มีคนมาเล่าให้ฟังถึงกลุ่มคนทางการเมืองและดาราบางท่านที่ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการศึกษาของประชาชนที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง กลุ่มคนกลุ่มนี้พยายามจะบอกว่า คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือไม่สมควรมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง จนมีการกล่าวว่า... ถ้ากุลีมีสิทธิเท่าบัณฑิต บัณฑิตจะลงทุนเรียนกันไปทำไมไม่ทราบครับ... การที่อนุญาตให้คนที่ไม่เรียนมีสิทธิเท่าเทียมคนที่เรียน เป็นกติกาสากลสำหรับประเทศที่ระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงถึงขั้นปลอดภัยแล้ว... เมื่อการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ใครไม่ยอมเรียนก็ต้องถือว่าผู้นั้นละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็แปลว่าบกพร่องในหน้าที่ซึ่งโยงกับบางสิทธิ... อ่านแล้วก็ตกใจนิดหน่อย ผมเห็นด้วยในเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน และผมสนับสนุนทุกอย่างทุกประเด็นที่จะให้คนเรียนหนังสือ แต่เมื่อเรียนแล้ว สำหรับผู้ที่จบการศึกษาออกมาก็ไม่ได้ประกันว่าจะดีกว่าคนที่ไม่มีการศึกษาเลย โจรที่มีปริญญาก็เยอะ ปริญญาโทก็มีอีกมาก ผมมองว่า อย่าเอาประเด็นเรื่องการศึกษาหรือการเรียนที่มีใบรับรองมาเป็นประเด็นในการกีดกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
เราเองต้องยอมรับว่า ถึงแม้ว่าประเทศเราจะมีโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่บทพิสูจน์เลยว่า สังคมจะดีขึ้น หรือคนมีคุณภาพขึ้น ประเทศไทยเราเองก็ไม่ได้มีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงถึงขั้นปลอดภัยอย่างที่ว่านั้น ในขณะเดียวกันมันก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่ไม่ได้เรียนนั้นจะเป็นคนที่ไม่มีความคิดอ่านอะไรเลย ซึ่งก็ไม่จริงเสมอไป เพราะว่าเราไม่เรียนมาเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง แต่เราเรียนมาเพื่อใช้ชีวิตให้อยู่รอด ให้ตัวเองอยู่รอด ให้ครอบครัวอยู่รอด และให้สังคมรอบข้างอยู่รอด แล้วทำไมสังคมในอดีตหรือคนในอดีตที่ยังไม่มีการศึกษามากนัก สามารถใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัวและกลมกลืนกัน โดยที่ไม่ต้องมีการศึกษาในระบบเหมือนอย่างปัจจุบัน
แล้วเราจะมีการศึกษาไปทำไมกัน? เรามีการศึกษาหรือการเรียนรู้จากโรงเรียนในระบบก็เพื่อนำเอาความรู้หรือประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิต ถ้าเรารู้จักการใช้ชีวิต แต่ถ้าไม่รู้จักการใช้ชีวิต ถึงเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเรียนมาแล้วก็น่าจะต่อยอดได้ดีกว่า ไม่ต้องไปทดลองซ้ำ ไม่ต้องเดินทางผิดหรือผิดซ้ำเหมือนคนในอดีตก่อนหน้านี้ เรียนแล้วต้องต่อยอดออกไป เมื่อเรียนออกมาแล้ว ทุกคนในสังคมที่มีการศึกษาในระดับเดียวกันก็จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันได้ในการพัฒนาสังคมร่วมกันมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในทางตรงกันข้าม คนทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเรียนรู้เองได้ เรียนนอกระบบ เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากการทดลองทำ ลองผิดลองถูก ทั้งนี้ก็ขึ้นกับต้นทุนการเรียนรู้หรือการใช้ชีวิตของแต่ละคน ทุกเวลาทุกนาทีของการใช้ชีวิตของเราคือ การเรียนรู้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะมีสติและคิดได้หรือไม่
บังเอิญผมไม่ค่อยได้ศรัทธาหรือมีความเชื่อในระบบการศึกษาเท่าไหร่นัก แต่ก็สนับสนุนเสมอ ปัญหามันอยู่ที่ความเข้าใจในปรัชญาการศึกษาของผู้บริหารการศึกษาของประเทศตลอดจนครูหรืออาจารย์ที่ทำการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะว่าการศึกษาของเรานั้นมันล้มเหลวจริงๆ มันล้มเหลวก็ตรงที่ผู้จบการศึกษานั้นหยุดการศึกษาเมื่อจบการศึกษา ที่จริงแล้วคนเราซึ่งเรียนจบแล้ว ก็ควรจะเริ่มต้นการศึกษา (ชีวิต) หรือการใช้ชีวิตอย่างมีการศึกษาไปตลอดชีวิต ผมเองไม่เชื่อว่าการศึกษาอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้หรือเป็นคนดีได้ ก็ลองดูสิครับ ถ้าท่านไม่เรียนรู้เรื่องราวต่างๆรอบตัวท่านตลอดเวลา ท่านจะอยู่รอดหรือไม่ ถ้าท่านต่อต้านคนที่ไม่มีการศึกษาไม่ให้มาเลือกตั้ง แล้วคนที่มีการศึกษาทั้งหลายในภาครัฐและภาคการเมืองเหล่านั้นเล่า พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ พวกเขามีคุณค่าสูงคนชั้นต่ำที่ไม่มีการศึกษาหรือไม่ การดูคนหรือการประเมินคุณค่าของคนนั้น เราไม่ควรที่จะดูที่การศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราก็อาจจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคัดกรองคนที่เราต้องการใช้งานได้
ผมจึงมองการศึกษาเป็นการฝึกฝนในการเรียนรู้ เพื่อว่าต่อไปเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้เรียนรู้เป็น เอาตัวรอดได้ พัฒนาตัวเองและสังคมได้ ไม่ใช่แค่การใช้ความรู้ที่เรียนในโรงเรียนไปทำมาหากิน เพราะความรู้ที่เรียนอาจจะล้าสมัยไปแล้ว ใครสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วก็จะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เรียนรู้หรือไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้
ปกติเราก็ใช้ปริญญาหรือการศึกษาเป็นการสื่อสารกันในสังคมเพื่อการประเมินความสามารถหรือในการคัดกรองคนเข้ามาทำงานอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาลงไปทำงานจริงแล้ว เขาหรือเธออาจจะไม่สามารถทำงานได้ ถึงแม้ว่าจะจบการศึกษาหรือมีปริญญามา
ลองคิดดูนะครับ เวลาที่เราพูดว่า คนมีการศึกษานั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เป็นคนมีความรู้เท่าที่เรียนมา หรือหมายความว่า เป็นคนที่สามารถศึกษาหาความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา