วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain-1 : จากไปรษณีย์ถึงตั๋วคอนเสิร์ต

วันนี้ผมขับรถตามหลังรถเมล์เห็นป้ายโฆษณาของบริษัท ไปรษณีย์ไทย ว่าสามารถจองหรือตั๋วคอนเสิร์ตผ่านที่ทำการไปรษณีย์ได้แล้ว แล้วผมก็เห็นตราของบริษัท Thai TicketMaster ร่วมอยู่ด้วย ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของแนวคิดของกิจกรรมนี้ ว่ามาจากแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งๆ ที่ทั้งสองบริษัท ไปรษณีย์ไทยและ Thai Ticket Master อาจจะไม่ได้นำเอาแนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้อย่างเป็นทางการ แต่สิ่งที่ได้ทำได้ตัดสินใจไป นี่แหละ คือ การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานตัวจริงที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงตื่นนอนอีกวันหนึ่ง


มาดูกันให้ดีว่ามีใครเป็นผู้เล่นกันบ้าง ที่แน่ๆ ก็ คือ ไปรษณีย์ไทยนั้นเป็น Logistics Providers ที่มีฐานจากการส่งพัสดุและไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สามารถเข้าถึงทุกครัวเรือนจนเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย และมีที่ทำการไปรษณีย์กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศ ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยได้มีการปรับตัวมาตลอดด้วยการเพิ่มคุณค่าตัวเองด้วยการให้บริการลอจิสติกส์อื่นเพิ่มขึ้นโดยยังใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมอยู่ให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากที่ทำการไปรษณีย์เดิมก็กลายเป็นจุด Pay Point ให้บริการอื่นๆ มากกว่าไปรษณีย์ ทำให้มีการบริการหลากหลายมากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น ส่วนการบริการส่งพัสดุและจดหมายต่างๆ ก็เพิ่มการบริการส่งสินค้าอย่างอื่นๆ ขึ้นมาอีก ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากต่างจังหวัดที่มีชื่อเสียงต่าง รวมทั้งสินค้าอื่นๆ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ ไปรษณีย์ไทยมีความเป็นบริษัทลอจิสติกส์มากขึ้น นั่นแสดงว่า ไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปมีส่วนในการนำส่งคุณค่าไปสู่ผู้บริโภคในโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ มากขึ้น ก็แล้วแต่ว่าสินค้านั้น คือ อะไร โดยใช้ความได้เปรียบของโครงสร้างและเครือข่ายของไปรษณีย์ไทยที่มีอยู่ทำให้มี Logistics Values เพิ่มมากขึ้น

ที่ไหนมี Logistics หรือ เรียกตัวเองว่าเป็น Logistics Providers เราก็ต้องมองเห็นโซ่อุปทานด้วย เพราะทั้งการผลิตและลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะต้องเป็นของคู่กันเสมอ ถ้าพูดถึงโซ่อุปทานแล้วเราจะต้องเห็นผู้บริโภคหรือผู้ใช้คุณค่าคนสุดท้ายด้วย วันนี้ไปรษณีย์ได้เพิ่มคุณค่าเชิงลอจิสติกส์ (Logistics Values) ให้กับโซ่อุปทานคอนเสิร์ต โดยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการจองตั๋วคอนเสิร์ตได้โดยผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย เท่าที่ผมเห็น ก็ยังคงอยู่ภายใต้ Thai Ticket Master ซึ่งก็น่าจะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของโซ่อุปทานคอนเสิร์ตต์นี้ ซึ่งมี Thai Ticket Master เป็นผู้กุมช่องทางการจำหน่ายตั๋วรายใหญ่อยู่ การร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ถือว่าเป็นขยายช่องทางออกไปจากที่ข่องทางเดิมที่มีอยู่ ด้วยการลงทุนที่น้อยกว่า แต่กลับได้อาศัยช่องทางเดิมที่อยู่ของไปรษณีย์มาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงลูกค้า

เท่าที่สังเกตุดูในเรื่องการดำเนินการคงจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะระบบไอทีที่ถูกพัฒนาอย่างได้มาตรฐานและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมต่อได้อย่างสะดวกขึ้น เป้าหมายของโซ่อุปทานคอนเสิรต์หรือภาพยนตร์ก็คือมีคนไปดูมากๆ แล้วจะทำอย่างไรล่ะให้คนเข้าถึงการซื้อตั๋วได้ง่ายที่สุดและไวที่สุด นี่ล่ะครับบทบาทของลอจิสติกส์ในโซ่อุปทานทั้งหลายในชีวิตประจำวัน