วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Life : ความสุข – แค่เริ่มคิดก็สุขได้แล้ว

ความสุข คือ ความรู้สึกที่ทุกคนไฝ่หา มันตรงกันข้ามกับความทุกข์ที่ทุกคนไม่ต้องการ แต่ไฉนเลยเล่า ทุกครั้งที่ลืมตาขึ้นมาเราจึงพบแต่ควาทุกข์ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นวนเวียนไปมาบนโลกเรานี้ แล้วเราจะไปทุกข์หรือสุขกับมันได้อย่างไร ผมไม่อยากจะบอกว่าทุกข์หรือสุขนั้นอยู่ที่ใจ โธ่เอ๊ย! ใครก็รู้ รู้มาตั้งนานแล้ว แต่จะทำได้หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อ่านหนังสือธรรมะมาก็หลายเล่ม เขาก็บอกต่อกันมาว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ มีความสุขและความทุกข์ผสมกันไป ที่ใดมีรักก็ย่อมมีทุกข์ อ้าวทำไมล่ะ ถ้าความรักเป็นความสุขแล้ว ทำไมจะต้องทุกข์ด้วยล่ะ เออ! แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา คนหนึ่งทุกข์ แล้วคนหนึ่งไม่ทุกข์ร้อน แต่อีกคนหนึ่งสุขล่ะ นั่นมันอะไรกัน? จุดสมดุลของธรรมชาติมันอยู่ตรงไหนกัน? สัดส่วนระหว่างความทุกข์กับความสุขมันอยู่ตรงไหนกัน มันเท่ากันไหม แล้วทำไมถึงไม่เท่ากัน แล้วมันเป็นเท่าไหร่กันล่ะ


คนทั้งโลกก็มีความทุกข์และสุขไม่เท่ากัน มันสมดุลกันตรงไหน แล้วมันจะเปลี่ยนไปอีกไหม และมันจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน แล้วมันจะเปลี่ยนไปได้อย่างไร คำถามทั้งนั้นเลย ไม่เป็นไรหรอก ผมตั้งคำถามให้กับตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว ในบางครั้งขณะที่นั่งคิดอะไรๆ อยู่ (อย่างเป็นทุกข์) ทำไมหนอเราและคนอื่นๆ ถึงมีความทุกข์กันเช่นนี้ จนบางครั้งเราก็สามารถตรวจจับความสุขได้โดยง่ายเพราะว่ามันทุกข์ซะเยอะเลย อะไรที่แปลกปลอมไปจากความทุกข์ก็เลยกลายเป็นความสุขไปในทันทีอย่างสัมพัทธ์กัน (relatively)


ก็ไม่รู้สินะ ความสุขที่ว่านี้ มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับบริบทหรือสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นตัวกำหนด ความสุขไม่ได้มาจากวัตถุสิ่งของดีๆ มีราคาๆ ของดีๆ มีแบรนด์ดังๆ หรืออาหารในภัตตาคารหรูๆ บางครั้งอาหารเลวๆ ที่ค้างคืนที่แสนจะจืดชืดก็สามารถสร้างความสุขให้กับผู้ที่อดอยากและหิวโหยได้ แล้วภาพความสุขและทุกข์ที่เราเห็นนั้น คือ อะไรกันเล่า? มันเป็นมายาภาพของความรู้สึกที่เราคิดกันไปเองหรือไม่? ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นจึงไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจ บางครั้งทุกข์อยู่ก็สุขขึ้นมาเฉยๆ ในทางตรงกันข้ามสุขอยู่ดีๆ ก็ทุกข์ขึ้นมาเฉยเลย คงเคยได้ยินกันว่า หัวเราะทั้งน้ำตา เพราะว่าเสียงหัวเราะเป็นเครื่องหมายแห่งความสุข ในขณะเดียวกันน้ำตาก็เป็นตัวแทนของความทุกข์ แล้วทำไมมันถึงได้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดเสมอไปก็ได้


แล้วทำไมเราถึงสุขและทุกข์ได้เล่า บางคนบอกว่า มันมีสุขและทุกข์ทางกาย และมีสุขและทุกข์ทางใจ ถ้าใจนั้นเข้มแข็งพอ ก็สามารถที่อยู่เหนือความทุกข์และสุขทางกายได้ เหมือนกับที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า กายกับใจนั้นประสานกัน จนใจนั้นอยู่เหนือกาย หรือ ใจนั้นควบคุมกายได้ เรื่องความสุขนั้นเป็นศาสตร์ของใจ ไม่ใช่ศาสตร์ของกายอย่างแน่นอน ความคิดอ่านของจิตใจคนก็จะเป็นตัวกำหนดความทุกข์และความสุขของแต่ละคน แต่ปัญหาก็ คือ ตัวเราไม่ได้เป็นนายของใจเรา หรือว่าผมพูดไม่ถูก เราตกเป็นทาสของใจเราหรือเราควบคุมใจของเราไม่ได้ ทุกข์ทางกายจึงเกิดขึ้น เออ! แล้วทำไมใจเราถึงได้แต่นำพาเราและเพื่อนพี่น้องของเราไปสู่ความทุกข์เสียส่วนใหญ่ ทำไมเราจึงไม่มีสังคมในอุดมคติที่ทุกคนมีแต่ความสุข ดูเหมือนสังคมโลกที่ประกอบไปด้วยมนุษย์โลกจะไม่ค่อยมีความสมดุลทางใจกัน มีแต่จะเพิ่มระดับและความซับซ้อนของใจที่ทำให้เกิดทุกข์กับตัวเองและสังคม


ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีที่จะจัดการกับความสุข โดยการจัดการใจของตัวเองให้เกิดความสุข แค่เริ่มคิดคุณก็เกิดความสุขขึ้นแล้วใช่ไหม เพราะว่าในขณะที่คุณคิดถึงความสุขอยู่นั้น คุณก็ลืมไปว่าคุณนั้นกำลังมีความทุกข์อยู่ พูดไปพูดมา คล้ายๆ กับว่า ชีวิตทางใจของมนุษย์นั้นเป็นการแย่งชิงพื้นที่ทางใจกันระหว่างความทุกข์กับความสุข ซึ่งส่วนมากแล้ว ความทุกข์จะรุกคืบกินพื้นที่ทางใจของมนุษย์เสียมากกว่า ความทุกข์ในโลกมนุษย์จึงมีอยู่มากมายและมากยิ่งขึ้นอีก จนยังไม่เห็นจุดที่จะหยุดหรือจุดที่จะสมดุลกันได้เลย


ทำไมหนอจิตใจคนเราถึงได้อ่อนแอเช่นนี้เล่า ที่จริงแล้วที่ผมเล่าให้ฟังมานี่ เอาแค่เปลือกบางๆ ของความคิดที่เป็นแก่นแท้ของความจริงแห่งชีวิตมาเล่านให้ฟังเท่าที่พอเข้าใจแบบตื้นๆ ก่อน ผมจะพยายามที่จะไม่พูดถึงศาสนามากนัก พยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง แต่ทั้งหมดที่ผมเล่ามาก็มาจากศาสนาพุทธทั้งนั้น เพราะว่าในศาสนาพุทธนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เต็มทีเดียว ธรรมะในศาสนาพุทธทำให้เราสังเกตุตัวเอง สังเกตุความคิดตัวเอง เอาล่ะไม่พูดถึงศาสนามากนัก เดี๋ยวจะเบื่อกันไปอีก แต่จริงแล้วไม่น่าเบื่อนะครับ สนุกดีออกต้องลองอ่านดูเองครับ!


แต่ทุกศาสนาก็ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะให้ใจเราเป็นสุขนะครับ ไม่ใช่เฉพาะกายเราที่เป็นสุขเท่านั้น ไม่ใช่ว่ากายสุขเสียก่อนแล้วใจค่อยเป็นสุข ไม่จำเป็น ใจที่เป็นสุขก็สามารถทำให้กายเป็นสุขได้ หลายครั้งเราได้ยินว่ากำลังใจหรือใจที่เข้มแข็งสบายเป็นสุขไม่เป็นทุกข์ตามโรคภัยที่เกิดขึ้นกับตัวก็สามารถทำให้โรคร้ายนั้นบรรเทาลงได้ เราทุกคนเป็นสุขโดยรวมได้ สังคมและโลกก็เป็นสุขได้


จากแค่คิดก็เป็นสุขได้แล้ว เราก็ต้องแปรสภาพความคิดหรือใจให้เข้มแข็งขึ้น ผ่านการฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง ผ่านการภาวนาหรือการทำสมาธิ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เสริมสร้างใจและกำลังใจให้เข้มแข็ง คงไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วจะแกร่งหรือแข็งแรงได้เอง แต่จะต้องผ่านการฝึกฝนและผ่านความอดทนต่างๆ มาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้นกว่าจะได้มาซึ่งความสุขที่ยั่งยืนนั้นก็ไม่ง่ายนัก เพราะว่าความเป็นพลวัตของสิ่งแวดล้อมที่เป็นความทุกข์ต่างพยายามที่จะรุกคืบเข้ามาชิงพื้นที่ของใจเราอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมใจคนเราถึงพ่ายแพ้ต่อความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราคงจะต้องค้นหาต่อไป


จากประเด็นที่เราพยายามหาคำตอบให้กับเหตุผลของการมีชีวิตอยู่และชีวิต คือ อะไร ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงปรัชญา แต่ที่แน่ๆ ความสุขย่อมเกิดจากการคิดดี ส่วนความทุกข์นั้น ถ้าเป็นทางกายก็อาจจะเกิดจาการคิดไม่ดีและผลกระทบต่อเนื่องที่ไม่ได้คาดคิด (Unintended Consequence) ที่มาจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดจากการคิดดีและคิดไม่ดีรวมกัน ที่สุดแล้ว ถ้าคิดได้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ยากมากๆ ถ้าคิดไม่ตก ใจก็ไม่สงบและสุข คงไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายเป็นแน่ และปัญหาก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่ทีท่าว่าจะหยุด แล้วเราจะแสวงหาความสุขได้อย่างไร หรือจะหยุดความทุกข์โดยการแปรเปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความสุข หรือที่จริงแล้วทุกคนเองก็มีผลรวมความทุกข์และความสุขในปริมาณเท่าๆ กัน เหมือนหยินและหยาง เพียงแต่ว่าความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนระหว่างความทุกข์และสุขของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน แล้วเราจะสามารถฝึกใจเราให้สามารถปรับเปลี่ยนจากความทุกข์มาเป็นความสุขได้อยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งก็ คือ ความสามารถของจิตใจของเรานั่นเอง