วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ประชุม 6 สถาบันฯ -- 1.มุมมองความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

มุมมองความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

เรื่องความมั่นคงแห่งชาติโดยทั่วไปจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ เรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม แต่ในโลกยุคใหม่สังคมก็ถูกคุกคามได้ด้วยภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งที่ก็ยังมีความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะมุมไหนๆก็เป็นความมั่นคงเหมือนกันและถูกทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราจะสามารถหาประโยชน์จากมุมมองของความมั่นคงแห่งชาติในความเป็นองค์รวม (Holism) ที่บูรณาการทุกภาคส่วนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างไร? ทุกๆหน่วยงานต่างก็มีมุมมองในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติตามภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องของทุกคน ของทุกภาคส่วน และของทุกหน่วยงานในทุกระดับชั้น ความมั่นคงแห่งชาติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าชาติไม่มีความมั่นคงแล้ว ก็คงจะไม่มีชาติหรือเกิดความสั่นคลอนในความเป็นชาติซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของคนในชาติได้

ความมั่นคงแห่งชาติสามารถพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ ความมั่นคงและความเป็นชาติ ความมั่นคงเป็นเรื่องของศักยภาพของชาติในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะอยู่รอดหรือปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดในท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัต (Dynamics) รุนแรง (Severe) และไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Unpredictable) ความมั่นคงอาจจะไม่ใช่เรื่องของความแข็งแรงหรือแข็งแกร่งอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในอนาคตต่อไปนี้ใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่อยู่รอด (Survival) และคงอยู่ได้ (Existing) ส่วนคำว่าชาตินั้น ปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้มีความหมายถึงกลุ่มคนที่จะต้องเป็นเชื้อชาติเดียวกันแล้ว เพราะว่าความเป็นโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เราทุกคนเป็นประชากรของโลกเดียวกัน แต่มนุษย์เราก็ยังมีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆ เป็นชาติต่างๆ เป็นประเทศต่างๆ ซึ่งอาจจะเริ่มจากความเป็นเชื้อชาติเดียวกัน แต่ในปัจจุบันหลายประเทศเกิดจากการรวมกลุ่มกันจากหลายเชื้อชาติที่มารวมกันเป็นชาติ เพราะว่ามีจุดมุ่งหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถ้าคนในชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีชีวิตอยู่ร่วมกันจนเป็นสังคมที่มีระบบการจัดการตัวเองได้ (Self-Organization) สังคมหรือประเทศชาตินั้นก็อยู่รอดได้

ความมั่นคงของชาติในอีกมุมมองหนึ่งที่นอกเหนือจากการป้องกันประเทศ คือ ความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่จะทำให้เกิดเป็นสังคมที่สามารถปรับตัวได้กับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันที่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complex) และปรับเปลี่ยน (Adaptive) อยู่ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่ามีความเป็นพลวัต (Dynamics) ดังนั้นการสร้างและการดำรงไว้ของความมั่นคงแห่งชาติ ก็คือ การสร้างและพัฒนาสังคมที่มารวมตัวกันเป็นชาติให้มีลักษณะเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System : CAS)

ระบบ (System) ในความหมายทั่วไปจะประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยต่างๆ (Components) หรือระบบย่อยต่างๆ (Sub-System) ภายในที่ถูกเชื่อมโยงกัน (Connectedness) โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นความเป็นระบบนั้นจะหายไป ความเป็นระบบที่สร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับมนุษย์เรานั้นจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ (Components) และการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (Interactions) ระหว่างองค์ประกอบภายในระบบ ถ้าขาดความเชื่อมโยงและขาดการมีปฏิสัมพันธ์กัน ความเป็นระบบก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นแค่สิ่งของที่ถูกนำมากองรวมกัน (Collections) ไม่ได้เกิดเป็นประโยชน์ใหม่หรือคุณค่าใหม่ (Values) หรือเป็นแค่กลุ่มคนที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร การเชื่อมโยงและการมีปฏิสัมพันธ์กันขององค์ประกอบในระบบหรือสังคมที่สร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ร่วมกัน คือ พื้นฐานของการบูรณาการ (Integration)

ถ้าระบบที่ไม่ซับซ้อนมาก เราก็สามารถที่จะเข้าใจองค์ประกอบและความสัมพันธ์ภายในระบบได้ จึงทำให้เราสามารถควบคุมระบบได้ แต่ส่วนมากแล้วระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้น มนุษย์เราจะเป็นคนกำหนดและออกแบบระบบนั้น มนุษย์จึงมีความเข้าใจองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมดของสิ่งนั้นหรือระบบนั้นๆ มนุษย์เราจึงสามารถควบคุมระบบได้ทั้งหมด แต่ระบบหลายระบบทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราก็อาจจะยังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เพราะเรายังไม่สามารถเข้าใจถึงองค์ประกอบทั้งหมดและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมด ระบบในอดีตนั้นจะดูเรียบง่าย (Simple) เพราะว่าเรามีความเข้าใจในองค์ประกอบและเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบนั้น

ในหลายๆระบบนั้นเรามีความเข้าใจและได้เห็นพฤติกรรมของความสัมพันธ์ขององค์ประกอบนั้นในลักษณะที่เป็นเส้นตรง (Linear) หรือเป็นเหตุเป็นผลโดยตรง เช่น เราใส่ปัจจัยเข้า (Input) ไปในระบบน้อยก็ควรจะได้ปัจจัยออก (Output) มาน้อย ใส่ปัจจัยเข้าไปในระบบมากก็ควรจะมีปัจจัยออกมามาก มีความแปรผันกันโดยตรงระหว่างปัจจัยเข้าและปัจจัยออก เราสามารถคาดการณ์ (Predict) พฤติกรรมของระบบได้ ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพียงแต่สิ่งที่เราได้รับรู้หรือเห็นนั้นเป็นไปในลักษณะที่เป็นเชิงเส้น (Linear) เราจึงเรียกว่าเป็นระบบแบบเรียบง่าย (Simple)

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้สึกนึกคิดและความสามารถในการตัดสินใจของคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อโครงสร้างและพฤติกรรมของสังคมโดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม รวมทั้งความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารในการติดต่อสื่อสารจึงทำให้การตัดสินใจของคนในสังคมเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สังคมต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้สภาวะแวดล้อมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนและรวดเร็วเช่นกัน จากสังคมดั้งเดิมที่เป็นระบบที่ง่ายๆ (Simple) มาเป็นสังคมยุคใหม่ที่เป็นระบบที่ซับซ้อนขึ้น (Complex) ซึ่งหมายถึง เป็นระบบที่ยากต่อการคาดการณ์หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Unpredictable) หรือว่ามีลักษณะพฤติกรรมเป็นแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) ซึ่งหมายถึง เราใส่ปัจจัยเข้า (Input)ไปในระบบน้อย แต่กลับมีปัจจัยออก (Output) มามากกว่า หรือเราใส่ปัจจัยเข้าไปในระบบมากแต่กลับได้ปัจจัยออกมาน้อยกว่า หรือระบบมีพฤติกรรมลักษณะโกลาหลวุ่นวายจนควบคุมไม่ได้ ที่เรียกว่า Chaos

ระบบที่เป็นสังคม

ในระบบที่มีความสามารถในการคิดและตัดสินใจเองได้ ระบบก็จะปรับตัวเอง (Self Organization) เพื่อความอยู่รอด ทำให้ระบบนั้นมีความสามารถในการปรับตัว (Adaptive) ดังนั้นสังคมที่เราอยู่นี้จึงประกอบไปด้วยคนที่มีสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิดและสามารถเอาตัวรอดได้หรือมีปัญญา (Intelligence) สังคมในปัจจุบันจึงเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ (Complex Adaptive System : CAS) ถ้าเราจะจัดการกับสังคมของเราหรือจะสร้างความมั่นคงให้กับชาติซึ่งเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยสังคมขนาดเล็กๆมากมายอย่างสลับซับซ้อนและมีความเป็นพลวัตสูง แต่ละสังคมและคนในสังคมก็ต้องปรับตัวเองอย่างอิสระภายใต้กฎของสังคม เราคงจะต้องกลับมาทบทวนวิธีการคิดและวิธีการมองความมั่นคงของชาติในมุมมองใหม่ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์ (Analysis)และการสังเคราะห์(Synthesis) ด้วยการมองแบบองค์รวม (Holistic) ไม่ใช่เป็นการมองแบบแยกส่วน (Reductionism) เหมือนในปัจจุบันที่ยังแยกกันคิด แยกกันทำ แล้วจึงการนำมารวมกัน (Collections) แต่ยังไม่ได้เป็นนำมาบูรณาการกัน (Integration) อย่างเป็นองค์รวม

ในระบบทั่วไปจะมีองค์ประกอบภายในที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน (Interactions) อย่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน (Same Purpose) ผลลัพธ์ของระบบนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบย่อยแต่ละองค์ประกอบและยังรวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบย่อยของแต่ละองค์ประกอบด้วย ชาติเป็นสังคมที่ประกอบด้วยสังคมย่อยๆและแต่ละสังคมก็ประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลแต่ละบุคคล สังคมจึงเป็นระบบ (System) ที่แตกต่างจากระบบอื่นๆที่เกิดจากธรรมชาติหรือระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะว่าองค์ประกอบของสังคมคือ มนุษย์ที่มีความรู้สึกนึกคิดและมีสติปัญญา (Intelligence) ที่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่มีผลต่อตัวเอง (Self Interest)ได้ และมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal) ซึ่งจะมีผลต่อสังคมหรือระบบโดยรวมด้วย

องค์รวมของความมั่นคงแห่งชาติ

ดังนั้นเราจึงต้องมองความมั่นคงของชาติอย่างเป็นองค์รวม(Holism)โดยมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของสังคมที่มนุษย์คนนั้นอาศัยอยู่และขยายผลไปสู่ความมั่นคงของชาติที่ประกอบไปด้วยสังคมย่อยต่างๆ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลที่เราต้องพิจารณา ก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ของคนในสังคม ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน คนหรือประชาชนในชาติต้องได้ผลประโยชน์ (Values) ในการดำรงชีวิต และต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวมด้วย ภาพที่ 1 -1 แสดงให้เห็นถึงภาพรวมขององค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติในบริบทของสังคมโลก ยุทธศาสตร์ชาติประกอบไปด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ คือ 1) การเมืองภายในประเทศ 2) การเมืองต่างประเทศ 3) เศรษฐกิจ 4) สังคมจิตวิทยา 5) การป้องกันประเทศ 6) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7) การพลังงาน 8) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 9) เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT)



จากภาพที่ 1-1 คนในชาติจะต้องมีกระบวนการทางสังคม (Social Process) ซึ่งมีกฎหมายที่ควบคุมและพัฒนาคนในสังคม เราสามารถพิจารณาประเด็นด้านสังคมจิตวิทยาเป็นองค์ประกอบด้านความมั่นคงที่สำคัญเป็นแกนกลางของความมั่นคงแห่งชาติได้ เพราะถ้าคนในชาติอ่อนแอเสียแล้ว ชาติก็อ่อนแอเช่นกัน อาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆก็ไร้ความหมาย ประเด็นด้านเศรษฐกิจจะมาช่วยให้คนในสังคมได้จัดสรรและสร้างสมดุลทรัพยากรต่างๆในการสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสังคม เนื่องจากสังคมมนุษย์เป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวเองได้ สังคมย่อมจะเกิดแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในสังคม ระหว่างสังคม และจากสังคมของชาติอื่นๆในสังคมโลก

สังคมในโลกนี้จริงๆแล้วเป็นระบบเปิด (Open System) เพราะทุกคนอยู่ในระบบโลกเดียวกัน ในเชิงกายภาพเราทุกคนในโลกนั้นเชื่อมโยงกันหมด เพียงแต่เราสร้างเส้นแบ่งกั้นกันในเชิงสังคม (Social Boundary) เท่านั้นเพื่อผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรในการดำรงชีวิตและความสุขสะดวกสบายของคนในแต่ละสังคม ดังนั้นคนในสังคมจะต้องมีข้อตกลงกันในสังคมและในชาติเพื่อให้เกิดการจัดการสังคมให้เกิดความสมดุล ประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศจึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการสังคมให้มีประสิทธิภาพและให้มีความสมดุล รวมทั้งประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงสังคมในชาติกับสังคมชาติอื่นๆทั่วโลกเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งสรรผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องของการเมืองนั้นจึงเป็นการสร้างข้อตกลงระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง ทั้งนี้ก็เพื่อลดแรงกดดันและสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งภายในชาติและระหว่างชาติอื่นๆด้วย ในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในชาติ

กระบวนการทางสังคมจะทำให้คนในชาติเกิดการพัฒนา เมื่อคนในชาติเกิดการพัฒนาแล้ว สังคมก็จะพัฒนาตามไปด้วย อย่างไรก็ตามคนแต่ละคนมีระดับของศีลธรรมและจริยธรรมที่แตกต่างกันไป ปัญหาสังคมจึงเกิดขึ้นจนเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาและยกระดับของสังคม ดังนั้นการทำงานร่วมกัน (Collaborations) หรือที่เราสามารถเรียกว่าเป็นการสมานฉันท์จึงเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมและในชาติ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด โดยไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง การสมานฉันท์จึงไม่ใช่การที่จะยอมรับข้อตกลงใดๆ เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือการยอมกันเพื่อให้สงบ แต่เป็นข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์โดยส่วนรวมในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งต้องมาก่อนประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มหรือพวกพ้อง

นอกจากนั้นประเด็นของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประเด็นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเด็นของสิ่งแวดล้อม ประเด็นของพลังงาน ก็เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนกระบวนการทางสังคมและกระบวนการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลให้คงอยู่ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
ประเด็นสุดท้าย คือ ประเด็นของการป้องกันประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่เริ่มจากการใช้กำลังเข้าควบคุมสังคมด้วยการใช้การทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามหรือคุกคามฝ่ายตรงข้าม เพื่อไม่ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต กระบวนการในการป้องกันประเทศจะถูกใช้เมื่อประเด็นทางด้านความมั่นคงอื่นๆล้มเหลวลง เช่น ไม่สามารถเจรจากันระหว่างประเทศได้ การขาดแคลนทรัพยากรจนกลายเป็นการแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ความเข้าใจกันระหว่างคนในสังคมระหว่างชาติหรือภายในชาติ เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงพื้นฐานให้กับชาติก่อนการดำเนินการในด้านอื่นๆเพื่อให้สังคมหรือชาติกลับคืนสู่ความมั่นคง
ในอดีตนั้นการป้องกันประเทศจะเน้นไปที่การป้องกันภัยคุมคามทางกายภาพ การคุกคามด้วยอาวุธสงครามและการทำลายล้าง แต่ปัจจุบันรูปแบบของภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิตินอกเหนือจากการทำสงครามทำลายล้างแล้ว ความมั่นคงของชาติยังถูกคุกคามในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องของพลังงาน

ดังนั้นความมั่นคงของชาตินั้นจึงไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เป็นองค์ประกอบของสังคมในชาติ ความมั่นคงของชาติเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ทุกองค์ประกอบที่เป็นองค์ประกอบของชาติย่อมมีผลต่อความมั่นคงของชาติ เพียงแต่ว่าภัยคุกคามจะมาในรูปแบบไหน ในบริบทไหนบ้าง และเราได้รับรู้ถึงความเป็นองค์รวม (Holism) ของความเป็นชาติอย่างไรบ้าง เราเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของความเป็นชาติอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ชาติของเรานั้นสามารถมีความเป็นพลวัต (Dynamics) ในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัต (Complex and Dynamics Environment) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของสังคมต่างๆจนกลายเป็นความมั่นคงของชาติในที่สุด


การประชุมทางวิชาการระหว่างหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 2
หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทย”
ประเด็นการนำเสนอ : การบูรณาการยุทธศาสตร์ชาติด้วยแนวคิดโซ่อุปทาน
ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม
นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 23