วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

Research - ตอบ เมล์ "งานวิจัยเมื่อไรจะลงจากหิ้ง ตอนที่ 2"

ผมได้ตอบเมล์  "งานวิจัยเมื่อไรจะลงจากหิ้ง ตอนที่ 2"   ของอาจารย์ดร.ดวงพรรณ ไว้   ไหนก็เขียนแล้วก็เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

ผมไม่ได้เมล์นี้มานานมากๆ โผล่มาก็ตอนที่สองเลย     ก็ไม่รู้ว่าตอนแรกเป็นอย่างไรแล้ว   แต่ก็พอจะเข้าใจบ้างในภาพรวมที่อาจารย์ดวงพรรณและนักวิจัยทั้งหลายกำลังพยายามทำกันอยู่  ผมขออนุญาตพูดในฐานะผู้บริโภคงานวิจัยนะครับ  ไม่ใช่นักวิจัย  เพราะระยะนี้ผมไม่ค่อยได้ทำงานวิจัยเท่าไหร่   แต่ก็พยายามที่จะเอาความรู้จากงานวิจัยต่างๆ ไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม

ผมบอกอาจารย์ดวงพรรณเสมอว่า  อย่าเอางานวิจัยลงจากหิ้งเลยเอาไว้อย่างนั้นเถอะครับ   แล้วนักวิจัยก็พัฒนาหิ้งให้สูงขึ้น  องค์ความรู้จะได้สูงขึ้น   ผมไม่เห็นด้วยที่เหล่านักวิจัยจะทุ่มตัวทั้งหมดลงจากหิ้ง    แต่อาจจะมีคนบอกว่า  แล้วจะทำวิจัยไปให้ใครเล่า   ผมว่าก็เอาไปขายให้คนที่เห็นค่าและเห็นประโยชน์ดีกว่า    โลกสมัยนี้มัน Connected กันหมด Globalization  กันหมดแล้วเอาไปขายทั่วโลก  แล้วประเทศไทยล่ะครับ   ก็คนใช้งานยังไม่สนใจเลย เพราะยังไม่เข้าใจในกระบวนการดำเนินงานที่เป็นปกติสากลกัน   ความคิดยังไม่ได้มาตรฐานหรือเป็นสากล   เอาเป็นว่ายังลูกทุ่ง  ลูกทุ่งกันอยู่    ทำวิจัยแล้ว  คนไทยไม่ได้ใช้  ก็คิดว่าทำเพื่อโลกก็แล้วกันครับ

ที่จริงแล้วมันก็เป็นเรื่องของผู้ใช้งานวิจัยหรือธุรกิจอุตสาหกรรมเองด้วยที่จะต้องปรับตัว  ไม่ใช่สิปรับความคิดและกรอบความคิด  ผมเคยบอกว่าจะต้องทำให้พวกผู้ใช้งานทั้งหลายเขาปีนหิ้งขึ้นมาดูงานวิจัยของอาจารย์ทั้งหลายและของต่างประเทศที่ทั่วโลกเขาทำกัน    นั่นหมายถึงพวกเขาจะต้องมีความรู้พื้นฐานต่างๆ ในการตัดสินใจในเชิงการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือการบริการสาธารณะ (Public Sector)  อาจารย์ดวงพรรณเขียนไว้ว่า  การทำนโยบาย หรือการตัดสินใจระดับประเทศเกิดขึ้นบน “ความรู้สึก”  นั่นไงครับ   ผมก็รู้สึกได้อย่างนั้นเหมือนกัน  ประสบมาเหมือนกัน  เพราะว่าการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประเทศเองยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่   จริงมากน้อยอย่างไรผมก็พิสูจน์ไม่ได้   แต่ที่ได้พบประสบมานั้นก็คงจะมีความเห็นเหมือนกับอาจารย์ดวงพรรณครับ     นั่นสำหรับ Public Sector

ส่วนทางด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นเหล่าผมก็ว่าลูกทุ่งพอๆ กัน   ท่านมีเงินเยอะมีความคิดดี    มี Leadership สูง  แต่ขาดกระบวนการในการตัดสินใจที่เหมาะสม   ยิ่งเป็นการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ด้วยแล้ว     ตอนที่คิดและตัดสินใจในอดีต   เงินไม่กี่ล้านคิดแบบลูกทุ่งได้   แต่พอเป็นพันๆ ล้าน  และยิ่งในปัจจุบันมันยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น    มันคงจะเป็นเหมือนเดิมไม่ได้แล้วกระมังครับ     คิดแบบหนึ่งสมอง  สองมือเปล่า  บนเงินเป็นพันๆ ล้าน   ส่วนลูกน้องก็อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยวลีเด็ด  มือดำ ทำจริง  แต่คิดไม่เป็น  คิดต่อยอดไม่ได้    ไม่รู้จักวิธีการคิด การวางแผน   เรื่องราวนี้ไม่ใช่   ไม่เคยเรียนมา  พวกผมอาจารย์ไม่ใช่ไม่เคยสอน   แต่ทำไมไม่เอาไปใช้  หรือเป็นเพราะผมเองและเพื่อนอาจารย์ทั้งหลายอาจจะสอนไม่ได้ดี    ไม่ใช่สิผมคนเดียวมั้ง   ความคิดและความรู้จึงไม่เข้าถึงนักปฏิบัติเหล่านี้  พวกเขาก็เลยไม่ได้สนใจความรู้หรือวิชาการ    ผมเองนั้นโดนเป็นประจำ   เวลาไปบรรยายให้นักปฏิบัติฟัง   อาจารย์ไม่เอาวิชาการนะ   เอาแต่ปฏิบัติที่ทำได้    ผมเองก็นึกอยู่ในใจว่าที่พวกท่านทำกันได้อยู่ทุกวันนี้เนี่ยนะ  ก็เพราะวิชาการทั้งนั้น  ถ้าไม่มีวิชาการรองรับนะ  ป่านนี้จะมีอะไรเหลือบ้าง  ตึกคงจะพังกันหมด  โรงงานคงจะวุ่นวายกันมากๆ

เมื่อธุรกิจโตขึ้น  หรือฟุตบอลเปลี่ยนลีก  เทคนิคการเล่นหรือเทคนิดการดำเนินงานก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามระดับความยาก  เช่นกันครับ  นักปฏิบัติทั้งหลายก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆ  วิชาการใหม่   งานวิจัยใหม่ๆ   ถ้าวันนี้เหล่านักปฏิบัติในอุตสาหกรรมยังบอกไม่ได้ว่า พวกเขาใช้ความรู้อะไรบ้างตอนเรียนป.ตรี และป.โท มาใช้ในงานประจำวันบ้าง   ผมว่าการนำเอางานวิจัยลงมาจากหิ้งก็ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก     คิดไป คิดมาดูแล้วถ้าจะสร้างให้พวกเขาให้ขึ้นมาอ่านงานวิจัยบนหิ้งอย่างผมว่ามันก็อาจจะยากกว่าเอาลงจากหิ้งมาอีก    ประเด็นของผมก็คือ ถ้าจะเอามาจากหิ้งแล้ว  ทำให้เขาบริโภคง่ายๆ แล้ว  อีกหน่อยพวกเขาจะทำอะไรได้อีก  สุดท้ายก็ต้องป้อนให้เหมือนเดิม   แล้วมันจะพัฒนาได้อย่างไร      สุดท้ายแล้ว  นักวิจัยจะเอาตรงไหนเป็นจุดยืนดี  เพราะว่าเป็นนักวิจัยแล้ว  องค์ความรู้ใหม่ คือ สิ่งที่ท้าทายหนึ่ง    แต่เรานักวิจัยกลับมาเสียเวลากับโครงสร้างขององค์ความรู้ในกระบวนการปฏิบัติงานที่เป็นผลพวงของการพัฒนาการในสังคมและระบบการศึกษาของเรา

ผมไม่ได้คิดว่าคนอย่างผมหรือนักวิชาการอย่างผมที่ถูกตราหน้าว่า  เท้าไม่ติดดิน  ไม่ลงมือทำ    ไม่ได้เป็นคนวิเศษวิโสอะไรหรอกครับ   ถ้าจะพูดแล้ว  และวัดกันแบบเนื้อๆ เป็นตัวเงิน  ผมและนักวิจัยทั้งหลายนั้นยังห่างจากนักปฏิบัติหรือนักอุตสาหกรรมตัวจริงที่ทำเงินออกมามากมาย หรือมีผลตอบแทนเป็นเงินเดือนสูงๆ หรือมีโบนัสเป็นหลายเดือน   ผมสู้ไม่ได้หรอกครับ   นั่นคือ ผลลัพธ์ที่ผมมองเสมอว่า  พวกนักปฏิบัติเหล่านั้นเป็นตัวจริงแท้ๆ   วัดกันที่บรรทัดสุดท้ายตรงรายได้เลย   ผมไม่เคยคิดว่านักวิจัยจะเก่งเลิศเลอไปกว่าพวกนักปฏิบัติหรอกครับ   แต่ถ้าพวกท่านฟังและอ่านงานวิจัยจากนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศดูสักนิด   พวกเราต่างคนต่างทำหน้าที่กันไป   พวกที่คิดก็คิดไป   พวกที่ทำก็ทำไป   แต่ถ้าพวกที่คิดอย่างนักวิจัยสามารถทำงานร่วมกับนักปฏิบัติได้มีประสิทธิผลแล้ว  ผมคิดว่า  ท่านนักธูรกิจหรือปฏิบัติก็จะสามารถทำเงินเพิ่มได้อีกมากมายเลยทีเดียว

ว่าจะเขียนสั้นๆ นะครับ   ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร  แต่ยอมรับทุกความคิดครับ  แต่มันน่าจะมีทิศทางที่รองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมมากกว่านี้    มันเป็นกรอบความคิดของคนในสังคมที่ถูกขีดด้วยระบบการเรียนการศึกษาที่ทำให้คนไทยเรากลัวที่จะคิด   ไม่ใช่ไม่มีความสามารถในการคิด   ระบบสังคมที่เป็นอยู่ต่างหากที่มีอิทธิพลทำให้ความคิดไม่เกิดในคนหมู่มาก   ถ้าเรายังเอางานวิจัยในหิ้งชั้นที่หนึ่งลงมาแจกให้คนปฏิบัติบริโภคอย่างง่ายๆ เกินไป  โดยไม่ได้พัฒนาตัวพวกเขา    ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว  ผมว่าที่อื่นๆ ประเทศอื่นๆ นักปฏิบัติของเขาไม่รู้ว่าปีนขึ้นไปบริโภคงานวิจัยบนหิ้งชั้นสาม หิ้งชั้นสี่กันแล้วหรือไม่   ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ