป็นแน่แท้ เพราะว่ากว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการแต่ละตัวนั้น จะต้องผ่านใครหรือกระบวนการอะไรมาบ้าง ผมว่ามันยุ่งยากมากๆ มันใหญ่นะครับ แต่ถ้าเราไม่มองอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่โซ่อุปทานแห่งชาติสิครับ ผมพยายามจะเปรียบเทียบว่า ความเป็นหัวใจของคนเรานั้น หัวใจจะเป็นหัวใจอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมันยังติดอยู่กับร่างกายและทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อควักหัวใจออกมาจากร่างกายแล้ว ความเป็นหัวมใจก็หมดไป ลอจิสติกส์ก็เช่นกัน เมื่อเราดึงกิจกรรมลอจิสติกส์ออกจากโซ่อุปทานแล้ว กิจกรรมนั้นก็หมดความเป็นลอจิสติกส์ไปทันที ดังนั้นประเด็นของความเป็นโซ่อุปทานจะอยู่ที่ในระดับปฏิบัติการ (Operation) ซึ่งจะเป็นระดับของการสร้างคุณค่าและเป็นเป้าหมายของโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
ถ้าเราจะศึกษาโซ่อุปทานหรือวิจัยปรับปรุงโซ่อุปทานแล้ว เราจะต้องเห็นปลายทางของโซ่อุปทานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนหรือมนุษย์เป็นเป้าหมายที่สำคัญ และที่สำคัญรองลงมาก็จะต้องเห็นกระบวนการทั้งหมดของโซ่อุปทาน ดังนั้นถ้าเราจะทำวิจัยเรื่องโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แล้ว (คราวนี้ผมจะต้องเปลี่ยนมาเป็นโซ่อุปทานนำหน้าบ้างแล้ว เพราะว่าโซ่อุปทานนั้นศักดิ์และสิทธิ์มากกว่าลอจิสติกส์เยอะมาก) เราก็ต้องมอง ให้ตลอดลอดฝั่งตั้งแต่ต้นชนปลาย (End to End) แต่ทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกันอย่างจริงจังมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าลอจิสติกส์นั้นเดินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีโซ่อุปทาน แต่เราก็ยังเล่นการเมืองกับว่าคำว่า “โลจิสติกส์” เล่นการเมืองกับนักการเมืองที่เอาลอจิสติกส์มาทำกันเล่นๆ เออ!ไม่ใช่สิ เขาเอาจริงๆ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว รู้จริงหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่เคยไปแตะให้ถึงความเป็นโซ่อุปทานกันจริงๆ เลย เห็นแล้วเซ็งๆจริงครับท่าน คือ ผมไม่มีอะไรจะเสียหรือจะแลกอะไรกับใคร เอาความเป็นจริงมาพูดกันดีกว่า ว่าถ้าจะให้ดีแล้ว ควรจะทำกันอย่างไรกันดีครับท่าน
หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าผมจะพูดอะไร ดูวนๆ ไปมา ใช่ครับผมวนๆ ไปมาแน่ ผมค่อนข้างจะเกรงใจคนทำงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาลงแรงด้วยความหวังดีจริงๆ แต่บริบทของประเทศมันไม่เป็นใจด้วยเลย ไม่อยากจะพูดมาก แต่ก็อดไม่ได้ เพราะมันอัดอั้นในใจ คิดว่าแล้วเราเล่นอะไรกันอยู่กับเกมระดับชาติ เราใช้คำว่าแห่งชาติ แล้วเรามีอะไรที่เป็นแห่งชาติรองรับหรือไม่ เรามีแต่คำว่าชาติที่เราใช้เรียกตัวเองว่าเป็น “ชาติไทย” ที่จริงแล้วเราอาจจะไม่ได้มีชาติอยู่เลยก็ได้ เราเรียกกันไปเอง ประเทศไทยนี้ไม่ได้เป็นชาติเลย เป็นแค่กลุ่มคนที่มาหาผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้นเอง ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะมัวแต่ขัดขากันเอง
ผมมองความเป็นโซ่อุปทานแห่งชาติคือ ความเป็นชาติ ความเป็นองค์รวมของคนในประเทศ มันถึงเป็นประเทศชาติได้ แล้วเราจะทำ XXXX แห่งชาติไปทำไมกัน ผมไม่เห็นจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมือง Care หรือสนใจอะไรเลย ผมก็หวังว่ายุทธศาสตร์ที่อาจารย์ทั้งหลายลงแรงทำไปนั้น อาจจะไม่ได้ Outcome ดังที่หวัง ฉะนั้นอาจารย์ทั้งหลายก็อาจจะลงแรงไปฟรีๆหรือไม่คุ้มเลย แต่ถ้าเรามีความเป็นชาติหรือมีความเป็นโซ่อุปทานมากกว่านี้ ผมว่าอาจารย์คงจะไม่ทำยุทธศาสตร์ออกมาแบบนี้หรอกครับ ผมว่าโจทย์ที่อาจารย์ได้รับ มันห่วย บริบทและข้อมูลมันห่วยนะครับ มันแย่ มันก็ได้แค่นี้จริงๆ อาจารย์ทั้งหลายจะยอมรับหรือไม่ ผมน่ะยอมรับได้ และพยายามจะไม่หลอกตัวเองอีกต่อไปว่า “เราน่ะไม่ได้เรื่องจริงๆ” แต่ไม่ต้องกลัวครับประเทศเราจะไม่ถอยหลังไปกว่านี้อีกแล้ว เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันคู่แข่งขันของเราก็นำหน้าเราไปไม่รู้กี่ช่วงตัว เราก็คงพัฒนาไปอย่างแน่นอนเพื่อวิ่งตามหลังเขาให้ทันในตำแหน่งรั้งท้าย เอาล่ะผมพยายามจะคิดในแง่บวก ผมไม่ได้หมดกำลังใจนะครับ แต่พยายามที่จะไม่หลอกตัวเอง
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าเราพยายามจะช่อมรถยนต์ในส่วนของระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ เราก็ถอดระบบขับเคลื่อนมาซ่อมและปรับปรุง เมื่อทำเสร็จแล้วเราก็จะต้องประกอบคืนกลับเข้าไปในรถยนต์เพื่อให้รถยนต์มันทำงานได้ แล้วเราก็ต้องทดสอบว่ารถยนต์มันวิ่งได้หรือไม่ ด้วยการขับรถยนต์ ระบบต่างๆของรถยนต์เป็นเหมือนกับระบบต่างๆ ในโซ่อุปทานที่ประกอบไปด้วยระบบการผลิตต่างๆ และระบบลอจิสติกส์ต่างๆ ความเป็นโซ่อุปทานก็คือ รถยนต์ที่วิ่งได้ ถ้าเราออกแบบระบบการผลิต ถ้าเราออกแบบระบบลอจิสติกส์ แล้วเราก็อ้างว่า มันเป็นระบบที่ดีเยี่ยมมากเพราะออกแบบมาดีหรือพัฒนามาดี แต่ก็ยังไม่ได้เคยใช้ร่วมกับระบบโซ่อุปทานที่สร้างคุณค่าออกมาให้ผู้ใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้ใช้จริง แล้วเราจะอ้างได้อย่างไรว่า ระบบแต่ละส่วนนั้นจะทำให้โซ่อุปทานสามารถแข่งขันได้และปรับตัวได้
มีประเด็นที่ผมเห็นและที่ผมเคยเสนอไว้ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้น แต่ผมก็มั่นใจว่า นี่คือ หนทางของการพัฒนา ถ้าใครต้องการ Literature review ผมมีอยู่ แล้วจะส่งไปให้ครับ เขียนบ่นๆ กันอย่างนี้ ผมขี้เกียจ Cite ครับ นั่นก็คือ ความเป็นองค์รวม (Holistic) อีกความทั้งความซับซ้อนของโซ่อุปทาน (Supply Chain Complexity) ผมยังมองไม่เห็นในประเด็นนี้ในยุทธศาสตร์งานวิจัยนี้สำหรับเรื่องของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ ส่วนเรื่องของโซ่คุณค่านั้น ผมไม่เถียงว่ามันสำคัญและเป็นประเด็นแรกที่ต้องคิดและตัดสินใจในการปรับปรุงและวิเคราะห์ แต่เป็นเพราะว่าผมมองข้ามช็อตไปแล้ว ทุกๆ โซ่อุปทานที่ผมพูดถึงนั้น ผมรวมเอาโซ่คุณค่าเข้าไว้ด้วยแล้ว เพราะถ้าพูดแค่โซ่คุณค่านั้น เราก็แค่ออกแบบ หรือบอกว่าจะทำอย่างไรและประกอบไปด้วยอะไร มันก็มีต้นทุนที่เกิดจากการออกแรงคิดและออกแบบ แต่ลูกค้ายังไม่ได้สินค้าและบริการ ไม่มีการผลิต ไม่มีการนำส่งให้ลูกค้า ไม่ได้เงินกลับคืนมาน่ะ ไม่มีรายได้ แต่ถ้าเป็นโซ่อุปทานแล้ว นี่สิคือ ของจริง เราเอาโซ่คุณค่ามาสร้าง มาแปลงสภาพทรัพยากรให้เป็นสินค้าและบริการ มีการใช้ต้นทุนและทรัพยากร แล้วขายเอาเงินคืนมาจนเป็นกำไร ตรงนี้ต่างหากที่เป็นของจริง เป็นสิ่งที่มนุษย์หรือคนได้ประโยชน์จริง เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้
จากโซ่คุณค่ามาเป็นโซ่อุปทาน มัน Take สังคมทั้งสังคมนะครับ มันใช้คน ใช้มันสมอง มันใช้ทรัพยากร มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเราอยู่ได้ก็เพราะโซ่อุปทานทั้งหลายที่ให้ประโยชน์กับชีวิตเรา ดังนั้นผมจึงไม่ได้มองแค่กระบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงานเท่านั้น มันมีอยู่หลายๆ ส่วนหลายมิติและในแต่ละส่วนมันเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งในแต่การเชื่อมโยงนั้นมันก็มีปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าในแผน 5 ปีนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงหรือมีประเด็นเหล่านี้เป็นฐานความคิด (Foundation) แล้ว ผมคิดว่ามันไม่น่าจะมี Impact เสียเท่าไหร่นัก
ผมจะพูดให้เห็นได้ง่ายเข้าก็คือ ยุทธศ่าสตร์โช่อุปทานและลอจิสติกส์นั้นเป็นยุทธศาสตร์แห่งการบูรณาการและยุทธศาสตร์แห่งการปรับตัว (Adaptive) และการแปลงสภาพ (Transformation) เพื่อความอยู่รอด (Survival) และโดยลำพังของยุทธศาสตร์แล้ว คงจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องประกอบไปกับยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนกโซ่อุปทานจะอยู่ได้หรือมีผลงานก็จะต้องมีแผนกจัดซื้อ แผนกผลิต แผนกจัดส่ง แผนกขาย วันนี้เรามาทำยุทธศาสตร์วิจัยโซ่อุปทานและลอจิสติกส์แห่งชาติ ก่อนที่จะวิจัยกันนั้น แล้วโซ่อุปทานแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนจัดซื้อแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนผลิตแห่งชาติอยู่ตรงไหน แผนขายแห่งชาติอยู่ตรงไหน หรือผมว่าพวกเราอาจารย์คิดไปไกลเกินว่าสภาพที่เป็นจริงหรือไม่
วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554
Meeting – วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย 54 ตอนที่ 1.2
จุดยืนผมนั้น ผมไม่ใช่นักวิจัย แต่ผมอ่านงานวิจัย ทำวิจัยบ้างตามโอกาส ผมใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างนักวิจัย และผมก็พยายามที่จะให้อุตสาหกรรมนั้นมีจิตวิญญาณของนักวิจัยในกระบวนการทำงาน อยากให้พวกเขามีกระบวนการวิจัยเป็นพื้นฐานอยู่ในการทำงานทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์เอาผลงานหรอกครับ เอาแค่ทำ Kaizen ด้วยจิตวิญญาณของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและใช้ความรู้วิชาการธรรมดาก็พอแล้ว จากนั้นก็สื่อสารความรู้ที่ได้จากการทำ Kaizen ออกไปในองค์กรของตัวเอง แค่นี้ก็ Impact แล้วครับ นี่ล่ะครับงานวิจัยที่แท้จริง ได้ผลเลยครับ ไม่ต้องตีพิมพ์ ได้เงินเลย Impact เลยครับ เพราะว่าพวกเขาถ้ามีความเป็นนักวิจัยเป็นพื้นฐานแล้ว ถ้าเขาทำไม่ได้และเกินกำลังความสามารถของพวกเขาแล้ว พวกเขาก็มาหาอาจารย์และนักวิจัยเองล่ะครับ เขาจะมาให้โจทย์วิจัยด้วยตัวเอง
แล้วอาจารย์คิดว่า ผมสนุกกับการทำหนังสือแปลหรือครับ มันคุ้มกันไหม ศักดิ์ศรีหรือคุณค่าของงานแปลมันอาจจะสู้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ไม่ได้หรอกครับ แต้มหรือคะแนนที่คณะกรรมการประเมินผลงานที่ให้ก็ไม่เหมือนกัน หรืออาจจะไม่นับให้เลยก็ได้ ผมก็คิดเพียงแต่ว่า “เมื่อคนทั้งโลกเขาได้อ่าน ได้รู้กัน แล้วทำไมคนไทยไม่อ่านภาษาอังกฤษไปเลยล่ะ ถ้าอยากจะรู้ เมื่อไม่อ่านแล้ว เราจะตามเขาทันไหมครับ” ผมคิดว่า “ผมอยากจะทำให้เขาได้อ่านกัน” งานแปลหนังสือของผมนั้นจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถเข้าไปสร้างให้นักอุตสาหกรรมได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ชองวิชาการและทฤษฎีทั้งหลาย มีอะไรที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของความรู้เชิงวิชาการมากขึ้น และที่สุดแล้วถ้าผมสามารถสร้างให้เขาเป็น Change Agent ได้ ทำให้เขามีความเป็นนักวิจัยในกระบวนการทำงานได้ ผมหมายความว่า เขาสามารถกำหนดปัญหา (กำหนดโจทย์วิจัยได้) เสนอโครงการได้ (เสนอโครงการวิจัยได้) ทำการแก้ไขปัญหาได้ (ดำเนินการวิจัยได้) สรุปโครงการ (สรุปงานวิจัย) กระบวนการที่ผมกล่าวมานี้ นั่นคือ กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโทนั่นเองครับ แล้ววันนี้เราเรียนกันอย่างไรก็ดูกันเอาเองครับ ถ้าได้อย่างที่ผมว่า อย่างนี้มันน่าจะเป็น Outcome มากกว่าไหมครับ แต่อาจจะไม่ได้ Output มากนัก
Meeting - วิพากษ์ยุทธศาสตร์งานวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน 1 มิ.ย. 54 ตอนที่ 1.1
บอกจริงๆ เลยครับ เกรงใจทุกคนที่ไปร่วมให้ความคิดเห็น เพราะผมเห็นว่าไม่ค่อยจะ work เท่าไหร่หรอก ที่ work นั้นก็คือ ได้ใช้งบวิจัยอาจารย์และนักวิจัยมีงานวิจัยทำ ผมพูดแรงไปหรือเปล่า อย่างไรก็ตามผมก็เอาด้วยล่ะครับ แต่ต้องแสดงความเห็นอีกด้านบ้างนะครับ คงจะไม่ว่ากันมากนะครับ ขอสักทีเถอะ แต่ถ้าผมเป็นอาจารย์ดวงพรรณและ ส.ก.ว+ว.ช. ผมก็จะต้องทำอย่างนี้แหละครับ เมื่อมันมีโอกาส
ผมว่านักวิจัยบางท่านก็อาจจะไม่คิดเหมือนผม เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอครับ มันมีหลายมุม ผมว่าที่เราทำๆ ยุทธศาสตร์ไปนี่ มันดูผิวๆ ไปหน่อย ปัญหางานวิจัยเมืองไทยนี่มันลึกและหลากมิติมากกว่านี้เยอะ ถ้าเราจะมาบอกว่าให้ทำยุทธศาสตร์วิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นตัวอย่างไปก่อน แล้วจะนำเอาไปใช้เป็นตัวอย่างในงานวิจัยสาขาอื่นๆ ผมว่าทางส.ก.ว และ ว.ช.ก็คิดผิดแล้วล่ะครับ มันผิดสาขาเสียแล้ว ในความคิดผมนะครับ ประเด็นคือ กลุ่มนักวิจัยลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนี้ ส่วนมากเป็น Young Blood ในสาขาวิชาใหม่ ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเวทีหรือบริบทการวิจัยของเมืองไทย เอาเป็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ก็แล้วกัน แต่ด้วยความเป็น Multidisciplineของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเองนั้นก็ยังเป็นปัญหาให้กับกลุ่มงานวิจัยในด้านนี้ในมุมที่เป็น Applicationsที่มีความหลากหลายของบริบทมากและมีความเป็นบูรณาการของสิ่งแวดล้อมอย่างซับซ้อนอยู่มาก ผมว่าทางสกว.และทางวช.เองอาจจะเลือกสาขาการวิจัยมาทำเป็นยุทธศาสตร์ตัวอย่างผิดไป
แต่ว่าไปแล้วก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายกลุ่มนักวิจัยเลือดใหม่ใน New Discipline หรือสาขาวิชาการใหม่ กับรูปแบบการทดลองใหม่ แต่ประเทศไทยเองมีงานวิจัยและกลุ่มนักวิจัยที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพในสาขาอื่นๆ อีกมากมายที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชน เพื่อจะหากรณีศึกษาและหารูปแบบในการสร้างยุทธศาสตร์งานวิจัยได้เป็นอย่างดีและมีข้อมูลที่เพียงพอซึ่งมากกว่าสาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งในสภาพความเป็นจริงก็ยังหาตัวตนที่ Solidได้ยังไม่แข็งแกร่งพอ ยังต้องรอการพัฒนาให้ได้รับการยอมรับของวงการอุตสาหกรรมอีกพอสมควร ตรงนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนเองของการพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ต้องการให้เป็น Genericเพราะเราต้องยอมรับว่า พวกเราในวงการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานกันเองและทั่วโลกก็ยังถกเถียงกันถึงเรื่องตัวตนและความหมายที่ควรจะได้รับการยอมรับกันในวงกว้างกันอยู่ แต่กลับมาเลือกเอาสาขาลอจิสติกส์มาเป็นตัวทดลอง แต่ก็ดีแล้วล่ะครับ พวกเราจะได้มีงานทำ และเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจและในการพัฒนาประเทศด้วย
ผมคิดว่าเหล่านักวิจัยในสาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็เต็มใจครับที่จะเป็นแนวหน้าในการทดลอง แต่ผมกลับมองว่าพลังของกลุ่มงานวิจัยในสาขานี้ลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นยังเล็กอยู่มากๆ เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ที่มีประวัติการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงมาแล้วทั่วโลกจนนักวิจัยหลายท่านได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เออ! ทำไมถึงไม่ไปเริ่มทำกันที่ตรงนั้น ทำไมมาเริ่มที่สาขาใหม่ที่ยังเล็กอยู่ โดยพื้นฐานในบริบทงานวิจัยก็ยังมีไม่มากพอ นี่ผมพูดแบบไม่ได้เข้าข้างตัวเองนะครับ ผมพยายามมองถึงประโยชน์ที่หน่วยงานอย่าง สกวหรือวช.น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ผมคงจะไม่ได้นึกแค่ว่า เอามาให้ลอจิสติกส์ทำน่ะดีแล้ว ที่จริงก็ดีเหมือนกัน สาขาลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะได้มีโอกาสและโตได้ซะที ผมเป็นอาจารย์ดวงพรรณและมีโอกาสอย่างนี้ ผมก็ทำเหมือนกันและก็จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาทำด้วย แต่ถ้าผมเป็นสกวหรือวช ผมจะไม่เลือกเอาสาขาลอจิสติกส์มาทำเป็นยุทธศาสตร์วิจัยตัวอย่าง
ตอนที่เข้าไปประชุมนั้น ได้มีโอกาสเจอหลายคนที่ไม่ได้เจอตั้งนาน เหมือนเป็นการคืนสู่เหย้ากัน งานนี้ผมไม่ได้พูดอะไรมากมายนัก แต่ก็โดนแซวหน่อย ผมสัญญากับตัวเองว่าจะพูดให้น้อยหน่อย ฟังเยอะๆ แต่ก็ดีใจนะครับที่อาจารย์ดร.สมพงษ์ยังจำจุดยืนหรือมุมมองของผมที่มีต่องานวิจัยในเมืองไทยได้ ต้องขอบคุณอาจารย์สมพงษ์มากๆ เพราะผมพูดในหลายๆ แห่งว่า “ต้องพัฒนานักอุตสาหกรรมให้มาอ่านงานวิจัย ให้เข้าใจงานวิจัย แล้วจึงทำให้เขาเป็นผู้บริหารงานวิจัยและเป็นผู้วิจัยเองในที่สุด”ผมว่าถ้ามาทำกันแบบนี้นะครับ ไปไม่ถึงดวงดาวหรอกครับ เราก็จะมีนักวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเรามีเงินวิจัยที่ถูกจัดสรรงบประมาณออกมาอยู่เรื่อยๆ นะครับ แต่อาจจะไม่มีการนำเอางานวิจัยออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เพราะว่าพวกเขานักอุตสาหกรรมทั้งหลายไม่ได้ได้เห็นคุณค่าของงานวิจัย เพราะเขาไม่เข้าใจในกระบวนการวิจัย และไม่ได้คิดว่างานวิจัยนั้นจะมีประโยชน์ต่อตัวพวกเขาอย่างไร ผมเห็นว่า “งานวิจัยเริ่มที่อุตสาหกรรม (Users) และจบที่อุตสาหกรรม (Users) ไม่ได้เริ่มที่นักวิจัยหรือ สกว. หรือวช. “แต่ก็ไม่ผิดที่ยุทธศาสตร์วิจัยจะเริ่มที่นักวิจัยและสกวและวช.ก่อนในตอนเริ่มต้น แต่ในอนาคตวงรอบของการพัฒนาจะต้องกลับเริ่มที่อุตสาหกรรมและจบที่อุตสาหกรรมตามวัฏจักร ส่วนนักวิจัยและสกว.และวช.ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฏจักรกระบวนการวิจัย
ผมเชื่อว่าถ้าอุตสาหกรรมยังไม่คิดหรือสนใจที่จะอ่านงานวิจัยหรือเห็นประโยชน์จากงานวิจัย ผมว่าเราทำวิจัยไปก็อาจจะเสียเปล่า หลายท่านอาจจะเถียงว่า ไม่ได้นะเราจะต้องสร้างงานวิจัยของตนเอง เป็นองค์ความรู้ของเราเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าองค์ความรู้ของเราเองนั้น มันเป็นอย่างไร แล้วองค์ความรู้ของฝรั่งหรือที่ผมและคนอื่นๆ ไปลอกมาหรือแปลมานั้น มันใช้ไม่ได้หรือ ผมว่าองค์ความรู้นั้นมันเป็นสากลนะครับ ยิ่งคนทั่วโลกเขารู้อะไรแล้ว ถ้าเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจแล้ว เราก็คงตามเขาไม่ทัน แล้วจะมาเสียใจกันภายหลัง ผมคิดว่าการที่สนับสนุนให้นักวิจัยสร้างองค์ความรู้ของเราเองนั้น ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนเราจะพยายามที่ตัดตัวเองออกจากระแสโลก แล้วให้หันมาพึ่งตนเองหรือดูตนเองมากขึ้น ผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่การสร้างองค์ความรู้ของตนเองนั้น ผมเข้าใจว่า เราเองจะต้องเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น แต่ก็จะต้องไม่ทิ้งองค์ความรู้ที่เป็นสากล องค์ความรู้ระดับโลกที่เขาใช้กัน องค์ความรู้ที่เขาเผยแพร่กัน เราจะต้องทุ่มเทกันทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่คนอื่นๆ เข้ารู้กัน ต้องรู้ให้เท่าทันทันกระแสโลก อย่าคิดว่าเราเองดีกว่า วิถีไทยหรือวิถีตะวันออกดีที่สุด นั่นจะดูประมาทไปหน่อย แล้วสิ่งที่สำคัญคือ เรานั้นไม่รู้จักตัวเองเลยก็ว่าได้ ไม่มีข้อมูลอะไรเลย ถ้าอยากรู้อะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง มันน่าอายไหม ที่บางครั้งเราอาจจะต้องไปซื้อข้อมูลนั้นจากฝรั่งหรือญี่ปุ่น ประเด็นนี้ต่างหากที่เราอ่อนแอยิ่งนัก ยังไม่ต้องคิดจะไปบุกไปนอกบ้านเลย จัดการตัวเองกันง่ายๆ พื้นฐานอย่างนี้ ก็ยังจะไม่รอดกันเลย เพราะว่าส่วนหนึ่งพวกเรานักอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเองนั้นไม่มีพื้นฐานแนวคิดในเชิงวิจัยหรือวิเคราะห์การเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเองในการทำธุรกิจ