ระยะเดือน (เมษายน 2555) ที่ผ่านมานี้ ผมหลบไปหรือล่าถอย (Retreat) ไปคิดอะไรที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ก็ได้อะไรมามากพอสมควรสำหรับการแปลงสภาพความคิด (Transformation of Thinking) ในเรื่องการทำงานโดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่ที่จะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่หรือรวบรวมขึ้นมาใหม่ ตามปกติแล้วผมเก็บรูปภาพสวยๆ ไว้บ้างพอสมควร พอถึงเวลาผมก็นำออกมาใส่กรอบรูปเพื่อที่จะได้นำไปให้กับคนอื่นๆที่ผมนับถือหรือชอบพอกัน ผมไม่ได้เก็บไว้แขวนดูเองเลยครับ เพราะว่าไม่มีที่จะแขวนเท่าไหร่นัก กำแพงในบ้านและ Office ผมนั้นกลายเป็นชั้นหนังสือซะหมดเลย ช่วงนี้พอมีเวลาก็เลยขนรูปเหล่านั้นไปใส่กรอบรูปที่ร้านประจำ ซึ่งมีกรอบรูปมากมายหลายแบบหลายขนาด รวมทั้งเม้าท์ (Mount) ในกรอบรูป การเลือกแบบของกรอบรูปและเม้าท์ที่เข้ากันได้และลงตัวจะทำให้รูปนั้นดูเด่นขึ้นมาทันที ระหว่างที่ผมเลือกแบบทั้งกรอบรูปและเมาท์สีต่างๆ ให้เข้ากับรูปเหล่านั้น ทำให้ผมขึ้นถึงคำว่า Frame หรือ กรอบ และ Framework หรือกรอบการทำงานขึ้นมาทันที ว่าทำไมรูปต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะต้องอยู่ในกรอบรูป ไม่ต้องมีกรอบรูปไม่ได้หรือ? รูปดีๆ สวยๆ ไม่ต้องมีกรอบก็ได้ รูปที่ไม่ค่อยสวยนัก แต่พอได้กรอบดีก็ดูดีไป ส่วนรูปที่สวยอยู่แล้วนั้น แต่ถ้าได้กรอบไม่สวยแล้ว ผลออกมานั้นก็พลอยไม่สวยไปด้วยเลย แล้วรูปที่ไม่มีกรอบก็คงจะไม่ได้แขวนไว้ให้คนได้เห็นหรือชื่นชม คงจะถูกเก็บไว้หรือสอดไว้ที่ใดสักแห่งหนึ่งในลิ้นชักหรือตู้ หรืออาจจะกองทับอยู่กับหนังสือหรือกองกระดาษอื่นๆ จึงทำให้คนไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ชื่นชม
หันกลับมามองชีวิตคนเรา การทำงานของคนเรา ถ้าเราไม่มีกรอบของการดำรงชีวิต หรือกรอบของการทำงานแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง ที่จริงแล้วกรอบรูปนั้นไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องอะไรกับรูปเลย แต่กรอบรูปก็ทำให้คนที่มองได้รับความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป รูปเดียวกันแต่มีกรอบรูปที่แตกต่างกันไป เวลามองก็ให้ความรู้สึกที่ต่างกันออกไป คนเรามีชีวิตอยู่ในสังคมหรือทำงานในองค์กร ก็ต้องมีกรอบในการดำรงชีวิตและกรอบการทำงาน สังคมในแต่ประเทศหรือแต่ละภูมิภาคของโลกก็มีกรอบการดำรงชีวิตและกรอบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้การดำรงชีวิตของคนในแต่ละสังคมและองค์กรนั้นแตกต่างกันออกไป แต่คนทุกในโลกนี้ก็อยู่ในรูปภาพเดียวกันหรือโลกเดียวกันที่มีธรรมชาติเป็นกรอบของการดำรงชีวิต เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เป็นกรอบที่ใหญ่ที่สุดที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งไว้
กรอบทำให้เราอยู่ในขอบเขต กรอบทำให้เรามุ่งเน้น (Focus) เพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้ที่มองดูหรือเจ้าของภาพ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนว่า กรอบต่างๆ เหล่านั้นในชีวิตเราจะกำหนดและจำกัดความคิดหรือความรู้สึกรวมทั้งการกระทำต่างๆ ของเรา แต่กรอบเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนในภาพเหล่านั้นโดยตรง เช่นเดียวกับการทำงานหรือชีวิตเราที่เรามักจะคิดว่ากรอบต่างๆนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ที่จริงแล้วเราเองต่างหากเป็นคนที่ตีกรอบหรือกำหนดกรอบในการดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเราเองหรือสังคมของเราเองมากที่สุด กรอบเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา มีผลต่อความคิดของคนในสังคม กรอบรูปไหนที่ไม่ดีไม่เหมาะหรือไม่สวย เราก็สามารถถอดทิ้งได้ แล้วใส่กรอบใหม่ให้เหมาะสมหรือเข้ากับรูปอื่นๆ ที่ใส่กรอบประเภทเดียวกัน เช่นเดียวกันชีวิตเราจะรู้สึกดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเราที่ใส่เข้าไปในชีวิตเรา การทำงานของเราจะได้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเราในการทำงาน แล้วลองคิดอยู่ว่าถ้าคนในองค์กรทั้งหมด มีกรอบความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อมองเข้ามาจากข้างนอกแล้ว ก็ยิ่งเห็นความไม่เข้ากันหรือความไม่ลงตัวมากยิ่งขึ้น หรือคนในชาติมีกรอบความคิดที่แตกต่างกัน การทำงานและการดำรงชีวิตก็คงจะไม่สะดวกและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือไม่เหมาะสมที่สุด (Optimal) ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำของสังคมจะเปลี่ยนกรอบความคิดของสังคมไปในทางใด ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนกรอบความคิดของแต่คนในสังคม อันจะนำพาไปสู่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในสังคม
ที่สุดแล้วเราก็เป็นคนที่ตีกรอบให้ชีวิตเราเอง เรากำหนดเอง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สังคมและสมาชิกของสังคมก็ควรจะต้องคิดนอกกรอบจนถึงขั้นจะต้องเปลี่ยนกรอบใหม่ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะกรอบความคิดของผู้นำในสังคม ซึ่งจะต้องนำพาให้คนอื่นๆ ในสังคมเปลี่ยนตามกันไปด้วย เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป สภาพของบริบทในสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา กรอบเก่าๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้ภาพนั้นดูดีขึ้น หรือทำให้สังคมดีขึ้น รูปเก่าๆ เรายังนำมาใส่กรอบใหม่เลย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดตามกรอบความคิดของสังคมโลกที่เป็นกรอบของภาพใหญ่ของโลกเรา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเข้ากันได้ไปทั่วกันทั้งระบบ เพื่อประโยชน์ของสังคมโลกเชิงองค์รวม