วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain 5 : จากรถรับจ้างขนส่ง..สู่ลอจิสติกส์..เพื่อเติมเต็มโซ่อุปทาน

ทุกวันนี้ระบบการขนส่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันเราเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เอาน้ำท่วมแค่เข่า รถเล็กวิ่งไม่ได้ แค่นี้ก็เราก็เดือดร้อนกันไปทั่วแล้ว ไม่ต้องท่วมให้มิดหัวหรอกครับ ดังนั้นเราจึงเห็นธุรกิจรถรับจ้างขนส่งสินค้าอยู่เต็มไปหมดในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะใหญ่จะเล็ก การขนส่งจึ้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญเรื่องหนึ่งในชีวิตเรามานานตั้งแต่โลกเรามีสังคมมนุษย์มีอารยะธรรม นอกจากการขนส่งสินค้าแล้วยังมีการขนส่งคนด้วยซึ่งก็มีความสำคัญๆ มากในอีกมุมหนึ่ง แต่ถ้าประเมินคุณค่าออกมาแล้ว คนก็น่าจะมีคุณค่ามากกว่าสิ่งของเพราะว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเองและพัฒนาคุณค่าอื่นๆได้ การขนส่งคนจึงต้องมีความระมัดระวังและมีข้อจำกัดและข้อกำหนดเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการขนส่งข้อมูลต่างๆ ให้กับคนนำข้อมูลไปคิดและตัดสินใจเพื่อที่จะขนส่งคุณค่าอื่นไปยังผู้ที่ต้องการคุณค่าคนสุดท้ายหรือผู้บริโภค ซึ่งคุณค่าสุดท้ายที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์และบริการจึงจะต้องเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาในภาพรวม


เราสามารถพบเห็นรถหรือพาหนะหลากหลายประเภทที่ถูกดัดแปลงหรือถูกสร้างมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ แต่ในระยะหลังๆ นี้เรื่องราวของการขนส่งได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นเรื่องของลอจิสติกส์ไปเสียแล้ว ทั้งๆ ที่ความหมายของลอจิสติกส์นั้นไม่ใช่แค่การขนส่ง แต่ก็ยังมีการพูดและใช้ลอจิสติกส์ไปในเชิงการขนส่งแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งผิดความหมายและวัตถุประสงค์ของการใช้คำๆ นี้ แต่สิ่งที่ทุกคนได้เห็นและได้รับรู้กันอยู่คือทุกคนในวงการขนส่งมีการปรับตัวและปรับชื่อกันไปเป็นลอจิสติกส์กันหมดแล้ว แต่จะมีการปรับแนวคิดจากการขนส่งไปสู่แนวคิดลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างไรบ้างหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องนำมาคิดต่อยอดออกไปหรือพัฒนากันต่อไป เพราะว่าทุกวันนี้บริษัทขนส่งทั้งหลายอย่างน้อยก็เริ่มปรับตัวจากการเปลี่ยนชื่อจาก “บริษัทขนส่ง” ไปเป็น “บริษัทลอจิสติกส์” กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แม้แต่บริษัทรถเมล์ที่มาเป็นรถร่วมของ ขสมก. เองก็ยังใช้คำว่าลอจิสติกส์เป็นชื่อบริษัท อย่างน้อยเวลานี้คนเราทั่วไปก็เริ่มที่จะเข้าใจว่าลอจิสติกส์ คือ การขนส่ง เป็นรถบรรทุก รถไฟ เรือ เครื่องบิน ขนส่งทั้งคนและทั้งสินค้า แล้วก็มีบริษัทไปรษณีย์ไทยด้วยที่ประกาศตัวเป็นบริษัทด้านลอจิสติกส์ด้วยเช่นกัน เราจะมองอย่างไรกันดีล่ะ เราจะเข้าใจความหมายของลอจิสติกส์ได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คำว่า "ลอจิสติกส์" นั้นไม่ได้มีพัฒนาการมาจากการขนส่งแต่เพียงด้านเดียว แต่ในมุมมองของผมนั้นลอจิสติกส์มีพัฒนาการมาจากโซ่อุปทานมากกว่า แต่แนวคิดและความหมายของโซ่อุปทานกลับถูกพัฒนาตามหลังลอจิสติกส์อีกที


ก่อนที่จะมาเป็นลอจิสติกส์นั้น เรามีการขนส่ง ขนส่งทุกอย่างที่มนุษย์ต้องการ ทุกรูปแบบของการขนส่ง ขนส่งให้ถึงที่หมายให้มีสภาพเดิมเหมือนก่อนส่งและตรงเวลา แล้วการขนส่งจะเป็นลอจิสติกส์ได้อย่างไร ก่อนที่จะมาเป็นลอจิสติกส์นั้นก็ต้องคิดในเชิงโซ่อุปทานให้ได้เสียก่อน เพราะว่ากิจกรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการจัดส่งก็เกิดมาจากโซ่อุปทานทั้งสิ้น เช่นกันแต่ก่อนเราไม่มีคำว่า "โซ่อุปทาน (Supply Chain)" กัน แต่ในช่วงนี้เราเข้าใจโซ่อุปทานจากคำว่าโซ่การผลิต ซึ่งเห็นได้จากตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 ข่าวต่างๆ ได้ใช้คำว่าโซ่การผลิต (Manufacturing Chains) เพราะว่าเมื่อโรงงานผลิตสินค้าทำการผลิตสินค้าไม่ได้จึงทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ผู้คนผู้บริโภคไม่ได้กินไม่ได้ใช้สินค้าและบริการ คุณค่าในรูปแบบสินค้าและบริการจึงไม่ถึงมือผู้บริโภค เมื่อเส้นทางถูกตัดขาด โซ่การขนส่ง (Transportation Chains) ก็ถูกตัดขาด ทำให้ของกินของใช้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Services) ก็ไม่สามารถถูกส่งถึงมือผู้บริโภคได้เช่นกัน


เรื่องของการขนส่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการผลิต มีทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน (Inbound)และการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปยังผู้กระจายสินค้า(Distribution) และส่งต่อไปยังร้านขาย (Retails) หรือไม่ก็ขนส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปไปยังโรงงานผลิตอีกแห่งหนึ่งแล้วจึงขนส่งไปยังผู้กระจายสินค้าและส่งต่อไปยังร้านขายปลีกอีกทีหนึ่ง ถ้ามองกันแค่นี้ เราก็เห็นโซ่การผลิตและโซ่การขนส่งจนไปถึงผู้บริโภค เราเข้าใจว่าเรื่องราวเหตุการณ์และความเชื่อมโยงทั้งการผลิตและการขนส่งจนถึงผู้บริโภคกันแบบนี้กันมานานแล้ว ผมจะเรียกการเชื่อมโยงนี้ว่าโซ่ผลิตภัณฑ์ (Product Chain)


ถ้าใครคนใดคนหนึ่งในโซ่ผลิตภัณฑ์นี้เกิดปัญหาในการดำเนินงาน เช่น ผลิตไม่ได้ ขนส่งไม่ได้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าคนสุดท้ายก็จะไม่ได้รับสินค้าและบริการ ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นเชิงธุรกิจและประเด็นในการดำเนินงานในการสร้างคุณค่าในรุปแบบของผลิตภัณฑ์และการบริการ ธุรกิจทุกธุรกิจก็พยายามที่จะดิ้นรนในการพัฒนาตัวเองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในโซ่ผลิตภัณฑ์และโซ่กิจกรรมในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อที่จะได้มีศักยภาพและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า แล้วคำว่าโซ่อุปทานนั้นมาจากไหนและควรจะมีความหมายอย่างไร?


กิจกรรมต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์ เช่น กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การแปรสภาพวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบ การแปรสภาพวัตถุดิบไปเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การจัดส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การผลิตสินค้าสำเร็จรูป การกระจายสินค้า และการขายสินค้าที่หน้าร้าน กิจกรรมเหล่านี้ได้ถูกดำเนินการมาโดยตลอด โดยมีการเชื่อมโยงกันในเชิงธุรกิจและในระดับการดำเนินงานซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาการกระบวนการธุรกิจรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาขึ้น ประเด็นหนึ่งที่ผลักดันให้โซ่ผลิตภัณฑ์กลายไปเป็นแนวคิดโซ่อุปทานคือ การเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้า ตลาดและโลกอย่างเป็นพลวัตในมุมของความต้องการของลูกค้าในด้านผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่ความต้องการของลูกค้า


แนวคิดโซ่อุปทานจะมองไปที่การเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าในตัวผลิตภัณฑ์และบริการ เมื่อผลิตภัณฑ์และบริการถูกผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า ซึ่งจะทำให้โซ่ผลิตภัณฑ์จะต้องปรับตัวตามให้ทันกับความต้องการของลูกค้า ประเด็นจึงอยู่ที่โซ่ผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบไปด้วยหลายๆ บริษัทที่แบ่งงานกันการผลิต แบ่งงานกันขนส่ง และส่วนกิจกรรมภายในแต่ละบริษัทก็ยังมีแผนกต่างๆ ที่แบ่งงานหรือกิจกรรมต่างๆ กันไปทำ เช่น แบ่งกันไปจัดซื้อ แบ่งงานกันไปผลิต แบ่งงานกันไปขนส่ง แบ่งงานกันไปขายตามฟังก์ชั่นการทำงาน


แนวคิดโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องราวที่จะต้องบูรณาการกิจกรรมต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นองค์รวม (Holistic)มากขึ้น หรือเป็นระบบ (Systemic)มากขึ้น โดยที่มีโครงสร้างของโซ่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำส่งคุณค่าในรูปแบบของสินค้าและบริการไปจนถึงผู้บริโภค ผมถือว่าโซ่ผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างที่เป็นระบบอยู่แล้วในระดับหนึ่ง เพราะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการออกมาได้ นั่นแสดงว่ากิจกรรมและองค์ประกอบต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์นั้นมีการเชื่อมโยงกันและกันทางกายภาพจนได้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ แต่อาจจะมีการทำงานร่วมกันหรือไม่มีก็ได้ และอาจะจะมีการทำงานเชิงระบบหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งยังหมายถึงว่า ถึงแม้จะมีความเป็นระบบอยู่ที่ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอหรือยังไม่สามารถจะสร้างความยืดหยุ่นหรือความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีพอ


แนวคิดโซ่อุปทานจึงเป็นการมองโซ่ผลิตภัณฑ์ในเชิงโครงสร้างที่เป็นระบบ (Systemic Structure) โดยเน้นที่การทำงานร่วมกัน (Collaboration)ในระดับการวางแผนและตัดสินใจ (Decision and Planning)ร่วมกันของทุกคนในโซ่ผลิตภัณฑ์เพื่อให้กิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นการผลิตและการขนส่งสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นโซ่อุปทานจึงเกิดขึ้นมาเพราะประเด็นในการจัดการโซ่ผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้เป็นแค่เกิดการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่จะต้องทำอย่างไรให้อยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอีก


เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว เราคงจะแยกแยะกันออกว่า ลอจิสติกส์ไม่ได้มาแทนขนส่ง และลอจิสติกส์ไม่ได้เกิดจาการขนส่งและเพื่อขนส่งเท่านั้น แต่แนวคิดและความหมายของลอจิสติกส์จะมาเสริมทุกๆ กิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นโซ่อุปทานที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายได้ เพราะว่าในอดีตก่อนหน้านี้ แต่และกิจกรรมในโซ่ผลิตภัณฑ์ก็จะแยกกันทำ และแยกกันคิดและวางแผน แต่มีการเชื่อมโยงทางกายภาพด้วยซื้อขายกันจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการและส่งไปถึงลูกค้าได้ แต่พอมาเป็นลอจิสติกส์แล้ว มุมมองของลอจิสติกส์นั้นจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเกือบทั้งหมดที่สนับสนุนการนำผลิตภัณฑ์และบริการหรือคุณค่าไปส่งให้ถึงมือลูกค้า ยกเว้นกิจกรรมในกระบวนการผลิต


นั่นก็หมายความว่าลอจิสติกส์จะทำให้การเชื่อมโยงกิจกรรมทั้งหลายให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นระบบเดียวกันซึ่งทำให้เกิดความพร้อมกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองต่อไป แนวคิดโซ่อุปทานทำให้คนต่างๆ ในโซ่ผลิตภัณฑ์และคนต่างๆในโซ่กิจกรรมของแผนกต่างในองค์กรมาทำงานร่วมกัน คิดวางแผนและตัดสินใจร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกันอย่างเชิงระบบ (Systemic)และอย่างเป็นระบบ (Systematic)นี่คือ ความเป็นโซ่อุปทานที่มีแนวคิดลอจิสติกส์ที่ทำการเชื่อมประสานข้อมูลสารสนเทศและการวางแผนและตัดสินใจอย่างบูรณาการกันตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำสำหรับผลิตภัณฑ์ และตั้งแต่จัดซื้อ (ต้นทาง) ไปยัง ส่ง (ปลายทาง) สำหรับกิจกรรมในองค์กร


ถ้าผมจะอธิบายและแสดงให้เห็นถึงภาพใหญ่ของความหมายของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานแล้ว ผมคิดว่าเราคงจะประเมินได้ว่า กิจกรรมลอจิสติกส์ที่เราเรียกกันอยู่นั้นมีความเป็นลอจิสติกส์กันสักแค่ไหน แล้วเราเองสามารถต่อยอดจากแนวคิดลอจิสติกส์ไปสู่ความเป็นโซ่อุปทานได้มาน้อยแค่ไหน ยิ่งมีความเป็นโซ่อุปทานมากแค่ไหน ระดับของความเป็นลอจิสติกส์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้ความหมายของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์จะมีความเกี่ยวพันกัน และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน แต่วัตถุประสงค์ก็จะแตกต่างกันออกไปในเชิงของระดับการดำเนินงาน ดังนั้นวันนี้เราเห็นและเข้าใจลอจิสติกส์ในระดับหนึ่งแล้ว เราก็คงจะต้องเข้าใจโซ่อุปทานมากขึ้นอีก เพื่อที่จะต่อยอดความเข้าใจในลอจิสติกส์เพื่อที่จะพัฒนาลอจิสติกส์ให้ดีขึ้นไปอีก ทำให้ลอจิสติกส์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งของโซ่อุปทาน และจะได้ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ลอจิสติกส์การขนส่งเท่านั้น เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นมากกว่าการขนส่ง วันนี้เราเห็นรถส่งสินค้ามากมายและเราเห็นผู้คนและทรัพยากรต่างๆที่ถูกจัดเตรียมไว้รองรับความต้องการต่างๆของผู้บริโภค เราเห็นโซ่อุปทานหรือไม่ เราเห็นลอจิสติกส์หรือไม่ เราเห็นศักยภาพในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทานที่มีการผลิตและลอจิสติกส์หรือไม่