วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

Daily Supply Chain 3 : งานศพ...งานคนเป็น

ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็เห็นและสัมผัสงานศพได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เป็นความตายของคนอื่นๆ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ระยะนี้เริ่มมีงานศพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ตามระยะเวลาของอายุของผมที่เริ่มเข้าวัยที่สมควรแล้ว แล้วคุณค่า (Values) ของงานศพ คือ อะไร? ดังนั้นเราจึงจะต้องมากำหนดกันก่อน เราจัดงานศพเพื่อไว้อาลัยและให้เกียรติคนที่เสียชีวิตไป แต่กว่าจะมาเป็นงานศพได้ตามที่เราต้องการได้นั้น ก็จะต้องมีคุณค่า (Values) จากโซ่อุปทานต่างๆ (Supply Chains) มาประกอบกันเป็นงานศพที่เราเห็นกันอยู่ ตั้งแต่ วัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน แขกที่มาร่วมในงานสวด อาหารว่างที่ไว้เลี้ยงแขกในงานสวด พวงหรีดและดอกไม้ในงานสวด เจ้าหน้าที่ที่คอยให้ความสะดวกต่างๆ ของชำร่วยต่างๆที่แจกในงานศพ



คุณค่าของงานศพอยู่ที่การให้เกียรติและไว้อาลัยกับผู้วายชนม์ รวมทั้งเป็นจุดร่วมของการมาพบปะกันของผู้คนที่รู้จักกันหรืออยู่ในสาขาเดียวกันโดยมีผู้วายชนม์และลูกหลานต่างๆ เป็นจุดศูนย์กลางในการดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ (Event) สำหรับการไว้อาลัยอย่างนั้นได้ การจัดงานศพแต่ละครั้ง แม้นว่าจะดูสิ้นเปลือง พระอาจารย์บางท่านก็อาจจะให้ความเห็นว่างานศพที่จัดๆ กันนั้นดูเป็นงานที่สิ้นเปลืองเปล่าๆ เรื่องการจัดงานศพนี้ก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนแต่ละครอบครัว บางทีมันเป็นเรื่องของหน้าตา บางทีมันเป็นเปลือกของสังคม คนตายไม่ได้เกี่ยวกันเลย บางทีพาลทำให้คนที่ยังเป็นอยู่ทะเลาะกันเสียอีก ผมมองว่างานศพเป็นงานสังคมที่มีประโยชน์อยู่ แล้วแต่ความเหมาะสมของการจัด ที่จริงแล้วไม่มีก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครห้ามครับ ถ้าวัฒนธรรมไทยเราจะเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะคิดว่าจะหาประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้อย่างไรให้เกิดผลกระทบในทางบวกกับทุกคนที่มางานและสังคม



โดยทั่วไปแล้วงานศพเหล่านี้ก็สร้างอาชีพทำให้คนอื่นๆ อีกหลายคนมีรายได้และมีกินมีใช้กัน งานศพจัดเป็นงานการบริการแท้ๆ เลย แต่ในงานบริการนี้จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์หรือ Product มากมายที่จะต้องมาสร้างให้งานศพขึ้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานและลอจิสติกส์ของสิ่งของและการบริการอื่นๆ อย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น พวงหรีดต่างๆนั้นมีมูลค่าไม่น้อยเลยแล้วแต่ขนาดและความสวยงาม การจัดการพวงหรีดก็อาศัยกระบวนการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเข้ามาจัดการเพื่อให้พวงหรีดถึงงานศพอย่างถูกที่ถูกเวลา อย่างเช่น เมื่อรู้ว่าจะไปงานศพใครแล้ว ตั้งสวดอยู่ที่ไหนแล้ว เราก็ยกหูโทรศัพท์บอกร้านดอกไม้ว่าจะเอาพวงหรีดในระดับราคาไหน แล้วก็บอกวัดบอกศาลา บอกชื่อคนตายสักหน่อย พอใกล้ถึงเวลาสวด หรือเย็นๆ บ่ายๆ ทางร้านก็จัดการหารถมอเตอร์ไซด์มาส่งพวงหรีดให้ถึงศาลาที่สวด



ตอนที่ส่งมอเตอร์ไซด์นี่เป็นลอจิสติกส์ เพราะว่าบ้านเราจะมีนวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้เอาเก้าอี้หงายขึ้นเพื่อให้สี่ขาของเก้าอี้ชี้ขึ้นเพื่อเอาไว้แขวนพวงหรีดเพื่อที่จะนำส่งไปยังวัดต่างๆ กิจกรรมตรงนี้เป็นกิจกรรมลอจิ สติกส์ แต่ตอนที่ส่งพวงหรีดนั้นผมเคยนั่งสังเกตุดูว่าพวกคนส่งพวงหรีดแต่ละแห่งจะมีความละเอียดไม่ตรงกัน คนส่งบางคนเดินตรงรี่เข้ามาแล้วก็ยื่นพวงหรีดให้เจ้าหน้าที่ศาลาทันที ไม่พูดไม่จา บางคนยังไม่ถอดหมวกกันน็อกเลย เดินดุ่มๆ เข้ามาเหมือนมือปืนเลย เขาส่งถูกที่หรือเปล่า ก็ไม่รู้ ไม่สนใจ บางคนก็มีแผ่นกระดาษมาถามถึงข้อมูลและตรวจสอบให้ถูกต้อง นั่นไงครับการจัดการข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ถึงที่หมาย พวกมอเตอร์ไซด์ส่งพวงหรีดเหล่านี้ก็เป็นโซ่อุปทานในการส่งพวงหรีดสำหรับงานศพ ส่วนร้านดอกไม้ ร้านพวงหรีดจะเป็นผู้ผลิตกระเช้าดอกไม้หรือพวงหรีด ส่วนพวกสวนดอกไม้ที่ปลูกดอกไม้ต่างๆ ก็จะเป็น Suppliers ให้กับร้านดอกไม้อีกทีหนึ่ง นั่นไงโซ่อุปทานพวงหรีดในงานศพ



มางานศพ ไม่กินข้าวต้มงานศพก็ไม่ได้ นั่นดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาการไปเป็นชุดของว่างที่มีขนมและน้ำผลไม้ต่างๆ ร้านอาหารหรือร้านเบเกอรี่ดังๆ ทั้งหลายก็หันมาจับตลาดทางด้านนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าภาพที่มีฐานะหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ผมเห็นเป็นบุฟเฟ่ต์เลยครับ มาถึงงานตอนเย็นหิวๆ ก็กินข้าวกันเสียก่อน ไม่ต้องเป็นอาหารว่างให้ยุ่งยากแล้ว เลี้ยงให้เต็มที่ไปเลย เหมือนงานศพในต่างจังหวัดเลยครับ บางรายมีฐานะหน่อย แจกข้าวกล่องเบนโตะเหมือนในร้านฟูจิเลยครับ เลี้ยงกันอย่างนี้ไปสวดครบเจ็ดวันเลยครับ ในกรุงเทพมัวแต่เลี้ยงของว่างกันอยู่นั่นแหละ เรื่องของการจัดเตรียมอาหารทั้งหนักทั้งเบาไว้ตอนรับแขกที่มางานศพก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโซ่อุปทานอาหารในแต่ละวันที่มีการสวดศพ ประเด็นของเรื่องนี้ เจ้าภาพจะต้องพยาการณ์หรือประมาณการว่าจะมีแขกมางานจำนวนเท่าไหร่ ต้องพยายามอย่าให้ขาด หรือไม่ให้เหลือมากจนเกิดไป นี่ก็เป็นการจัดการโซ่อุปทานอาหารในงานศพแบบหนึ่งที่เราจัดการโซ่อุปทานโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ลองคิดดูสิครับว่า ทุกเม็ดเงินที่เจ้าภาพจ่ายเงินไป ก็ต้องจ่ายให้กับโซ่อุปทานใดโซ่อุปทานหนึ่งเสมอ



นอกจากเม็ดเงินที่เจ้าภาพจ่ายไปแล้ว ก็ยังมีเม็ดเงินที่แขกช่วยเหลือเป็นซองมาอีกด้วย เจ้าภาพก็จะนำเงินเหล่านั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งหลาย ส่วนที่เหลือก็จะนำไปทำบุญตามศรัทธา ถือว่าเป็นระบบการเงินที่ทำให้เกิดการไหลของโซ่อุปทานต่างๆ ในสังคมได้ดี เป็นธรรมเนียมเหมือนงานแต่งงาน แต่มีงานศพบ่อยๆ ก็ไม่ดี คนเราตายได้ครั้งเดียวและเป็นเรื่องที่เรายังไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่เหมือนงานแต่งที่มีได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแต่งงานบ่อยๆ แล้วจะดี ใช่ไหมครับ



ส่วนวัดนั้นเป็นโครงสร้างที่สำคัญของงานศพ การจัดการแต่ละวัดก็ไม่เหมือนกัน ในกรุงเทพฯ มีวัดดังๆ หลายวัด แต่ละวัดนั้นมืออาชีพไม่แพ้โรงแรมชั้นหนึ่งเลยทีเดียว มีระบบการจัดการ และเจ้าหน้าที่ดูแลพร้อมสรรพ อีกทั้งทั้งคำแนะนำกับเจ้าภาพศพเป็นอย่างดี รวมทั้งราคาค่าใช้จ่ายในหมวดการบริการต่างๆ ให้เจ้าภาพได้เลือกใช้ แต่นั่นแหละครับ ของดีๆ สะดวกสบายก็ตามมาด้วยต้นทุนที่จะต้องยอมรับได้ วัดและศาลาที่สวดศพจะเป็นจุดรวมของโซ่อุปทานทั้งหมดของงานศพ เป็นจุดบริการ (Service Point) จะต้องเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งของวัด การเข้าและออกของแขกที่มางานศพ การจัดการจราจรภายในวัด การจัดตารางเวลาการสวด รวมทั้งเวลาการเผาที่จะต้องจัดตารางๆ ให้เหมาะสมและต่อเนื่องกัน ลองคิดดูนะครับ สมมุติว่าวัดนั้น 10 ศาลามีสวด พร้อมทั้งเผาอีกสองศพ รวมกันเป็น 12 ศพ แขกที่มาทั้งหมด 12 กลุ่มในวันนั้น ผมว่าไม่แตกต่างจากการจัดรอบฉายหนังตามโรงหนังเลยครับ แถมยากว่าอีก แต่ก็ขึ้นกับว่า แขกของแต่ละศพนั้นมากแค่ไหน เป็นคนดังในสังคมมากแค่ไหน แล้วยิ่งคนดังศพดังมาเจอกันในวัดเดียวกัน สวดวันเดียวกัน เผาวันเดียวกัน ปัญหาก็ คือ หาที่จอดรถไม่ได้ กว่าจะถึงวัดก็สวดเสร็จไปแล้ว อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าหลายๆ ท่านก็คงจะเคยประสบกันมา



มุมมองนี้ใช้กับงานแต่งงานได้ แต่งานแต่งงานใหญ่กว่า หรูกว่า ลงทุนมากกว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่า สำหรับงานศพตรงกันข้าม เล็กกว่า แต่มากวันมากกว่า แขกที่มางานสามารถเลือกวันมาได้ แต่งานไหนจะได้กำไรมากกว่าก็แล้วแต่นะครับ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ต่อเราก็ตาม ทุกคนที่อยู่ในโซ่อุปทานเหล่านั้นก็ได้คุณค่าในรูปแบบของผลตอบแทนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างและผลกำไรไปกินไปใช้ไปหาประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตต่อไปจนกว่าจะถึงวันตายของตัวเอง เป็นวัฏจักรของสังคมมนุษย์มิรู้สิ้น หรือจนกว่ามนุษย์จะสูญสิ้นไปจากโลกนี้