วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Social - การจัดตั้งรัฐบาลในมุมมองของโซ่อุปทาน (1)

หลายคนมีมุมมองว่าเรื่องการจัดการโซ่อุปทานคงเป็นแค่แฟชั่น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเดี๋ยวก็คงจะหายไปเหมือนเทคนิคการจัดการอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่โซ่อุปทานนั้นคงไม่เหมือนกับเทคนิคการจัดการทั่วไป ในอนาคตชื่ออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น แต่หลักคิดของความเป็นโซ่อุปทานนั้นยังคงอยู่และได้รับการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องเพียงแต่เราไม่รู้และยังไม่เข้าใจในหลักคิดของมัน ถ้าจะคิดว่าโซ่อุปทานนั้นเป็นของจริงมากกว่าเทคนิคการจัดการอื่นๆ แล้ว เราก็ต้องดูว่าเรามองเห็นโซ่อุปทานนั้นจากอดีตสู่ปัจจุบันและนำไปถึงอนาคตได้อย่างมีความเข้าใจและเห็นตัวตนของโซ่อุปทานได้มากเพียงไหน


ในระยะเวลานี้เป็นเวลาที่ทุกคนในวงการการเมืองและประชาชนทุกคนกำลังเฝ้าติดตามการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อว่าประเทศไทยของเราจะกลับเข้าสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยเสียที ด้วยการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ที่มาจากรัฐประหาร ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามหลักการแห่งประชาธิปไตยด้วย เราจะมาดูว่าแนวคิดจากการจัดการโซ่อุปทานจะแฝงอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิตเราอย่างที่ผมพูดไว้หรือไม่


โซ่อุปทานประเทศสร้างคุณภาพชีวิต


ถ้าเรามองโซ่อุปทานประเทศ (Country Supply Chain) ว่าเป็นเหมือนองค์กรธุรกิจที่มีประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นลูกค้าด้วยในเวลาเดียวกัน หรืออาจจะมองให้กว้างและครอบคลุมมากกว่าว่า โซ่อุปทานนั้นเป็นระบบสังคม ถ้าเป็นประเทศก็เป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งมีสังคมสาธารณะขนาดเล็กๆ จำนวนมากเป็นองค์ประกอบ สังคมขนาดเล็กก็มีองค์กรธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์ให้กับองค์กรเอง และในขณะเดียวกันก็มีองค์กรสาธารณะอื่นๆ ที่ไม่ได้แสวงหากำไรให้กับองค์กร แต่พยายามที่สร้างกำไรหรือประโยชน์ให้กับสาธารณะ ในเมื่อประเทศเป็นสังคมสาธารณะขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยสังคมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลางและเล็ก สังคมสาธารณะต่างๆ รวมทั้งบุคคลธรรมดาทุกคนที่เป็นประชาชนและองค์กรในสังคมระดับประเทศจะต้องมีความมุ่งมั่นในผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ด้วยขนาดและความซับซ้อนที่เชื่อมโยงระหว่างทุกองค์ประกอบในสังคมทุกระดับ ทำให้การอยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ร่วมกันเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก
.
ในเมื่อประเทศเป็นสังคมที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับประชาชน เราก็สามารถที่จะพิจารณามองสังคมอย่างโซ่อุปทานได้ และมองไปถึงโซ่คุณค่าของประเทศ แต่อาจจะมีคำถามว่าแล้วโซ่คุณค่าของประเทศ คือ อะไร? ผมขออนุญาตนำข้อเขียน “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งเป็นข้อเขียนโดย อ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาอธิบายถึงโซ่คุณค่าของประเทศที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับในฐานะลูกค้าและเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโซ่คุณค่าประเทศ


เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่ ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใจในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตอง ในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายของชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุข จงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้เกี่ยวกับความสวัสดี “เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เรื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำเร็จอินทรีย์ และความเสียสละ ”


ลองสังเกตุดูว่ามีกระทรวงใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเราในโซ่คุณค่าแห่งชีวิตนี้



ดังนั้นจากข้อเขียนข้างต้นคงจะบอกได้ถึงหน้าที่หลักของรัฐบาลที่จะต้องบริหารและจัดการโซ่คุณค่าประเทศเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งได้เลือกผู้แทนราษฎรขึ้นมาเพื่อใช้สิทธิ์ใช้เสียงแทนพวกเขาในการบริหารประเทศ ผมจึงมอง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน นั้นเป็นโซ่คุณค่าที่รัฐบาลจะต้องมาบริหารจัดการและพัฒนาให้สอดคล้องตามกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลไหนๆ ในโลกก็ตามก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าเหล่านี้ไปได้ และเป็นที่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ดีจากการบริหารจัดการของรัฐบาลจะต้องกระจายออกไปในทุกส่วนทุกระดับของประชาชนของประเทศ ในเมื่อประเทศมีโซ่คุณค่าที่เด่นชัดแล้ว ก็จะต้องมีโซ่อุปทานซึ่งหมายถึง กลุ่มผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารจัดการโซ่คุณค่า ซึ่งคือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่กระจายกันออกไปบริหารจัดการตามกระทรวงต่างๆ เพื่อทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับประชาชนในทุกช่วงระยะชีวิตของประชาชนแต่ละคน


การรวมตัวของโซ่อุปทาน



เวลาที่เราพูดถึงโซ่อุปทาน หลายๆ คนก็นึกไปถึงในหลายๆ มุมมอง แต่สำหรับผมนั้นเมื่อกล่าวถึงโซ่อุปทานผมจะหมายถึงความสามารถ (Competency) ของบุคคลหรือองค์กรที่มาปฏิบัติหรือมาดำเนินการกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Creation Process) ดังนั้นผู้ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลมาบริหารโซ่คุณค่าของประเทศก็ต้องมีความสามารถที่เหมาะสมในแต่ละกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าซึ่งจะต้องให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ไม่ใช่เอาใครจากที่ไหนก็ได้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดก็ได้


เมื่อเร็วๆ นี้ก่อนการเลือกตั้งได้มีดาราคนดังท่านหนึ่งพยายามที่จะวิจารณ์การเมืองออกทางโทรทัศน์ด้วยความคิดที่ไม่เป็นกลางหรือมีอคติว่าประเทศไทยนั้นไม่จำเป็นต้องมีนโนบายของพรรคการเมืองตามที่โฆษณาหาเสียงกันอยู่ เพราะว่าประเทศเรานั้นมีหน่วยงานวางแผนอย่างสภาพัฒน์ฯ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ต้องมีความสามารถอะไรมากมาย มีนายกรัฐมนตรีไว้รับแขกบ้านแขกเมืองก็พอแล้ว ผมคิดว่าเราจะคิดกันอย่างนั้นไม่ได้ มักง่ายเกินไป เพราะประเทศไม่ใช่แค่สังคมเล็กๆ แบบครอบครัว แต่ประเทศประกอบด้วยหลายๆ ครอบครัวที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องมีการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน การเข้ามาบริหารประเทศไม่ใช่แค่ทำให้ประเทศดำเนินงานได้ไปวันๆ แต่ต้องจัดการให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ การที่จะทำได้เช่นนั้นก็ต้องมีผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรต่างๆ ในโซ่คุณค่าของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การจัดตั้งรัฐบาลจึงเหมือนกับการก่อตัวหรือการรวมตัวกัน (Formation)ของความสามารถในบริหารจัดการคุณค่าต่างๆ ในสังคมที่ประกอบกันเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หรือจะเปรียบเทียบได้กับการรวมตัวของนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่นในการเล่นคนตรีในแต่ละชนิดของเครื่องดนตรี โดยมารวมตัวกันเป็นวงดนตรี ไม่ใช่เหมือนกับการรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบไทยที่มีสูตรการจัดตั้งรัฐบาลตามจำนวน ส.ส. ที่ได้ เห็นแล้วก็ตลกดี แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยมาโดยตลอด

แล้วเราจะทำการรวมตัวโซ่อุปทานได้อย่างไร ที่จริงแล้วการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่แค่การเอาแต่บุคคลหรือกลุ่มมารวมตัวกัน แต่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายใหญ่ของโซ่อุปทาน ก่อนอื่นเลยจะต้องรู้จักลูกค้าของประเทศเสียก่อนซึ่งก็ คือ ประชาชนของประเทศ ต้องรู้ตำแหน่งของตัวเองหรือประเทศในสนามการแข่งขัน รู้จักคู่ต่อสู้ เพราะประเทศต้องไปทำการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ และที่สำคัญต้องรู้จักสถานภาพปัจจุบันของตัวเองว่ามีความแข็งแกร่งตรงไหนและมีจุดอ่อนอย่างไรในกระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนของประเทศ ลองเปรียบเทียบกับการจะตั้งวงดนตรีสักวงหนึ่ง คุณจะต้องเลือกกลุ่มผู้ฟังเพลงเพื่อกำหนดลักษณะของเพลงว่าจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง นักดนตรีจะเป็นใครบ้างที่จะมาร่วมวงกัน หัวหน้าวงดนตรีและผู้จัดการวงจะเป็นใครดี แล้วแผนการดำเนินการพัฒนาเพลงออกมาเป็นอัลบัมและการแสดงทัวร์คอนเสิทร์รวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วงดนตรีและบริษัทค่ายเพลงอยู่รอดได้ในธุรกิจ