วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Social - การจัดตั้งรัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (2)

รัฐบาลต้องคิดอย่างองค์รวม


โดยหลักคิดแล้วไม่ว่าโซ่อุปทานไหนๆ ก็มีหลักคิดเชิงโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking)เหมือนกันหมด เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในประเด็นของลักษณะของลูกค้า ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ประเด็นทั้งสองนี้จะไปกำหนดโซ่คุณค่าและโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจการค้า สังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถมองปัญหาอย่างองค์รวมแบบโซ่อุปทานได้ ก็น่าจะสามารถตีประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ว่าประชาชนของประเทศเป็นใครบ้าง ความต้องการพื้นฐานของประชาชนในเวลานี้และในอนาคตมีอะไรบ้าง ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เข้ามามีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไรบ้าง จะต้องวางแผนอย่างไร จะต้องมองไปข้างหน้าอย่างไร จะต้องปรับตัวอย่างไร จะต้องตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายที่สำคัญเมื่อมารวมตัวกันแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร (Collaboration) ให้ลองสังเกตนโนบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เราได้ฟังมาในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่ามีส่วนที่สะท้อนหรือเกี่ยวเนื่องกับความเป็นองค์รวมสำหรับโซ่อุปทานประเทศหรือไม่


หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางของการพัฒนาประเทศของเราก็มีอยู่แล้ว ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่างๆ ในการบริหารจัดการประเทศของเราก็มีพร้อมอยู่แล้ว แต่ว่าทำไมเรายังไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในโลกและโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เรา ทั้งๆ ที่เราก็มีการพัฒนาประเทศที่ดีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ทำไมเรากลับพัฒนาตามโลกไม่ทัน พัฒนาช้าไป หรือไม่ก็เป็นการพัฒนาไปไม่ถูกทาง ทั้งๆ ที่เราก็มีโครงสร้างโซ่อุปทานประเทศเหมือนกันกับประเทศอื่นๆ และเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง และหลายๆ อย่างที่เรามีก็ดีกว่าเสียอีก แต่ทำไมเรากำลังจะสู้เขาไม่ได้


ประเทศไทยเรายังขาดการคิดแบบองค์รวม (Holistic) แต่เรายังอยู่รวมกันเป็นประเทศ ก็ยังดีที่ไม่ต่างคนต่างแยกกันอยู่ ปัญหา ก็คือ คงจะตายร่วมกันในอนาคตเป็นแน่ แต่คิดว่าคงจะไม่เช่นนั้น ถ้าเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเหมือนกับทีมฟุตบอลที่รวมเอาผู้เล่นที่มีความสามารถมารวมกันเป็นทีมเหมือนทีมอื่นๆ แต่ไม่มีการจัดการโซ่อุปทานซึ่งไม่ใช่เป็นแค่มุมมองหนึ่งการจัดธุรกิจในอดีตที่เป็นการควบคุมและตรวจสอบ หรือเป็นในลักษณะเชิงรับ (Reactive) มากว่าเชิงรุก (Proactive) ปัจจุบันในการจัดการไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือประเทศจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอย่างก้าวกระโดด (Breakthrough)เพื่อความอยู่รอด แต่บางคนอาจจะแย้งว่าเราควรจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ควรจะก้าวกระโดด ที่จริงแล้วเรายังมีความเข้าใจไม่ตรงกันในอีกหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองในเรื่องความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ให้ลองกลับไปอ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ว่ามีพื้นฐานจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระบบตลาดเสรีทุนนิยม สิ่งนี้อาจจะแสดงให้เราเห็นว่าเรายังใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก หรือไม่ก็คงไม่เข้าใจในแก่นของปรัชญาดีพอ ถ้าเราเข้าใจโซ่อุปทานก็จะพบว่าแก่นของการจัดการโซ่อุปทานที่ดีนั้นก็มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแฝงอยู่ด้วย


แต่ในภาวะของเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตอย่างนี้ เราก็ควรจะต้องมองเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นพลวัตเช่นกัน ประเด็นของการจัดการโซ่อุปทานในอดีตก็แฝงตัวอยู่ในการจัดการองค์กรธุรกิจของแต่ละองค์กรแบบตัวใครตัวมัน แต่แรงกัดดันจากทุกด้านในปัจจุบันผลักดันให้ผู้บริหารองค์กรจะต้องมองอย่างโซ่อุปทาน มองอย่างองค์รวม มองจากทั้งจากภายนอกจนถึงข้างในองค์กร ที่สำคัญการมองอย่างองค์รวมเป็นการมองให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาในสถานะการณ์ต่างๆ ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที


ลองมาพิจารณาที่ทีมฟุตบอลซึ่งมีแต่นักฟุตบอลที่เก่งๆ แต่อาจจะพ่ายแพ้ต่อทีมที่มีนักฟุตบอลซึ่งไม่ได้มีฝีมือมากมายนัก แต่กลับมีแผนการเล่นที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถควบคุมได้ทั้งทีม ดังนั้นความเป็นองค์รวมจึงต้องการความเป็นหนึ่งเดียว มีเป้าหมายร่วมกัน สังคมจะมีความเป็นองค์รวมได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่มีแต่ความแตกแยก โดยเฉพาะประเทศไทยในเวลาเช่นนี้ที่เรามักจะพูดถึงความแตกแยก สังคมแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย หลายคนอยากให้มีความสมานฉันท์กัน ที่จริงแล้วไม่ว่าสังคมหรือระบบใดก็ตามทั้งในธรรมชาติและในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็ย่อมจะประกอบด้วยความแตกต่างกันทั้งสิ้น จึงเกิดเป็นความหลากหลายที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์และธรรมชาติเอง สังคมหรือระบบต่างๆ เกิดมาจากองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นทุกสังคมหรือทุกองค์กรในโลกนี้มีความแตกต่างมีฝ่ายกันทั้งนั้น แต่ทำไมสังคมอื่นๆ เขาจึงไม่มีความแตกแยกกัน


ที่เราพูดๆ กันมากในเรื่องความแตกแยก บางครั้งอาจจะทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราทุกคนต้องมีความคิดเหมือนกัน ซึ่งที่จริงแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ที่เราแตกแยกกัน ก็เพราะว่าเรามีความคิดที่หลากหลายแต่เราขาดแกนนำหรือผู้ที่จะมาเป็นคนที่ผสมผสานหรือบูรณาการความคิดทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นผลประโยชน์ของทุกคนด้วย แต่ก็อาจจะไม่ได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน แต่จะต้องจัดสรรและกระจายไปให้เหมาะสมตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมในโซ่คุณค่าและสภาวะการณ์แวดล้อม ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องจนมากเกินไป จนทำให้ระบบโซ่อุปทานที่ควรจะพัฒนาไปได้ด้วยการรวมเอาแต่ละฝ่ายที่เก่งกันคนละอย่างมาทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวมไม่สามารถดำเนินการและพัฒนาไปได้

ผู้นำโซ่อุปทาน : ผู้สลายความแตกแยก


ในปัจจุบันระบบธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจไม่ได้ถูกผลักดันด้วยภาวะผู้นำองค์กรธุรกิจเหมือนอดีต เพราะว่าบริบทของธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผู้นำในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจหรือประเทศไทยก็ตามจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดเสียใหม่ (Paradigm) เหมือนหนังสือ The World is Flat ที่พยายามจะบอกว่าโลกนั้นไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว เช่นกัน ผู้นำรัฐบาลในยุคนี้คงจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน ความเข้าใจในบริบทของโลกาภิวัตน์เป็นประเด็นที่สำคัญของผู้นำประเทศในยุคนี้ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ตาม ในขณะเดียวกันผู้นำรัฐบาลก็ต้องมีความเข้าใจในสภาพหรือสถานะของโซ่อุปทานประเทศว่าอยู่ในตำแหน่งใดและสถานะใด มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างไร วิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศและปรับปรุงพัฒนาประเทศไปถึงที่เป้าหมายท่ามกลางการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างไร

ส่วนนักการเมือง ก็คือ นักการเมือง ผู้นำผู้บริหารประเทศก็ต้องเป็นนักการเมืองในอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวแทนของประชาชนในสภาเท่านั้น ผู้นำและคณะผู้บริหารประเทศจะต้องมีมุมมองเชิงโซ่อุปทานและประสานผลประโยชน์ของผู้ร่วมรัฐบาลและผลประโยชน์ของชาติ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นกันนั้นเป็นการประสานผลประโยชน์ส่วนตัวให้ลงตัวกันเสียก่อน แล้วรัฐบาลก็อยู่ไม่รอดก็เป็นเพราะว่าประโยชน์ส่วนตัวไม่ลงรอยกันเอง แล้วยังกระทบไปยังประโยชน์ส่วนรวมจนสุดท้ายก็ต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ เลือกตั้งใหม่


ทำไมผู้นำรัฐบาลของประเทศเรายังไม่สามารถสลายความแตกแยกได้ หรือพูดในอีกมุมหนึ่งได้ว่ายังไม่ประสานรวมความคิดที่แตกต่างให้เข้ากันได้ และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับทุกคน อย่าลืมว่าเรื่องของโซ่อุปทานนั้นมีแกนอยู่ที่การตัดสินใจในแต่ละฝ่ายแต่ละฟังก์ชั่นที่ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยี โซ่อุปทานที่ดีนั้นอยู่ที่ความสามารถในการคิดอ่านหรือตัดสินใจ หรือ SupplyChain Intelligence ความสามารถตรงนี้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดีที่สุด ไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะมาทดแทนได้ แต่เทคโนโลยีถูกมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานแทนมนุษย์ ดังนั้นประเทศใดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ประเทศนั้นจะมีความชาญฉลาดเชิงสังคม (Social Intelligence) สูง ซึ่งหมายถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่ร่วมกันคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม ในขณะที่สังคมหรือประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความเก่งหรือความสามารถในการคิดอ่าน การเรียนรู้และการให้เหตุผลก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ความสามารถเช่นนี้ คือ ความฉลาดเชิงสังคมที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นความสามารถที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มคน ดังนั้นโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องของคนหลายคนที่มาสร้างประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งดีกว่าคนเดียวหรือต่างคนต่างทำ

ความชาญฉลาดเชิงสังคม


การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นมากว่าการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนพรรค (ทั้งพรรคการเมืองและพรรคพวก)ในมุมมองของโซ่อุปทาน ความสามารถของโซ่อุปทานขึ้นอยู่กับความชาญฉลาดของโซ่อุปทานซึ่ง ก็คือ ระบบสังคมแบบหนึ่ง ดังนั้นโซ่อุปทานก็ควรจะมีความชาญฉลาดในการสร้างสรรค์คุณค่า เช่นกับสังคมระดับประเทศที่เป็นโซ่อุปทาน ก็จะต้องมีความชาญฉลาดเชิงสังคมเพื่อที่จะตัดสินใจในกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคม มีนักเขียนนักวิชาการหลายท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม ส่วนใหญ่มองในมุมของจิตวิทยาส่วนบุคคลที่มีต่อสังคมภายนอกและการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือมองจากภายในไปสู่ภายนอก แต่ในมุมมองผมนั้นความชาญฉลาดเชิงสังคมของโซ่อุปทานจะต้องมองจากภายนอกสู่ภายใน โดยมีลักษณะเชิงรุก (Proactive) มากกว่า เพราะว่าเมื่อโซ่อุปทานเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทธุรกิจและเศรษฐกิจสังคม ผู้นำโซ่อุปทานจะต้องกลับมากำหนดความสามารถหรือปรับปรุงความสามารถของทีมงานหรือสมาชิกในสังคมเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ การกระจายงานหรือการแบ่งงานกันทำในลักษณะการวิเคราะห์โซ่คุณค่าแล้วกระจายออกไปตามแผนกหรือฝ่าย หรือไม่ก็ Outsource ออกไปให้บริษัทภายนอกที่สามารถทำได้ดีกว่ารับไปทำในฐานะหุ้นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน


ดังนั้นทุกคนในโซ่อุปทานจะต้องมีความชาญฉลาด (Intelligence) ในการเรียนรู้และการให้เหตุผล เพื่อสร้างความสามารถใหม่ (New Competency)ให้สอดคล้องกับคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการ และความสามารถเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันไปทั่วทั้งโซ่อุปทานด้วยการทำงานร่วมกัน (Collaboration)แล้วลองคิดดูว่า โซ่อุปทานของรัฐบาลในแต่ละชุดมีความชาญฉลาดเชิงสังคมมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ทุกคนในคณะรัฐมนตรีมีความชาญฉลาดส่วนบุคคลที่ดีทั้งนั้น แต่ขาดความชาญฉลาดเชิงสังคมหรือเชิงกลุ่มซึ่งจะต้องเกิดจากภาวะผู้นำของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ผมก็หวังว่าสังคมไทยก็น่าจะมีความหวังในการพัฒนาความชาญฉลาดเชิงสังคมให้เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะได้ฉลาดขึ้น ผลประโยชน์จะได้ตกเป็นของประชาชนส่วนใหญ่