วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 12. รื้อกระสอบทราย บิ๊กแบค เปิดประตูน้ำ และภัยพิบัติที่ไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ คือ ปัญหาพยศ (Wicked Problems)

ถึงแม้ว่าเราจะมีข่าวดีจากการที่เราสามารถควบคุมน้ำได้ในบางส่วนที่ไม่ให้รุกคืบเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่คนละด้านของคันกั้นน้ำ การจับกลุ่มปิดถนน ต่อรองกับทางการ เพื่อเปิดประตูน้ำ รื้อกระสอบทรายบิ๊กแบค ความขัดแย้งได้ขยายผลออกไปตามพื้นที่ซึ่งเกิดความแตกต่างกันระหว่างน้ำท่วมกับน้ำแห้ง ดูเหมือนกับเป็นความเลื่อมล้ำในสังคม แต่ผมก็คิดว่าปัญหาเหล่านี้ก็คงจะถูกทำให้หมดไปในชั่วขณะนี้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะหมดไปเลย ละแล้วทุกอย่างก็อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกในปีหน้าหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้ แล้วเราจะมีวิธีการคิดและวิธีการจัดการในการแก้ปัญหาเดิมหรือปัญหาใหม่ที่ถูกแปลงสภาพมาจากปัญหาเดิม ซึ่งปัญหาใหม่นี้จะหนักกว่าปัญหาเดิมอีก จนกลายเป็นน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำแล้งซ้ำซาก และปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับสังคมเรา ผมพยายามค้นหาว่าเราจะใช้หลักวิชาการและทฤษฎีการจัดการอะไรมาช่วยในการแก้ปัญหานี้หรือลดทอนความรุนแรงของปัญหาลง


แล้วในที่สุดเราก็ได้พยายามจัดทำยุทธศาสตร์ (Strategy)ต่างๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหลายก็จำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์รองรับในการดำเนินงานระดับต่างๆ ตั้งแต่ระยะยาวหรือในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Level) ระยะกลางหรือยุทธวิธี (Tactical Level) และในระยะสั้นหรือในระดับปฏิบัติการ (Operational) ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ (Strategy) เสมอ แต่ผมก็ยังสงสัยว่า เรามียุทธศาสตร์ตั้งมากมายที่พวกเราช่วยกันเขียนมานั้นมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง หรือแค่ได้เขียนออกมาเป็นเล่มๆ แล้วแจกจ่ายกันออกไป แล้วส่วนที่นำไปปฏิบัติให้เกิดผลล่ะครับ พอนำไปปฏิบัติแล้วย่อมมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ แน่นอนหลายๆ หน่วยงานซึ่งทำงานแบบต่างคนต่างทำ ตามยุทธศาสตร์ย่อยที่ตัวเองเขียนให้สอดคล้องไปตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ก็ย่อมจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ถ้ายุทธศาสตร์ใหญ่ในระดับ Strategic Level ไม่แม่นยำหรือไม่ครอบคลุมและที่สำคัญไม่ได้บูรณาการส่วนย่อยๆ ในระดับปฏิบัติการแล้ว ประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานย่อมเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในเรื่องผลงานให้ได้ตามตัวชี้วัด KPI นั้นมันไม่เข้าใครออกใคร สุดท้ายแต่ละคนแต่ละหน่วยงานก็ต้องยึดเอาเป้าหมายและวัตถุประสงค์ส่วนตัวและส่วนองค์กรเป็นหลัก


ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะคิดกันแบบเก่าๆ ไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ผมก็เห็นตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์กันมาตลอดหรือตั้งกันทั้งปีทั้งชาติแล้ว ถ้าไม่ตั้งก็ไม่ได้ ประเทศคงจะเละมากกว่า ถ้าตั้งยุทธศาสตร์แล้วก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้ ผมเองก็ยังไม่ค่อยเห็นจะได้เรื่องอะไรเท่าไหร่เลย ถ้าไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลย ประเทศไทยเราก็คงจะไปได้แค่ไหนกันละเนี่ย ดูเหมือนๆ ว่าจะมียุทธศาสตร์แต่จริงๆ แล้วไม่มีหรือมีก็ไม่ได้ผล ถ้าเรามียุทธศาสตร์ในการทำอะไรสักอย่างที่ดีและได้ผล ผมว่าเราก็คงจะไม่ประสบภัยพิบัติกันและเสียหายกันมากขนาดนี้ ดังนั้นก่อนที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาอะไรนั้น เราจะต้องมีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของปัญหาเสียก่อน ปัญหานั้นเป็นปัญหาในลักษณะใด มีความซับซ้อนขนาดไหน ผมก็หวังว่าคณะกรรมการ 2 ชุดนี้น่าจะมีวิสัยทัศน์เข้าใจในคุณลักษณะใหม่ของบริบทสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช่กลับไปใช้กรอบความคิดแบบเดิมๆ หรือไม่ก็แค่พูดให้มันไพเราะไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความเข้าใจหรือไม่ได้เข้าใจในความหมายของสิ่งที่พูดเลย โดยเฉพาะคำว่า “บูรณาการ” แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในเชิงปฏิบัติการ โดยเฉพาะตัวยุทธศาสตร์เองต้องมีความเป็นบูรณาการในตัวเองอย่างมาก เพราะว่าเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วจะต้องทำให้หน่วยงานย่อยต่างๆ ในการปฏิบัติงานต่างๆ บูรณาการกันจริงๆ สามารถทำงานร่วมกันได้โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่การบูรณาการอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


ยุทธศาสตร์ (Strategy)นั้นเป็นมากกว่าการประชุมระดมสมองกัน แต่จะต้องเป็นสร้างสรรค์ความคิดต่างๆ ในแต่ละมุมแต่มิติและบูรณาการแนวคิดเหล่านั้นให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ แล้วจึงเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ที่ได้นี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อหวังผลที่เป็นเลิศหรือได้ชัยชนะจากการแข่งขันหรือบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เป้าหมายของประเทศ คือ อะไรล่ะครับ สอดคล้องกับเป้าหมายของอุตสาหกรรมหรือไม่ สอดคล้องกับเป้าหมายของนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่และสอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำกันอย่างไรบ้าง จากปัญหาที่เกิดขึ้นและปัญหาที่ได้เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ และเราก็ยังแก้ปัญหาอยู่เรื่อยๆ จนดูเหมือนว่าไม่จบไม่สิ้น ดูเหมือนว่าการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยหรือเมืองต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ สามารถที่จะรับมือกับปัญหาใหญ่ๆ ได้ ผู้นำสังคมที่มียุทธศาสตร์ติดไว้ที่ข้างฝาหรือในเอกสารแนะนำองค์กร แต่เมื่อเผชิญปัญหาเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้ยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในการรับมือกับปัญหาได้ แสดงว่ายุทธศาสตร์มีปัญหา? สุดท้ายก็กลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกครั้งไป ซึ่งไม่ใช่แค่เก็บรวบรวมข้อมูลแล้วก็มากำหนดประเด็นปัญหาให้เด่นชัดหรือไม่ก็แบ่งแยกปัญหาออกเป็นส่วนแล้วมอบหมายในแต่ละหน่วยงานไปรับผิดชอบในการดำเนินงาน อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวัน


ที่สุดแล้วและเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกแก้ไขที่ตรงจุดหรือรากของปัญหา หรือไม่ก็กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก หลายๆ ครั้งหรือเกือบทุกครั้งเป็นการแก้ไขตามอาการ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหาเชิงเทคนิคที่สามารถควบคุมได้ แต่กลับกลายเป็นปัญหาระหว่างบุคคล ชุมชน จังหวัดและมีการเมืองเข้าเกี่ยวข้อง เมื่อใดก็ตามที่เรากล่าวถึงปัญหาเหล่านี้แล้ว เรามักจะบอกกันว่าเป็นปัญหาที่ยากมากในการแก้ไข ที่จริงแล้วปัญหาที่ยาก (Difficult) นั้นน่าจะถูกแก้ไขได้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เพราะเราทำให้มันเรียบง่ายได้ (Simple) เมื่อใช้ความพยายามหรือใช้เครื่องมือในการแก้ไข


ในเวลาระหว่างที่ผมพยายามศึกษากระบวนการมองปัญหาอย่างองค์รวม (Holistic)ที่ผ่านมา โดยที่ผมพยายามนำเอาประเด็นเชิงสังคมเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาและศึกษา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจัดการองค์กรที่เน้นที่ Human Activity System ประเด็น Public Management ประเด็น Socio-Technical ประเด็น Socio-Economic แล้วผมก็พบว่า ปัญหาที่เราก็กำลังประสบอยู่นี้ ไม่ใช่ปัญหาที่ยากเลย แต่มันเป็นปัญหาพยศ หรือ Wicked Problems ซึ่งแตกต่างไปจากปัญหาดั้งเดิม เพราะกระบวนการดั้งเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาพยศได้ ตามที่ Horst W.J. Rittel and Melvin M. Webber, professors of design and urban planning at the University of California at Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อธิบายไว้ในบทความทางวิชาการที่ชื่อว่า Dilemmas in a General Theory of Planning ของพวกเขาเมื่อปี 1973 ในวารสาร Policy Sciences


ปัญหาพยศ (Wicked Problems) สามารถที่จะมีจำนวนต้นเหตุมากมายจนไม่สามารถจะนับได้ ปัญหาพยศนั้นยากที่จะอธิบาย เพราะตัวปัญหาเองไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ตัวอย่าง เช่น การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การก่อการร้าย ความยากจน เรื่องราวเหล่านี้เป็นปัญหาพยศในระดับ Classic ปัญหาพยศเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับปัญหาที่ยาก ซึ่งปัญหาที่ยากนั้นเราสามารถแก้ปัญหาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วยการประยุกต์เทคนิคการแก้ปัญหาแบบธรรมดา ไม่เพียงแต่กระบวนการแบบดั้งเดิมจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาพยศได้ แต่ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วยการทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดตามมาอีก


ปัญหาพยศนี้จะเกิดขึ้นในองค์กรหรือในกลุ่มคนที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่ไม่ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัญหาพยศเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทของสังคม (Social Context) ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้นเท่าไร ปัญหาก็ยิ่งจะพยศมากขึ้น ที่จริงแล้วปัญหาพยศมีความซับซ้อนเชิงสังคมเท่าๆ กับหรือ มากกว่าปัญหาเชิงเทคนิคที่มีความยากซึ่งจะทำให้ยากต่อการจัดการอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาพยศอย่างแน่นอน แต่ปัญหาทุกปัญหาไม่ใช่ปัญหาพยศ บางปัญหาทำให้เกิดความสับสน ความไม่ลงรอยกัน และไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกได้ถึงความพยศ (Wickedness)


นักวิชาการผู้ตั้งชื่อปัญหาพยศนี้มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงการวางแผนเชิงสังคม (Social Planning) ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยแนวคิดแบบเชิงเส้นดั้งเดิม (Traditional Linear) และแนวคิดในเชิงวิเคราะห์ (Analysis)ซึ่งแตกปัญหาใหญ่ออกเป็นปัญหาย่อยและค่อยวิเคราะห์และแก้ไขเป็นเรื่องๆ ไป ปัญหาพยศนี้มีความหมายตรงกันข้ามกับปัญหาเชื่อง (Tame Problems) ในเวลาที่ใกล้เคียงกันในปีต่อมา ปี 1974 Russell Ackoff นักคิดเชิงระบบที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เขียนหนังสือชื่อ Redesigning the Future ได้นำเสนอแนวคิดในลักษณะที่คล้ายกัน แม้ว่าจะมีรายละเอียดที่น้อยกว่า ซึ่ง Ackoff เรียกลักษณะของปัญหาเหล่านี้ว่า Messes (ยุ่งเหยิง)หรือ Unstructured Reality (ความเป็นจริงที่ไม่มีโครงสร้าง) ซึ่งต่อมาก็มีการขยายผลไปเป็น Social Mess (ความยุ่งเหยิงเชิงสังคม)


หนทางที่ดีที่สุดที่จะอธิบายให้เห็นถึงปัญหาพยศนี้ ก็คือ การอธิบายให้เห็นและเข้าใจว่าปัญหาเชื่อง (Tame Problems) นั้นเป็นอย่างไร ปัญหาเชื่องนั้นถูกกำหนดหรือถูกนิยามมาเป็นอย่างดีโดยเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นๆ และมีถ้อยแถลงที่ชัดเจน ปัญหาเชื่องมีจุดหยุดหรือจุดจบซึ่งถูกกำหนดไว้ เช่น เราสามารถที่จะรู้ได้ว่าเมื่อใดคำตอบของปัญหาจะบรรลุผลสำเร็จ ปัญหาเชื่องมีคำตอบซึ่งสามารถประเมินได้อย่างไม่มีอคติว่าจะถูกหรือผิด ปัญหาเชื่องจะอยู่ในกลุ่มของปัญหาที่เหมือนๆ กันซึ่งสามารถใช้แนวทางในการแก้ปัญหาเหมือนกันได้ ปัญหาเชื่องจะมีคำตอบได้หลายๆ ตอบที่สามารถลองทำได้และละทิ้งคำตอบนั้นไปได้


แบบจำลองของปัญหาเชื่องที่ไม่มีใครสามารถโต้เถียงได้ก็ คือ ปัญหาทางวิศวกรรมที่ถูกกำหนดมาเป็นอย่างดี เช่น การสร้างสะพาน การออกแบบวงจรไฟฟ้า การส่งมนุษย์ไปยังดวงจักทร์ ปัญหาเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเรียบง่าย (Simple) แต่สามารถเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากๆ (Very Complicated) ส่วนปัญหาพยศ (Wicked Problem) นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากปัญหาเชื่อง ปัญหาพยศเป็นปัญหาที่ไม่สามารถถูกระบุให้ชัดเจนมาก่อน มีความกำกวม และมีความเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมเป็นอย่างมาก มีประเด็นทางการเมืองและรวมถึงประเด็นทางวิชาชีพ ปัญหาพยศนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลและยังขึ้นอยู่กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอีก (Stakeholders) ด้วย แถมยังไม่ได้มีการลงความเห็นกันในประเด็นว่าปัญหาคืออะไร และปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งแก้ปัญหาไปตามลำพัง และยิ่งไปกว่านั้นปัญหาพยศจะไม่มีวันหยุดอยู่นิ่งๆ ปัญหาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปัญหาพยศนี้เป็นกลุ่มของประเด็นที่มีความซับซ้อนและมีปฏิสัมพันธ์กันซึ่งมีวิวัฒนาการในบริบทเชิงสังคมที่มีความเป็นพลวัต บ่อยครั้งที่รูปแบบใหม่ๆ ของปัญหาพยศอุบัติหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความพยายามที่จะเข้าใจและแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งในปัญหาพยศ


ตัวอย่างของปัญหาที่เป็นปัญหาพยศที่เด่นชัดมากๆ ก็คือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาการเรียกร้องประชาธิปไตย ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาการพัฒนาด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ปัญหาวันรุ่นและเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทกัน ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ในแต่ละระดับขององค์กร ปัญหาสังคมต่างๆ ปัญหาการจัดการน้ำและปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ถ้าดูกันให้ดีแล้ว แนวคิดของปัญหาพยศนี้ไม่ได้มีการพูดถึงหรือกล่าวถึงขึ้นอย่างทันทีทันใดในช่วงท้ายทศวรรษ 1960s และต้นทศวรรษ 1970s เท่านั้น ปัญหาพยศเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การเมืองและสังคม ดังนั้นปัญหาพยศจึงอยู่คู่มากับสังคมมนุษย์มาโดยตลอด ปัญหาพยศจึงอยู่ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลาในสังคมมนุษย์


ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดใจรับเอาแนวคิดใหม่ๆ มาศึกษาเพื่อที่จะนำไปการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่ถูกแปลงสภาพเป็นปัญหาใหม่อยู่ตลอดเวลาและมีความซับซ้อนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความเข้าใจในปัญหาอย่างถูกต้องและวิธีการที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สังคมเราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการในการแก้ปัญหา ระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน และเรื่องแนวคิดแบบลีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น กระบวนการเรียนรู้ของผมนั้นทำให้ผมพบว่าองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อปัญหาโซ่อุปทานเป็นเรื่องเชิงสังคม (Social Issues) ซึ่งประกอบไปด้วยคนและคนหลายๆ คนที่เรียกว่า Human Activity System ซึ่งคนในระบบจะใช้กระบวนการตัดสินใจซึ่งมีอิทธิพลต่อความเป็นไปในสังคม จนทำให้ผมต้องศึกษาค้นคว้าออกนอกกรอบสาขาวิชาการทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการไปสู่สหวิทยาการ (Multi-disciplinary) และความเป็นองค์รวมของสาขาวิทยาการต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประสบมาและมีความเป็นห่วงถึงท่านผู้นำในสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะผู้จัดการ CEO ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรี จนถึงท่านนายกรัฐมนตรีว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันมีการขยายขอบเขตและมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ปัญหานั้นไม่เหมือนเดิมเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังดันทุรังที่จะใช้เครื่องมือเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ โดยเฉพาะการคิดแบบเชิงเส้นในการวางแผนและดำเนินงาน ถึงแม้จะได้ผลแบบเฉพาะหน้า แต่ปัญหาก็ไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคนออกไป ในทางตรงกันข้ามปัญหานั้นจะย้อนกลับมาใหม่ซึ่งอาจจะใหญ่กว่าและหนักว่าเก่าเสียอีก


ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำและภูมิปัญญาของผู้นำที่จะใฝ่หาความรู้ เรียนรู้และพยายามจะทำความเข้าใจในปัญหาให้เหมาะสมกับระดับของปัญหาและเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างชาญฉลาด ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะยังอยู่ในวังวนของการแก้ปัญหาพยศที่จะไม่มีวันบรรลุผลสำเร็จได้ ถ้าเราไม่รับมือกับปัญหาด้วยแนวคิดใหม่และวิธีการใหม่ เราก็ไม่รู้ว่าประเทศไทยเราจะไปถึงวันนั้น วันที่รอคอยเมื่อใด เพราะว่าผมรู้สึกว่าเราอ่อนแอทางปัญญาเชิงสังคมเป็นอย่างยิ่ง ส่วนปัญญาส่วนบุคคลนั้นไม่น่าห่วงหรอกครับ หลายๆ คนสามารถเอาตัวรอดได้ ความสามารถเฉพาะตัวสูง ความเห็นแก่ได้สูง ความเห็นแก่ตัวสูง ความเห็นแก่ส่วนรวมต่ำ แล้วสังคมจะรอดหรือครับ แต่อย่าลืมนะครับ ถ้าสังคมไม่รอดแล้ว พวกเรากันเองก็อยู่ไม่รอดเช่นกัน นี่คือ ต้นเหตุที่สำคัญของปัญหาพยศ นั่นก็เป็นเพราะว่าปัญญาของคนในชาติหรือสังคมนั้นมันเป็นปัญญาพยศ (Wicked Intelligence)


วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives - 11. ปัญหาชาติ ปัญหาสังคม อย่ามักง่าย คิดง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ยาก

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนอยากสบาย ทำอะไรได้อย่างง่ายๆ คือ อะไรก็ได้ที่ออกแรงน้อยๆ ลงทุนน้อย ได้สิ่งต่างๆ มาอย่างสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงของชีวิต เราก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายๆ หรอกครับ มันต้องออกแรงคิด ลงแรงและลงทุน ถามผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ได้เลยครับ ผมบังเอิญไปจัดหนังสือที่ชั้นหนังสือ ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการจัดการ เขียนชื่อที่ปกไว้ว่า “ถึงจะง่าย แต่ก็ได้ผล” ผมเห็นแล้วมันขัดตาอย่างไรก็ไม่รู้ เท่าที่จำได้ว่าเคยเขียนถึงเรื่องอย่างนี้มาแล้วมั้ง แต่ก็จำไม่ได้ว่าเมื่อไรและที่ไหน เพราะผมเชื่อว่าในโลกนี้มีทั้งอะไรๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่ง่ายๆ รวมทั้งอะไรๆ และเรื่องราวที่ยากๆ

เราก็เห็นใครๆ ที่ทำอะไรดูง่ายไปหมด หรือเราเองบางครั้งก็ทำอะไรดูยากไปหมด แล้วเราก็มานึกเอาเองหรือฝันว่าเราน่าจะได้สิ่งต่างๆ มาได้โดยง่ายๆ นั้น เราจะต้องทำอย่างไร บางครั้งเราก็ถูกชี้นำไปสู่การหาอะไรที่ง่ายๆ หรือเครื่องมือที่ง่ายๆ โดยเฉพาะที่ง่ายต่อการใช้หรือง่ายต่อการเรียนรู้ โดยไม่ต้องออกแรงกายหรือแรงคิด ใช่ครับ มันมีเครื่องมือเหล่านี้มากมาย มันดูราคาถูกน่ะครับ ที่จริงแล้วมันก็ถูกนำไปใช้ตามราคา เราออกแรงน้อยก็ได้น้อย เราออกแรงมากก็ได้มากตามราคา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอาของที่ง่ายๆ ที่ไม่ต้องออกแรงเยอะๆ ไปแก้ปัญหาหรือไปเผชิญกับเรื่องยากๆ มันจะไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ถึงแก้ได้ก็ไม่จบหรือไม่ตรงกับปัญหา

เหมือนกับการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมในการจัดการแหล่งน้ำ เราคงไม่สามารถแก้ปัญหาโดยใช้คณิตศาสตร์ธรรมดาในชั้นประถมที่แค่บวกลบคูณหาร เราก็คงจะต้องคณิตศาสตร์ขั้นสูงในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาหรือไม่ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะเห็นปัญหาแบบผิวๆ ที่ดูง่ายๆ และแก้กันไม่มีวันจบสิ้น เพราะเราเข้าใจด้วยภูมิปัญญาและวิธีคิดที่ง่ายๆเข้าไว้ เพราะต้องการเร็วและต้องการง่ายเข้าไว้ แล้วคงจะได้เห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดหรืออย่างที่เห็น

ปัญหาในปัจจุบันนั้นมีองค์ประกอบภายในมากมายในหลายมิติและองค์ประกอบต่างๆ ก็มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตตลอดเวลา ดังนั้นการเอาเครื่องมือที่ง่ายๆ เข้าไว้ เอาเร็วๆ เข้าไว้ ไม่ต้องใช้ความรู้ขั้นสูงเข้ามาเพื่อทำความเข้าใจหรือพยายามที่จะอธิบายโครงสร้างของปัญหารวมทั้งบริบทของปัญหา ก็คงจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจหรืออธิบายปัญหาและแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเราไม่สามารถใช้ไขควง (Screwdriver) เป็นเครื่องมือครอบจักรวาลในการซ่อมแซมทุกอย่างได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าปัญหานั้นมีความซับซ้อนขึ้น เราก็จะต้องขวนขวายหาวิธีคิดและวิธีการจากความรู้ที่สูงขึ้นจากวิชาการและทฤษฎีที่สูงขึ้นหรือซับซ้อนขึ้นเพื่อที่จะอธิบายปัญหาที่มันยกระดับขึ้นไปสู่ปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นหรือมีความยากขึ้น เราจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ออกแรงกายและความคิดมากขึ้น ลงทุนมากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจและอธิบายปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น

ผมจึงมีมุมมองที่ต่างออกไปจากความตั้งใจของผู้เขียนหนังสือด้วยกับข้อความที่เขียนเป็นชื่อหนังสือว่า “ถึงจะง่าย...แต่ก็ได้ผล” ใช่ครับ มันจะได้ผลก็เพราะถูกนำไปอธิบายและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ปัญหาง่ายๆ หรือปัญหาผิวๆ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระกัน แต่ปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ ผิวๆ เหล่านี้กลับถูกเชื่อมโยงกันกันเป็นเครือข่ายของปัญหาที่ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น ถ้าเรามองในมุมเล็กๆ เราก็เห็นเฉพาะปัญหาเล็กๆ ง่ายๆ แต่ถ้าเรามองจากมุมสูงขึ้นในภาพรวมที่กว้างขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะสูญเสียในรายละเอียดของปัญหาไป แต่เราจะเห็นปัญหาในภาพใหญ่ที่ประกอบไปด้วยปัญหาเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันไปมาอย่างซับซ้อนและเป็นพลวัต

เรื่องยากๆ เมื่อแรกเจอ เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราพยายามที่จะเข้าใจหรืออธิบายมัน เรื่องที่เคยยากก็จะง่ายๆ ขึ้นเพราะเราอธิบายได้ด้วยความเข้าใจ มันเป็นสัจจธรรมครับ มันต้องยากก่อนแล้วมันก็ง่าย และเมื่อบริบทเปลี่ยนไปเพราะความซับซ้อนและความเป็นพลวัต เรื่องที่ง่ายก็กลับกลายไปยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังพยายามที่จะเรียนรู้วิชาการและองค์ความรู้ใหม่ๆ แน่นอนครับมันจะต้องเป็นองค์ความรู้ที่น่าจะยากขึ้นเมื่อเราไม่รู้ เมื่อเราเข้าใจองค์ความรู้ที่ยากในระดับสูงขึ้นนั้นแล้ว เราก็จะรู้สึกว่าง่ายขึ้นและสามารถแก้ปัญหาที่ยากขึ้นได้ กระบวนการในการจัดการและเรียนรู้ก็จะมีการวิวัฒนาการไปในลักษณะเช่นนี้

แล้วผมก็เลือบไปเห็นคำโปรยที่ปกของหนังสือดังกล่าว ที่ขียนว่า “ฉีกทฤษฎีบริหาร สู่ปฏิบัติการที่ง่ายและทำได้จริง” ผมเห็นแล้วรู้สึกขัดๆ อย่างไรก็ไม่รู้ เพราะเป็นการปลูกฝังให้คนอ่านหรือคนทั่วไปขาดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะว่า การไปแนะนำให้คนอ่านฉีกทฤษฎี นี่เป็นประเด็นหรือแนวคิดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำเชิญชวนที่เขียนอยู่ที่หน้าปกหนังสือ คนที่ไม่ได้อ่านข้างในเล่ม คนที่ไม่ซื้อไปอ่าน ก็เข้าใจว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีทฤษฎีหรือหลักการอะไรรองรับ เอากันง่ายๆ ฉีกทฤษฎีทิ้งไป คนที่อ่านก็คงจะสบายใจ เพราะถ้าคิดว่าเป็นทฤษฎีแล้วคงจะยากคงจะน่าเบื่อมั๊ง ผมเข้าใจว่าเป็นคำโปรยเชิงการตลาด แต่ก็เป็นอันตรายต่อความคิดอย่างมาก

ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมเราก็แย่นะครับ การศึกษาล้มเหลวอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าผู้เขียนมีวุฒิการศึกษาสูงแล้วล่ะก็ ก็ต้องแสดงความเป็นห่วงการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง ผมมีความเชื่อว่า ทฤษฎีที่ถูกต้องแม่นยำจะไปสู่การปฏิบัติที่ง่ายไม่มีปัญหา แต่การปฏิบัติที่ยากและมีปัญหานั้นก็เพราะว่าทฤษฎีนั้นไม่แม่น หรือไม่ได้เป็นเป็นไปตามทฤษฎี ผมมีความเชื่อว่าหลายๆ สิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกรวมทั้งการจัดการสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทั้งสิ้น บางอย่างก็ยังรอให้เราไปพิสูจน์หรือไปสร้างทฤษฎีรองรับ ไม่ใช่รอให้มันเกิดขึ้นหรือใช้งานให้เกิดผลอย่างที่ต้องอาศัยโชคชะตาหรือเราซึ่งเป็นคนจัดการไม่สามารถที่จะควบคุมหรือพยากรณ์คาดการณ์อะไรได้หรือปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม

ถ้าเรายังมีแนวคิดแบบที่หนังสือเล่มนี้โปรยหัวไว้ที่หน้าปกรวมทั้งเล่มอื่นๆ อีกหลายเล่มด้วย สังคมเราจะเป็นสังคมที่ด้อยปัญญาไปเพราะว่าสังคมเราจะไม่ดิ้นรนที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่ๆ เราเป็นสังคมที่อ่อนแอทางปัญญาเพราะไม่มีความรู้ใหม่ๆ ที่จะจัดการกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ที่ผมพูดมานั้น ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ ผู้เขียนหนังสือก็อาจจะมีความตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องง่ายๆ กับปัญหาง่ายก็ได้ เป็นการชักนำหรือชักชวนให้คนมาอ่านหนังสือซึ่งจะทำให้เกิดจุดเริ่มต้นซึ่งจะนำไปสึความก้าวหน้าในขั้นสูงต่อไป ผมเองไม่ได้มีอคติกับผู้เขียนนะครับ แต่ติดใจคำโปรยที่ใช้เพื่อการตลาดเท่านั้นเองครับ ซึ่งก็มีหนังสือแบบนี้มากมายในท้องตลาด

แต่ผมมาสะดุดตรงที่ “ฉีกทฤษฎี” นี่สิ มันมากเกินไป เพราะเราก็ถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เรียนประถมจนมัธยมและมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี โท เอกกันแล้ว ยิ่งมาพูดกันอย่างนี้ ผมรับไม่ได้จริงๆ ครับ ผมเองก็ไม่ได้รู้จักผู้เขียนท่านนี้นะครับ ผมเคารพในสิ่งที่ท่านผู้เขียนนำเสนอ แต่มีประเด็นเล็กๆ ที่ชื่อหนังสือและคำโปรยที่หน้าปกหนังสือที่ผมนำมาขยายความเพื่อที่จะสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ในชีวิตของเรา การเรียนรู้ขององค์กร การเรียนรู้ของสังคม และการเรียนรู้ของประเทศเรา เมื่อย้อนกลับมาที่ปัญหาของชาติในปัจจุบัน โดยมุ่งไปที่ปัญหาน้ำท่วมซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปที่ปัญหาอื่นๆ มากในทุกมิติ ผมว่าหลายท่านคงจะได้เห็นแล้วว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์รวมของปัญหาในสังคมเล่า ผมกล้าพูดได้ว่าองค์ความรู้หรือวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยที่สอนๆ กันอยู่และที่ทำวิจัยกันอยู่นั้นสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่จะอยู่ในมิติไหน จังหวะเวลาไหน และในมุมไหนและต้องดำเนินงานหรือปฏิบัติการในมุมไหน ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าใจบริบท (การประยุกต์ใช้) นั้นมากน้อยแค่ไหน เราจะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเชื่อมโยงกันและมีการปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในตัวมันเอง เพียงแต่เราจะให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับปัญหาในภาพรวม (Whole) และความเป็นองค์รวม (Holistic) อย่างไรบ้าง

เมื่อเรายอมรับและเห็นแล้วว่าปัญหาในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันไปหมด องค์ความรู้และทฤษฎีเชิงวิชาการที่จะนำมาใช้ก็คงไม่ใช่องค์ความรู้แบบเดิมๆ และก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ ก็คงจะต้องลงทุน ลงแรงคิดและปฏิบัติเพื่อที่จะสู้และรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ในวันนี้เรามีองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ทฤษฎีระบบทั่วไป (General System Theory) แนวทางเชิงระบบ (System Approach) ทฤษฎีโกลาหล (Chaos Theory) ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) ระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ปัญหาพยศ (Wicked Problem) ปัญหาที่มีโครงสร้างที่ผิดแผก (Ill Structured Problem) และระบบของระบบ (System of Systems)

องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต เพียงแต่ว่าเราพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะลงทุนรอบใหม่ในการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าท่านจะเรียนรู้มาอย่างมากมายหลากหลายสาขา แต่ความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่มีพื้นฐานมาจากปรัชญาแบบการวิเคราะห์ซึ่งเป็นการแบ่งแยกแล้วศึกษา แต่ปัญหาในปัจจุบันนี้เวลาเข้าโจมตีเรานั้นไม่ได้มีการแยกส่วนกันโจมตี เวลาปัญหามาก็มากันเป็นมวลเป็นก้อนและโจมตีทุกด้านซึ่งจะมีผลกระทบกับเราในทุกด้านทุกมิติ ดังนั้นเวลาแก้ปัญหาเราก็ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม แล้วเราจะสามารถเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ๆ แบบองค์รวมได้หรือไม่เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและอนาคต ต้องได้สิครับ ถ้าเราได้รับการศึกษามาอย่างถูกวิธี

ถึงแม้ว่าองค์ความรู้เดิมจะเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากกระบวนการคิดแบบแยกส่วน (Reductionist) แต่ว่าถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการเรียนรู้จากระบบการศึกษาของเราอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามปรัชญาการศึกษาที่เหมาะสมและอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ดังนั้นไม่ว่าองค์ความรู้นั้นจะเป็นแบบแยกส่วน (Reductionist) หรือแบบองค์รวม (Holistic) เราก็สามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเราจะพร้อมและกล้าที่จะรับความท้าทายใหม่นี้หรือไม่ แล้วคุณล่ะครับพร้อมหรือยังครับ ผมนั้นพร้อมมานานแล้วครับ!

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Perspectives – 10. ถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการมียุทธศาสตร์ชาติที่แท้จริง


เห็นข่าวใน TV ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการ 2คณะเพื่อหาทางในการแก้ไขและเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ผมได้ยินคำว่ายุทธศาสตร์แล้วรู้สึกเอียนเป็นอย่างยิ่ง ดูไปดูมาแล้วไม่อะไรจะทำหรือไม่มีอะไรจะคิดแล้วหรือ? ว่าแล้วก็ใช้คำยุทธศาสต์ก็แล้วกัน ดูขลังดี ผมก็เห็นใช้คำนี้กันในทุกๆ หน่วยงาน ทุกจังหวัด ดูแล้วก็เท่ห์ดี ดูแล้วก็มีความหวังในชีวิต มีความหวังในประเทศของเรา แต่ผมดูแล้วสิ้นหวังกันจริงๆ ผมคิดว่าทำไปแล้วมันเปล่าประโยชน์จริงๆ เปลืองกระดาษ เปลืองเวลา เปลืองงบประมาณ มียุทธศาสตร์หรือไม่มียุทธศาสตร์แล้ว พวกเราจะทำงานได้ดีกว่านี้หรือแตกต่างกันหรือไม่? แม้แต่ในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ก็ดูข่าวใน TVไปด้วยได้ยินนักข่าวกำลังพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แล้ว ยุทธศาสตร์ คือ อะไรกันแน่


ในมุมมองของผมนั้น ยุทธศาสตร์(Strategy) ที่พูดกันมานั้น จะต้องเป็นวิธีคิดและวิธีการเพื่อที่จะเอาชนะหรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ยุทธศาสตร์นั้นจึงมีอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเฉพาะหน้า ระดับระยะสั้น ระดับระยะกลางและระยะยาว แน่นอนครับ เรามีวิธีการคิดและมีคนเก่งๆ ที่คิดในขอบเขตของปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะสั้น ปัญหาระยะกลางและปัญหาระยะยาว นั่นเป็นการมองกรอบยุทธศาสตร์ในเชิงระยะเวลา แต่ประเด็นยุทธศาสตร์ที่แต่ละคน แต่ละขอบเขตนั้นมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกันเป็นระบบหรือเรื่องเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศหรือไม่ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะคิดอะไร อยากจะแก้ปัญหาอะไร ก็คิดออกมา เอางบประมาณกันออกมาก่อน แล้วก็ดำเนินการออกไปก่อน เดี๋ยวจะไม่ได้ KPI เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่า KPI ในแต่ยุทธศาสตร์นั้นมีความสัมพันธ์หรือมีการปฏิสัมพันธ์ในทางส่งเสริมหรือขัดแย้งกันกับยุทธศาสตร์อื่นๆ อย่างไร พอถึงเป้าหมายของตัวเองถือว่าใช้ได้แล้ว แต่ในภาพรวมไม่รู้


ส่วนในอีกมุมหนึ่งเป็นการมองยุทธศาสตร์ในเชิงฟังก์ชั่นการทำงาน (Functions) เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ผมเชื่อว่าทุกหน่วยงานที่ผมกล่าวมาทั้งหมดมียุทธศาสตร์รองรับการทำงาน ผมรู้สึกว่าเราเขียนยุทธศาสตร์กันก็เพราะต้องเขียนต้องทำ จะ รู้หรือไม่ว่า ยุทธศาสตร์จำเป็นต่อการทำงานอย่างไร ดู เหมือนว่ามันเป็นรูปแบบหรือฟอร์แมทในการทำงาน ทุกหน่วยงานจะทำจะต้องเขียน แต่ขอโทษนะครับ เห็นยุทธศาสตร์ของหลายๆ หน่วยงานแล้วดูไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นยุทธศาสตร์ (Strategy) ไม่มีความรู้สึกของการต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเวลาเขียนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานที่เป็น Functions นั้น แต่ละหน่วยงานนั้นมีการประสานงานหรือคุยกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ละหน่วยงานก็คงเขียนยุทธศาสตร์ของตัวเองเพื่อเป้าหมายของตัวเอง ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าแต่ละหน่วยงานนั้นมีการคุยหรือประสานงานหรือวางแผนร่วมกันหรือไม่ ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ หน่วยงานเหล่านั้นอาจจะมีก็ได้หรืออาจจะเป็นพิธีการแบบลูบหน้าปะจมูกกันไปหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อยก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีการวางแผนร่วมกันและเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่บูรณาการทั้งในแต่ละระดับของห้วงเวลา จากระยะยาว สู่ระยะกลางและระยะสั้น จนถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งถ้ามีการประสานงานและเชื่อมโยงแผนเพื่อสนธิแผนงานกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ผมเชื่อว่า ประเทศไทยเราไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้


แล้วทำไมเราถึงเป็นเช่นนี้หรืออยู่ในสภาพอย่างนี้ ผมคิดว่าเราอ่อนแอในการใช้ปัญญา เรามีแต่เรื่องที่รู้มา แต่ไม่สามารถนำเรื่องที่รู้ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้ จากเรื่องที่รู้ก็ไม่สามารถกลายหรือแปลงไปเป็นความรู้ได้ และอีกอย่างที่น่าสนใจมาก คือ เราไม่สามารถสร้างความรู้เองได้ เราไม่มี Mind หรือความคิดของความเป็นวิทยาศาสตร์หรือคิดอย่างวิทยาศาสตร์ เราไม่ค่อยที่จะมีความตระหนักของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราและรอบๆ สังคมของเรา ทั้งๆ ที่เรื่องราวของยุทธศาสตร์และการเขียนยุทธศาสตร์ที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้ ผมไม่ได้คิดเอาเองแล้ว แนวคิดและวิธีการของยุทธศาสตร์พร้อมตัวอย่างมากมายนั้นอยู่หนังสือและตำราที่สามารถหาได้ตามร้านหนังสือหรือในปัจจุบันยิ่งหาได้อย่างง่ายดายมากใน Internet แล้วทำไมเราถึงได้ปล่อยเรื่องที่รู้กลายเป็นแค่เรื่องที่รู้ แต่ไม่สามารถทำให้เป็นความรู้ได้


ผมคิดว่าเรามีทัศนคติต่อการดำรงชีวิตด้วยความสบายเป็นหลัก คนในชาติถูกโฆษณาชวนเชื่อให้กลายเป็นชนชาติที่มีลักษณะเช่นนี้ รักความสบาย ไม่เคยลำบาก ทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ยึดติดอยู่กับความโชคดีของประเทศไทย แม้กระทั่งมีความคิดที่ว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทย แล้วคนชาติอื่นในโลกล่ะ เขาเป็นคนโชคร้ายในโลกนี้หรือ เราได้กลายเป็นชนชาติแห่งความโชคดีในทุกๆ ด้าน สุดท้ายความโชคดีของชนชาติไทยก็หมดโปรโมชั่นลง ความโชคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติได้ย่างกรายเข้ามาในสังคมเรา เข้ามาเขย่าความมั่นคงในชีวิต เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทะเลาะกัน เราเริ่มโชคร้ายเพราะคนไทยทุจริตกันมากมาย คนไทยเราถึงแม้ว่าจะเห็นอยู่ต่อหน้าว่าภัยกำลังจะมา แต่ในความคิดของคนไทยเราก็ยังไม่เคยเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เราดำรงชีวิตอยู่กันด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง แต่ในหลายๆ ครั้งความเชื่อและความจริงมันก็ไม่ตรงกัน มันคงจะเป็นบทเรียนที่สำคัญของคนในชาติที่จะต้องเริ่มคิดกันใหม่ ถึงขั้นจะต้องสร้างชาติใหม่กันเลย ผมหมายถึงต้องเปลี่ยนฐานคิดและวิธีมองโลกกันใหม่เลย

กลับมาที่ยุทธศาสตร์หลักที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ผมยังค่อยจะเห็นร่องรอยของเจ้าตัวยุทธศาสตร์ชาติที่ว่านี้เลย ตัวยุทธศาสตร์ชาตินี้ถือว่าเป็นแกนหลักให้ยุทธศาสตร์ย่อยตัวอื่นๆ ในเชิง Functions ในการทำงาน เช่น ประเด็น ICT ประเด็นการศึกษา ประเด็นการเมือง ประเด็นการทหาร ประเด็นสังคมจิตวิทยา ประเด็น ICT ประเด็นพลังงานและสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ชาติก็สามารถเป็นมุดหมาย (Milestone) และเป็นแกนกลางสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะกลางและระยะสั้นด้วย รวมทั้งเป็นฐานที่สำคัญในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย


ยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ ( Grand Strategy) สำหรับการดำรงอยู่ของชาติอย่างมั่นคง ยุทธศาสตร์จึงมีความเป็นบูรณาการของแผนยุทธศาสตร์ในหน่วยงานต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นแผนที่จะต้องรอมชอมกับแผนยุทธศาสตร์ย่อยๆ ต่างๆ แน่นอนครับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ อาจจะมีความขัดแย้งกันเอง ถ้าต่างคนต่างวางแผน ถ้าเรามียุทธศาสตร์ชาติที่มองแผนยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละหน่วยงานในเชิงระบบ (Systemic) โดยมองความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของแต่ละแผนยุทธศาสตร์ย่อยที่เป็นของแต่ละหน่วยงานให้เป็นโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure)


โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์โดยเฉพาะในระดับยุทธศาสตร์ชาตินั้นโดยธรรมชาติจะมีลักษณะที่มีความซับซ้อนที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)อยู่มาก การจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินั้นอาจจะต้องเปลี่ยนฐานคิดใหม่จากการจัดทำยุทธศาสตร์ในแบบดั้งเดิมที่มีฐานคิดแบบเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking) หรือเป็นการคิดแบบกลไก (Mechanistic Thinking) มาเป็นการคิดเชิงระบบซึ่งเป็นการคิดแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non Linear Thinking) เพราะว่าสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันมีความซับซ้อน (Complexity) เพิ่มมากขึ้น การคิดในเชิงระบบ (Systems Thinking) หรือแนวทางเชิงระบบ (System Approach) น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการคิดในแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเชิงเส้นสำหรับปัญหาในการเขียนแผนยุทธศาสตร์และการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้จำกัดเวลา ไม่ได้มีขอบเขต และมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัด


ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราได้มีแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บูรณาการยุทธศาสตร์ย่อยต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์จนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพราะว่าอาจจะยังไม่ได้บูรณาการถึงความเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็แสดงให้เห็นว่า เกิดความไม่สอดคล้องกันในเชิงปฏิบัติทำให้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การเชื่อมโยงจากระดับยุทธศาสตร์สู่ระดับการปฏิบัติที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นเมื่อมองจากระดับยุทธศาสตร์ก็ต้องเห็นผลในเชิงปฏิบัติ ในทางตรงกันข้ามเมื่อได้รับผลจากการปฏิบัติก็จะต้องเห็นว่าต้นทางของการปฏิบัตินั้นมาจากยุทธศาสตร์ นั่นน่าจะเป็นอีกมุมมองของปัญหาที่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาและการพัฒนาในอนาคต ไม่เชื่อก็ลองดูนะครับว่า ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์ที่เห็นเขียนๆ กันแล้วแจกเป็นโบว์ชัวร์ตามสถานที่หน่วยงานต่างๆ เราจะสามารถมาถึงจุดนี้ได้ไหม ผมว่าได้ครับ แล้วถ้าเรามียุทธศาสตร์กันจริงๆ หรือดีกว่านี้ ผมว่าเราจะไปได้ไกลกว่านี้ และเราอาจจะไม่มีปัญหาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ได้!

Perspectives – 9. ความรู้ คือ อำนาจ แล้วเรามีความรู้อะไรบ้างจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้

จากเหตุการณ์โต้แย้งกันในเรื่องของการใช้ลูกบอล EM ในการบำบัดน้ำเสีย ทำให้ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเราต้องใช้ความรู้วิชาการในการดำเนินงานและในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่านี้ บางครั้งเราก็เชื่ออะไรๆ ง่ายไปหรือเปล่า? เราต้องใช้การทดลองและใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นหรือไม่? มีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า เราได้เรียนรู้หรือมี Lesson Learned จากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไรบ้าง? กระบวนการการจัดการความรู้ของเรานั้นสามารถนำมาใช้อธิบายหรือวิเคราะห์อะไรได้บ้างหรือไม่


ผมหวังว่าสังคมเราคงจะไม่ได้แค่รับรู้เรื่องราวและจดจำไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 50ปี แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรสำหรับอนาคตเล่า? ถ้าเราเขียนเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือประวัติศาสตร์กันอย่างนั้น เราจะต้องได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในอนาคตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรจะเป็นคนที่ค้นหาหรือเรียนรู้ความจริงหรือความรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถ้าเป็นเรื่องร้าย และเราอยากที่จะให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกสักครั้ง ถ้าเป็นเรื่องที่ดีๆ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ แต่จะต้องเป็นความรู้และบทเรียนที่ให้ประโยชน์แก่สังคมในการป้องกันและพัฒนาสังคมต่อไป แล้วความรู้นั้นควรจะเป็นความรู้เรื่องอะไรกันบ้าง ผมอยากจะนำเสนอความรู้ในเรื่องแนวคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เพราะว่าเราจะต้องเยียวยาและฟื้นฟูประเทศของเรา ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะว่าแค่กรุงเทพฯ พังไปแค่นี้ก็กระทบกระเทือนไปทั้งประเทศอยู่แล้ว ประเด็นในการฟื้นฟูก็ต้องเรื่องราวในหลายประเด็น เช่น การจัดการน้ำ การจัดการวางผังเมือง ประชาสังคม ความเข้าในพื้นฐานในภาวะวิกฤตของประชาชน การสื่อสารในยามปกติและในยามวิกฤต การวางแผนยุทธศาสตร์และการนำไปปฏิบัติ ฯลฯ อีกมากมายที่มีส่วนสัมพันธ์กันและมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ว่าในทางตรงหรือในทางอ้อม


ผลจากภัยพิบัติในครั้งนี้ผมคิดว่าหลายคนคงจะได้รับรู้อะไรๆ มากขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเราจะเรียนรู้อะไรบ้าง เพราะถ้าเราได้เรียนรู้แล้ว เราต้องอธิบายได้ว่า มันเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด แต่ผมก็เชื่อว่าหลายๆอย่างหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายคนสามารถอธิบายได้เป็นเรื่องๆ ไป เราเองทุกคนก็มีความชำนาญกันเป็นเรื่องๆ ไป แล้วในภาพรวม (The Whole) ล่ะ แล้วอนาคตล่ะเราจะสามารถคาดการณ์ได้หรือไม่


สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป และคิดว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปนั้นได้ทำเต็มที่แล้วในมุมของแต่ละคน ไม่ใช่ในภาพรวม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะเป็นแค่เรื่องผิวๆ ของความเข้าใจในเรื่องนี้ เรื่องที่ผมจะนำเสนอนี้ ก็ คือ แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามไป สิ่งที่สำคัญ คือ การมองข้ามประเด็นนี้ไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ถ้ายังมองปัญหาแบบดั้งเดิมโดยมองแบบแยกส่วนหรือการมองปัญหาเป็นเชิงเส้น (Linear Thinking)การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ก็เพราะว่าเราคิดผิด เราคิดว่าโลกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัยง่ายๆ เป็นแบบเชิงเส้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยป้อนเข้าและออกมีความสัมพันธ์แบบเชิงเส้น


หลายๆ ครั้งเรามีความเข้าใจว่าการคิดเชิงระบบ คือ การทำอะไรให้เป็นขั้นตอนและมีความเป็นอัตโนมัติ (Automatic) เราสามารถควบคุมระบบได้ นั่นยังไม่ใช่ความคิดเชิงระบบ แต่เป็นผลพวงของระบบที่มนุษย์ได้กำหนดฟังก์ชั่นหน้าที่การทำงานให้เป็นระเบียบหรือเป็นแบบแผนเพื่อเกิดความเข้าใจได้และเพื่อการควบคุม แต่ในความเป็นระบบ (System)ที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นนั้น ผมหมายถึงโครงสร้างเชิงระบบ (Systemic Structure) ที่เน้นความสัมพันธ์และการมีปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบที่ประกอบไปด้วยมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจนบูรณาการกันเป็นระบบโลกหรือสังคมมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ระบบของธรรมชาติ


เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งสองสิ่งหรือมากกว่ามาปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อบรรลุผลสำเร็จร่วมกัน เราก็มีระบบแล้ว ทีมฟุตบอลเป็นระบบ รัฐบาลเป็นระบบ โรงงานเป็นระบบ ระบบนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ระบบของโลกเรา และระบบเชิงกายภาพต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และระบบสังคมที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่เป็นมนุษย์ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้และมีผลประโยชน์ร่วมกัน ระบบต่างๆ ที่ว่านี้ประกอบด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นวงรอบ (Closed Loop) โดยมีการป้อนกลับ (Feedback) ซึ่งทำให้ระบบที่เราสนใจสามารถปรับตัวให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อมได้ คุณลักษณะเช่นนี้เป็นคุณลักษณะที่ไม่เป็นเชิงเส้น (Nonlinear) ซึ่งหมายความว่า สิ่งที่ป้อนเข้าไปในระบบและสิ่งที่ได้ออกมาจากระบบไม่ได้เป็นสัดส่วนกันอย่างที่เราคาดคิดกัน ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ (Predictable) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาส่วนใหญ่ในโลกเรานี้ เรามักจะมีสมมุติฐานว่า ปัญหาในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา สังคมหรือองค์กรที่มีคนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญจึงเป็นระบบซับซ้อนที่สามารถปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) ซึ่งถือได้ว่ามีรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่เป็นเชิงเส้น


สำหรับปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ (System Failure)ที่เป็นระบบสังคมซึ่งเป็นระบบที่มีการปฏิสัมพันธ์กับระบบในธรรมชาติ ระบบสังคมมนุษย์เราอาศัยอยู่และพึ่งพาอยู่กับระบบธรรมชาติซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่และซับซ้อนมาก เราซึ่งเป็นมนุษย์ตัวเล็กไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมชาติได้ทั้งหมด เราจึงไม่สามารถที่จะเอาชนะธรรมชาติได้ แค่เรามีความเข้าใจส่วนหนึ่งและอยู่กับธรรมชาติอย่างที่เป็นอยู่ได้ ผมว่าก็น่าจะเป็นพอใจของมนุษย์เราแล้ว


ความรู้และความเข้าใจในความรู้เชิงระบบโดยเฉพาะประเด็นของพฤติกรรมของระบบที่จะต้องปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง (Self-Organization) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัต จะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับปัญหาในปัจจุบันและการพัฒนาสู่อนาคต ยิ่งระบบสังคมที่เราอาศัยมีลักษณะเหมือนสิ่งมีชีวิตและประกอบไปด้วยการตัดสินใจที่เป็นอิสระของแต่ละคนและมีการป้อนกลับของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจภายในระบบสังคมนี้ จึงทำให้พฤติกรรมของระบบสังคมมีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น ยิ่งระบบสังคมมีจำนวนองค์ประกอบมากมายเท่าไร ระบบสังคมนั้นก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ก็จะทำให้ยากแก่การแก้ไขปัญหา ดังนั้นความรู้และความเข้าใจที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบสังคมรวมทั้งการแก้ปัญหาจึงไม่สามารถใช้แค่องค์ความรู้แบบดั้งเดิมได้เสียแล้ว ความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่จะต้องเอาความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่มาบูรณาการกันเป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinarity) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ หรือมิติต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้นและวางแผนไปในอนาคตด้วย


สำหรับปัญหาในปัจจุบันและในอนาคต เราก็จะต้องมองปัญหาในเชิงระบบที่จะต้องใช้องค์ความรู้ในลักษณะของสหวิทยาการเพิ่มกันมากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของความสำเร็จในการทำงานแบบสหวิทยาการนี้ ก็ คือ การทำงานร่วมกันจากหลายๆ สาขาทั้งในเชิงเทคนิคและที่ไม่ใช่เชิงเทคนิค เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมแบบไทยๆ ถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่งก็ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะการทำงานและการใช้องค์ความรู้ไม่เป็นแบบสหวิทยาการ ต่างคนต่างแก้ปัญหาในมุมของตัวเองหรือในขอบเขตที่ตัวเองรับผิดชอบโดยไม่ได้ดูในภาพรวม นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมคนในสังคมไทยถึงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้และยังมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาแม้แต่ในเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้ ถึงแม้ว่าคนในสังคมไทยเราจะมีคนที่เก่งและเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มากมาย แต่พอให้มาทำงานร่วมกันกลับสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นและไม่ยอมจบสิ้นกัน ความรู้ใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยได้ ถ้ายังไม่ร่วมมือร่วมกันจริงๆ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด (Mentality) หรือ Mindset ที่จะต้องเปลี่ยนไป และที่สำคัญ ภาครัฐเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานใหม่ วางยุทธศาสตร์การเยียวยาและฟื้นฟูไปบนพื้นฐานหรือแนวคิดแบบเดิมที่มองกันแบบแยกเป็นส่วนๆ โดยที่ไม่ได้มองแบบองค์รวม ผลที่ตามมาก็คงจะเหมือนเดิม หรือไม่ก็เลวร้ายกว่าเก่าเสียอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากๆ ในสังคมไทยสำหรับเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต

Perspectives – 8. โซ่อุปทานเมือง โซ่อุปทานชีวิต

วันนี้ผมไม่ได้ทำงาน ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้ทำงานมาหลายวันแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้มีการประกาศหยุดราชการเพิ่มอีก ธุรกิจที่ยังดำเนินการได้ก็เปิดดำเนินการไป ชีวิตคนทำงานที่ยังต้องทำงานก็ทำงานไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์ก็วิกฤตเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่รัฐก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่ายังมีคนทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการอยู่เพื่อที่จะบริการประชาชน และต้องทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ทำงานได้ ทำธุรกิจได้ ก็คงต้องทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็มีคนทำงานทำธุรกิจเท่าที่ทำได้ แต่ในความรู้สึกของผมก็ คือ กรุงเทพฯ นั้นกำลังจะล่มแล้ว อาการอยู่ในขั้นโคม่า ที่กรุงเทพฯ มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เหมือนกับคนป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องหายใจและเครื่องมือช่วยชีวิตอื่นๆ ที่ต่อสายโยงระยางไปหมด พร้อมที่จะสิ้นลมได้ทุกเมื่อ แต่ชีวิตของกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ไปง่ายๆ


ถ้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถอยู่รอดด้วยตัวเองแล้ว ก็เพราะว่าคนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมธุรกิจเพื่อการดำรงชีพอยู่ได้ เพราะไปทำงานทำมาหากินไม่ได้ แต่ทุกคนในเมืองจะต้องกินต้องใช้ ผู้บริหารกรุงเทพฯ จะต้องทำให้กรุงเทพฯ มีแหล่งเสบียงอาหารค่อยส่งกำลังบำรุงกันอยู่ตลอดเวลาที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งมาจากการระดมของบริจาคและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสา แล้วกรุงเทพฯ จะอยู่ในลักษณะนี้ได้นานเท่าไหร่? เพราะว่าระบบลอจิสติกส์ของกรุงเทพฯ เป็นอัมพาตในเส้นทางสำคัญๆ ที่เป็นทางเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศ และเส้นทางปกติที่ทำให้คนในเมืองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนไปทำธุรกิจและดำเนินชีวิตได้


ระบบลอจิสติกส์เองในมุมมองของผมนั้นก็ไม่ได้หมายถึงตัวถนนหรือระบบการคมนาคมขนส่งในเชิงกายภาพแต่เพียงอย่างเดียว ลอจิสติกส์ในยามนี้หรือในยามไหนๆ ก็ตาม ผมมักจะหมายถึงการเข้าถึง (Accessibility) ลูกค้าในมุมของผู้ส่งมอบคุณค่า หรือการได้มา (Acquire) ซึ่งคุณค่าในมุมของผู้รับคุณค่าหรือลูกค้า ผมพูดในระดับนามธรรมนะครับ ส่วนจะเอาไปใช้อย่างไรนั้น เราก็ต้องไปตีความและทำความเข้าใจกับบริบท (Context) ที่คุณต้องการจะประยุกต์ใช้ประโยชน์เหล่านั้นให้เกิดเป็นรูปธรรม


ผมมองกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นเมือง (Urban) ซึ่งประกอบด้วยคนและบทบาทหน้าที่ของคนในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในเมือง และคนแต่ละคนก็ทำหน้าที่สร้างคุณค่า (Value Creator) อยู่ในโซ่อุปทานที่ผลิตสินค้าและบริการเพื่อที่จะได้ทุนคืนมาพร้อมผลกำไร แล้วก็เอาเงินนั้นมาจ่ายเป็นค่าแรงให้กลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างคุณค่าในโซ่อุปทานต่างๆ ในเมือง และที่สุดแล้วคนเหล่านี้ที่อยู่ในโซ่อุปทานทุกโซ่อุปทานก็ต้องกินและต้องใช้คุณค่าต่างๆ จากโซ่อุปทานเหล่านี้ในการดำรงชีวิตด้วยการซื้อสินค้าและบริการที่โซ่อุปทานต่างๆ ในเมืองที่ร่วมกันผลิตขึ้นมา ดังนั้นเมืองทั้งหลายจึงประกอบไปด้วยโซ่อุปทานต่างๆ ที่สร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ต่อคนในเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกันไปมาเป็นระดับชั้นและเป็นเครือข่าย (Network) เพื่อสร้างคุณค่าให้คนในเมืองได้กินอยู่และได้ใช้ประโยชน์


โดยปกติเมื่อเรากล่าวถึงระบบลอจิสติกส์ของเมือง (City Logistics) เราก็ควรจะอ้างถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการเข้าถึงของทรัพยากรต่างๆ และส่งต่อคุณค่าระหว่างกันในโซ่อุปทานเพื่อสร้างประโยชน์ (Value Creation) ให้กับคนในเมือง ส่วนโซ่อุปทานเราก็ควรจะอ้างถึงกลุ่มผู้ที่สร้างคุณค่าต่างๆ ในโซ่อุปทานต่างๆ ที่อยู่ในฐานะผู้ผลิต (Manufacturer) ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ (Logistics Service Providers) ผู้ให้บริการสาธารณะ (Public Service Providers) ผู้ให้บริการ (Service Providers) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำส่งคุณค่า (Value Delivery)ไปถึงคนในเมือง


ในวันนี้คนในกรุงเทพฯ ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะน้ำท่วม เริ่มต้นที่ลอจิสติกส์ที่อยู่ในบริบทของการคมนาคมขนส่งหรือถนนหนทางถูกตัดขาด คนไปทำงานไม่ได้ โรงงานจมน้ำ วัตถุดิบไม่สามารถถูกส่งต่อไปยังโรงงานผลิตได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่สามารถถูกกระจายไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้สินค้าขาดแคลน ในขณะเดียวกันก็มีการกักตุนสินค้าของคนในเมืองด้วย น้ำดื่มขาดแคลน จึงทำให้โซ่อุปทานมีปัญหาตามมาอีกมาก ถ้าเราสังเกตุดูดีๆ เหตุการณ์ทั้งหลายในสังคมเรานั้นมีความเชื่อมโยงกันเชิงระบบ ตั้งแต่ระบบเล็กไปจนถึงระบบใหญ่ ถ้าเราเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเราอย่างองค์รวม เราก็สามารถที่จะปรับตัวเราเองตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้


เหตุการณ์ภัยพิบัตินี้มันเริ่มที่น้ำท่วมได้ทำลายระบบลอจิสติกส์การขนส่งซึ่งจะมีผลต่อระบบโซ่อุปทาน เมื่อโซ่อุปทานของเมืองมีปัญหาไม่สามารถส่งกำลังบำรุงให้กับเมืองได้ ปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนและกลุ่มคนก็จะตามมา เพราะว่าโซ่อุปทานสร้างคุณค่าให้คนในเมือง ทำให้คนในเมืองมีชีวิตอยู่ได้ จากการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัญหาสังคมก็จะตามมาอีก ปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจ สภาพเมืองเวลานี้เหมือนกับเส้นเลือดในร่างกายขาดตอน ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ร่างกายขาดเลือด เราก็อาจจะเสียชีวิตได้ เช่นกัน ถ้าระบบลอจิสติกส์ของเมืองถูกตัดขาด โซ่อุปทานก็ล่มสลาย คุณค่าไม่ได้ถูกสร้างและนำส่งไปยังลูกค้า ธุรกิจก็จะล่ม ผลในทางตรงกันข้ามคนก็จะตกงาน ความมั่นคงในชีวิตก็จะลดลง สังคมก็จะไม่มีความแน่นอนและมั่นคง ปัญหาสังคมก็จะบั่นทอนความเป็นเมืองไปด้วย นี่เป็นการคิดแบบองค์รวมหรือการคิดเชิงระบบ


วันนี้เราจะต้องมองปัญหาของน้ำท่วมกรุงเทพฯไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำท่วม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นมากกว่าน้ำท่วม และถ้าเราไม่สามารถมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ในเชิงองค์รวมแล้ว เราก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างเดียว โดยปล่อยให้ผลกระทบต่อเนื่องที่เกิดจากการมองปัญหาที่จุดเดียวหรือมิติเดียวกลายไปปัญหาที่เรื้อรังและใหญ่โตขึ้นโดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งจะทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องมองปัญหาในเชิงโซ่อุปทาน เราต้องมองให้เห็นโซ่อุปทานแห่งชีวิตคน และเมื่อคนในเมืองมีชีวิตแล้ว เมืองนั้นก็มีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

Perspectives – 7. การบูรณาการ (2) ต้องมองเชิงระบบ (Systems Thinking)

ผมได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดเรื่องการบูรณาการกันเยอะมากๆ จนเอียนเสียแล้วเพราะว่าไม่รู้ ที่จริงแล้วการบูรณาการ คือ อะไรกันแน่ ผมเองก็มีความเข้าใจในมุมมองของผม อย่าเชื่อนะครับ! ในมุมของผมนั้น การบูรณาการนั้นไม่ใช่เอาของหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง หลายๆ คนมารวมกัน แล้วก็เฮโลกันไป นั่นเป็นแค่การร่วมกลุ่มเท่านั้น เมื่อมองไปรอบๆตัวเราในประเทศเรานั้น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายซึ่งค่อนข้างจะครบครันในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่และเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม (ประเด็นนี้ไม่รู้ว่าจะมีครบหรือไม่) แค่เอาหลายสิ่งหลายอย่างๆ มารวมกันก็กลายเป็นพลังที่สำคัญ เราเข้าใจกันอย่างนั้น ความจริงแล้วพลังที่เกิดจากการรวมตัวนั้น ไม่ได้เกิดจากพลังของแต่ละส่วนเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญของการรวมตัวแบบบูรณาการนั้นเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions)



อธิบายได้ง่ายๆ ครับว่า การนำเอานักฟุตบอลที่เก่งๆ หลายๆ คนมารวมตัวกันเล่นโดยไม่มีการซักซ้อมหรือการวางแผนร่วมกัน ทีมฟุตบอลทีมนี้ก็ไม่สามารถเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพได้ ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เราเห็นองค์ประกอบของความช่วยเหลืออยู่มากมาย เรามีทรัพยากรพร้อมนะครับ แต่น่าเสียดายว่ามันขาดการทำงานร่วมกันหรือขาดการบูรณาการกัน ประเด็นของการบูรณาการ คือ การนำส่วนต่างๆ หรือระบบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันมาเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีมาตรฐานในการสื่อสารในการทำงานร่วมกัน ขาดกันไม่ได้ ถ้าขาดกันไป เป้าหมายของการบูรณาการก็จะไม่บรรลุผล ผลของการบูรณาการ คือ การได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าของเก่าที่มารวมตัวกัน (A whole is greater than sum of its parts) หรือที่เรียกกันว่า อุบัติขึ้น (Emergence) การบูรณาการจึงเป็นระบบของส่วนต่างๆ (System of Parts) สำหรับการบูรณาการที่ใหญ่ขึ้นก็ คือ ระบบของระบบ (System of Systems)


ดังนั้นเมือง (City) จึงเป็น System of Systems เพราะว่าประกอบกันหรือบูรณาการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และระบบธุรกิจ ระบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกันจนสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของคนเป็นล้านๆ คนได้ สำหรับการจัดการเมืองถ้าไม่ได้บูรณาการแล้ว เมืองก็คงไม่สามารถทำงานได้ ประชาชนที่อยู่ในเมืองก็ไม่ได้รับประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นเมืองต่างๆ ก็ถูกบูรณาการเป็นจังหวัดและจากจังหวัดก็ไปเป็นประเทศ จากประเทศต่างก็จะกลายไปเป็นประชาคมในภูมิภาค ถ้ามองกันอย่างนี้แล้ว มนุษย์เราเองสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นระบบหรือสังคมต่างๆ เราได้ทำการบูรณาการทรัพยากรต่างไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าเราได้ศึกษาจากผลสำเร็จในอดีตและจากธรรมชาติ เราก็จะสามารถออกแบบและพัฒนาระบบที่มีความซับซ้อน (Complex) ที่มากขึ้นเพื่อประโยชน์(Values)ที่มากขึ้น


เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในระบบใดซึ่งโดยธรรมชาติแล้วระบบนั้นจะถูกบูรณาการจากส่วนย่อยต่างๆ หรือจากระบบย่อยต่างๆ ที่ทำให้ระบบใดๆ นั้นจะทำระบบใดๆ นั้นไม่สามารถสร้างคุณค่าออกมาได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหาหรือจะพัฒนาระบบใดๆ นั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ (Big Picture) หรือ ภาพรวมทั้งหมด (A whole) ซึ่งครอบคลุมทุกๆส่วนย่อยและต้องคิดอย่างองค์รวม (Holistic Thinking) หรือการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจในความสัมพันธ์ (Relationship) และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Interactions) ภาพของกระบวนการแก้ปัญหาจึงจะต้องล้อตามหรือสอดคล้องไปตามการบูรณาการของระบบที่เป็นปัญหาหรือระบบที่จะพัฒนา ดังนั้นการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาของระบบโดยมุ่งเน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งนั้น โดยเฉพาะการที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งมักจะไม่ได้ผลที่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการมองแบบแยกส่วน (Reductionism)


การแก้ปัญหาของระบบที่ล้มเหลว (System Failure) จะต้องมองและทำความเข้าใจปัญหาในเชิงระบบ (Systemic) ไม่ใช่การมองปัญหาแบบเป็นอาการๆ เมื่อแก้ที่จุดหนึ่งแล้วกลับไปแสดงอาการอีกอาการที่อีกจุดหนึ่ง นั่นเป็นธรรมชาติของระบบ ถ้าทำกันเช่นนี้ เราก็แก้ปัญหากันแบบไม่รู้จบ เมื่อระบบล้มเหลว เราก็จะต้องเอาความเป็นระบบที่ถูกต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เราจะต้องบูรณาการส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหา นั่นหมายถึง ไม่ใช่แค่การระดมสรรพกำลังตามปกติ แต่จะต้องมีระบบเป็นที่ตั้งแล้วจึงสื่อสารและประสานงานอย่างเป็นมาตรฐานออกไป จะต้องมี Protocol ที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน นั่นเป็นสิ่งที่ผมมองเห็นว่าเรายังขาดสิ่งนั้น เหตุการณ์ทุกครั้งน่าจะเป็นบทเรียนการบูรณาการได้ แล้วเราจะจำกันได้หรือไม่

Perspectives – 6. ความเสี่ยงกับไม่ความแน่นอนที่จะเสียหายหรือล้มเหลว

เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ เราทุกคนคงจะไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือว่ามีโอกาสเกิดขึ้น (Probability) ได้น้อยมาก แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ มันเป็นความไม่แน่นอน (Uncertainty) เพราะว่ามีอยู่สองทางเลือก คือ เกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า ทุกคนต้องตาย แต่จะเมื่อไหร่เล่า เพราะว่าถ้ามันเป็นเรื่องแน่นอนว่าน้ำไม่ท่วม มันก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ความไม่แน่นอนนี้เป็นธรรมชาติ นั่นแสดงว่าจะมีน้ำท่วมและน้ำไม่ท่วม แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน เราก็ยังไม่รู้แน่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่


ระดับของความไม่แน่นอนนี้ (Measurement of Uncertainty) สามารถวัดได้ด้วยค่าความน่าจะเป็น (Probability) ยิ่งความน่าจะเป็นสูงก็มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้มากในแต่ละช่วงเวลาอย่างสุ่ม (Randomly) ยิ่งผมคิดว่าอะไรก็ตามที่คนเราคิดได้ มันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ และยังมีอะไรๆ อีกมากมายที่เรามนุษย์ไม่รู้ในธรรมชาติก็อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างสุ่ม (Randomly) โดยเราไม่ได้คาดคิดมาก่อน


ระหว่างเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้เราได้ยินคำว่าความเสี่ยง (Risk) อยู่เป็นประจำ แล้วความเสี่ยง คือ อะไร? ความเสี่ยง คือ โอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดความเสียหาย (a loss or catastrophe) หรือผลลัพธ์ไม่ได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ (Undesirable Outcome) หลังจากเราได้ตัดสินใจไป ดังนั้นความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อเราได้ตัดสินใจ แล้วเราจะตัดสินใจ (Making Decisions) อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งก็คือ การจัดการความเสี่ยง(Risk Management) นั่นเอง


ทุกครั้งที่เราตัดสินใจ เราจะต้องมีวิธีการตัดสินใจที่ถูกต้อง (Right Decision Making Model) โดยใช้แบบจำลอง (Model) นี้ในการสร้าง (Generate) ทางเลือกต่างๆ (Alternatives) ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ หรือข้อจำกัดต่างๆ (Constraints) และที่สำคัญผู้ตัดสินใจ (Decision Makers) จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง (Right Data) ในกระบวนการตัดสินใจ ถ้าเราไม่มี Model ที่ถูกต้องและไม่มีข้อมูล (Data)ที่ถูกต้อง แล้วเราก็ตัดสินใจไปในสถานการณ์ที่ไม่ถูกทั้ง Model และ Data หรือถูกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงซึ่งก็ คือ มีโอกาสหรือความน่าจะเป็นในการได้รับผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการหรือได้รับความล้มเหลวหรือเสียหาย เช่น เราจ้างคนขับรถคนใหม่มาขับรถให้ โดยที่เราไม่รู้ประวัติการขับรถของเขามาก่อน เราก็ตกอยู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุ


แล้วเราลองมาดูสิว่าตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมหาวินาศอย่างนี้ เราตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เราได้ตัดสินใจอะไรลงไปด้วยวิธีการคิด (Decision Making Model) ที่ถูกต้องหรือไม่และมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ยิ่งเราตื่นตระหนกและตัดสินใจโดยไม่รู้ (ไม่มีวิธีคิดและไม่มีข้อมูล) หรือไม่ได้คิดอะไรเลยหรือคิดน้อยไป เราก็จะอยู่ภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหรือตกอยู่ในอันตราย การที่ ศปภ.ได้ออกคลิปเรื่อง “รู้สู้ Flood” เป็นตอนๆ ด้วยกราฟิกง่ายๆ เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความเข้าใจและสามารถสร้างวิธีคิดหรือ Decision Making Model ที่ถูกต้อง เมื่อประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องราวหรือ Problem Statements ที่ถูกต้องแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนแต่ละคนที่จะต้องเก็บข้อมูลจาก ศปภ.และสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและข้อมูลสถานะของตัวเองภายใต้ข้อจำกัด (Constraints)ของแต่ละคนเพื่อทำการตัดสินใจเพื่อเอาตัวเองรอดจากภัยน้ำท่วม ความเสี่ยงของประชาชนก็จะลดลง

ทุกข้อมูลข่าวสารมีคุณค่า ถ้ามีวิธีการคิด (Decision Making Model)ของปัญหาที่เผชิญ (Problems) อย่างถูกต้อง นี่ คือ การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) แล้วเราลองคิดดูนะครับว่า กว่าจะมาเป็นน้ำท่วมที่ท่วมกันอยู่หลายๆ จังหวัด และท่วมกันตั้งแต่เหนือจรดใต้นี้ พวกเราประชาชนมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน มีใครๆ อีกหลายๆ คนในโซ่การตัดสินใจ (Decision Chain) ในเรื่องการจัดการน้ำ(Water Resources Management) ได้สร้างความเสี่ยงไว้หรือได้มีการจัดการความเสี่ยงไว้กันอย่างไรบ้าง นี่เป็นความซับซ้อน (Complexity) ของการจัดการสาธารณะ (Public Management) ในยุคปัจจุบัน ถ้าคนในตอนต้นทาง (Upstream)ได้สร้างความเสี่ยงไว้ และคนในกลางทาง (Midstream)และปลายทาง (Downstream) ต่างคนต่างสร้างความเสี่ยงไว้ สุดท้ายปลายทางอย่างกรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงอย่างมากๆ ในการเกิดภัยพิบัติ นั่นแสดงว่า มีโอกาส (Chances) สูง หรือความน่าจะเป็น (Probability) สูงที่จะเกิดน้ำท่วม ซึ่งก็ คือ ความเสี่ยงในเกิดน้ำท่วมและความเสี่ยงที่จะประสบภัยน้ำท่วม


นั่นก็อาจเป็นเพราะเราไม่ได้มีการแบบจำลองการตัดสินใจร่วมกันและข้อมูลตลอดโซ่การตัดสินใจในเรื่องการจัดการน้ำแบบข้ามหน่วยงาน (Cross Functional) ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วม ดูๆ ไปแล้วภาครัฐทั้งหลายทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นได้สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดเส้นทางไหลของน้ำมาโดยตลอด เพราะว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูงขึ้นตลอดเวลาและในเกือบทุกสถานที่ที่น้ำไหลผ่าน คือ มีน้ำเกือบเต็มทุกพื้นที่ และท่วมทุกที่ที่น้ำไหลผ่าน นั่นแสดงว่า กระบวนการทำงานตั้งแต่การวางแผน (Planning) และการดำเนินงาน (Execution) มีความเสี่ยงสูง (High Risk) หรือมีโอกาสสูงหรือความน่าจะเป็นสูงที่จะล้มเหลว (High Probability to Fail) หรือสร้างความเสียหายได้ ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเกิดความเสียหายและไม่สามารถควบคุมได้ตลอดเส้นทางน้ำไหล มันใช่พวกเรากันเองหรือไม่ที่ได้สร้างความเสี่ยงให้กับชีวิตของเรากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำไมประชาชนถึงไม่รู้ไม่เข้าใจกระบวนการคิดและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินในเหตุการณ์น้ำท่วม พวกเราประชาชนไม่มีความรู้มาก่อนเลย ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อนเลย การที่จะมีการให้ข้อมูลและวิธีการคิดตัดสินใจในภาวะการณ์เช่นนี้ มันไม่สายไปหรือครับ แต่ก็ยังดีมี Modelในการคิดและข้อมูลให้เกิดการเรียนรู้สำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์


การตัดสินใจในเรื่องอย่างนี้ในภาวะที่เกิดสาธารณภัยคงจะไม่เหมือนกับการตัดสินใจในระดับองค์ธุรกิจเพราะบริบทของการจัดสาธารณะนั้นมีความซับซ้อนว่าการจัดการองค์กรธุรกิจแบบเดี่ยวๆ มากยิ่งนัก เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของการจัดการสาธารณะของประเทศไทยที่จะต้องมองอย่างองค์รวม (Holistic) รวมทั้งคิดและดำเนินงานอย่างบูรณาการ (Integrative) อย่างแท้จริง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศเราอาจจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งๆ แล้วใครๆ เขาจะมาเที่ยวหรือลงทุนในประเทศไทยล่ะครับ แม้แต่ประชาชนเราเองก็อาจจะไม่มีความมั่นใจในการจัดการสาธารณะของภาครัฐอีกต่อไป แล้วสังคมก็จะถูกสั่นคอนและอ่อนไหว ความเป็นอยู่ประชาชนก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่มั่นคง ผมหวังว่าเราคงจะไม่เป็นอย่างนั้น เราคงจะต้องไปแก้ไขที่โครงสร้างพื้นฐานของสังคมต่อไป ยังมีโอกาสครับที่จะลดความเสี่ยงหรือจัดการความเสี่ยงในทุกรูปแบบของสังคมและประเทศลงได้

Perspectives – 5. การหยุดชะงักหรือการขาดตอนของโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption)

ถ้าโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์คุณค่าในรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้กับมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีชีวิตแล้ว ถ้ามันขาดตอนไปหรือหยุดชะงักในการสร้างคุณค่าเหล่านั้นไป มนุษย์ก็คงจะลำบากในการดำรงชีวิต ผมบรรยายเรื่องโซ่อุปทานมานานนับสิบกว่าปี อาจจะเป็นเพราะผมอาจจะไม่ค่อยจะมีฝีมือในการสื่อสารหรือนำเสนอเท่าไหร่ จึงทำให้ความเข้าใจในเรื่องโซ่อุปทานและลอจิสติกส์สำหรับเมืองไทยยังมีไม่มากนัก ที่จริงแล้วผมว่าพวกเราเองไม่ค่อยสนใจอะไรกันมากเท่าไรนัก เพราะสังคมพูดกันน้อย ผู้ใหญ่พูดกันน้อย คนในวงการธุรกิจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ จึงไม่ค่อยสนใจจะสื่อสารออกไป และเราก็เรียนรู้กันน้อย เรื่องที่อยู่ในอนาคต เรื่องยังมามาถึงตัวก็ไม่ค่อยจะสนใจกัน




พอเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเห็นโรงงานปิดไปหลายสิบโรง แล้วมีผลกระทบไปยังอีกหลายโรงงานจนกระทั่งมีผลกระทบมาถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายซึ่งก็ คือ เราๆ นี้เอง เวลาไปดื่มกาแฟที่ร้าน Starbucks ก็พบว่า กระดาษเช็ดปากของ Starbuckหมด ต้องเอากระดาษเช็คปากกาแบบธรรมดาทั่วไปมาแทน เพราะศูนย์กระจายวัตถุดิบอยู่ที่อยุทธยาติดน้าท่วม ร้านอาหารบางร้านปิดไปเพราะโรงงานวัตถุดิบอยู่ที่อยุทธยา เกิดการหยุดชะงักของการผลิตและการกระจายสินค้า พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้แล้ว เราจะหันสนใจโซ่อุปทานและลอจิสติกส์หรือไม่ หรืออาจจะลืมไปอีกในอนาคตอันใกล้นี้




คนหลายคน ผู้ใหญ่หลายคนก็ออกปากว่า เพิ่งได้เห็นโซ่อุปทานกันก็ครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่พยายามเข้าใจอยู่ดี ทั้งๆ ที่ผมก็เพียรพยายามพูดกันมานาน แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ให้ความสนใจเสียเท่าไหร่นัก ใจไม่เปิดกว้าง อ่านเยอะแต่ใจแคบไม่ยอมเรียนรู้ ไม่เคยมีความคิดแบบโซ่อุปทาน (Supply Chain Thinking) ความเป็นโซ่อุปทานนั้นไม่ใช่การรวมตัวแค่การกองรวมกัน (Collections) มันเป็นการบูรณาการกัน (Integration) ซึ่งมีความหมายว่า ต้องมารวมกันเป็นสิ่งใหม่มีคุณค่าใหม่ แบบขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ ต้องอยู่ครบทุกส่วนทุกคนถึงจะได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น เมื่อขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปลายทางโซ่อุปทานที่พร้อมจะส่งมอบให้กับลูกค้าก็จะไม่มี




วันนี้ความเข้าใจในเรื่องโซ่อุปทานที่ได้จากประสบการณ์น้ำท่วมแล้วทำให้เราขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้คนก็ไปทำงานไม่ได้ การเดินทางไปในสถานที่ต่างก็ไม่สะดวกและลำบากมากๆ ก็เพราะลอจิสติกส์ถูกตัดขาดนั่นเอง เหตุการณ์เหล่านี้ได้สอนและตอกย้ำให้เราต้องเข้าใจในโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เราน่าจะเห็นความสำคัญของโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เราจะต้องขวนขวายหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมมาจัดการกับโซ่อุปทานและลอจิสติกส์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า ที่ปลายทางของโซ่อุปทานของสินค้าและบริการต่างๆ นั้นจะมีของกินและของใช้ไว้บริการลูกค้าและประชาชนและตัวเราเอง



ดังนั้นถ้าโซ่อุปทานทั้งหลายเกิดหยุดชะงัก (Disruption) ขึ้นมา เราจะทำอย่างไร เราจะกู้อย่างไร ตรงนี้ยังไม่ใช่ประเด็นแรก แต่เราจะต้องคิดเอาไว้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เกิดเรื่องขึ้น เราจะต้องวางแผนไว้ก่อนที่มันจะเกิดการหยุดชะงัก และเมื่อการหยุดชะงักแล้ว เราก็ควรจะมีแผนไว้รองรับอย่างไร เพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร อะไรที่อยู่ในการควบคุมของเรา เราก็จะต้องวางแผนและควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินการ ไม่ใช่แค่ทำประกันไว้ นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา ได้เงินทดแทนคืนมาก็ไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่เหมือนกับเหตุการณ์แบบน้ำท่วมในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าเราจะไม่มีแผนรองรับ เออ! แล้วทำไมไม่คิดไว้ตั้งแต่แรก ในช่วงตอนน้ำไม่ท่วม แล้วทำไมเราไว้ไม่คิดไว้ เราก็มีบทเรียนมาหลายรอบแล้ว เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็เป็นบทเรียนให้เราได้ เรามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นกันตลอดเวลาไม่ได้หรอกครับ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราเองก็จะต้องสำรองวิธีการต่างๆ ไว้เผื่อไว้ สร้างหรือออกแบบโซ่อุปทานเผื่อไว้ เหมือนเราตุนสำรองสินค้าไว้ในยามขาดแคลน แต่สำหรับโซ่อุปทานนั้นมันไม่ได้ตุนอะไรกันง่ายๆ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นชิ้นๆ แต่มันเป็นโครงสร้างของหลายๆ บริษัท หลายๆ องค์กร หลายๆ อุตสาหกรรมที่ต้องมาทำงานร่วมกัน จะเป็นแบบอย่างทางการ (มีการวางแผนร่วมกัน) หรือไม่เป็นทางการ (ซื้อมาขายไป) เราจะทำอย่างไรให้เรามีโซ่อุปทานสำรองไว้ใช้งาน สร้างสินค้าและบริการไว้ยามฉุกเฉิน แต่เราเองก็ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าน้ำจะมากมายมหาศาลขนาดนี้ ถ้าใครพูดในตอนที่น้ำยังไม่ท่วม ก็คงถูกหาว่าบ้าไปเลย แล้วใครจะกล้าพูดล่ะ เราคงจะต้องมาพิจารณากันใหม่สำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดไว้ และคงจะต้องเลิกคิดแค่แต่ในทางดีหรือทางบวกเท่านั้น คงจะต้องวางแผนเผื่อไว้ในทุกๆ สถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้!

Perspectives – 4. ภาพชีวิต–2 (ของหมา)

หลังจากดูข่าวน้ำท่วมทุกวันจากเช้า-เย็น-ดึกจนได้เห็นภาพชีวิตจนออกมาเป็น Perspectives – 2.ภาพชีวิต ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นชีวิตของคนไทยในระดับรากหญ้าที่ต้องผจญการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จนไม่มีที่จะไปและต้องทนทุกข์อยู่น้ำที่ไม่ได้ไปไหนเหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่าเมืองไทยยังน่าอยู่อีกหรือไม่ เราต้องคิดกันใหม่แล้วล่ะ ในขณะที่สื่อ TVต่างๆ พยายามนำเสนอภาพชีวิตต่างๆ ของคนในสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วม เราไม่ได้เห็นชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่เราได้เห็นชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่คนนำมันมาเลี้ยงเป็นเพื่อน โดยเฉพาะหมาและแมว แต่เท่าที่เห็นมา หมานั้นเยอะกว่า เราเห็นทั้งหมาที่มีเจ้าของและหมาจรจัด ส่วนหมาที่มีเจ้าของก็จะมีประเภทเจ้าของนำไปฝากไว้ที่ศูนย์พักพิงต่างๆ หรือไปฝากเลี้ยงไว้ที่อื่นๆ หมาพวกนี้ก็โชคดีไป เจ้าของรักและดูแลด้วยความผูกพัน บางตัวมีเจ้าของแต่ถูกทิ้งไว้ที่บ้านโดยที่เจ้าของบ้านได้อพยพออกไปแล้ว น่าสงสารมาก ก็ไม่รู้ว่าเจ้าของนั้นคิดอย่างไร เพราะเห็นหมาที่ถูกทิ้งไว้นั้นอยู่ในบ้านของผู้มีฐานะทั้งนั้น


คนที่ติดอยู่ในบ้านยังได้รับถุงยังชีพ แล้วหมาเหล่านี้จะได้รับถุงยังชีพบ้างหรือไม่ ทุกครั้งที่มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยคนที่ติดน้ำท่วมก็ได้ช่วยเหลือหมาแมวเหล่านี้ออกมาด้วยทุกครั้งหรือไม่ก็ให้อาหารพวกมัน ส่วนหมาแมวที่มีเจ้าของและพอจะมีฐานะหน่อยและมีความห่วงใยและผูกพันก็จะถูกเจ้าของเคลื่อนย้ายออกไปยังที่แห้งและปลอดภัยกว่าก่อนที่จะประสบภัย ที่บ้านผมเองมีแต่หมา โดยแม่ผมเป็นคนเลี้ยง ก็เลยคิดว่าถ้าประสบภัยคงจะทุลักทุเลมากพอสมควร เพราะเห็นในข่าวแล้ว ไหนจะตัวเองและสัพภาระต่างๆ ลูกเด็กเล็กแดงแล้วก็สัตว์เลี้ยงที่รักทั้งหลาย กว่าฝ่าน้ำท่วมออกมาไปยังที่ปลอดภัย ก็คงจะยุ่งยากพอสมควร ผมก็เลยต้องจัดการขับรถขนหมาที่บ้านสองตัวและหมาของน้องสะใภ้อีกสองตัว รวมเป็น 4 ตัวไปเลี้ยงในที่ห่างๆ น้ำที่สัตหีบโน่นชั่วคราว เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วจึงค่อยนำกลับมาที่บ้านว่าไปแล้วเกิดเป็นหมานี่ก็มีชนชั้น เกิดเป็นหมาในบ้านของคนที่มีอันจะกินก็สบายไป ถ้าเกิดมาเป็นหมามีชนชั้นชาติตระกูลหน่อย เป็นพันธุ์ที่มีชื่อเลียงหรือเป็นพันธุ์ฝรั่งก็โชคดีไป แต่นิสัยต้องดีหน่อยคนเขาจะได้รัก มีบ้านดีๆ อยู่มีอาหารดีๆ กิน เกิดเป็นหมาข้างถนนหรือในตลาดก็จะเป็นหมาอีกแบบหนึ่งอีกชนชั้นหนึ่ง แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา ไม่รู้จริงหรือเปล่า ที่จริงชีวิตหมาๆ ดูไปก็คล้ายชีวิตคนนะครับ ที่ต้องคอยเอาอกเอาใจนาย ทำอย่างไรให้นายรัก เพื่อจะได้มีข้าวกินมีที่อยู่อาศัย ดูไปดูมาเหมือนคนมั้ย หรือว่าคนดันไปเหมือนหมา คนไปเลียนแบบชีวิตหมามา เมื่อหมาเจ็บป่วยก็มีเจ้าของพาไปหาหมออีกต่างหาก แต่ก็มีเจ้าของบางคนหนีเอาตัวรอดไปทิ้งเจ้าหมาทั้งหลายไว้ให้ผจญชีวิตอยู่กับน้ำท่วมโดยลำพัง เจ้าของหมาบางคนผูกหมาไว้บนระเบียงชั้นสอง ทำอีท่าไหนไม่รู้ หมาคงกระโดดข้ามระเบียงตกลงมา แขวนคอห้อยโตงเตงจากระเบียงชั้นสอง น่าสงสารมาก ส่วนที่ยังรอดอยู่ก็หิวโซหาที่แห้งอยู่รอคนมาช่วยเหลือหรือเอาอาหารมาให้ หมามันจะเข้าใจหรือไม่ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ทำไมน้ำถึงได้ท่วม หมามันได้ฟังข่าวจาก ศปภ.บ้างหรือไม่ หมามันได้รับการประสานงานจาก กทม. กรมชลฯและศปภ.หรือไม่ พวกหมามันพยายามจะมาประท้วงเรื่องคันกั้นน้ำโดยมารุมกันกัดกระสอบทรายหรือไม่ ผมว่ามันคงจะไม่รู้อะไรเลย นอกจะพยายามที่จะเอาชีวิตรอดให้ได้ หมาบางตัวก็ไม่เข้าใจว่าคนที่เข้ามานั้นจะมาช่วยมัน หมาจึงต้องหนีเอาไว้ก่อน หมาบางตัวก็ว่ายน้ำหนีออกไปจนหมดแรง จมน้ำไปก็มี นี่แหละครับภาพชีวิตของคนและหมา ผมว่าชีวิตคนและหมาที่ถูกกำหนดให้เล่นอยู่ในละครฉากเดียวกันอยู่กรุงเทพฯ และประเทศไทย ดูเหมือนว่าทั้งคนและหมาถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกัน อยู่กันคนละไฟลัมกัน แต่ก็มีความเหมือนกัน คือ ทั้งคนทั้งหมาก็เอาชีวิตรอด ทั้งคนทั้งหมาต่างก็มีความกลัว ทั้งคนทั้งหมาต่างก็มีความหวังจากความช่วยเหลือ คนกับหมาก็คล้ายกัน เวลาอยู่ว่างๆ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน พอไม่มีอะไรทำก็กัดกันเอง ดูแล้วเหมือนคนไหม ไม่รู้ใครเลียนแบบใคร แต่สิ่งหนึ่งที่คนกับหมาต่างกัน ก็คือ คนเป็นมนุษย์ ส่วนหมานั้นเป็นสัตว์ เรื่องนี้คนเป็นคนกำหนดเองนะครับ ส่วนหมานั้นคิดอย่างไรไม่รู้ ผมไม่เคยเป็นหมาครับ อย่างไรก็ตามคนกับหมาต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน แต่คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราเรียกตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐกว่า สร้างสรรค์กว่า มีปัญญากว่า แต่คนก็ใช้ปัญญาในการทำลายธรรมชาติไปมากกว่าสัตว์อื่นๆ ในโลก ก็เลยไม่รู้ว่าระหว่างหมากับคน ใครประเสริฐกว่ากัน

Perspectives – 3. การบูรณาการ

เห็นต่างคน ต่างออกมาให้ความเห็นในเชิงวิชาการมากมาย แล้วเราจะวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างไรกันดีเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมและการวางแผน ถึงแม้ว่าจะรอน้ำมาเป็นเวลานานแล้ว วันนี้วันพฤหัสที่ 3 พ.ย. 54 ผมมีงานบรรยายที่โรงแรมแถวถนนรัชดา ซึ่งอยู่ไม่ห่างเมเจอร์รัชโยธินมากนัก เช้าวันนี้ เมเจอร์รัชโยธินก็ได้ปิดทำการแล้ว ในโรงแรมนั้นไม่มีการจัดงานสัมมนาใดๆ เลยยกเว้นงานที่มผมไปบรรยายเท่านั้น น่าชื่นชมทั้งคนจัดและคนที่มาร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้


เราก็เห็นประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้นในภัยพิบัติครั้งนี้มามากมายหลายประเด็น จากภัยธรรมชาติวันนี้ได้กลายมาเป็นภัยที่ไม่เป็นธรรมชาติเสียแล้ว สงสัยกันว่าประชุมกันอย่างไร บูรณาการกันอย่างไร ทำงานกันอย่างไรถึงไม่เป็นเอกภาพ ดูแล้วแต่คน แต่ละหน่วยงาน ทั้งท้องถิ่นและภาครัฐ ต่างคนก็ยังยึดถือเป้าหมายของตัวเองอยู่ ไม่เป็น Supply Chain Thinking กันเลย ทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิผล ไม่ต้องพูดถึงประสิทธิภาพเลย ไม่มีอยู่แล้ว ก็เห็นๆ กันอยู่ งานนี้เจ๊งกันไปตามๆ กันก็เพราะจัดการผิดพลาด (Mismanagement) พลาดทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงประชาสังคม เพราะว่าไม่รู้ว่าเป้าหมายร่วมกัน คืออะไร


ส่วนนโยบายซึ่งคือ Rule of Orders หรือกฎหรือแนวทางของการตัดสินใจต่างๆ แสดงให้เห็นว่า คำสั่งในการดำเนินงานตั้งเริ่มตั้งแต่ฝนเม็ดแรกยังไม่ทันกลั่นตัว จนกลั่นตัวมาเป็นหยดฝน และตกลงแตะผืนแผ่นดินและแผ่นน้ำในลำธารจนรวมตัวกันเป็นมวลน้ำจำนวนมหาศาล และได้เคลื่อนตัวผ่านภูมิประเทศต่างๆ จากตอนเหนือลงสู่ตอนล่าง ผ่านบ้านเรือนใครต่อใครมากมาย มีทั้งผู้ที่ต้อนรับและขับไสไล่ส่ง จนต้องหาหนทางมุดลงท่อไหลลงคลองในกรุงเทพฯ ลงสู่ท้องทะเล นั่นหมายความว่า คำสั่งในการดำเนินงานตั้งต้นทางจนปลายทางนั้นไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่ได้สอดคล้องหรือส่งลูกกัน ทำให้เป้าหมายรวมในภาพใหญ่ (As a Whole) จึงไม่เกิดขึ้น ผู้มีส่วนร่วมต่างๆ จึงพากันมาให้รายละเอียดเป็นรอบๆ ไปในมุมมองของตัวเองที่ตัวเองรับผิดชอบ จึงทำให้ความเป็นเอกภาพไม่เกิด ทั้งๆ ที่ก็เห็นพูดว่าบูรณาการกันมาตลอด แต่ก็ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเลย นั่นแสดงว่าไม่ได้บูรณาการกันจริงๆ ก็ไม่รู้เข้าใจในความเป็นบูรณาการกันมากแค่ไหน Orders หรือ การตัดสินใจไม่สอดคล้องกัน แผนงานจึงไม่ได้สอดคล้องกัน นั่นก็อาจเป็นเพราะนโยบายไม่มีความชัดเจนและไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายสิ่งที่มันจะต้อง Flow หรือไหลไปสู่เป้าหมายนั้น มันก็ไปไม่ได้ มันก็เลยเน่าอยู่ตรงนั้นเสียเลย ดังนั้นความเป็นเอกภาพที่เกิดจากการบูรณาการกันนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้เริ่มจากความจริงใจ ความไว้ใจกัน และความร่วมใจกัน มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องทำให้เกิดการบูรณาการกันอย่างจริงๆ ในสังคมไทย ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ก็ตาม เราไม่จำเป็นหรอกที่เราจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันหรือรักกันหรือการทำงานร่วมกันในตอนที่เกิดการณ์ร้ายๆ ทั้งหลาย มันสายเกินไปหรือมันจะเป็นบทเรียนที่แพงเกินไปหรือเปล่า

Perspectives – 2.ภาพชีวิต (Reflection of Lifes)

ทุกวันผมนั่งดูข่าวน้ำท่วมตั้งแต่เช้าตื่นนอนยันดึกก่อนเข้านอน เขาว่ากันว่า ดูมากๆ แล้วเครียดเปล่าๆ ก็จริงครับ ผมไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี น้ำจะมาเมื่อไหร่ นั่นแหละครับความไม่แน่นอนที่เป็นธรรมชาติที่แท้ๆ เรามนุษย์พยายามที่จะจัดการกับความไม่แน่นอนทั้งหลาย ผมดูข่าวทุกวัน ดูแล้วเหมือนดูละครโรงใหญ่ที่เปิดเผยให้เห็นชีวิตจริงๆ ของคนไทยส่วนใหญ่ที่ลำบากมากๆ เหมือนดูรายการ คนค้นคนเลย โดยมีคุณน้ำเป็นคนต้นเรื่อง ไล่มาเลยจากจังหวัดทางเหนือลงมาทางใต้จนถึงกรุงเทพฯ คิดไปแล้ว ถึงไม่มีน้ำท่วมมา พวกเขาก็อาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากอยู่แล้ว แต่เรานั้นอาจจะมองไม่เห็น ไม่ได้รับทราบ ก็ชีวิตพวกเขาปกติดีอยู่ พวกเขาก็อยู่กันไป เดือดร้อนบ้างแต่ก็ไม่มาก และไม่ได้ไปเดือดร้อนคนอื่นๆในสังคม พวกเขาทนอยู่ได้ก็อยู่ไป คนไทยในสังคมก็ไม่รู้ว่ายังอีกกี่ล้านคนที่ยังไม่ได้มีความมั่นคงในชีวิตหรือในการดำรงชีวิต


ผมว่าสังคมไทยเราดูดี ปรุ่งแต่งได้ดีเหมือนมีการพัฒนา อยู่แล้วมีชีวิตที่ดี สะดวก (ไม่มีระเบียบ ใช้เส้นสายได้) ก็เลยคิดว่าชีวิตนั้นสบาย พวกเราคิดกันอย่างนั้น แต่ความสบายนั้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่ได้ระเบิดมาแล้วในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ก็เพราะเอาความสะดวกเข้าว่า แต่ละคนหวังแต่สบาย ส่วนในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมโดยเฉพาะมาตรฐานการดำรงชีวิตนั้นประเทศเรายังต้องการการเติมเต็มอีกมาก เพราะมีความอ่อนไหวหรือเปราะบางต่อผลกระทบที่มีต่อสังคมอยู่มาก สังคมยังไม่แกร่งพอ (Robustness) ประเด็นปัญหานี้ย่อมมีผลต่อการฟื้นฟูโดยตรง


ผมนั่งดูข่าวชีวิตของผู้ประสบภัยแล้ว ส่วนใหญ่น่าสงสารมาก (ที่จริงแล้วผมควรจะสงสารตัวเองไว้ด้วย) ต้องถามว่าแล้วทำไมพวกเขาต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนั้นด้วย ทำไมพวกเขาถึงไม่อพยพหรือพวกเขาคิดกันอย่างไร ทำไมพวกเขาต้องมาทะเลาะกันเพื่อการกั้นน้ำและการระบายน้ำโดยไม่ได้คำนึงถึงภาพใหญ่ ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมถึงทำงานบนความขัดแย้งกันอย่างไม่รู้จบ แม้แต่พวกเรากันเองที่พอมีศักยภาพบ้างก็ยังใช้สื่อ Online ที่มีประโยชน์ไปในทางทำลายกัน ทั้งๆ ที่ก็ดูแล้วไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น ทำไปเพื่อความสะใจของตัวเองอย่างนั้นหรือ เสียค่า Air Time หรือ ค่า GB ของข้อมูลเปล่า เอาคุณค่าในการสื่อสารเหล่านั้นมากช่วยสร้างสรรค์สังคมในมุมอื่นๆ ยังจะดีกว่า โดยเฉพาะในเวลาอย่างนี้ เพื่อให้สังคมเราดีขึ้นจะได้มีการอุบัติอะไรใหม่ขึ้นมา


เออ! แล้วผู้คนที่มีฐานะทั้งหลายล่ะ พวกเขาไปอยู่ไหนกัน รถ 20-30 คันที่จอดอยู่ในโรงรถติดแอร์ เขาเอาไปไว้ไหนกัน ในขณะที่ผู้ประสบภัยจำนวนมากไม่มีที่จะอยู่ ผมเองก็ไม่ค่อยได้เห็นสื่อไปทำข่าวกับท่านเหล่านี้เลย คิดว่าคงไม่มีใครกล้าออกข่าวในภาวะอย่างนี้หรอก นี่มันเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทุกคนมองเห็น แต่อาจจะไม่อยากจะรับรู้ อย่าลืมว่า ถ้าคนชั้นล่างในสังคมที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่ในโซ่อุปทานของท่านผู้คนที่มีฐานะนั้นล่มสลายไป โซ่อุปทานที่ผลิตสินค้าและบริการของท่านทั้งหลายก็จะพังทลายไปด้วย สังคมก็จะพังทลายไปด้วย เพราะคนในสังคมไม่ได้มีความมั่นคงในชีวิต ถ้าสังคมพังทลายไป เกียรติยศชื่อเสียงและความมีอันจะกินของท่านผู้มีฐานะทั้งหลายก็จะต้องล้มสลายไปด้วยเช่นกัน แต่ไม่เป็นไร ท่านมีความสามารถในด้านการค้า ธุรกิจ ท่านอาจจะไปคิดธุรกิจใหม่ หาสังคมใหม่หรือตลาดแรงงานและตลาดการค้าใหม่ในสถานที่อื่นประเทศอื่นๆ เพื่อความมีอันจะกินรอบใหม่ของท่าน เราก็ไม่ได้ว่ากัน มันเป็นไปตามหลักของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่อย่าลืมว่าพวกเราทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกัน เชื่อมโยงกันทั้งหมด มีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสร้างสรรค์สังคม ความเป็นไปในสังคมก็อยู่ในกำมือของคนทุกคนในสังคม


วันนี้น้ำในกะลาใบใหญ่ที่เรียกว่า ประเทศไทย ได้สะท้อนภาพชีวิตคนไทยแท้ๆ หรือแก่นแท้ของชีวิตคนไทยให้ผู้นำในสังคมและเพื่อนๆ ในสังคมได้เห็น ได้เรียนรู้ เพื่อที่จะได้พิจารณา เพื่อที่จะได้คิด เพื่อที่จะได้เห็นใจกัน เพื่อที่จะได้เป็นโจทย์ในการฟื้นฟูและพัฒนาสังคมและประเทศไทยต่อไป

Perspectives – 1. ความน่าเชื่อถือของเรา (ประเทศไทย)

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะจมน้ำที่ท่วมแล้ว เราก็ยังจมกับทะเลของข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่รู้ว่าผู้ฟังจะไปตัดสินใจกันอย่างไรดี ไม่รู้ว่าจริงมากน้อยขนาดไหน ความน่าเชื่อถือของ ศปภ. และภาครัฐได้ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง รวมทั้งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไปด้วย มันน่าอายจริงๆ บางครั้งเราก็พยายามที่จะปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไร น้ำมาแล้วก็ไป ชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่แค่นั้นสิครับ ใช่ครับคนอื่นที่มาลงทุนแล้วก็จมไปกับน้ำ คนทำมาหากินมากมายหมดไปกับน้ำโดยไม่จำเป็น คราวหน้า เขาจะมีความมั่นใจกับเราอีกหรือครับ แล้วเราคนไทยจะมีความมั่นใจกับภาครัฐมากแค่ไหน นั่นก็เป็นเพราะความเป็นเรานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของแต่ละคน ความเป็นเราหมายถึงคนไทยทุกคนที่มารวมกันเป็นประเทศไทย เป็นกลุ่มคนไทย ดูมันมีอะไรที่ขาดไป ความเป็นประเทศนั้นต้องการการบูรณาการที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นการบูรณาการแค่คำพูดหรือลมปากที่พูดๆ กัน ประเทศไทยต้องการวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่เขียนมากัน เขียนกันมาเหมือนส่งการบ้านครูกันจริงๆ เลย มันน่าเสียใจและอายแทนประเทศไทยมากๆ พวกเราทำกันเองทั้งนั้น ผมนึกอยู่แล้ว มันจะต้องพังกันอย่างนี้สักวันหนึ่ง แต่เราคงจะไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ ประเทศไทยโตมาขนาดนี้ มีคนเก่งอยู่มากมาย ฟื้นฟูได้ แต่อาจจะไม่เหมือนเดิม อาจจะพิการไป เพื่อเลิกคบหรือแฟนทิ้งอะไรทำนองนั้น ดูๆ ไปก็ล้าหลังไปหน่อยหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราจะจดจำและให้น้ำท่วมชำระล้างเปลือกปลอมๆ ของประเทศและสังคมไทยออกมาให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของประเทศไทยที่ไม่ได้มีดีอย่างที่คิดหรือเก่งอย่างที่โม้โอ้อวดให้ลูกหลานฟังมาตลอดชีวิต แล้วเราจะยอมรับตัวตนที่แท้จริงและพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เพื่อจะได้ไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

Disaster – 4. ลองคิดเล่นๆ แต่น่าจะจริง

ก็มีคนถามไถ่กันมาตามสมควรว่าผมเป็นไงบ้าง ผมก็คงจะเหมือนกันกับทุกๆ คน หลายๆ คนคงจะหาข้อมูลกันได้ชัดเจนมากกว่าผม ผมเองก็ยังไม่ได้มีประสบการณ์จริงเลยในเรื่องน้ำท่วม ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมพื้นฐานของกรุงเทพฯและลามไปในหลายๆ ภาคส่วน น้ำอาจจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานในเกือบทุกๆ มิติ ส่วนเพลงที่ร้องกันอยู่ทุกวันที่ว่า ให้รักกัน คนไทยรัก ก็น่าจะมีควาหมายมากขึ้น พอถึงเวลาที่จะต้องกินจะต้องเอาตัวรอดแล้ว ผมสงสัยว่า เราจะยังรักกันอยู่อีกตามเพลงหรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็เห็นกัดกันจะตายไป! คำถามว่า แล้วคนไทยรักกันจริงๆ หรือ แล้วที่รักกันจริงๆ เป็นอย่างไร แล้วจะทำให้คนไทยรักกันจริงได้อย่างไร รักกันทั้งในยามสงบช่วยกันพัฒนาประเทศ รักกันช่วยเมื่อยามมีภัย ไม่ใช่จะมารักกันเฉพาะตอนที่จะมีภัยเท่านั้น

ประเทศไทยเรานั้นดูดีแต่เปลือก ข้างในเป็นโพลงหาแกนท่เป็นแก่นแท้ไม่ค่อยได้ ถึงตรงนี้ ก็ต้องขอโทษกันก่อน ผมไม่ได้มาซ้ำเติม แต่อยากจะชี้ให้เห็นโครงสร้างที่เปราะบางยิ่งนักของสังคมไทย ที่มาจากระบบคิดแบบไทยๆ ก็ไม่รู้ไม่แน่ใจว่า น่าจะทำอะไรกันซักอย่าง น่าจะคิดกันอย่างไร ไอ้ที่เรียกว่าแบบไทยๆ มันเป็นอย่างไร ก็คงไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ก็ที่เห็นๆ กันอยู่นี่ไง แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป โดยไม่ได้สนใจในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมกันจริงๆ ซึ่งจะมีผลต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดในชีวิตประจำวันปัญหาเรื่องน้ำก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของน้ำและเรามีวิชาการและวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจน้ำได้มากขึ้น เราก็น่าจะปรับตัวและรับมือกับน้ำได้ แต่ดูที่ผ่านมาสิครับ ผมคิดว่า ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นนี้น่าจะมาจากน้ำมือของคนส่วนหนึ่งในการคิดวางแผนและตัดสินใจ มาถึงวันนี้ ปัญหาเรื่องน้ำนั้นคงจะไม่เท่าไหร่ แต่น่าจะเป็นเรื่องของคนที่จะรับมือกับน้ำและผู้ที่ประสบภัยจากน้ำ ตอนนี้มาเป็นปัญหาเรื่องคนอีก และเป็นคนจำนวนมาก ที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากความตระหนกจากการอพยพ ผมว่าน้ำท่วมคราวนี้ ไม่น่าจะเรียกว่า ภัยธรรมชาติ (Natural) แต่เป็นภัยที่ไม่ธรรมชาติ (Unnatural)

วันนี้วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2554 ผู้คนเดินทางออกจากรุงเทพฯ เพื่อหนีน้ำไปยังหัวเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าก็ตามไปยังหัวเมืองต่างๆ อีก แต่ดูสภาพในกรุงเทพฯ ขั้นในก็ยังดำเนินชีวิตกันตามปกติ ถ้าน้ำท่วมแล้ว ชีวิตคงจะไม่ปกติอย่างที่เคยเป็นอยู่ ประเด็นก็คือ อาจจะไม่ได้แค่ไปเที่ยวพักผ่อน 3-4 วัน เท่านั้น แต่อาจจะเป็นเดือน หรืออาจจะสองเดือน ลองนึกภาพดูว่า น้ำท่วมกรุงเทพๆ เป็นอาทิตย์ๆ แล้วคนจะทำงานกันอย่างไร ถ้าเมืองไม่ Function ไม่ทำงาน ระบบ City Logistics ได้ถูกทำลายลงไป ระบบธุรกิจและการบริหารราชการมีปัญหาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น แล้วใครจะเลี้ยงผู้ประสบภัยซึ่งเป็นคนที่ไม่สามารถไปทำงานเป็นจำนวนมากๆ ได้อย่างไร ผมว่ามันจะโกลาหลกันไปหมด กลัวว่ามันจะกลายเป็นจลาจลไป แต่คงจะยังไม่ถึงอย่างนั้น ผมอาจจะมองในแง่ร้ายไปบ้าง ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการในการจัดการกับฝูงชนและความตื่นตระหนกของคนในการอพยพ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้คนโดยการอพยพคราวนี้ก็เลยกลายมาเป็นปัญหาเรื่องของลอจิสติกส์ของคนในการอพยพ คนธรรมดาไม่เท่าไหร่ คนชรา เด็กผู้ป่วย เป็นปัญหามากๆ สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ พอมีพอกินก็คงจะลำบาก ส่วนผู้มีอันจะกินก็คงจะไปเที่ยวกันเพื่อหนีน้ำท่วม แต่ก็ไม่แน่นะครับ เพราะธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ได้รองรับคนจำนวนมากๆ นานๆ ในลักษณะการอพยพเพื่อหนีภัยพิบัติที่ไม่รู้แน่นอนว่าจะจบเมื่อไหร่ แล้วต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะก็ไม่ได้วางแผนในลักษณะฉุกเฉินไว้เหมือนกัน

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะนี้มีความเกี่ยวโยงกับปัญหาโครงสร้างของสังคมที่มีผลต่อโครงสร้างอื่นๆ ทั้งที่เราดำเนินชีวิตประจำวันอยู่และในอนาคต ถ้าเรามีโครงสร้างของสังคมที่แข็งแกร่งและรองรับการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในเรื่องต่างๆ ได้แล้ว ประเทศไทยเราก็น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มาก เรามีโครงสร้างที่เป็นเปลือกและภาพที่สวยงาม แต่เราก็ยังไม่ได้มีแก่นความคิดของประเทศที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงต่างๆ ไม่ใช่ไม่มีคนเก่ง มีและมีเยอะ แต่โครงสร้างไม่ได้เอื้ออำนวยและส่งเสริม รวมทั้งทัศนคติส่วนตัวของแต่ละคนด้วย แต่ผมกลัวว่า ถ้าพังกันคราวนี้แล้ว จะพังกันยาวหรือไม่ ก็หวังว่าน่าจะมีอะไรสักอย่างผุดบังเกิด (Emergence) ขึ้นมา ถ้าเป็นนักลงทุนจากต่างประเทศก็คงจะต้องพิจารณากันใหม่แล้วว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการลงทุนอย่างมาก เสี่ยงตรงที่มีประเด็นที่ไม่รู้ ไม่สามารถประเมินได้ อีกมากมายและเป็นประเด็นที่ฝังรากลงไปที่โครงสร้างสังคมไทย ในเมื่อโครงสร้างพื้นฐานมีความเปราะบางเช่นนี้ แล้วทำไมถึงจะเอาตัวเองไปเสี่ยงด้วยเล่า ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีโครงสร้างเชิงวัตถุที่เป็นสิ่งที่ทันสมัยและสามารถอำนวยความสะดวกได้ครบถ้วน แต่โครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนมากกลุ่มในสังคม ผมคิดว่าเรามีปัญหาเรื่อง Social Issues มากและเรื้อรังและสั่งสมเป็นปัญหาอยู่ แต่เราก็มองข้ามไปอย่างไม่แยแสเท่าไรนัก ประเภทเราหลอกตัวเองมาตลอด
แล้วเราจะอพยพกันอย่างไร เราไม่เคยเจอเลย เราจะแย่งกันอย่างไร เราก็เห็นแย่งกันขอลายเซ็นดารา แย่งกันซื้อของลดราคา ก็แย่งกันมาตลอดชีวิต เราไม่แย่งกันได้ไหม เราก็ได้เห็นความงามของสังคมญี่ปุ่นกันมาแล้ว ซึ่งเราและทั่วโลกก็ชื่นชมสังคมญี่ปุ่น คราวนี้แหละ คนทั่วโลกจะได้เห็นความเป็นไทยแท้ที่ไม่เหมือนใครในโลก ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก จะออกมาอย่างไรเราก็ยังไม่รู้ ผมว่าน่าจะมีอะไรดีๆ อยู่บ้าง แล้วเขาจะยังมาลงทุนและมาเที่ยวเมืองไทยหรือไม่ นี่ คือ บทเรียนของสังคมไทยจริงๆ เลยครับ

ประเด็นที่สำคัญอีกประการของสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ ความมีวินัยของประชาชน ต้องยอมรับว่าเราเป็นชนชาติที่มีวินัยน้อยหรือหย่อนยานมากๆ เรามีประชาชนอยู่ 3 ประเภทในสถานการณ์เช่นนี้ คือ 1) ภาครัฐ 2) ประชาชนที่เป็นอาสาสมัครมีจิตอาสา 3) ผู้ประสบภัย ผู้อพยพ คนทั้ง 3 กลุ่ม ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย ที่สำคัญ พื้นฐานของคนทั้ง 3 ประเภท คือ ไม่ค่อยมีวินัยในสังคมเสียเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหนหรือมีความรู้มากแค่ไหน ก็เหมือนๆ กัน พูดๆ ไปก็ไม่รู้เหมือนกันว่า แล้ววินัยในสังคมของเราคือ อะไร ไม่ต้องอะไรมากดูไปรอบๆ ตัวก็แล้วกันว่าเรารู้สึกอย่างไรกับความเป็นไทย ภาครัฐเองก็มีวินัยตามระเบียบราชการ แต่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความเป็น Supply Chain ที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชนหรือสาธารณะ ซึ่งก็ คือ เรื่องการเมืองทั้งหลายทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ เวลานี้ดูเหมือนการเมืองและความขัดแย้งของคนในสังคมจะกลายเป็นอุปสรรคในการจัดการน้ำตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ท่วมจนถึงน้ำท่วมแล้ว ไม่ตัดสินใจหรือตัดสินใจไม่ได้ ขาดความร่วมมือกัน ส่วนคนที่มีจิตอาสาเหล่านี้ก็น่านับถือน้ำใจเป็นอย่างยิ่ง มาด้วยตัวและหัวใจกันจริงๆ แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนักถ้าขาดการจัดการที่ถูกต้องและประสานงานกันไปในทุกหน่วยงาน คนในกลุ่มจิตอาสาเหล่านี้ก็จะทำงานได้ผลดังที่ใจหวัง จะได้ไม่เสียน้ำใจที่ทุ่มเทลงไปด้วยจิตอาสา ส่วนประชาชนตาดำทั้งหลายเป็นผู้ที่รับไปเต็มๆ ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ พวกเขาไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีประสบการณ์ไม่เป็นไร ขอให้รู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เราเผชิญหน้านั้นคืออะไรกันแน่ ความรู้ความเข้าใจของมวลชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าการจัดการจะดีอย่างไร แต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คงจะไม่บรรลุผลอย่างที่คิดและวางแผนไว้ การมองปัญหาอย่างองค์รวมจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เขาบอกกันว่าน้ำลดตอผุด แต่วันนี้น้ำท่วม อะไรๆ ในสังคมก็ผุดขึ้นมาจากใต้น้ำทั้งที่น้ำยังไม่ต้องลด เราก็ได้เห็นอะไรต่างๆ มากมาย และได้ไปเห็นประเด็นเรื่องความเลื่อมล้ำในสังคม ที่จริงประเด็นความไม่เท่าเทียมกันในสังคมนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและทั่วโลก แม้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียนเองก็ตาม ยังมีกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามว่ายังมีความเลื่อมล้ำระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิก แล้วลองหันมามองคนในประเทศไทยเองว่ามีความเลื่อมล้ำกันมาน้อยขนาดไหน ในยามปกตินั้นเราคงจะไม่เห็นความเลื่อมล้ำกันมากนัก เพราะสังคมอยู่ปกติสุขดี มีกิน มีอยู่ มีใช้ พวกมีน้อยก็ใช้น้อย พวกมีมากก็ใช้มาก ต่างคนก็ต่างอยู่กันระดับใช้แบบปีรามิด พวกคนชั้นล่างก็ทำงานสนับสนุนหรือที่เรียกว่ารับใช้คนชั้นสูงหรือพวกที่มีอันจะกิน ปีรามิดนี้จะอยู่ดีในภาวะปกติ คนชั้นล่างก็ไม่ได้คิดอะไร อยู่ได้ก็อยู่ไป และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียด้วย แต่ถ้าเมื่อใดมีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ภาวะปกติกลายเป็นภาวะฉุกเฉินที่คนในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นไหนก็ตามในสังคมได้รับผลกระทบ ซึ่งก็หมายถึง โซ่อุปทานของชีวิตโดยรวมหยุดชะงักโดยทั่วหน้าแล้ว โครงสร้างปีรามิดตามปกติก็ทลายลงชั่วคราว โซ่อุปทานของการดำรงชีวิตถูกทำลายลง สังคมถูกทำให้ราบเรียบเป็นหน้ากองด้วยน้ำ

คราวนี้คนสังคมในแต่ละระดับชั้นที่มีความสามารถในการดำรงชีพที่แตกต่างกัน รวยจนก็แตกต่างกัน เห็นกันง่ายๆครับ คนที่อยู่ในหมู่บ้านที่มีอันจะกิน มีเงินหรือว่ารวยหน่อย ก็จะมีปัญหาน้อย ก็ทิ้งบ้านไปอยู่ที่อื่น ไปเที่ยวไกลๆ ออกไป แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ หมู่บ้านที่ดีหน่อยก็จะมีระบบการจัดการที่ดีและมีการส่งกำลังบำรุงเพื่อที่จะรับมือกับน้ำที่จะมาท่วม แต่คนที่เป็นชาวบ้านในชุมชนที่พอจะมีพอจะกิน แต่ไม่ได้มีเงินมาก พวกเขาจะไปไหนกัน ที่เราเห็นคนที่จะต้องอยู่กับน้ำ ก็อาจจะเป็นเพราะไม่รู้จะไปไหน จะไปเที่ยวไหนเหรอ จะไปอย่างไร จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ คงจะลำบากมาก ต้องใช้เงินอีกมาก เพราะเหตุการณ์อย่างนี้คงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ได้มีบ้านพักตากอากาศที่ต่างจังหวัด หรือที่ต่างประเทศ เวลานี้ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองหมดสำหรับสิ่งจำเป็นในการับมือกับน้ำ เห็นผู้ประสบภัยตามศูนย์พักพิงต่างๆ แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร นั่นเป็นภาพที่ประเทศเราจะต้องคิดให้มากๆ หลังจากปัญหาเรื่องน้ำท่วม

Disaster - 3. การจัดการภัยพิบัติ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องวางแผนกันมาก่อน

อย่างที่เราเห็นๆ กันนั้น กรุงเทพฯ ถูกน้ำโจมตี ตลกดีมากเลย ทำให้ประเทศไทยเหมือนอยู่ภาวะสงคราม แต่เป็นสงครามกับธรรมชาติ รัฐบาลต้องประกาศหยุดราชการหลายวันเพื่อรับมือกับน้ำ พร้อมทั้งเปิดทางให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ เออ! แล้วทำไมเพิ่งจะมาคิดได้ แล้วเคยคิดมากันก่อนหรือไม่? ผมหมายถึงการวางแผน ก็น่าเห็นใจครับว่า มันไม่ง่ายอย่างที่เราเห็นเลยครับ ก็อย่างว่าล่ะครับ! ผมจึงลองไปหางานวิจัยที่ผ่านมาของประเทศต่างๆมาอ่านดู พบว่าไม่ใช่ประเทศไทยและกรุงเทพฯที่โดนน้ำท่วมอย่างนี้ ยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ๆในโลกที่เคยโดนน้ำท่วมอย่างประเทศไทย ผมไปเจอรายงานการวิจัยเรื่องน้ำท่วมใน Internet อยู่เรื่องหนึ่ง จำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่มีอยู่หัวข้อหนึ่งในงานวิจัยนี้ เขียนไว้ว่า Flood : To Control or Not to Control โดยมีข้อสรุปว่า เราไม่ควรจะทำการควบคุม (Control) น้ำท่วม (Flood) แต่ควรจะทำการจัดการน้ำ (Water Resource Management) แทน เรื่องนี้เราได้พิสูจน์และเห็นกับตามาแล้วว่า คันกั้นน้ำต่างๆในกรุงเทพฯและในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่พยายามจะควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมในพื้นที่ของตนเอง ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถป้องกันได้ คันกั้นน้ำแตกกันทุกรายไป จึงเป็นประสบการณ์ว่าเราไม่สามารถควบคุมน้ำท่วมได้ แต่เราน่าจะสามารถจัดการน้ำได้เพื่อไม่ให้ท่วมได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายเมืองหรือหลายประเทศได้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมาเป็นมหาอุทกภัยในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนรู้ แต่เราไม่ได้ใส่ใจในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) โดยเฉพาะการวางแผน (Planning)ที่ต้องสัมพันธ์กับการดำเนินงาน (Operations) ผมจะเน้นและพูดเรื่องนี้เป็นประจำเสมอเลยครับ มันจึงเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นผลที่เกิดขึ้นจนเกิดความเสียหายในปัจจุบันที่เราเห็นๆกันอยู่ เรื่อง Planning – Execution – Control –Improve(Replan)ดูมันเป็นเพียงแค่ความคิดที่เรียบง่าย แต่ยากที่จะดำเนินการให้มันเกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยเฉพาะในหมู่คนที่จะต้องประสานผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องอย่างนี้เขาเป็นกันทุกคนในโลกนี้ ดังนั้นเราก็ต้องประสานผลประโยชน์กันให้ได้ ต้องมองให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมให้ได้ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของตนเองหรือหน่วยงานตนเองหรือในพื้นที่ตนเองเท่านั้น ไม่งั้นก็คงไม่มีใครฟังใคร

ในเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบกันถ้วนหน้า มีผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจากหลายภาคส่วนจากหลายหน่วยงานที่มีการตัดสินใจที่เป็นแบบแยกส่วนกันอยู่ (Reductionism) ต่างคนต่างมีเป้าหมายของหน่วยงานตัวเอง ไม่ได้มองถึงเป้าหมายในส่วนรวม ดังนั้นประเด็นเรื่องของน้ำท่วมคงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาจัดการกันในตอนที่น้ำกำลังจะท่วมหรือท่วมแล้วเท่านั้น แต่มันจะต้องจัดการไม่ให้น้ำท่วมต่างหาก แต่ทุกคนทุกหน่วยงานจะต้องมีการวางแผนร่วมกัน (Collaborative Planning) จากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholders) และที่สำคัญจะต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน (Collaborative Execution)

จากประสบการณ์ของความหายนะที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เช่น เหตุการณ์ 9/11 หรือ พายุเฮอริเคน Katrina แล้ว ทางการสหรัฐจึงได้ทำการรื้อระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินใหม่หมดในทุกระดับชั้นของการจัดการภาครัฐ เพื่อที่จะทำให้พวกเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนอื่นๆ ได้เข้าใจขอบเขตของและขนาดของปัญหาและผลที่ตามมา ความลึกและความละเอียดของการวางแผนนั้น (ไม่ใช่แค่การประชุมกันเท่านั้น คนไทยนั้นชอบประชุมกันมากๆ ชอบมาเสนอหน้าแล้วก็พูดเอาหน้าเอาตา พูดเสร็จแล้วก็กลับ อย่างนี้ไม่ใช่การประชุมวางแผน การวางแผนเป็นการสร้างทางเลือกที่เป็นไปได้ แล้วจึงตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดตามข้อจำกัดต่างๆ ในเวลานั้น จนได้ผลลัพธ์เป็นแผนและมาตรการต่างๆ ออกไปปฏิบัติใช้ และจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ ด้วย พวกเราคนไทยประชุมวางแผนกันอย่างนี้หรือไม่) ดังนั้นทางการสหรัฐโดยทำเนียบขาว จึงต้องออก National Planning Scenarios ทั้ง 15 เรื่องที่ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและดำเนินการแผนที่จำเป็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสหรัฐ

ผมก็ไม่รู้ว่าของประเทศไทยเรามีแผนอย่างนี้กับเขาบ้างหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าน่าจะมีครับ ไม่แน่ใจนะครับ แต่พวกเราก็ไม่เคยอ่านหรือเราเองก็ไม่ได้สนใจเอง ก็ไม่เคยมีประสบการณ์ เคยเห็นแต่ในหนัง ประเด็นก็ คือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ว พวกเราทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เราปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ เพราะว่าถ้าทุกคนทุกหน่วยงานถือแผนแบบเดียวกันเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเสนอหน้าและเสนอความคิดเห็น(เหมือนกับที่ผมทำอยู่ในขณะนี้)เพราะผมเองก็ไม่รู้ว่าจะทำตามแผนไหน สุดท้ายก็มั่วอย่างที่เห็น ผมก็คิดว่าถ้ามีแผนหลักและแผนรองล้อไปตามแผนหลัก รวมทั้งทุกคนฟังและปฏิบัติตามแผนที่ออกมา ประชาชนในกลุ่มต่างๆ และรวมถึงทุกคนด้วยก็สามารถวางแผนของตนเองได้การดำเนินงานก็น่าจะมีประสิทธิภาพกันมากกว่านี้ ส่วนเรื่องที่ขัดแย้งกัน ขัดขากัน ต่อให้เขียนแผนและขั้นตอนเหล่านี้มาอย่างดีและเลิศหรูอย่างไรก็คงช่วยอะไรไม่ได้ นั่นเป็นสันดานของคนในสังคม ต้องไปแก้ที่สันดานของคนเหล่านั้น แต่ก็ไม่รู้ทำไมคนที่มีสันดานเหล่านี้ถึงได้มาเป็นใหญ่ในสังคม แล้วก็ไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้นเลย

แผนต่างๆ จึงเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการขยายขอบเขตของความต้องการของการประสานงานการตอบสนองต่อภัยพิบัติและการบรรเทาทุกข์ให้ไปถึงผู้ประสบภัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการนำเอาแผนไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลนั้น กลุ่มต่างๆ จะต้องถูกฝึกตามกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาต้องปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน และผู้นำ (Leader) ที่มีความชำนาญและมีความรู้จะต้องถูกมอบหมายให้อำนาจในการดำเนินงานอย่างอิสระและให้สามารถมีการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์นั้นๆ สิ่งเหล่านี้ผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องผ่านการฝึกฝนและอบรมมาก่อน ไม่ใช่มาตัดสินหรือลองผิดลองถูกกันหน้างาน เพื่อเอาหน้าเอาตากัน โดยไม่รู้หรือไม่เข้าใจ อย่างนี้เสียหายกันไปหมด ผมไม่รู้นะครับ ท่านๆ ทั้งหลายก็อาจจะเข้าใจก็ได้ แต่เหตุการณ์มันใหญ่เกินกว่าจะรับมือได้ ดูเหมือนสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ทำงานเอาหน้าเอาตากันเป็นส่วนใหญ่ จริงไหมครับ ความสามารถไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่นัก บางครั้งเราก็มองว่าผู้นำนั้นต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งก็ไม่ใช่เสมอไป ผู้นำเองก็ต้องรู้จักที่จะใช้คนให้เป็นมากกว่า อย่างนี้ต้องฝึกอย่างทหารบ้าง เพราะว่าเมื่อเจอกับสถานการณ์แล้วจะได้มีประสบการณ์ในการตัดสินใจ เพราะว่าถ้าไม่ฝึกแล้ว จะไม่รู้ จะไม่มีประสบการณ์

เวลาที่เราใช้ไปในการวางแผนและฝึกอบรมในประเด็นนี้จะเพิ่มความพร้อม การตอบสนองและความพยายามในการฟื้นฟูและผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการเป็นอย่างมาก มันก็ดีกว่าที่ไม่รู้อะไรเลยหรือไม่เคยวางแผนและฝึกมาก่อน ผมหมายถึงการวางแผนและการฝึกก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ไม่รู้เมืองไทยเคยทำหรือไม่ ทำเป็นหรือไม่ แต่อีกนั่นแหละครับผมมั่นใจว่าพวกเขาทำกันนะ แต่ก็อย่างว่า พอถึงเวลาแล้วนำมาใช้หรือไม่ก็ไม่รู้ ก็เห็นท่านผู้นำทั้งหลายมาบัญชาการทั้งนั้นน่ะเนี่ย ก็ไม่รู้ว่ามีความรู้อะไรบ้าง มีความสามารถอะไรหรือมีภาวะผู้นำในภาวะฉุกเฉินอย่างไรบ้าง ก็เห็นนั่งแถลงการณ์บ่นอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้ความ ไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าประชาชนควรจะทำอะไรต่อไป

รูปแบบของการฝึกตรงนี้ควรจะมุ่งเน้นไปที่ ส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางในระดับจังหวัด ระดับประเทศ ความร่วมมือกับหน่วยงานอาสาสมัครเอกชน และ NGO ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ การฝึกตรงนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจและรู้วิธีในการสนธิกำลังและความสามารถขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีความเข้าใจที่ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ของการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ
แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านๆ มานั้นประเทศไทยเราจะไม่ได้มีหน่วยงานในลักษณะอย่างนั้น เรามีหน่วยงานมากมาย ต่างคนต่างช่วย เรามีอาสาสมัครมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพวกเขาได้เต็มที่ พวกเขามาด้วยใจจริง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ดูแล้วเราจัดการอะไรที่ดูเป็นลูกทุ่งเสมอ แต่จริงแล้วในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมเข้าใจว่ามีพร้อมหมด ขาดเพียงแต่จิตใจที่จะทำงานร่วมกันอย่าง Supply Chain ที่จนเป็นทีมร่วมกัน และที่สำคัญขาดผู้นำที่มีประสบการณ์อย่างนี้ด้วย อย่างน้อยที่สุด การวางแผนและฝึกตรงนี้น่าจะทำให้ผู้ที่มีส่วนรวมมีความคุ้นเคยกับบทบาทและพันธกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้ตรงกันเลย มาร่วมกันปลูกฝังความมั่นใจในความสามารถของแต่ละหน่วยงานที่เข้ามาร่วมเพื่อที่จะทำงานร่วมกันในสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะถูกกำหนดให้มาทำงานร่วมกันในการตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ (ผมเรียกแนวคิดนี้ว่า Supply Chain Thinking)

Disaster – ประเด็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม

น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตเราก็ขาดน้ำไม่ได้ ขาดน้ำ 3 วันก็อาจจะตายได้ เราอยู่ในน้ำหรือจมน้ำก็ไม่มีอากาศหายใจ เราก็ตายได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันเรามีน้ำมากเกินไปก็ไม่ได้เหมือนกัน น้ำเป็น รูปแบบ (Mode)ที่สำคัญของการเดินทางและการขนส่งของมนุษย์จนเป็นเครื่องหมายของการเดินทางและการขนส่งในอดีต เมื่อนึกถึงลอจิสติกส์เองก็ยังต้องนึกถึงเรื่องการเดินทางและขนส่งทางเรือที่ใช้ทางน้ำเป็นเส้นทางในการเดินทางไปรอบโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


แต่น้ำในครั้งนี้เป็นน้ำที่ไม่ได้มีส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อลอจิสติกส์ของชีวิตมนุษย์เราเลย ผมหมายความว่า น้ำในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เราได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ซึ่งเราต้องการเลย น้ำในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้เลย แต่ในทางตรงกันข้าม น้ำในครั้งนี้กลับหันมาทำลายชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คนมากกว่า อย่างที่ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า “ลอจิสติกส์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิต” เพราะว่าลอจิสติกส์เป็นเส้นทางและวิธีการนำส่งคุณค่าหรือประโยชน์ให้กับมนุษย์ ถ้าไม่เช่นนั้นมนุษย์ก็อดยาก อดได้ และในที่สุดก็อดตาย


มหาอุทกภัยครั้งนี้ น้ำไม่ได้มาสร้างประโยชน์อะไรให้กับเรามากนัก แต่กลับมาทำลายความเป็นอยู่ของเรามากกว่า เพราะว่ามันมามากจนเกินไป แล้วทำไมเราไม่จัดการ ทีตอนแล้งนั้นเราจัดการได้ ประเด็น คือ น้ำซึ่งเคยมีประโยชน์ในเชิงลอจิสติกส์ในการขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานของคุณค่าต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์


มาคราวนี้เป็นด้านมืดของน้ำที่ทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ดูเหมือนจะโกรธใครมา ไอ้เราเองก็รังเกียจผลักไสไล่ส่งน้ำให้ออกไปให้พ้นๆ ทาง ดูๆ ไปแล้วมันดูน่ากลัวยิ่งนัก ถ้าเราปล่อยให้เกิดขึ้นจนถึงขั้นทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมืองและสังคมแล้ว มนุษย์อย่างเราจะอยู่กันอย่างในประเทศและสังคม น้ำจะทำลายระบบลอจิสติกส์ของเมือง (City Logistics) ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและประเทศ แล้วมนุษย์ที่อยู่ในเมืองหรือในประเทศจะทำอย่างไร ถนนขาดเพราะน้ำท่วม แล้วเราจะเดินทางอย่างไร เพื่อไปหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นอาหารน้ำและยาหรือความช่วยเหลือต่างๆ ตรงนี้เราพูดถึงแค่ความต้องการพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันหรือในแต่ละสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน


ถ้าเราลองคิดและมองให้ลึกๆ แล้ว เราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย ไฟฟ้า ประปา ที่อยู่อาศัย การติดต่อสื่อสาร อาหาร ยารักษาโรค ประเด็นลอจิสติกส์ในภาวะอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ประเด็นเรื่องของการจัดการหรือลดต้นทุนเสียแล้ว แต่เป็นประเด็นในการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการในเวลาที่ต้องการและในจำนวนที่ต้องการ ซึ่งคืออาหารและน้ำรวมทั้งสิ่งจำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤต สำหรับสิ่งเหล่านี้ พอถึงเวลาที่ต้องการแล้ว อาจจะไม่มีหรือขาดแคลน ถึงมีก็อาจจะมีราคาแพงกว่าความเป็นจริงมาก แต่เราก็ยอมที่จะเสียและแลกมาเพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นมาใช้ในยามภาวะฉุกเฉิน จ่ายแพงไม่ว่า ขอให้ได้ของที่ต้องการ และยังวางแผนคาดการณ์ในการสะสมหรือสำรองไว้ใช้ในอนาคตในภาวะที่ไม่มีความแน่นอนว่าระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่มีอยู่นั้นจะสามารถสร้างคุณค่าหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมาได้อีกเมื่อไร


ก่อนที่มวลน้ำจะไหลเข้าโจมตีกรุงเทพฯ ผมต้องขับรถกระบะไปซื้อน้ำดื่มและอิฐมวลเบาที่สัตหีบและพัทยากลับมาที่กรุงเทพฯ ตรงนี้แหละครับเรื่องลอจิสติกส์แท้ๆ เลย ผมหวังว่าบทเรียนในประเด็นเหล่านี้ น่าจะทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะวิกฤต สภาพของกรุงเทพฯ มหานครในเวลานี้ ไม่อยากจะพูดว่า เหมือนสภาวะสงครามหรือไม่ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เคยมีประสบการณ์สงครามมาก่อนก็ตาม ทุกคนตื่นตระหนก ข้าวของขาดแคลน และยิ่งผู้ที่ประสบภัยพิบัติที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือความช่วยเหลือนั้นเข้าไปไม่ถึง เป็นภาวะที่ภัยต่อความมั่นคงของชีวิตมนุษย์และความมั่นคงของชาติ


ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นลอจิสติกส์และโซ่อุปทานทั้งสิ้น แต่หลายคนอาจจะแย้งว่ามันก็เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลก อาจารย์อย่ามาพูดเลย ไอ้เรื่องลอจิสติกส์เนี่ยนะ นั่นก็เป็นเพราะว่าเรื่องลอจิสติกส์มันเป็นเรื่องของธรรมชาติของความต้องการของคนในสังคม แต่ถ้าเราไม่รู้จักในเรื่องการจัดการแล้ว คนในสังคมก็จะเกิดขาดแคลน ภาวะอย่างนี้ย่อมเป็นภัยต่อสังคม แต่ถ้าเราสามารถจัดการลอจิสติกส์ของสังคมได้ คนในสังคมก็จะได้รับอย่างเพียงพอ ความสงบสุขก็เกิดขึ้น


ส่วนประเด็นในเรื่องของโซ่อุปทานก็ดูกันง่ายๆ ครับ ใครบ้างกันเล่าที่จัดหา (Suppliers) จัดทำ (Maker) จัดสร้าง (Builder) และจัดส่ง (Deliverer) สิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ก็เพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยสามารถใช้สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ แน่นอนแต่ละสิ่งแต่ละอย่างก็ย่อมที่จะถูกจัดทำ ถูกจัดหา ถูกจัดส่งต่อเป็นทอดๆ ในโซ่อุปทานบรรเทาทุกข์ (Relief Supply Chain) ไปจนถึงผู้ใช้หรือผู้ประสบภัย ประเด็นของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะวิกฤต ก็ คือ เวลาและสิ่งที่ต้องการในเวลานั้น ดังนั้นการตัดสินใจและโครงสร้างของการจัดหา (Supply)เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะว่าถ้าพลาดไปแล้วก็อาจจะหมายถึง ชีวิตของผู้ประสบภัย แล้วยิ่งเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมที่กินพื้นที่บริเวณไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน้ำก็จะค่อยๆ มา ค่อยๆ ทำลาย หรือในบางบริเวณก็มาเร็วและแรงจนตั้งตัวไม่ทัน จนทรัพย์สินเสียหาย และต่อจากนั้น ถ้าน้ำยังคงอยู่สภาพท่วมขังอยู่นานก็เป็นการบั่นทอนการดำรงชีวิตอยู่เรา


การทำลายของน้ำให้เกิดการหยุดชะงักของโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ทั้งหลายในสังคมในเมืองและในประเทศ โซ่อุปทานของการบรรเทาทุกข์และความช่วยเหลือ (Relief Supply Chain) จึงเป็นกระบวนการที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและโครงสร้างในการวางแผนร่วมกันและการดำเนินงานร่วมกันที่แน่นอนและต้องมีการดำเนินการและการตัดสินใจที่ฉับไว เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา และที่สำคัญก็ คือ จะต้องทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งในยามปกติไม่ได้ทำงานร่วมกัน และกระบวนการทำงานต่างๆ ในยามปกติก็ไม่สามารถนำมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ เราจะมาลองผิดลองถูกในขณะเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ แผนการทำงานและวิธีการทำงานจะต้องถูกออกแบบมาก่อนหน้าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น หน่วยงานจะต้องมีการวางแผนและฝึกซ้อมการวางแผนและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นประจำ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญของการจัดการโซ่อุปทานในการบรรเทาทุกข์และการให้ความช่วยเหลือ ในบางครั้งความตั้งใจดีและจิตอาสาก็อาจไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าหน่วยงานในการจัดการไม่สามารถสร้างเอกภาพและมีการบูรณาการในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้แล้ว ลอจิสติกส์ในการนำส่งความช่วยเหลือก็เป็นปัญหาที่สำคัญอยู่แล้ว และถ้าการจัดหา (Supplying) ต่างๆ มีปัญหาตามไปด้วยอีก ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าไม่มีขั้นตอนที่ตกลงกันมาก่อนหรือมีแผนงานร่วมกันมาก่อนแล้ว ปัญหาในการทำงานร่วมกันห็มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานและตัดสินใจ ทำให้เกิดความล่าช้าและความสับสนในการดำเนินงาน สุดท้ายผู้ประสบภัยก็ไม่ได้ประโยชน์หรือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตในภาวะฉุกเฉิน ความหายนะจะเกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยอย่างแน่นอน


เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการจัดการในภาวะฉุกเฉิน คือ ลอจิสติกส์ที่หมายถึงการทำให้ผู้ประสบภัยได้รับสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในภาวะฉุกเฉิน เราต้องอย่าลืมว่าภาวะฉุกเฉินเป็นภาวะที่โซ่อุปทานของคุณค่าอื่นๆ ทั้งหลายในสังคมของเราที่ทำให้ดำรงชีวิตได้ตามที่เราต้องการซึ่งถูกทำให้หยุดชะงัก (Disruptions) ไป คุณค่าต่างๆ ในรูปผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่ถูกสร้างจากโซ่อุปทานในสังคมก็ขาดตอน ทำให้สินค้าขาดแคลน ทำให้เกิดเป็นอุปสงค์เทียมที่ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า ทำให้เกิดความต้องการสินค้าเฉพาะอย่างขึ้นมาในภาวะฉุกเฉิน ทำให้ราคาของสินค้าหรือสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ทางภาครัฐต้องประกาศการควบคุมราคาสินค้า ประเด็นเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วบนสังคมโลกมนุษย์เราไม่ว่าที่ใดในโลก


แต่ถ้าเรามองโดยการนำเอากรอบความคิดของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้ ก็อาจจะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ที่เราไม่ได้พิจารณาในภาวะปกติ ซึ่งจะสามารถช่วยเราในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาวะฉุกเฉินได้ เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นจนทำให้เกิดการหยุดชะงักของโครงสร้างพื้นฐานของสังคม จึงทำให้โซ่อุปทานของคุณค่าต่างๆ พลอยหยุดชะงักไปด้วย น้ำท่วมทำให้ทางขาด โรงงานผลิตสินค้าไม่ได้ ศูนย์กระจายสินค้าไม่สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ซึ่งมีความต้องการ การคมนาคมไม่สะดวก คุณค่าที่ควรจะถูกสร้างโดยโซ่คุณค่าต่างๆ ไม่ถูกสร้างขึ้นมาตามความต้องการจึงทำให้สินค้าขาดแคลนและความตื่นตระหนกของคนในสังคม วัฏจักรนี้ก็ยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดระบบในสังคมก็จะเกิดความโกลาหลในความขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิต ถ้าภาครัฐและคนในสังคมไม่สามารถฟื้นฟูระบบโซ่อุปทานของสังคมให้กลับคืนสู่สภาพปกติพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้โซ่อุปทานของประเทศและสังคมสามารถดำเนินการไปได้อย่างปกติเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตผู้คนในสังคมต่อไป ในภาวะฉุกเฉิน ลอจิสติกส์ขาดตอน โซ่อุปทานหยุดชะงัก ผู้ประสบภัยพิบัติส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการสร้างคุณค่าของโซ่อุปทานทั้งหลาย แต่ไม่ว่าในภาวะปกติหรือวิกฤต ทุกคนด้วยจำนวนคนเท่นเดิมก็ยังต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนเดิม แต่กลุ่มผู้สร้างคุณค่าหรือโซ่อุปทานกลับไม่สามารถสร้างคุณค่าเพื่อมาสนับสนุนผู้คนจำนวนเดิมนั้นได้ ความไม่พอดีหรือไม่สมดุลจึงเกิดขึ้น จึงทำให้เราต้องจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุทานเพื่อการบรรเทาทุกข์ในภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตคนและเร่งฟื้นฟูโซ่อุปทานของสังคมให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลในภาวะปกติ

Disaster -- ภัยพิบัติ กับ ความเปราะบางของการจัดการภัยพิบัติ

ผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้ในชีวิตจริง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้พบประสบเหตุการณ์ด้วยตนเองก็ตาม แต่มันก็ดูน่ากลัวทีเดียว ก็แค่ได้เห็นความเสียหายในจอทีวีก็แย่แล้ว ยิ่งเห็นความเดือดร้อนของประชาชนทั่วไปที่ยังต้องอยู่กับน้ำไปอีกนาน น้ำท่วมก็เป็นภัยพิบัติชนิดหนึ่งของภัยพิบัติอีกหลายๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นมาอีก ในอนาคตข้างหน้า เรามักจะถูกสั่งสอนด้วยคำพูดง่ายว่า เกิดเป็นคนไทยนั้นโชคดี แต่ผมว่าความโชคดีของเรานั้นกำลังจะหมดไปแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ระหว่างที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่บนความโชคดีทั้งหลาย ที่ทำให้เราอยู่สุขสบายโดยไม่ค่อยได้มีภัยพิบัติอะไรกับใครๆ ในโลกนี้เสียเท่าไหร่นัก ก็ไม่รู้ว่าเรานั้นคิดกันอย่างหรือไม่ เป็นหน้าที่ของใคร หรือว่าเขามีการคิดกันมาแล้ว แล้วทำไมประชาชนเดินถนนนั้น ทำไมเราไม่ได้รู้กันหรือ เห็นความวิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทั้งที่เป็นของจริงและในภาพยนต์แล้ว ก็ไม่นึกว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองนี้ที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่เอง ทำไมหรือครับ? คำตอบง่ายๆ ก็ คือ ไม่เคยคิดเลยในชีวิตนี้มันจะเกิดขึ้นที่ใกล้กรุงเทพฯ นี่เอง


ประเด็น คือ ทำไมคนเราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ทำไมคนเราไม่เคยเชื่อว่ามันจะเป็นจริง หรือว่ามันจำเป็นที่จะต้องให้เจอกับของจริงแล้วให้มันเสียหายกันเสียก่อนหรือ ผมก็คงจะไม่ได้มาวิจารณ์หรือ Comment อะไรในช่วงนี้ เพราะพวกเราก็ด่ากันเองหรือโทษกันเองอยู่เสมออยู่แล้ว เป็นธรรมเนียมของการทำงาน แล้วก็ปลอบประโลมกันด้วยว่าคนไทยเรารักกันเสมอ เราช่วยกันเสมอ ผมคิดว่า คนทั่วโลกก็เป็นกันอย่างนี้ล่ะครับทั่วโลก พวกเขาก็ช่วยเหลือกันเหมือนกัน ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกครับ ทำไมต้องมาหลอกตัวเองกันด้วยว่า เราเป็นคนดีด้วยเล่า บางครั้งเราก็ต้องยอมรับในความล้มเหลวของสังคมเราหรือความเปราะบางของโครงสร้างของการจัดการสังคมหรือประเทศ เรามีเปลือกนอกที่สวยงามที่เราพยายามจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเมืองไทย เราป่าวประกาศว่าการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ แต่วันนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้ทำลายแหล่งท่องเที่ยวไปหมดแล้ว อีกหน่อยนักท่องเที่ยวก็อาจจะต้องเช็คถึงความเสี่ยงในการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวหรอกครับ เอาแค่คนไทยกันเองจะไปอยู่กันอย่างไรให้มีความมั่นคงในชีวิต


ประเทศไทยเรานั้น ผมมองว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบถ้วน ตามที่จะหาซื้อได้ ตามความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาจากสาขาวิชาต่างๆ ยิ่งพอจะมีเงินขึ้นมาบ้าง เราก็สร้างโน่นสร้างนี่ขึ้นมา เพื่อให้เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่ประเทศ สังคมเราก็ขยายขึ้นและมีความซับซ้อน (Complexity)ขึ้น แต่ที่สุดแล้วก็ยังขาดการจัดการ (Management) ที่ดี และที่ถูกต้องด้วย ผมมองว่าเราขาด ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ที่ดีและที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีเสียเลยนะครับ ที่ใช้อยู่ก็ดี แต่ยังไม่ดีพอ ขาดความเป็นพลวัต (Dynamics) เพราะว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่คาดคิดหรือฉุกเฉินขึ้นมา เรามักจะไม่ค่อยมีแผนที่ดีรองรับ ถึงแม้ว่าบางครั้งแผนที่ดีรองรับแล้ว แต่กลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ที่เป็นการทำงานข้ามสายงาน (Cross Functional) ที่แต่ละคนก็เก่งกันคนละอย่าง มีเป้าหมายกันคนละเรื่อง มีตัวชี้วัดที่สนับสนุนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่จะต้องมาทำงานร่วมกันทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต ผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าจะได้เห็นๆ กันอยู่แล้ว ผมเชื่อในความหวังดีของทุกคน แต่ทุกคนที่ร่วมงานก็อาจจะไม่ได้เห็นภาพใหญ่หรือจุดสุดท้าย หรือไม่ได้เห็นผลลัพธ์ต่อเนื่องที่ตามมาอย่างไม่คาดคิด ไม่น่าเชื่อจริงว่ามันจะเกิดขึ้น ถึงตอนนี้ถ้าให้หลายๆ คนที่เกี่ยวข้องลองย้อนกลับไปดูข้อมูลในการทำงานต่างๆ ในอดีตเมื่อไม่กี่เดือนนี้ ถ้าเราลองเปลี่ยนการทำงานใหม่ ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะเบาบางกว่านี้ก็ได้ ผมเองไม่สามารถรู้ได้หรอกครับ


ผลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ย่อมมาจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต ถึงแม้ว่าเราจะไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราก็สามารถเรียนรู้จากอดีตได้เสมอ ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถมองเห็นอนาคตหรือพยากรณ์คาดการณ์ในเรื่องราวที่เราอาจจะไม่คาดคิดได้ว่ามันจะเกิด เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น แต่มันมีความน่าจะเป็นเพียงพอ และเราเชื่อและมั่นใจ แล้วถ้าเราได้จัดเตรียมไว้ ทั้งเตรียมตัวและเตรียมทรัพยากรต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมและความเข้าใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง ก็เป็นเพราะพวกเขาไม่มีความรู้หรือความตระหนักในภัยพิบัติที่มันจะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งจะใช้ทุกวิถีทางในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ก่อนที่ภัยพิบัติมันจะเกิด เพราะดูจากเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว มันเกิดขึ้นมาแล้ว ความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะมาจากความไม่รู้หรือความไม่ตระหนักของประชาชน ความไม่มีประสบการณ์ในเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ แต่ก็คงไม่ใช่ความผิดของใครหรอกครับ เรื่องอย่างนี้ มันต้องใช้ความเชื่อในหน่วนงานภาครัฐที่จะต้องทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงภัยพิบัติต่างๆ เราเคยเห็นในหนังฝรั่งที่แสดงให้เห็นถึงการรับมือกับภัยพิบัติทั้งหลาย เราเห็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ การตัดสินใจร่วมกันเพื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ และการปฏิบัติตัวของประชาชนในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ


ก่อนเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหลาย มันย่อมมีสาเหตุและที่มาเสมอ อย่างน้อยก็ต้องมีคนรู้และคนที่สังเกตุเห็นสิ่งผิดปกติและความเป็นไปได้ต่างๆ ของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น กระบวนการดำเนินงานในการรับมือต่างก็จะต้องถูกนำมาปฏิบัติอย่างสอดคล้องกันในแบบบูรณาการกันแบบรวมหน่วยกัน ไม่ใช่แยกกันออกไปทำ โดยเฉพาะประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต่างคนก็ต่างปกป้องทรัพย์สินและพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงพลังของธรรมชาติ และผลสืบเนื่องที่เชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ปัญหาหนึ่งในการจัดการภัยพิบัตินั้น ก็คือ การจัดการกับฝูงชน หรือ Crowd Control เพราะว่านั้นเป็นเป้าหมายในการรักษาชีวิตของฝูงชนไว้ไว้ แต่ในขณะเดียวกันฝูงชนเองนั้นกลับเป็นปัญหา ความไม่รู้ถึงข้อมูล การบริโภคข้อมูล และการไม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจต่างๆ ก็เลยทำให้เกิดการแตกตื่น (Panic) ผมเองยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนักในประเด็นนี้ แต่ก็คิดว่ามีกระบวนการเหล่านั้นอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้เห็นอย่างทั่วถึงนัก หรืออาจจะมีการดำเนินการเป็นช่วงๆ หรือเป็นพื้นที่ไป แต่ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเรา


เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดมาจากการวางแผนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผมหมายความถึง ไม่ใช่แค่การที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และป้องกันได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ยังหมายถึงการวางแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงาน การทำงานร่วมกันด้วยเพื่อให้เกิดผลเป็นไปตามแผน อีกทั้งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เรายังจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่การเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชนให้มาช่วยกัน ใช้แรงในการบรรจุกระสอบทรายการ แรงคิดมาช่วยกันแก้ปัญหา เพราะว่าคนไทยรักกัน เรามาช่วยกัน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ยิ่งจะทะเลาะกันไปใหญ่ แล้วทำไมไม่คุยกันมาแต่แรกๆ แล้วทำไมไม่วางแผนกันตั้งแต่แรก ถกเถียงกันแต่แรกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ควรจะตั้งหน่วยงานอะไร ใครมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทุกคนต้องรู้หน้าที่มาก่อน มีการฝึกซ้อมกันมาก่อนมีการตกลงกันมาก่อน ไม่ใช่นึกอยากจะตั้งศูนย์อะไรก็ตั้งขึ้นมา แล้วค่อยมาระดมสมองและร่วมแรงกัน ซึ่งอาจจะทำให้ยิ่งเกิดความขัดแย้งกันมายิ่งขึ้นเพราะทุกคนมีความหวังดี แต่ก็ไม่มีประสบการณ์กันมาทั้งนั้น และถ้าได้แผนงานที่เหมาะสมแล้วก็ควรจะดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด และทำการประเมินว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่เพื่อที่จะได้ไปปรับแผนกันเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ มันดูเป็นกระบวนการที่ดูง่ายๆ เรียบๆ แต่มันยากเหลือเกินเพื่อนำไปปฏิบัติกับหมู่คนที่มีความเก่งๆ ที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาอาจจะมองไม่เห็นว่าผลสุดท้ายแล้ว เพราะทุกคนก็มีเป้าหมายเดียวกันทั้งสิ้น คือ การมีชีวิตอยู่