วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

Basic – Logistics กับ Logistics Management ต่างกันอย่างไร?

เขียนเรื่องนี้เพื่อเตรียมสอนในวันเสาร์อาทิตย์นี้  ก็เลยต้องกลับไปที่พื้นฐานและแนวคิดอีกครั้งหนึ่ง  เคยจำได้ว่าได้เขียนไปบ้างแล้วในหมวด Basic  คราวนี้ลองเขียนดูให้ละเอียดอีกสักครั้งให้มันแจ่มไปเลย  ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในความหมายของลอจิสติกส์เสียก่อน (ก็ไม่รู้ว่าอธิบายกันมากี่รอบแล้ว  ก็ลองไปค้นหากันดูในบันทึกของผมใน FB  หมวด Basic นะครับ  เรื่อง  Basic แล้วลอจิสติกส์ คือ อะไร)  ในมุมมองของผมนั้น  Logistics เป็นการไหลของทรัพยากรในการสร้างคุณค่าทั้งหมดในขอบเขตที่เราสนใจ  เช่น  ในองค์กร (จัดหา จนถึงจัดส่งและขาย) ในแผนกหรือฝ่าย (เริ่มต้นจนจบงาน) หรือทั้งอุตสาหกรรม (ต้นน้ำยันปลายน้ำจนถึงมือผู้บริโภค ) โดยเน้นที่คุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ลูกค้าต้องการ   ดังนั้นทรัพยากรทั้งหลายจะต้องไหลมาบรรจบกันเพื่อสร้างหรือแปรสภาพให้มีคุณค่าเพิ่มตามที่ลูกค้าต้องการในสภาพที่ถูกเวลาและสถานที่   ถ้าผิดพลาดก็จะเกิดเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลัง (ของเกิน)  และวัตถุดิบหรือสินค้าขาดแคลน (ของขาด)   ลอจิสติกส์ที่ดีก็คือ การไหลทรัพยากรทั้งหลายให้ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าจนเป็นผลิตภัณฑ์และบริการไปจนถึงมือลูกค้าผู้บริโภคเมื่อต้องการอย่างถูกที่และถูกจำนวน

เมื่อดูอย่างนี้แล้ว  การไหลของทรัพยากรสำหรับการสร้างคุณค่าในองค์กรเพื่อผ่านกระบวนการสร้างคุณค่าจนไปถึงมือลูกค้าจึงเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์   แต่ในองค์กรหนึ่งไม่ได้มีการไหลของทรัพยากรอย่างเดียวหรือชนิดเดียว  และไม่ได้มีกระบวนการเดียว  แต่มีกระบวนการย่อยต่างๆเชื่อมโยงเป็นองค์ประกอบทั้งหมดขององค์กร  การไหลของแต่ละช่วง  ในแต่ละกระบวนการ  ในแต่ละทรัพยากรก็ไม่เหมือนกัน  ดูอย่างไรว่าการไหลนั้นเป็นลอจิสติกส์  ผมให้มุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของคุณค่าที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ   หรืออยู่ในกระบวนการธุรกิจหลัก (Core Business Process)  ส่วนการไหลของทรัพยากรอื่นๆนั้นไม่ถือว่าเป็นลอจิสติกส์  เพราะว่าก่อนที่จะพิจารณาว่าลอจิสติกส์อยู่ตรงไหนนั้น   ต้องถามก่อนว่า  “ลอจิสติกส์ของอะไร”   เช่น ลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อในกระบวนการรับคำสั่งซื้อ (Order Processing) โดยมีขอบเขต (end to end) จากลูกค้าไปจนถึงฝ่ายขายที่รับคำสั่งซื้อ   ส่วนคุณค่า (Value) คือ คำสั่งซื้อของลูกค้า  แล้วลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อ (Order Logistics) ก็คือ  คำสั่งซื้อถูกส่งผ่าน (Flow) ไปถึงฝ่ายขายอย่างถูกเวลาและสถานที่และถูกต้องแม่นยำ    เราจะเห็นเอกสารส่งผ่าน Fax เข้ามาดำเนินงานที่ฝ่ายขาย การส่งผ่าน Fax เป็นลอจิสติกส์   หรือเราจะเห็นการส่ง E-mail โดยการส่งผ่าน E-mail เป็นลอจิสติกส์  หรือเราจะเห็นการส่งข้อมูลคำสั่งซื้อผ่าน Web  และการส่งผ่าน Web เป็นลอจิสติกส์   ดังนั้นเวลาพูดถึงลอจิสติกส์นั้นพูดลอยๆ ไม่ได้จะต้องบริบทรองรับเสมอ  เพื่อที่จะกำหนดขอบเขต (end to end) และตัวคุณค่า (Value) ที่จะส่งหรือทำการไหล (Flow)

การส่งผ่านหรือการไหลของคุณค่าระหว่างตันทางกับปลายทางนั้นจะต้องมีการคุยกันหรือประสานงานกันเพื่อส่งและรับให้เกิดความถูกต้องในการส่งและรับคุณค่า  ไม่ใช่แค่ส่งไป  ไม่รู้ว่ามีใครรับหรือไม่   ไม่ใช่แค่รอรับ  แต่ก็ไม่รู้ว่ามีใครส่งมาหรือไม่    อย่างนี้ไม่ใช่ลอจิสติกส์    ถ้าต้นและปลายมีผู้ส่งต่อระหว่างทางหลายคน   คนเหล่านี้ทุกคนก็จะต้องคุยกันประสานงานกันเห็นสถานะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในลักษณะโซ่อุปทาน (Supply Chain)   ไม่ใช่แค่ส่งต่อแล้วเสร็จ   หมดภาระแล้ว   แต่จะต้องติดตามสถานะให้ถึงเป้าหมาย   เพื่อให้คุณค่าหรือสิ่งที่ส่งไปมานั้นถึงปลายทางอย่างถูกเวลาและสถานที่
                   
ที่นี้ถ้าระหว่างต้นทางกับปลายทาง  มีการส่งหรือมีการไหลของทรัพยการหลายๆอย่าง  แล้วตรงไหนเป็นลอจิสติกส์    ให้ดูที่ตัวอย่างเดิมลอจิสติกส์ของคำสั่งซื้อ  เป้าหมายต้องการส่งคำสั่งซื้อไปให้ฝ่ายขาย   ให้มุ่งที่การไหลของคำสั่งซื้อเท่านั้น    โดยที่การโทรศัพท์คุยกัน  การประสานงานกันและข้อมูลต่างๆที่ไม่ใช่คำสั่งซื้อเพื่อให้เกิดการส่งคำสั่งซื้อที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่ลอจิสติกส์ครับ   แต่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการลอจิสติกส์  เพราะว่าฝ่ายขายจะเอาเฉพาะคำสั่งซื้อเท่านั้นที่ไปดำเนินการต่อ    นี่ยังเป็นแค่กิจกรรมลอจิสติกส์นะครับ   ยังไม่ใช่การจัดการลอจิสติกส์  เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ว่าลอจิสติกส์เป็นอะไรหรือมีอะไรบ้างนั้น   จะต้องเป็น ลอจิสติกส์ X  ถ้าไม่บอก X มา ผมจะเข้าใจว่ากิจกรรมการไหลของคุณค่าตั้งแต่จัดซื้อจนถึงจัดส่ง หรือไม่ผมก็จะเข้าใจว่าเป็นการไหลของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจนถึงมือผู้บริโภค  ดูแล้วมันจะวุ่นวายขนาดไหน

ส่วนเรื่องของการจัดการนั้นไม่ยาก  เพราะทุกการจัดการนั้นถ้าใช้คำว่าจัดการเหมือนกันแล้ว  ก็ควรจะมีกระบวนการคิดเหมือนกัน    เพียงแต่จะแตกต่างกันออกไปตามบริบท  เช่น  การจัดการโซ่อุปทาน  การจัดการลอจิสติกส์  การจัดการการขาย  การจัดการการตลาด  ฯลฯ  แล้วการจัดการคืออะไร?   ผมมองการจัดการเป็นกระบวนการ  มีขั้นตอนและเป็นวัฏจักร  เป้าหมายก็เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้สิ่งที่จัดการนั้นอยู่รอด  เช่น  ทำให้มีอยู่คงที่เท่าเดิมไว้   ถ้าไม่จัดการอาจจะลดลง ทำให้มากขึ้น ถ้าไม่จัดการก็เท่าเดิมหรือลดลง ทำให้ลดลง ถ้าไม่จัดการก็เท่าเดิมหรือมากขึ้น   สุดท้ายแล้วทุกคนทุกชีวิตต้องมีการจัดการ

หัวใจของการจัดการ คือ การตัดสินใจ (Decision Making)  เพื่อให้เกิดคุณค่าที่เราต้องการ   ผมจึงมองกระบวนการการจัดการเป็น  (1) การวางแผน  (2) การดำเนินงาน  (3) การวัดผลและควบคุม  และ (4) การปรับปรุง  ทั้งสี่ขั้นตอนนี้เป็นวัฏจักรของการจัดการ   เราคิดเราตัดสินใจอยู่ที่ (1) การวางแผน    เราสร้างเราทำ  อยู่ที่ (2) การดำเนินงาน     แล้วเราก็ (3) วัดผลและควบคุมให้อยู่ในเป้าหมาย      แต่ถ้าไม่ตรงใจลูกค้าหรือเป้าหมายเปลี่ยนไป  เราก็ต้อง (4) ปรับปรุงใหม่เพื่อไปวางแผนใหม่  ดำเนินการใหม่  วัดผลและควบคุมใหม่    และอาจจะปรับปรุงใหม่อีกรอบ  เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น  การจัดการ X  มีกระบวนการดังนี้  (0) เราต้องรู้จักว่า X คืออะไร   อะไรเป็น Input ของ X  และ output ของ X  หรือพูดง่ายๆ ว่าเราต้องเข้าใจกระบวนการ X   เป้าหมายต้องได้ประโยชน์จาก X     ให้เริ่มที่ (1) การวางแผน X เป็นการตัดสินใจโดยการสร้างทางเลือกต่างๆ ของกระบวนการ X แล้วเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัด ไม่ใช่ดีที่สุด  ช่วงการวางแผนจะมีแต่ข้อมูลและคนที่ทำการตัดสินใจ  เพื่อนำไปสู่ (2) การดำเนินการกระบวนการ X  ซึ่งจะประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกกำหนดมาจากการวางแผน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือคุณค่าจากกระบวนการ X สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นเป้าหมายของการจัดการก็อยู่ที่ผลลัพธ์ของกระบวนการ X  เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์  ขั้นตอนต่อไป (3)  เป็นการวัดผลและควบคุมการดำเนินการกระบวนการ X ให้ได้เป้าหมายอยู่อย่างสม่ำเสมอ    สุดท้ายเมื่อเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป  ก็จะต้องมี (4) การปรับปรุงกระบวนการ X ใหม่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่  และก็เริ่มต้นวัฏจักรใหม่  ทั้งหมดนั่นก็ คือ กระบวนการการจัดการ (Management Process)

ถ้าเป็นเช่นนั้น  การจัดการลอจิสติกส์จึงไม่ใช่แค่กระบวนการลอจิสติกส์ธรรมดา   มันมีกระบวนการจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพื่อให้กระบวนการลอจิสติกส์หรือกิจกรรมลอจิสติกส์นั้นมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  การจัดการลอจิสติกส์จึงประกอบไปด้วย (1) การวางแผนลอจิสติกส์ (Logistics Planning)   (2) การดำเนินงานกระบวนการลอจิสติกส์ (Logistics Execution)   (3) การวัดผลและควบคุมลอจิสติกส์ (Performance Measurement)   (4) การปรับปรุงกระบวนการลอจิสติกส์ (Logistics Improvement)  อย่าลืมว่า ผลลัพธ์ของการจัดการต้องการ Output จากขั้นตอนที่ 2 นะครับ   ทรัพยากรในการสร้างคุณค่าเพื่อตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการอยู่ในขั้นตอนที่ 2  ลูกค้าต้องการ Output จากขั้นตอนที่ 2 จากการดำเนินงานไปใช้ให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างเช่น  ลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics)   และการจัดการลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics Management)  จะประกอบไปด้วย   (1) การวางแผนลอจิสติกส์ขนส่ง ซึ่งเป็นการวางแผนการขนส่งที่นอกจากใช้ข้อมูลขององค์ประกอบในกระบวนการขนส่งแล้ว  ยังใช้ข้อมูลของกระบวนการก่อนหน้าการขนส่งและกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการขนส่ง  ไปจนถึงลูกค้าผู้ที่ได้รับคุณค่าไปใช้ประโยชน์   หมายความความว่า  จะต้องมีภาพใหญ่ End to End หรือความเป็นโซ่อุปทานที่มีการขนส่งนี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย   (2) การดำเนินงานในกระบวนการลอจิสติกส์ขนส่ง  ก็เป็นกิจกรรมการขนส่งธรรมดานี่แหละครับ  แต่เป็นการขนส่งที่อยู่ภายใต้แผนลอจิสติกส์ขนส่งที่ถูกมองอย่าง End to End หรือมองทั้ง Supply Chain   ดังนั้นในการดำเนินงานนี้ก็จะสามารถเห็นข้อมูลและสถานะการขนส่งได้จากกระบวนการก่อนหน้าการขนส่งและกระบวนการที่ต่อจาการขนส่ง  นี่คือ สิ่งที่ลอจิสติกส์ขนส่ง (Transport Logistics) แตกต่างจากการขนส่ง (Transport)   (3) การวัดผลและควบคุมการกิจกรรรมลอจิสติกส์ขนส่งให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือแผนที่ได้วางไว้    (4) ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการลูกค้าในเรื่องการขนส่ง  กระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งก็จะต้องถูกปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้าแล้วจึงกลับเริ่มต้นที่ ขั้นตอนที่ 1 ของการจัดการในวัฏจักรใหม่  แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้า  และกระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งยังมีทรัพยากรเพียงพอในการรองรับความต้องการ  ก็แค่รักษากระบวนการลอจิสติกส์ขนส่งไว้ให้ตรงตามเป้าหมายหรือแผนไว้

จากที่ผมได้เล่าให้ฟังมานั้น  ลอจิสติกส์และการจัดการลอจิสติกส์นั้นไม่เหมือนกัน    กิจกรรมลอจิสติกส์นั้นอยู่ภายในกิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์   แล้วถ้ากล่าวว่า ลอจิสติกส์แบบลอยๆ  ก็ไม่ได้เหมือนกัน    น่าจะกำหนดไปเลยว่า   ลอจิสติกส์ X  และการจัดการลอจิสติกส์ X  ถ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุ X มาให้   เราน่าจะหมายถึง  ลอจิสติกส์ขององค์กรหนึ่งๆ ที่ผลิตสินค้าและบริการออกมา  End to End หรือ Supply Chain  ก็คือ จัดซื้อจนถึงจัดส่งและขาย   ลองไปนึกภาพดูนะครับว่า  เราจะสามารถแยกแยะกิจกรรมต่างๆ ออกมาเพื่อรวมกลับหรือบูรณาการ (Integrate) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร   ที่จริงแล้วกิจกรรมเหล่านี้มีอยู่แล้ว ถูกแยกออกมาเป็นกิจกรรมเดี่ยวๆ อยู่แล้ว   แต่เราไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ (Systematic) และจัดการในมุมมองเชิงระบบ (Systemic) เท่านั้นเอง   จึงทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ